เปิดผลวิจัยแนวโน้มลดอัตราคนไทยตายก่อนวัยอันควรจากกลุ่มโรค NCDs ไม่บรรลุเป้า SDGs ภายในปี 2573 “มะเร็ง” ครองแชมป์เสียชีวิตสูงอันดับ 1

เปิดผลวิจัยแนวโน้มลดอัตราคนไทยตายก่อนวัยอันควรจากกลุ่มโรค    NCDs   ไม่บรรลุเป้า   SDGs   ภายในปี 2573 “มะเร็ง” ครองแชมป์เสียชีวิตสูงอันดับ 1 สสส. เร่งสกัด 5 ปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่-ขาดกิจกรรมทางกาย-โภชนาการ-มลพิษทางอากาศ เตรียมเปิดตัวคัมภีร์สร้างวิถีชีวิตสุขภาวะ หวังป้องกัน และลดเจ็บป่วย กลุ่มโรค NCDs ก่อนวัยอันควร

          ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย (Burden of Disease Research Program Thailand :BOD Thailand) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (The International Health Policy Program, Thailand :IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า IHPP ร่วมกับ แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (WHO Country Cooperation Strategy on NCDs :WHO-CCS NCDs) กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ศึกษาสถานการณ์การตายก่อนวัยอันควรของประชากรไทย ช่วงอายุ 30-69 ปี จากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มโรคเบาหวาน และกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ระหว่างปี 2543-2561 และมีการพยากรณ์แนวโน้มโอกาสในการตายก่อนวัยอันควรในปี 2568 และ 2573 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ตามเป้าขององค์การอนามัยโลกต้องการลดการตายก่อนวัยอันควรในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ 4 กลุ่ม ให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2568 และลดลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) พบว่า แนวโน้มการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลดลงทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยเพศชายมีความน่าจะเป็นของการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิง

          ทพญ.กนิษฐา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์โอกาสในการตายก่อนวัยอันควรของ 4 กลุ่มโรค NCDs พบว่า ผลการดำเนินงานของประเทศไทยเท่าที่เป็นอยู่ อาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่ WHO และ SDGs วางไว้ เนื่องจากเป้าหมายของ WHO  ในปี 2568 ต้องได้ร้อยละ 11.1 แต่ผลการพยากรณ์พบว่า ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 12.6 และเป้าหมายของ SDGs ในปี 2573 เท่ากับร้อยละ 9.9 แต่ผลการพยากรณ์อยู่ที่ร้อยละ 12 โดยข้อมูลการตายก่อนวัยอันควรกลุ่มโรคไม่ติดต่อของคนไทย ในปี 2561 พบว่า โรคไม่ติดต่อ 4 กลุ่มช่วงอายุ 30-69 ปี โรคมะเร็งมีสัดส่วนการตายก่อนวัยอันควรสูงสุด 56,965 คนต่อปี รองลงมาคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด 30,064 คนต่อปี เบาหวาน 9,205 คนต่อปี และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง 4,699 คนต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ พบว่าเกินครึ่งหนึ่งของการตายก่อนวัยอันควรในกลุ่มอายุ 30-59 ปี มาจากมะเร็ง หรือประมาณร้อยละ 57 โรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณร้อยละ 27 โรคเบาหวานประมาณร้อยละ 13 และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรังประมาณร้อยละ 3 นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มโรคมะเร็งและโรคเบาหวานเป็นปัญหาสำคัญในจังหวัดแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาค่อนข้างสูงในจังหวัดแถบภาคกลาง และกลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเป็นปัญหาทางภาคเหนือรวมถึงภาคกลางฝั่งตะวันตกอย่างชัดเจน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. โดยสำนักวิชาการและนวัตกรรม (สวน.)สนับสนุนแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ 1.พัฒนาเชิงระบบของการจัดทำข้อมูลดัชนีภาระทางสุขภาพที่สำคัญ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การใช้ประโยชน์ในการประเมินสมรรถนะของระบบสุขภาพ การประเมินการลงทุน ตัวชี้วัด และการพัฒนานโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง 2.ผลิตองค์ความรู้เพื่อตอบคำถามว่าสุขภาพในมิติของภาระโรคของคนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรและมีแนวโน้มเป็นอย่างไรเพื่อฉายภาพปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคต และประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพจากการดำเนินงานของระบบสุขภาพ โดย สสส. นำข้อมูลมาใช้เพื่อวางแผนดำเนินงานและผลักดันมาตรการเชิงรุกเชื่อมประสาน บูรณาการทำงานกับกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สธ. ซึ่งเป็นองค์กรหลัก พัฒนาชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของ 5 ปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลให้เกิดกลุ่มโรค NCDs และสื่อสารรณรงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้กับประชาชน

          “สสส. เน้นจัดการกับสาเหตุของโรค NCDs ที่ต้นทาง มี 5 ปัจจัยหลัก คือ การบริโภคยาสูบ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ซึ่ง สสส. มีบทบาทสำคัญในการจัดการข้อมูลทางวิชาการ ขับเคลื่อนนโยบาย และขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในวันนี้อาจไม่สะท้อนให้เห็นถึงการลดการเจ็บป่วยได้ทันที แต่ในอีก 20 ปี ข้างหน้า หากคนไทยมีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้นจะช่วยให้คนไทยไม่เจ็บป่วยก่อนวัยอันควร โดยในปี 2565 สสส. โดยแผนงานควบคุมกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) พยายามดำเนินการควบคุมจัดการทั้ง 5 ปัจจัยหลัก หวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ ทั้งในกลุ่มสถานประกอบการ โรงเรียน และชุมชน ขับเคลื่อนเชิงนโยบายควบคุมอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ด้วยมาตรการทางภาษี และเตรียมจัดทำคู่มือสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะ ให้คำแนะนำเชิงบวกให้เข้ากับรูปแบบวิถีชีวิตยุคดิจิทัล เพื่อดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค และผู้จัดการแผนงาน WHO-CCS NCDs กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เห็นชอบให้ขับเคลื่อนแผนเร่งรัดการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน หรือ Together Fight NCDs โดยตั้งเป้าภายในปีพ.ศ.2568 1. ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลและโซเดียมลงร้อยละ 30 2. ร้อยละ 70 ของประชาชน รู้ตัวเลขบ่งชี้สุขภาพและจัดการความเสี่ยง หรือ “Know your number Know your risk” 3. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันแล้วยังไม่รู้ตัว ได้รับการคัดกรองและได้รับการวินิจฉัยเพิ่มขึ้น และ 4. ผู้ที่เป็นโรคแล้วก็สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้ถ่ายทอดแผนเร่งรัดไปที่จังหวัดต่างๆผ่านสำนักงานควบคุมป้องกันโรคทั้ง 13 เขตแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ไม่ทราบสถานะความดันโลหิตของตนเองว่าอยู่ในระดับที่เป็นโรคแล้ว จึงขอเชิญชวน ให้ตรวจวัดความดันตนเอง เฉลี่ย 7 วัน ถ้ายังสูงเกิน 135/85 มิลลิเมตรปรอท ควรรีบมาขอรับการตรวจวินิจฉัยในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสุขภาพ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. สานพลัง ภาคี จัดใหญ่! กลางเมืองสุโขทัย เทศกาล The ICONiC Run Fest Thailand Series Sukhothai 2024 เดิน วิ่ง กิน เที่ยว เพื่อสุขภาพ

วันที่ 24 ส.ค. 2567 ที่วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

สสส. สานพลัง SYNHUB เดินหน้าโครงการ “HealthTech X 2 The Future” หนุน คนรุ่นใหม่-ธุรกิจ-สตาร์ทอัพ ตื่นตัวสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์กลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สนับสนุนทุนสูงสุด 1 ล้านบาท ปลื้ม HealthTech X 1 ออกสู่ตลาดโลก นวัตกรรมสุขภาพ “Bederly” ใช้จริงใน 20 รพ.สต. “iFlow Zone Headband” จดลิขสิทธิ์เตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์

วันที่ 22 ส.ค. 2567 ที่ SYNHUB Digi-Tech Community จ.ปทุมธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด (SYNHUB) จัดกิจกรรม Open House โครงการ HealthTech X 2 The Future เปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการไทย

“Movement คนรุ่นใหม่” #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 สสส. สานพลัง พอช. มุ่งกระจายโอกาสทั่วถึง ร่วมพลิกวิกฤต เป็นโอกาสพัฒนาบ้านเกิด

กรุงเทพมหานคร / เวลา 09.00 น. วันที่ 20 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“ยุทธการหักหอกเป็นดอกไม้” พลิกใจให้เลิกยา...คืนสู่สังคม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่รับฟังสรุปการดำเนินงาน “ลดเสี่ยง ลดผู้เสพ เพิ่มสุข มีเงินออม”

เนื่องในวันแม่แห่งชาติ มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ สานพลัง สสส. เดินหน้ารณรงค์ หนุนให้ “นมแม่ล้วน 6 เดือนแรก ไม่ต้องเสริมน้ำ”

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.

เปิดหลังบ้าน สสส. ผ่านเว็บไซต์ “Creative Health Campaign” คอมมูนิตี้แชร์แนวทางสร้างแคมเปญรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพตลอด 22 ปี

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.