ความเครียด..ภัยเงียบของสังคมไทย! ห้ามไม่ได้..แต่รู้เท่าทันอยู่ให้เป็นได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอข้อมูล 11 ตัวชี้วัด เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลกับสุขภาพคนไทยในมิติต่างๆ 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพปี 2567 พร้อมเรื่องพิเศษประจำฉบับคือ "ความเครียด ภัยเงียบของสังคมไทย" ซึ่งปรากฏว่า คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า 3 แสนคน ต่างคนต่างวัยต่างเตรียดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเลี้ยงดูของครอบครัว พื้นฐานของอารมณ์ในการแก้ไขปัญหา กลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายสูงสุดคือ 15-34 ปี ความเงียบของความเครียดจะสู้หรือจะหนีเหตุแห่งปัญหา และอารมณ์...

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. เปิดการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 “ความเครียด" ภัยเงียบของสังคมไทย โดยระบุว่า สสส.จัดทำรายงานสุขภาพคนไทยมาตั้งแต่ปี 2546 ตามแผนพัฒนาระบบ และกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มุ่งจัดทำงานวิจัย ผลงานวิชาการ และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพตามทิศทาง และเป้าหมายกองทุนฯ ระยะ 10 ปี หนุนเสริมการนำผลงานเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์จริง และเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยรายงานสุขภาพคนไทยเป็นรายงานประจำปี ที่รวบรวมบทวิเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านสุขภาพที่ทันต่อเหตุการณ์ของแต่ละปี เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทยที่กำลังเกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ

“การเปิดตัวหนังสือรายงานสุขภาพคนไทยเพื่อทบทวนสถานการณ์สุขภาพ ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพส่งผลกระทบต่อตัวเราและสังคม อ่านแล้วได้รับความรู้นำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้ รวมถึงใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกำหนดนโยบายในมุมกว้างต่อไปด้วย ไม่มีใครไม่เคยเครียด เราเจอความเครียดในชีวิตประจำวันกันทุกคน เราต้องปรับตัวมีวิธีจัดการกับความเครียด เหมือนกรณีที่เกิดไฟไหม้ยังเอ้อระเหยไม่วิ่งไม่หนี ก็ต้องมีการพิจารณาในระดับหนึ่ง แต่ถ้าใช้พลังเยอะจนเกินไปก็ไม่ดี ย่อมมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วย หากจะเปรียบเทียบเด็กๆ กำลังเล่นกัน แม่มาตามก็เครียด เด็กเข้าเรียน รร.อนุบาลในวันแรก เครียดกันทั้งบ้าน ครูเครียดกว่าเพื่อน แต่ครูมีเทคนิคคุ้นชินกับวิธีจัดการกับความเครียดเพื่อไม่ให้เด็กร้องไห้ เพราะครูทำงานเจอปัญหามาเยอะแล้ว”

ดร.นพ.ไพโรจน์ย้ำว่า แต่ละช่วงชีวิตของคนย่อมเผชิญกับความเครียดของคนต่างวัยที่มีความแตกต่างกัน  เป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม เราห้ามความเครียดไม่ได้ เพราะสภาพสังคมบีบคั้นทำให้เราต้องปรับตัว เราทุกคนไม่ได้ยีนดีมาแต่แรกที่จะทำให้จิตใจเข้มแข็ง วัยเลข ๕ พ่อแม่ป่วย ส่วนลูกกำลังโต งานจะรุ่งเข้าสู่ผู้บริหาร อายุขึ้นเลข ๓ เครียดแบบเลข ๓ วัยผู้สูงอายุสุขภาพมาแซงทุกเรื่อง เครียดเรื่องเงินออม ตัวเร่งสำคัญคือเรื่องเทคโนโลยี ถ้ามองในเชิงบวกเป็นการเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็จะนำไปสู่ Fake News โอกาสสูญเสียเงินทอง เรื่องนี้ใครไม่โดนไม่รู้ คนที่ Bully คนอื่นเราต้องไม่โต้ตอบด้วยการ Bully กลับ เราต้องรู้วิธีจัดการในการเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปด้วยกัน อย่าให้ความเครียดส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตจนเราเจ็บป่วยได้ ขณะนี้กรมสุขภาพจิตพัฒนาแพลตฟอร์ม เรามี Influencer life Coach เข้ามาช่วยเหลือเรา ให้มุมมองในการจัดการปัญหา หาสาเหตุแต่ละช่วงวัยจัดการกับความเครียด

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. เปิดเผยว่า การจัดทำรายงานสุขภาพคนไทยโดยภาพรวมมหาวิทยาลัยมหิดลและ สสส.ร่วมกันจัดทำมาแล้วมากกว่า 21 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ในขณะที่ สสส.จัดตั้งหน่วยงานในปี 2544 ปีนี้เป็นปีที่ 5 จัด Forum รายงานสุขภาพคนไทยจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูล และประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทยในทุกมิติ มีการนำเสนอในช่องทางที่หลากหลายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถเข้าถึงได้ง่ายในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความรับรู้และตระหนักไปในวงกว้าง ต่อประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย รวมทั้งบทวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรายงานสุขภาพคนไทยปี 2567 ไปใช้ประโยชน์ ทั้งการพัฒนากำหนดนโยบาย ติดตามหรือขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทย

“รูปแบบ 11 ตัวชี้วัดสุขภาพคนไทยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและโทษ ความเครียดเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งจะเกิดขึ้นในอนาคต เข้ามาเยือนสังคมไทย ท่ามกลางความเงียบและเทคโนโลยีทำให้เกิดความเครียด การพูดในเรื่องเดียวกันมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกันอยู่ ทั้งแนวกว้างและแนวลึก บางเรื่องเป็นตัวชี้วัดเทรนด์อนาคตเกิดเป็นเหตุการณ์จริงในหน้าข่าวที่ปรากฎอย่างเป็นจริงด้วย กลุ่มภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนชี้ประเด็นในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องภัยคุกคาม สิทธิบัตรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงบนโลกดิจิทัล ทีมรายงานสุขภาพคนไทยทำงานกันตลอดทั้งปี” ดร.ณัฐพันธุ์ตั้งข้อสังเกต

รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2567ชี้แจงว่า ตัวชี้วัด 2567 นำเสนอสถิติในประเด็น “เทคโนโลยีดิจิทัลกับสุขภาพคนไทย” ทั้งหมด 11 ตัวชี้วัด ที่สะท้อนว่าเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในทุกมิติของการดำเนินชีวิต โดยพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัยอย่างมาก ได้แก่ ด้านสุขภาพของประชาชน ด้านผู้ให้บริการ ด้านระบบสาธารณสุข ด้านบริการข้อมูลสุขภาพ ด้านคุณภาพความเป็นอยู่ ด้านการทำงานในรูปแบบ Work From Home ด้านการศึกษาที่ควรส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกภูมิภาค ด้านสื่อสังคมออนไลน์ที่ควรจับตาพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนอายุ 6-24 ปี ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด และทุกกลุ่มวัยที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เกือบทุกวัน เฉลี่ยใช้อินเทอร์เน็ต 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน ด้านวิถีชีวิต ด้านการตลาดดิจิทัลที่กลุ่มเด็กและเยาวชนพบเห็นโฆษณาชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ และด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ

รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เรื่องพิเศษฉบับนี้ คือ "ความเครียด" จากสถิติและข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกันว่า คนไทยเครียดมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและมีการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 มี 355,537 คน เพิ่มเป็น 358,267 คน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 2,730 คน อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2563 อยู่ที่ 5-6 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มเป็น 7.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2564 กลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 15-34 ปี ขณะที่ข้อมูลกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่า ประชาชนมีความเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า โรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 5.9 เท่า โดยส่วนใหญ่คนมุ่งดับอารมณ์แห่งความเครียดด้วยวิธีต่างๆ แต่ไม่ได้มุ่งค้นหาสาเหตุหรือทางแก้เหตุ เช่น การใช้ความรุนแรง การเบี่ยงเบนความสนใจของตนเอง ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบสุขภาพ อย่างการติดบุหรี่ เหล้า หรือใช้สารเสพติด

รศ.ดร.ภูเบศร์ชี้แจงว่า คนแต่ละช่วงวัยมีต้นเหตุความเครียดแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปจะไม่แตกต่างมากนัก 1.วัยเด็กเป็นเรื่องการเรียน ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และการคบเพื่อน 2.วัยทำงานเป็นเรื่องสร้างฐานะ สร้างครอบครัว และดูแลคนในครอบครัว โดยพบปัญหาเสี่ยงหมดไฟ 57% หมดไฟ 12% 3.วัยสูงอายุเป็นเรื่องสุขภาพ  การเงิน และความโดดเดี่ยว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนดิ้นรน เปรียบเทียบ แก่งแย่ง ช่วงชิง และเบียดเบียนกันมากขึ้น เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่สุมให้อุณหภูมิความเครียดภายในสะสมสูงขึ้น จนกลายเป็นภาวะเรื้อรังของสังคมในศตวรรษที่ 21 ทั้งที่โลกเจริญด้วยเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างสะดวกสบาย

“การฟื้นสภาพ (resilience) ด้านจิตใจเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องได้รับการฝึกฝน การพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างความมั่นใจในการแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การมีมุมมองในทางสร้างสรรค์ หรือชี้ให้เห็นถึงด้านดีของการมีความเครียดในระดับที่เหมาะสม จะทำให้คนพยายามแก้ปัญหา รวมถึงควรมีการปลูกฝังกรอบแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) เพื่อรับมือกับความเครียดที่จะมาในรูปแบบและระดับต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รศ.ดร.ภูเบศร์กล่าว.


สถานการณ์เด่นทางสุขภาพปี 2567

จากการวิจัยพบว่า สังคมให้ความสนใจสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ได้แก่

1.การกราดยิงกับแนวทางการควบคุมอาวุธปืน

2.ปัญหาแพทย์ลาออก ควรดำเนินการอย่างไร

3.สองทศวรรษของบัตรทอง : การขยายสิทธิประโยชน์แบบจัดหนักจัดเต็ม

4.การพนันออนไลน์ กับดักเยาวชนและคนหนุ่มสาว

5.เกิดแล้วเกิดอีก อุบัติเหตุจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

6.มาเฟียข้ามชาติกับการแก้ไขปัญหา

7.แรงงานไทยในตะวันออกกลาง ทางสองแพร่งระหว่างความมั่งคั่งกับความมั่นคงในชีวิต

8.มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย 3 หมื่นคนต่อปี  ถึงเวลาทวงสิทธิอากาศสะอาด

9.การถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. ความเป็นมา ปัญหาความท้าทาย และ

10.ธรรมนูญสุขภาพฉบับที่ 3 มุ่งสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ

สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ

"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ

เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน

สสส.ชวนคนรักสุขภาพ ร่วม'เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง' กระตุ้น'นักวิ่งหน้าใหม่'ลงสนาม8ธ.ค.นี้

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย จัดงานแถลงข่าว Thai Health Day Run 2024 วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “เมื่อคุณเริ่มวิ่ง หัวใจเต้นแรง” ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ ที่สะพานพระราม 8 โดย สสส. มุ่งจุดกระแสกิจกรรมทางกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต ซึ่งจากผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info ระบุว่า ไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.56 ปี อายุยืนเป็นอันดับที่ 78 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561-2565 พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 164,720 ราย สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิถีชีวิต

เจียระไนเพชร 3 องค์กรต้นแบบ สร้างเสริมสุขภาวะในที่ทำงาน

"ในอดีตเรารบกับเชื้อโรค มีการโจมตีด้วยเทคโนโลยี แต่วันนี้เรากำลังสู้กับกิเลสของมนุษย์ โรค NCDs เกิดขึ้นจากเราสร้างสุขเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตัวเอง เติมรสหวาน มัน เค็ม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า

อึ้ง ! ความเหงา-โดดเดี่ยว ภัยเงียบที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว

เวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย