ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม หากไม่มีกฎหมาย ความโกลาหลอาจเกิดขึ้นได้ และอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล  อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายที่รัฐตราขึ้นนั้นใช้บังคับไประยะหนึ่งแล้ว กฎหมายที่เคยเป็นกฎหมายที่ดี ก็อาจกลายเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศในปัจจุบัน หรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายใหม่ที่รัฐตราขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดภาระแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเกินสมควร  ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงมีหน้าที่ต้องย้อนกลับไปพิจารณากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เป็นระยะว่ายังมีความจำเป็นหรือเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบด้วยว่าการบังคับใช้กฎหมายได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายนั้นมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชนหรือไม่ หรือมีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่ เพียงใด  ทั้งนี้ เมื่อรัฐตรวจสอบแล้วพบว่า กฎหมายใดหมดความจำเป็น ทางเลือกหนึ่งที่รัฐทำได้คือการยกเลิกกฎหมายนั้นเสีย เพื่อให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น

การรวบรวมกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นเพื่อเสนอยกเลิกเป็นภารกิจหนึ่งที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และในการเสนอยกเลิกกฎหมายครั้งล่าสุด ที่เป็นการดำเนินการครั้งที่ ๕ คณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้รวบรวมและเสนอยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ โดยมุ่งเน้นยกเลิกกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควรแก่เหตุ และกฎหมายที่ใช้ระบบอนุญาตโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีกฎหมายสำคัญที่สามารถนำมายกตัวอย่างได้ ดังต่อไปนี้

๑. กฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควรแก่เหตุ โดยกฎหมายที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอยกเลิกในกลุ่มนี้เป็นกฎหมายที่มีการใช้โทษอาญาจนเกินความจำเป็น เช่น (๑) พระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งบัญญัติขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และกำหนดให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต่อต้านข้าศึกในยามสงคราม โดยหากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษถึงประหารชีวิต และริบทรัพย์สมบัติส่วนตัว ซึ่งเป็นโทษโบราณที่ไม่ได้สัดส่วนและไม่อาจใช้บังคับในโลกยุคปัจจุบันได้แล้ว และ (๒) พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ให้อำนาจคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาออกคำสั่งเรียกเอกสาร หรือเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่ พร้อมกับกำหนดโทษอาญาทั้งปรับและจำคุกเมื่อฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว โดยในกรณีไม่จัดส่งเอกสารหรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินห้าพันบาท

๒. กฎหมายที่ใช้ระบบอนุญาตโดยไม่จำเป็น โดยการศึกษากฎหมายในกลุ่มนี้มุ่งเน้นประเมินว่าการใช้ระบบอนุญาต ซึ่งเป็นระบบที่สร้างภาระให้แก่ประชาชนอย่างมาก สามารถทำให้การใช้บังคับกฎหมายนั้นบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายนั้นหรือไม่ โดยกฎหมายที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอยกเลิกในกลุ่มนี้เป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้กลไกการอนุญาตตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นได้ เช่น (๑) พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงพ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่กำหนดกลไกให้ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงจะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้ เพื่อควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียงให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและให้ใช้ภาษาไทยในการโฆษณา  อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสภาพการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว และไม่อาจควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียงตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมายนี้ได้อีกต่อไป เนื่องจากเครื่องขยายเสียงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว การใช้ระบบอนุญาตในการควบคุมการใช้เสียงจึงไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการกำหนดให้ชัดเจนว่าการใช้เสียงดังถึงระดับใดจึงจะผิดกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้เสียงดังจนเกินระดับที่กฎหมายกำหนด และ (๒) พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ควบคุมการเข้าถึงและการใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการตัดไม้ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยกำหนดให้การมี ใช้ ผลิต นำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ หรือซ่อมแซมเลื่อยโซ่ยนต์ ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  อย่างไรก็ดี การใช้บังคับกลไกการอนุญาตตามกฎหมายนี้ไม่สามารถป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ได้ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เนื่องจากยังคงมีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่จำนวนมากในประเทศที่ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามักใช้เลื่อยโซ่ยนต์ที่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมายนี้ ในการกระทำความผิด และในบางกรณีแม้จะเป็นเลื่อยโซ่ยนต์ที่ได้รับอนุญาตก็ปรากฏว่า ได้มีการทำลายเครื่องหมายทะเบียนอันทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้กระทำความผิดและนำตัวมาลงโทษได้

นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมายยังเสนอยกเลิกกฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่มีการบังคับใช้เนื่องจากหมดความจำเป็นหรือมีกฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว ไปในคราวเดียวกัน เช่น (๑) พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. ๒๕๕๕ เนื่องจากกองทุนได้ดำเนินการช่วยเหลือธุรกิจประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์อุทกภัยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จนบรรลุตามวัตถุประสงค์และธุรกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว (๒) พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่กำหนดกลไกการเนรเทศคนต่างด้าวซึ่งก่อความไม่สงบสุขแก่สาธารณชนให้ออกไปจากประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่กำหนดกลไกในเรื่องดังกล่าวใช้บังคับแล้ว และ (๓) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๔๔ ฉบับที่ ๕๐ และฉบับที่ ๒๕๓ ที่กำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้อย่างกว้างขวางเกินสมควรในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เนื่องจากปัจจุบันได้มีการตรากฎหมายเฉพาะขึ้นหลายฉบับเพื่อใช้บังคับในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว โดยมีการบัญญัติเงื่อนไขการใช้อำนาจของหน่วยงานของรัฐไว้อย่างชัดเจนและมีขอบเขตที่เหมาะสมแล้ว

การทบทวนและยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยเป็นเรื่องที่รัฐต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการลดภาระที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จำเป็นจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายในภาพรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ลดภาระต่อรัฐในเรื่องงบประมาณในการบังคับใช้กฎหมาย และภาระต่อประชาชนซึ่งจะไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายที่หมดความจำเป็นและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพจนเกินสมควรแก่เหตุอีกต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบทบาทผู้ขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

การมีกฎหมายที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'วิรุตม์' สอนมวยกฤษฎีกา ชี้ 'โจ๊ก' ถูกให้ออกจากราชการ ตาม ม.131 ไม่เกี่ยว ม.120

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีการตอบและตั้งข้อสังเกตตามหนังสือหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เปิดความเห็น 'กฤษฎีกา' กรณีสั่งให้ 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการไว้ก่อน

มีการเผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับให้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ออกจากราชการไว้ก่อน

'เศรษฐา' รอดยาก! จับตาเอกสารสลค.สำคัญที่สุดในการเข้าข่ายเลี่ยงกฎหมาย

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ยังไม่สิ้นกระบวนความ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับฟ้อง พิชิต ชื่นบาน เพราะลาออกไปก่อน

'ทนายถุงขนม' คอพาดเขียง! ลุ้นศาลรธน.ชี้ขาดคุณสมบัติ 'ความซื่อสัตย์-ฝ่าฝืนจริยธรรม'

ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น'