สะพานวัดใจบ้านน้ำเชี่ยว
สำหรับทุกคนที่เดินทางมาจังหวัดตราด ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งไปเกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “เกาะช้าง” และหมู่เกาะบริวารเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ จนลืมนึกถึงว่า บนฝั่งแผ่นดินใหญ่ยังมีสิ่งน่าสนใจที่ต้องไปเยือน ชวนไปเที่ยว ชวนไปสัมผัสถึงเสน่ห์ของเมืองตราด และที่นั่นก็คือ “บ้านน้ำเชี่ยว” แหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่มีเรื่องราวมากมายให้น่าไปค้นหา ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติป่าชายเลน สะพานวัดใจ อาหารพื้นถิ่น วิถีชุมชน 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม และเรื่องราวอีกมากมายที่ทุกคนต้องหลงใหล
พี่หน่อย หรือ นางสุรัตนา ภูมิมาโนช ประธานวิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว และกลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า บ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนเล็กๆ ในตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ห่างจากตัวเมืองตราดประมาณ 8 กม เป็นชุมชนใกล้ปากอ่าวอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เดิมที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยพื้นที่ และชาวจีนที่ล่องเรือสำเภามาค้าขาย ก่อนลงหลักปักฐานอยู่อาศัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมุสลิมที่เรียกตัวเองว่า “แขกจาม หรือ จำปา” ได้อพยพหนีภัยสงครามจากกัมพูชามาตั้งรกรากอาศัยอยู่เพิ่มเติม ทำให้บ้านน้ำเชี่ยวเป็นชุมชน “2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม” คือ ศาสนาพุทธ-อิสลาม และวัฒนธรรมไทย-จีน-มุสลิม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขมาช้านาน ลักษณะภูมิประเทศของบ้านน้ำเชี่ยว ถือว่าได้เปรียบด้านทรัพยากรมีความสมบูรณ์ เพราะมีทั้งป่าชายเลน เป็นชุมชนปลายแม่น้ำ มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมน้ำ เป็นแหล่งรวมของคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน ภายในชุมชนจึงมีทั้งวัด ศาลเจ้า และมัสยิด จนกลายเป็นอัตลักษณ์อันทรงเสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้ ที่สามารถผสมผสานความหลากวิถีให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างกลมกลืน
วิถีชีวิตชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว
พี่หน่อย เล่าต่อไปอีกว่า ผู้มาเยือนบ้านน้ำเชี่ยว ที่นี่มีสิ่งน่าสนใจและของดีหลากหลายให้เที่ยวชม เริ่มจาก “คลองน้ำเชี่ยว” เส้นเลือดหลักของชาวชุมชน ซึ่งเราสามารถเดินแบบสบายๆ เที่ยวชมวิถีความเป็นอยู่ของชุมชน ที่มากไปด้วยรอยยิ้มและน้ำใจไมตรีของชาวบ้านน้ำเชี่ยวได้อย่างเพลิดเพลิน คลองน้ำเชี่ยวมีจุดที่ผุ้มาเยือนทุกคนต้องไปนั่นก็คือ “สะพานวัดใจ” เป็นสะพานข้ามคลองโครงเหล็กโค้งสูง ยามสะท้อนต้องเงาน้ำจะมองเห็นเป็นรูปวงรีสวยงามดูคล้ายดวงตา จึงได้รับฉายาว่าเป็น “ดวงตาแห่งบ้านน้ำเชี่ยว” ซึ่งเป็นใครไปที่ จ.ตราด ต้องไม่พลาดที่จะไปถ่ายรูปเช็คอินที่นี่ และบริเวณริมคลองน้ำเชี่ยวยังมี “มัสยิดอัลกุบรอ” มัสยิดแห่งแรกของภาคตะวันออกอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิม
มัสยิดอัลกุบรอ
ที่นี่มีแหล่งท่องทางธรรมชาติคือ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน” ที่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติทอดยาวนำชมระบบนิเวศป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ มีหอดูนกสูงกว่า 12 เมตร ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดูนก ชมวิว และสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของป่าชายเลนได้รอบด้าน นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมล่องเรือชมวิถีชีวิตริมน้ำ ชมอุโมงค์ป่าโกงกางอันสวยงามยามเย็น ชมเหยี่ยวแดงที่มีอยู่จำนวนมาซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ชมป่าชายเลนผืนใหญ่ วิถีประมงพื้นบ้าน ชมทะเลปากอ่าวซึ่งจะเห็นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ซึ่งทะเลบริเวณนี้สามารถมองเห็นความยิ่งใหญ่อลังการของเกาะช้างได้อย่างชัดเจน
อุโมงค์ป่าโกงกาง
นอกจากนี้ ที่บ้านน้ำเชี่ยว ยังมีอีกหนึ่งของดี คือ “งอบน้ำเชี่ยว” งานหัตถกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น งอบน้ำเชี่ยวทำจากใบจาก ฝีมือประณีตสวยงาม ประกอบด้วย 5 รูปทรงให้ผุ้มาเยือนได้เลือกซื้อหา ได้แก่ ทรงกระทะคว่ำ ทรงยอดแหลม ทรงกระดองเต่า ทรงกะโหลก และทรงสมเด็จ
งอบน้ำเชี่ยว
ส่วนด้านอาหารการกิน นอกจากอาหารทะเลสดๆรสเลิศแล้ว ถ้ามาถึงน้ำเชี่ยวต้องไม่พลาดชิม “ข้าวเกรียบยาหน้า” ของกินเมนูขึ้นชื่อของชุมชน ต้องบอกว่าเป็นที่เดียวในโลกเลย พอบอกแค่ชื่อก็แปลก คนที่น้ำเชี่ยวเรียกคำว่าทาเป็นคำว่ายา แต่เว้นหน้าอย่างเดียวที่พวกเราเรียกว่าทาแป้งก็สงสัยเหมือนกันทําไมไม่เรียกยาแป้ง ที่มาของเมนูนี้ มาจากชาวมุสลิมเชื้อสายจามที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งนำวัฒนธรรมการกินมาด้วย นั่นคือ ข้าวเกรียบปากหม้อ บวกกับที่ชุมชนนี้มีกุ้ง มีมะพร้าวจำนวนมาก แผ่นแป้งของข้าวเกรียบยาหน้ามีวัตถุดิบและส่วนผสมอย่างเดียวกับข้าวเกรียบปากหม้อ คือใช้แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน ผสมเข้ากับน้ำ จากนั้นนำไปนึ่งเป็นแผ่น ๆ จนสุก แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง ครั้นเมื่อจะรับประทาน ก็จะนำแผ่นแป้งที่ผ่านการตากแดดจนแห้งนั้นไปปิ้งบนเตาถ่านจนแป้งกรอบ ทาน้ำตาลอ้อยเคี่ยวซึ่งมีลักษณะข้นเหนียว และตักเครื่องโรยหน้า ซึ่งทำจากแครอท มะพร้าว และกุ้งสับละเอียด ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยเล็กน้อย ละเลงทาลงบนแผ่นแป้ง แล้วโรยด้วยต้นหอมซอย พร้อมรับประทาน และมีลักษณะใกล้เคียงกับขนมเบื้อง
ข้าวเกรียบยาหน้า
บ้านน้ำเชี่ยวนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแล้ว ชาวชุมชนยังให้ความสำคัญกับการลดปริมาณคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถคว้า “รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” (Thailand Tourism Awards) หรือ “รางวัลกินรี” ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” มาครองใน 2 ประเภทรางวัลด้วยกัน ได้แก่ รางวัลดีเด่น กินรีเงิน สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และเกียรติบัตรประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี
รางวัลดีเด่น กินรีเงิน
“บ้านน้ำเชี่ยว” เป็นอีกหนึ่งแลนด์มารค์ที่ทุกคนต้องไป เมื่อมาเที่ยวที่ จ.ตราด เราสามารถมาท่องเที่ยว เปิดประสบการณ์มุมมองใหม่กับสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ผสานวิถีความหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมป่าชายเลน ทั้งมีกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลายให้เลือกทำทั้งแบบ One Day Trip และการพักค้างแบบโฮมสเตย์ ผู้สนใจสามารถรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “กลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว” ติดต่อ พี่หน่อย โทร. 084 892 5374 หรือดูที่เพจ กลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว (วิสาหกิจฯโฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว)
ล่องเรือชมเหยี่ยว
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนปากอ่าวบ้านน้ำเชี่ยว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
ไฟไหม้กุฏิเก่าอายุกว่า 60 ปี วัดบ่อไร่ วอดทั้งหลัง เสียหายหลายแสนบาท
เจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราด เขตบ่อไร่ ร่วมกับสถานีดับเพลิงเทศบาลตำบลบ่อพลอย ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ภายในวัดบ่อไร่ หมู่ 7 ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
จี้รัฐบาลประท้วงกัมพูชา
"สนธิรัตน์" นำทีมพลังประชารัฐลงพื้นที่ตราด "ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์" ชี้อันตรายมาก แนวสันเขื่อนดินที่กัมพูชาสร้างต่อเติมออกไป หากไม่มีการประท้วงหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆ ก
พปชร. ลงตราด ชวนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมคัดค้าน MOU 44
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานร่วมศูนย์นโยบาย และวิชาการ และ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมาเยี่ยมพี่น้องประชาชนในจังหวัดตราด โดยได้รับการประสานงานจากประชาชนในพื้นที่