วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน พร้อมบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนสอดคล้องกับนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร โดยเฉพาะในหัวข้อที่ 5 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว การสนับสนุนการพัฒนานิเวศนับเป็นการสร้างฐานที่มั่นคงให้กับเกษตรกรและชุมชน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในทุกมิติ
บ้านมั่นคงชนบทในที่ดินส.ป.ก ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่บูรณาการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ลงพื้นที่โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลปากช่อง ซึ่งดำเนินการโดยสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลปากช่อง เป็นโครงการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ดำเนินการ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพื่อช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทมีที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ มีหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง พร้อมเครือข่ายสมาชิกบ้านมั่นคงชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกว่า 200 คน ณ บ้านมั่นคงชนบท ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยมีสมาชิกทั้งหมด 85 ครัวเรือน พื้นที่รวมที่ได้รับการจัดสรรจาก ส.ป.ก. แบ่งเป็นแปลงที่อยู่อาศัย 85 แปลง เนื้อที่รวม 85 ไร่ และแปลงที่ทำกิน 85 แปลง เนื้อที่รวม 425 ไร่ นอกจากนี้ยังมีแปลงรวมสำหรับถนน แหล่งน้ำ และอื่น ๆ รวม 513 ไร่ สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการบ้านมั่นคงชนบทเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและอาชีพของสมาชิก รวมทั้งสิ้น 5,457,000บาท
การดำเนินงานของสหกรณ์เน้นการสร้างชุมชนใหม่ควบคู่กับการทำการเกษตรอินทรีย์ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอปากช่อง และศูนย์การเรียนรู้การเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี Smart Farm IOT เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้เน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โครงการนี้มุ่งหวังที่จะให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและขาดแคลนทรัพยากรสามารถมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพื่อการประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ของสํานักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อเกษตรกรรม สปก. เป็นการทํางานร่วมกันระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และ สปก.ต้องบอกว่าพื้นที่ สปก.ปากช่องแห่งนี้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง ที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอีกหลายๆ พื้นที่ เป็นพื้นที่การทําการเกษตรโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า วันนี้หัวใจของการทําการเกษตรคือ ทําน้อยแต่ได้มาก เป็นการคิดค้นระบบการให้น้ำ ระบบ IoT ระบบอัตโนมัติ รายได้ที่เพิ่มขึ้น ครอบครัว มีความอบอุ่น มีความมั่นคง มีความน่าอยู่ นอกจากจะมีเรื่องการเกษตรแล้ว ยังมีการทําโฮมสเตย์เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว และให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงของครอบครัว นโยบายนี้เน้นการเสริมพลังวันทำงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการสร้างนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขหนี้สินครัวเรือน จำนวน 25 ราย ภายใต้กิจกรรม "รวมทุน รวมใจแก้หนี้" นอกจากนี้ยังได้ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การรดน้ำด้วยระบบเทคโนโลยี Smart Farm IOT การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ภายใต้กิจกรรม "ระบบน้ำเชื่อมใจ" และการปลูกต้นไม้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันปลูกต้นรวงผึ้งและต้นพะยูง พิธีเปิดและเยี่ยมชมบ้านโฮมสเตย์ ภายใต้กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร/โฮมสเตย์ชุมชนก็ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
‘พะไล’ นำร่องการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางเมืองย่าโม
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้ลงพื้นที่โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ณ สหกรณ์เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม จำกัด(พะไล) เทศบาลตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมอบทะเบียนบ้าน และทุนสมทบการประกอบอาชีพ ให้แก่สมาชิกชุมชนจำนวน 26 หลังคาเรือน โดยมี มีชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง เข้าร่วมงานประมาณกว่า 150 คน
การพัฒนาระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคจากกรุงเทพมหานครไปยังนครราชสีมา และจากนครราชสีมาไปยังหนองคาย โครงการนี้แบ่งออกเป็นสองระยะ โดยระยะที่ 1 คือช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา และระยะที่ 2 คือช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ได้เริ่มโครงการที่สถานีนครราชสีมา โดยมีเส้นทางทั้งสิ้น 356 กิโลเมตรและประกอบด้วย 5 สถานีหลัก ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย
ในโอกาสนี้ รมว.พม. ได้พบปะกับผู้นำชุมชนและประชาชนชาวริมราง เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการคมนาคมของประเทศ นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยในการหาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือระบบรางอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางส่วนต้องย้ายที่อยู่อาศัย หรือมีปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ในการนี้ นายวราวุธ ได้เสนอแนวคิดในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น
หน้าที่ของกระทรวง พม. หรือกระทรวงใดก็ตาม มีหน้าที่แก้ไขปัญหา ทําอย่างไรให้พี่น้องนั้นมีบ้าน มีอาชีพ มีชุมชนที่อบอุ่น หัวใจสําคัญวันนี้เรามาดูเรื่องบ้านกันก่อน การมีที่พักอาศัยที่มั่นคง จะทําให้การดําเนินชีวิตของพี่น้องนั้นเต็มไปด้วยความมั่นคง รวมไปถึงอุปกรณ์ของพี่น้องคนพิการ จะหาของที่คุณภาพดีมาให้พี่น้องคนพิการได้ใช้ ชาว พม. ทุกคนตั้งใจจะทํางานแก้ไขปัญหา จะดําเนินการช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ในวันพรุ่งนี้ที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีผมเชื่อว่าคงจะมีหลายนโยบายหลายเรื่องที่นําเอาเข้าในที่ประชุมและเรื่องของพวกเราชาวชุมชนริมรางนี้จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะมีการพูดคุยกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นี่คือหน้าที่ของพวกเราชาวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกําลังใจให้กับพี่น้องทุกคน นายวราวุธ กล่าวในตอนท้าย
นอกจากนี้ นายก รมว.พม. ได้มอบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมกับมอบทะเบียนบ้าน ของที่ระลึก และทุนสมทบการประกอบอาชีพให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึงพิธีตอกเข็มเอก (เจาะ) เสาเข็มต้นแรกบ้านของนางสาววาริสษา แย้มทอง นอกจากนี้ยังมีการมอบทะเบียนบ้าน เครื่องอุปโภคบริโภค ของที่ระลึก และรถโยกให้กับนางสมจิตร ไพรราม ผู้พิการ เพื่อช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สหกรณ์เคหสถานเครือข่ายริมรางเมืองเมืองย่า จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดหาที่ดินรองรับให้กับสมาชิก 166 ครัวเรือน โดยมอบสัญญาเช่าที่ดิน (เลขที่ 90165828) ระยะเวลา 30 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 – กรกฎาคม 2595 ขนาดแปลงที่ดิน 12,205.66 ตารางเมตร (7 ไร่ 1 งาน 61 ตารางวา) อัตราค่าเช่าเริ่มต้นตารางเมตรละ 23 บาทต่อปี และมีอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ทุกปี รวมค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 2,136 บาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัย ดังนี้ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีไฟไหม้ ไล่รื้อ เพื่อปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราว จำนวน 27 ครัวเรือน งบประมาณ 486,000 บาท โครงการบ้านมั่นคง จำนวน 166 ครัวเรือน งบประมาณรวม 12,863,500 บาท (สิบสองล้านแปดแสนสองหมื่นสามพันห้าร้อยบาทถ้วน) แบ่งเป็น งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (โครงสร้างพื้นฐาน) 7,470,000 บาท งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย4,980,000 บาท งบบริหารจัดการ 373,500 บาท โครงการบ้านมั่นคง (เพิ่มเติม) จำนวน 94 ครัวเรือน งบประมาณช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบฯ (ระยะที่ 1)6,580,000 บาท และผู้ได้รับผลกระทบคงเหลือสถาบันฯจะต้องหาแนวทางและรูปแบบการแก้ไขปัญหาต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคงเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ด้านสาธารณูปโภค ดำเนินการถมดินปรับพื้นที่ ก่อสร้างถนน คสล.พร้อมท่อระบายน้ำ และก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ชุมชนแล้วเสร็จ โดยแผนดำเนินงานต่อจะเป็นการปักเสาพาดสายระบบไฟฟ้าและระบบประปา ด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการก่อสร้างระยะแรก จำนวน 27 ครัวเรือนแล้วเสร็จ ซึ่งสมาชิกบางส่วนได้ย้าย เข้ามาอยู่อาศัยแล้ว และกำลังดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 จำนวน 27 ครัวเรือน โดยแบบบ้านของสมาชิกโครงการเป็นบ้านแถวชั้นเดียวขนาด 5x7 เมตร สิทธิขั้นพื้นฐาน ดำเนินการประสานงานกับเทศบาลตำบลหัวทะเล เพื่อขอทะเบียนบ้านถาวรให้กับประชาชนในระยะแรก จำนวน 27 ครัวเรือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สลด! นักเรียนหญิง ม.3 พลัดตกอาคารชั้น 7 เสียชีวิตแล้ว
เกิดเหตุเด็กนักเรียนหญิงของโรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พลัดตกลงมาจากอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ
โคราชจัดยิ่งใหญ่ เทศกาลเที่ยวพิมาย ปี 2567 เช็กกิจกรรมไฮไลท์ในงานถึง 10 พ.ย.
ที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลเที่ยวพิมาย ประจำปี 2567
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
ไอเดียเจ๋ง! แต่งผีชวนคนบริจาคเลือดฉลองฮาโลวีน
นางสาวศิริลักษณ์ เพียกขุนทด หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนางสาวปพิชญา ณ นครพนม ผู้อำนวยการศูนย์การค้าฯ ร่วมจัดกิจกรรมแต่งผีชวนคนมาให้เลือด เนื่องในวันฮาโลวีน
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด