จับตา...ราคายางครึ่งปีหลังสดใส ประเทศไทยประกาศพร้อมรับมือกฎเหล็ก EUDR

ภายหลังจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ราคายางพาราของไทยได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (FOB) เคยขึ้นไปแตะถึง 99.94 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ก่อนที่จะปรับราคาลงมาบ้าง  แต่ยังเป็นราคาที่เกษตรกรชาวสวนยางพึงพอใจและรอคอยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังมั่นใจว่า "ราคายางในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567  มีแนวโน้มสดในและมีราคาสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ"

ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นก็คือ การประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ของรัฐบาล  โดยเฉพาะยางพารา ร้อยเอกธรรมนัส มีนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช หน่วยงานความมั่นคง ปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สามารถจับยางเถื่อนลักลอบเข้ามาที่ จ.ระนอง ได้รวมกันกว่า 35.5 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านบาท

ตั้งแต่ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมายในเดือนตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สามารถตรวจจับการลักลอบนำเข้ายางจากประเทศเพื่อนบ้านในเขต จ.กาญจนบุรี จ.ตาก จ.ระนอง และจ.เชียงรายได้รวมกันมากกว่า 323 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ30 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมหลักฐานส่งดำเนินคดีทั้งหมด

นอกจากการประกาศสงครามเอาจริงในการปราบปรามยางเถื่อนดังกล่าวแล้ว มีปัจจัยสำคัญอื่นๆอย่างไรบ้างที่จะสนับสนุนทำใหัราคายางภาพรวมในช่วงครึ่งมีหลังมีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามที่ ร้อยเอกธรรมนัสได้คาดการณ์ไว้ ?

นายณกรณ์  ตรรกวิรพัท   ผู้ว่าการ กยท.  เปิดเผยว่า  ในครึ่งปีหลังสถานการณ์ราคายางยังคงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ขณะนี้ราคาจะปรับตัวลงมาบ้างแต่เป็นช่วงแคบๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของราคายาง  โดยมีปัจจัยบวกที่จะมีผลต่อราคายาง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว  สงครามทั้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์และรัสเซียกับยูเครนอยู่ในวงจำกัด   การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ จะสูงถึง 17 ล้านคันเทียบกับ 14 ล้านคันในปี 2566  ซึ่งยางล้อสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากกว่ายางล้อรถยนต์ทั่วไป   

"ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนจำกัด   แม้จะเป็นช่วงฤดูกาลเปิดกรีดแล้วก็ตาม แต่สภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตยางลดลง  ซึ่งจะทำให้ราคายางในครึ่งปีหลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเสถียรภาพ" ผู้ว่าการ กยท.กล่าว

นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อราคายางโดยตรงคือ การบังคับใช้กฎระเบียบ  EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR)  ของสหภาพยุโรป(EU)  ในเดือนธันวาคม 2567 ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป จะทำให้ยางพาราของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ยางพาราจากประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกยางของโลกเท่านั้น ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามกฎระเบียบ EUDR ได้

ตลาด EU มีความต้องการใช้ยางพาราประมาณปีละ 4 ล้านตัน แต่ในปัจจุบันมีเพียงประเทศไทย และประเทศไอวอรีโคสต์ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ในแอฟริกา ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาตามกฎระเบียบ EUDR ได้  โดยมีปริมาณยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ประมาณ 1-1.5 ล้านตัน   ในขณะที่ประเทศไทยสิ้นปีนี้จะมียางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ประมาณ 2 ล้านตัน เมื่อรวมกันทั้ง 2 ประเทศ มีปริมาณยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ประมาณ 3-3.5 ล้านตัน  ซึ่งหากวิเคราะห์จากตัวเลขอุปสงค์(Demand) คือความต้องการจะซื้อยาง กับอุปทาน(Supply) คือปริมาณยางที่จะขายแล้ว  จะพบว่า ปริมาณยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของ EU  เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน ราคาย่อมจะเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกของตลาด  ดังนั้นราคายางของไทยในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีีจึงมีแนวโน้มสดใส ยิ่งเป็นยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับตามกฎเหล็ก EUDR  ได้ด้วยแล้ว ยิ่งจะมีราคาสูงกว่าท้องตลาดอย่างแน่นอน

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการกยท. ให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมายEUDRเป็นกรณีพิเศษ ให้กำหนดเป็นนโยบายที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราใน EU ได้เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง   แม้จะไม่ใช่ตลาดหลักของไทย  โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาส่งออกไป EU มีมูลค่าประมาณ 401 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ14,500 ล้านบาท)  จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 3,648 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ132,000 ล้านบาท) คาดว่ากฎระเบียบ EUDR จะทำให้มูลค่ายางพาราที่ส่งออกไป EU มีราคาที่สูงกว่ายางทั่วไปไม่ต่ำกว่า 4-5 บาทต่อกิโลกรัม  และยังจะช่วยดึงราคายางในตลาดทั่วไปขึ้นตามไปด้วย

สำหรับตลาดส่งออกยางพาราตลาดหลักของไทยคือ ประเทศจีนในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง  1,411  ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 51,000 ล้านบาท)  ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกเป็นวัตถุดิบ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางจาก โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ และที่สำคัญผลิตภัณฑ์จากยางดังกล่าว หากจะต้องส่งไปขายในตลาดEU  จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาตามกฎระเบียบ EUDR เช่นเดียวกัน  ดังนั้น จีน รวมทั้งประเทศคู่ค้าอื่นๆของไทยจำเป็นจะต้องซื้อยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ถึงจะสามารถส่งผลิตภัณฑ์นั้นๆไปขายใน EU ได้

"โอกาสนี้ กยท.จะเร่งเพิ่มจำนวนสวนยางพาราที่สามารถตรวจย้อนกลับได้ ผมตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2568 ไทยจะมียางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ไม่น้อยว่า 3.5 ล้านตัน จากปริมาณยางของไทยที่สามารถผลิตได้ประมาณปีละ 4 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการของ EU และประเทศอื่นๆ ที่ซื้อยางจากประเทศไทยเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งไปขายในตลาด EU ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎระเบียบ EUDR เช่นกัน" ประธานบอร์ด กยท.กล่าว

กฎระเบียบ  EUDR  สาระสำคัญไม่ใด้เฉพาะการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาเท่านั้น แต่จะต้องเป็นยางที่มาจากสวนยางที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า    ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ  พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมอีกด้วย กยท.จึงได้จัดทำ "โครงการReady for EUDR in Thailand : RAOT พร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล" ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการระบบยางอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   ซึ่งจะมีการประเมินและจัดหมวดหมู่อย่างละเอียดตามมาตรฐาน EUDR 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า  กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายหลักที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน  โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและผู้ประกอบกิจการยางพาราไทย  ได้ผลักดันให้มีการจัดการข้อมูลยาง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย  EUDR และมาตรฐานระดับสากลต่างๆ พร้อมทั้งได้ผลักดันโฉนดเพื่อการเกษตรในพื้นที่ สปก. ที่เป็นพื้นที่สวนยาง กว่า 9.2 ล้านไร่ ให้เป็นพื้นที่ทำกินที่ถูกต้อง รวมทั้ง การออกโฉนดต้นยาง เพื่อรับรองการมีอยู่ของต้นยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการขยายโอกาสแก่เกษตรกรให้เข้าถึงพื้นที่ทำกินซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายทำเกษตรยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม สอดคล้องกับกฎ EUDR

"การทำเกษตรโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกยางและผู้เกี่ยวข้องได้มี
ส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ของประเทศและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก สร้างความยั่งยืนให้ห่วงโซ่อุปทานยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกิดการยกระดับพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้มีความแข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน"
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

กยท.ได้ขับเคลื่อนดำเนินมาตรการต่างๆ ในเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกฎระเบียบ  EUDR  โดยได้จัดเก็บข้อมูลทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเป็นระบบ จึงสามารถระบุและจำแนกพื้นที่สวนยาง ทราบได้ว่าผลผลิตยางจากสถาบันเกษตรกรที่นำมาขายผ่านตลาดกลาง กยท. มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด ตรวจสอบย้อนกลับได้ 100%  ควบคู่กับการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ราคายางในครึ่งปีหลังจะเป็นเหมือนที่  ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ไว้หรือไม่?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รมว.นฤมล”ชวน ผู้ปกครองพาบุตรหลานเที่ยวงาน "วันเด็กแห่งชาติ" เสาร์ 11 ม.ค.นี้ เผย ก.เกษตรฯ จัดเต็ม ของขวัญ ของที่ระลึกมากมาย

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าพรรคกล้าธรรม กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 กระทรวงเกษตรฯ

ข่าวดี! กรมชลฯ เปิดรับแรงงานเกษตรกร 8.4 หมื่นราย

กรมชลฯเปิดรับแรงงานเกษตรกร หารายได้เสริมกว่า 8.4 หมื่นคน ช่วยงานโครงการพระราชดำริและงานขุดลอกคูคลองต่างๆ ทั่วประเทศสนใจสมัครด่วนวันนี้

”รมว.นฤมล“เผย ไทยติดสปีดพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้กว่า 10 ล้านไร่ หนุนทำนาเปียกสลับแห้ง ลดปล่อยก๊าซมีเทน

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าพรรคกล้าธรรม กล่าวถึงสถานการณ์การแข่งขันกันในเรื่องสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนตํ่า เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิต

“รมว.นฤมล”เผย ก.เกษตรฯพร้อมตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน”อีก 5 พันแห่ง ในปี 68-69 พร้อมชวนเกษตรกรร่วมเป็น“ชาวนาอาสา” เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาศักยภาพ ตอบโจทย์ตลาดและผู้บริโภค

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าพรรคกล้าธรรม กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมตัวกันจัดตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน” เพื่อเป็นรากฐานในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าว

‘นฤมล’ เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งภาคสหกรณ์

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบ 4 นโยบายการขับเคลื่อนภารกิจของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินการบัญชีภาคการเกษตร

เศรษฐกิจไทยคึกคัก ส่งออก พ.ย.เพิ่ม 8.2% รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นต่อมั่นใจ GDP เกิน 3 %

เศรษฐกิจไทยคึกคัก 'ศศิกานต์' เผยส่งออก พ.ย. เพิ่ม 8.2% รวม 11 เดือนขยายตัวถึง 5.1% ลุ้นทำนิวไฮทะลุ 3 แสนล้านเหรียญ รัฐบาลขอเดินหน้ากระตุ้นต่อตามนโยบาย 2568 มั่นใจ GDP เกิน 3 % แน่นอน