พอช. ร่วมเครือข่าย Kick Off ประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference) “คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มุ่งแก้ปัญหาควายากจน สร้างคน-ชุมชนเข็มแข็ง”

ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ  / วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference) ภายใต้แนวคิด “คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ไขปัญหาควายากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน” ชูประเด็น “การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing)” โดยมี นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกกว่า 13 ประเทศ และผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ทั้ง การเคหะแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำชุมชน องค์กรระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวนกว่า 200 คน ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Convention Center - UNCC)  กรุงเทพมหานคร

กระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเซีย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ และเครือข่ายสถาปนิกชุมชน (CAN) หน่วยงานภาคีสนับสนุนและองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ UN-ESCAP, UN-HABITAT, International CO-Habitat Network, Development Planning Unit, University College of London, Habitat for Humanity ร่วมจัด การประชุมสัมมนาระหว่างประเทศการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference)  : “คำตอบคือชาวชุมชน  ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  แก้ไขปัญหาควายากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน” ชูประเด็น  “การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing)” ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 - 4 กรกฎาคม 2567

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมือง โดยในส่วนโครงการการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และการแก้ปัญหาชุมชนแออัดที่ชุมชนนั้น รัฐบาลได้เห็นชอบและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระทรวง พม. โดย พอช. มาตั้งแต่ปี 2546 ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ซึ่งมีผลการดำเนินงานอย่างกว้างขวางในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายผลไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ชุมชนริมรางรถไฟ บ้านมั่นคงชนบท บ้านพอเพียง และโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน เพื่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนและสังคมโดยรวม

นายอนุกูล กล่าวว่า วันนี้เป็นการเปิดงานประชุมระหว่างประเทศการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference) เพื่อระดมความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนเรื่องของบ้านมั่นคงในพื้นที่เมืองต่างๆ ซึ่งเราพยายามขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมชุมชนเป็นหลักในการที่จัดทำที่อยู่อาศัย การมองถึงคุณภาพชีวิตของการมีส่วนร่วม ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการขับเคลื่อนบ้านมั่นคง โดยเฉพาะโครงการบ้านเช่าสำหรับพี่น้องคนไร้บ้าน ซึ่งมีรายได้ยังไม่ชัดเจน ฉะนั้นเพื่อให้ได้มีโอกาสในการมีที่อยู่อาศัย จึงได้ทำโครงการบ้านเช่า เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำอาชีพและสามารถจ่ายค่าเช่าได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการวางแผนการเงิน อย่างไรก็ตามเรื่องของเศรษฐกิจและรายได้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงว่า สามารถรับภาระในระหว่างการมีบ้านได้หรือไม่ นอกจากนี้เรายังต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของคนในครอบครัว ซึ่งทุกภาคส่วน เช่น สถาบันการศึกษา ชุมชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมพลังให้ชุมชนเข้มแข็ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีผลต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดยผู้มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจปรับตัวได้ยากลำบากกว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับผู้มีรายได้น้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและภาคีเครือข่ายจะต้องช่วยกันผลักดันให้เป็นวาระสำคัญอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมากแต่ยังมีความท้าทายอยู่เช่นกัน ซึ่งการประชุมสัมมนาตลอดระยะเวลา 4 วันนี้ เป็นการเปิดเวทีเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนที่ดำเนินการอยู่ในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือรวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยชุมชนที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ระหว่างผู้นำชุมชนและผู้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่จากประเทศต่างๆ ในเอเซีย ซึ่งจะส่งผลต่อแนวทางนโยบายขององค์กร หน่วยงาน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ  รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน และอีกเรื่องที่สำคัญคือการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นหน้าต่างที่สำคัญที่บอกให้โลกได้รับรู้ว่าเรากำลังให้ความสำคัญและกำลังขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัยต่อไป”

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขและพัฒนาที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครัวเรือน  โดยการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  พอช. จำนวน 1,053,702 ครัวเรือน ทั้งนี้โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมชุมชนทั้งหมดของเมือง มีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาเชิงรุก จัดทำแผน แนวทาง และรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายตามสภาพปัญหาของชุมชน และแผนการพัฒนาเมือง รวมทั้งยังเน้นให้เกิดกระบวนการทำงานและจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนและท้องถิ่น โดยมีกลไกการทำงานร่วมกันเป็นคณะกรรมการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย เทศบาล ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันวางแผนและพัฒนาชุมชนแออัด

“พอช. จะสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยให้มีบ้านที่มั่นคง แต่เราไม่ได้ทำเพียงแค่เรื่องบ้าน ซึ่งมีนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีรายได้ มีระบบการสร้างรายได้ สร้างระบบการเงินของชุมชนให้เกิดการรวมกลุ่ม เกิดการสร้างเครือข่าย ซึ่งส่งผลให้ชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง จะเห็นรูปธรรมได้จากการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองแม่ข่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางรถไฟ และมีนโยบายเกี่ยวกับโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง–กรุงเทพฯ โดย Asian Development Bank และWorld Bank ซึ่ง พอช. จะต้องดำเนินการจัดทำแผนรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ ประมาณ 8,000 ครัวเรือน ภายใต้การศึกษาในพื้นที่ขององค์กรการเงินระหว่างประเทศทั้งสององค์กรเพื่อประกอบการพิจารณาในมาตรการการช่วยเหลือประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวของรัฐบาลไทย ในการรองรับประชาชนอย่างครอบคลุมและรอบด้านต่อไป”

ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท โดย พอช. มีผลการดำเนินงานภายใต้ ดังนี้  1. “โครงการบ้านมั่นคง” การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด/ชุมชนบุกรุก โดยมีเป้าหมายแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย  เพื่อสร้างชุมชนที่มั่นคง “บ้าน...ที่มากกว่าคำว่าบ้าน” เป้าหมายตามแผนแม่บท 20 ปี จำนวน 690,000 ครัวเรือน ผลการดำเนินงานสะสม นับตั้งแต่ปี 2546 – ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) จำนวน 133,382 ครัวเรือน 2. การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการกำหนดมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ จากการสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการและ สิ่งแวดล้อมที่ดี ตลอดจนปรับเปลี่ยนสถานะจากผู้รุกล้ำ เป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกระเบียบ เป้าหมายตามแผน 20 ปี จำนวน 11,004 ครัวเรือน มีผลการดำเนินงาน แบ่งเป็น (1) คลองลาดพร้าว 3,553 ครัวเรือน (2) คลองเปรมประชากร 1,364 ครัวเรือน

3.คนไร้บ้าน มีการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน โดยสนับสนุนการสร้างชุมชนใหม่ของคนไร้บ้าน และศูนย์พัฒนาชีวิตคนไร้บ้าน 3 ศูนย์ รองรับคนไร้บ้าน 1,395 ราย/698 ครัวเรือน ในกรุงเทพ(ปทุมธานี) ขอนแก่น และเชียงใหม่ 4. บ้านพอเพียง “ซ่อมสร้างบ้านคนจน” เป็นการสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อยในชนบท ซึ่งมีที่อยู่อาศัยและที่ดินแล้ว แต่สภาพบ้านทรุดโทรม เกิดการปรับปรุง ซ่อมแซม และก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาส มีเป้าหมายรวม 352,000 ครัวเรือน จากการดำเนินงานในปี 2560 – ปัจจุบัน (มีนาคม 2567)  เกิดการปรับปรุง  ซ่อมแซมและก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาส ครอบคลุม 77 จังหวัด ใน 4,904 ตำบล ผู้รับผลประโยชน์ 145,262 ครัวเรือน  

จากการดำเนินงานส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท และเกิดความร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีพัฒนา เช่น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวม 22 หน่วยงาน ในโครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ในระยะเวลา 5 ปี , การสร้างหลักประกันยามชราภาพและความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของชุมชนผ่านการออม  ร่วมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ยกระดับการออมให้กับผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงการออมแบบครอบคลุมทุกชุมชน  ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 50 แห่ง

ทั้งนี้ในเวทีประชุมสัมมนาระหว่างประเทศการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference) มีการปาฐกถาพิเศษ “ธรรมะการทำงานในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมที่อยู่อาศัยร่วมกันให้เข้มแข็ง” โดย พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) โดยท่านได้แสดงธรรมะเกี่ยวกับการทำงานไว้ว่า คนเรามีอุดมคติ คิดว่าเราทำดี ทำถูก คิดว่าคนอื่นคิดไม่ถูก ทำไม่ถูก ทำให้เรายึดตัวเองเป็นตัวตั้งในการทำงาน ถ้าเราปรับตรงนี้ใหม่ ด้วยการพยายามเข้าใจเหตุ ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น มองดูตัวเราเอง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา กับคนอื่นที่เกี่ยวข้อง พยายามเรียนรู้ให้เข้าใจคนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยความเมตตา ความเข้าใจนี้ จะทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของสิ่งที่เราเป็น ความคิดของเราจะเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าอย่างไร และคนอื่นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่านั้นอย่างไร

ด้วยความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เข้าใจเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น เราจะเข้าใจว่าทำไมจึงเกิดสิ่งนั้นขึ้น สิ่งใดเป็นเหตุให้เกิดสิ่งนั้น เราจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นและคนอื่นๆ อย่างเข้าใจและมีเมตตา เราจะสามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งได้ดีขึ้น อย่างมีเมตตา ถ้าเราสามารถปรับตรงนี้ได้ เราจะสามารถจัดเนื้อหาความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างตัวเรา คนอื่นๆและสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะมองทุกอย่างเหมือนเราเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น

“การทำงานนั้นต้องมีสติ การทำงานกับส่วนรวมอาจจะมีความเห็นต่าง อาจไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิด ก็ต้องยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น การทำงานแบบมีส่วนร่วม ต้องมีการพูดคุย ประชุมกันเป็นเนืองนิจ และการทำงานชุมชนต้องเป็นคนที่เสียสละ”

พร้อมทั้งวงเสวนา ประกอบด้วย วงเสวนาทำไมจึงต้องเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกันโดยชุมชน? : Why Collective Housing?” มีผู้ร่วมเสวนา คือ นายกิร์ติชา (Mr. Kirtee   Shah ) ผู้อาวุโส ประธานองค์กร ASAG ประเทศอินเดีย , นางลัจนา มานันดาร์ (Mrs. Lajana  Manandhar) เลขาธิการร่วมมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย และประธานองค์กร LUMANTI ประเทศเนปาล , Mrs. Van Liza ประธานองค์กร Women for the World ภาคประชาสังคมทำงานสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยของคนยากจน ชุมชนประเทศพม่า , Miss Jane Weru ประธานกรรมการบริหาร Akiba Mashinani Trust สนับสนุนการแก้ปัญหาของชุมชนและการพัฒนาที่อยู่อาศัย ประเทศเคนยา , Miss Adriana Allen อาจารย์จาก University College of London, Development Planning Unit, ประเทศอังกฤษ , Mrs. Lea Oswald ผู้ประสานงานองค์กร UrbaMonde และ Co-Habitat Network เครือข่ายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนบ่อนไก่ กทม. ในประเทศไทย  ดำเนินรายการ โดย คุณสุทธิชัย หยุ่น

การนำเสนอ “ที่อยู่อาศัย กุญแจสู่ความมั่นคงทางสังคมและมนุษย์ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนโยบายและแนวปฏิบัติระดับชาติของประเทศไทย” โดย นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ประธานอนุกรรมการโครงการบ้านมั่นคง พอช. และการเสวนาแลกเปลี่ยน  “การพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ขุมชนและสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบาย และแนวปฏิบัติในประเทศไทย” โดย นางสนอง รวยสูงเนิน  การพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองชุมแพ , นางดวงพร บุญมี  การพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง  , นางทองเชื้อ วระชุน โครงการที่อยู่อาศัยชุมชนริมทางรถไฟ , นางกรรณิการ์ ปู่จินะ  โครงการที่อยู่อาศัยศูนย์คนไร้บ้าน , นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและถิ่นฐานชนบทเข้มแข็ง บ้านมั่นคงชนบท , นางสาวเฉลิมศรี  ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. ที่เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากคนในชุมชนและท้องถิ่นให้ความร่วมมือ ดำเนินรายการโดย นางทิพย์รัตน์  นพลดารมย์ ที่ปรึกษา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

โดยในช่วงท้ายของการประชุมในวันนี้ มีเวทีการนำเสนอโครงการตัวอย่างที่ได้รับรางวัล การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในเอเชีย และในระดับโลก ประกอบด้วย Mr.Khondaker Hasibul, Kabir Bangladesh, City-wide housing development and riverside participatory redevelopment in Jhenadah city ประเทศบังกลาเทศ , มานติ โจชิ (Lumanti Joshi) Nepal, City-wide upgrading in Kalaya City , Mr.Gugun Muhammad, Indonesia, Cooperative housing of the poor , Mariolga Julia Pacheco  , เจน วาลู (Jane Weru) จากประเทศเคนยา ดำเนินรายการโดย ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ และ ดร.กฤษณะพล วัฒนวันยู

อย่างไรก็ตามผู้แทนจากหน่วยงาน องค์กร ตลอดจนขบวนองค์กรชุมชนทั้งประเทศไทย และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกกว่า 13 ประเทศ จะมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นฐาน พร้อมทั้งเสนอแนวทาง ตลอดระยะเวลาอีก 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-4 กรกฎาคมนี้ ณ โรงแรมปริ้นซ์พลาเลซ กทม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง

กระทรวง พม. เปิดปฏิบัติการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

กรุงเทพฯ/29 มิถุนายน 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง (1)

สำหรับทุกคนที่เดินทางมาจังหวัดตราด ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งไปเกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “เกาะช้าง” และหมู่เกาะบริวารเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ

“หาดเล็กบ้านในน้ำ” ชุมชนชาวประมงต้นแบบบ้านมั่นคงในที่ดินกรมเจ้าท่าแห่งแรกในประเทศไทย

ตำบลหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ชุมชนชาวประมงเล็กๆ เป็นชุมชนชายฝั่งชายแดน อยู่ทะเลด้านตะวันออกสุด และมีพื้นดินส่วนที่แคบที่สุดในประเทศไทย