“ตลอด 8 วัน 7 คืนในค่ายเป็นช่วงเวลาที่ผมไม่อยากให้จบไป เพราะสิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่ความรู้ด้านวิชาการที่เปิดมุมมองใหม่ๆ เท่านั้น แต่เป็นความผูกพันกับเพื่อนและพี่ๆ ที่สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า ผมเจอคำตอบของเส้นทางเดินในอนาคตแล้วที่ค่ายรากแก้ว”
น้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความตื้นตันของนายพัชรพล พรพิพัฒน์กุลชัย หรือ “น้องจิมมี่” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประเทียบวิทยาทาน ฉายแววตาเป็นประกายเมื่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ “รากแก้ว” ครั้งที่ 33 ที่ได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดขึ้นพร้อมการสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยความตั้งใจแรกเริ่มของค่ายนี้เกิดขึ้นจากการมุ่งเสริมทักษะวิชาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) จากพี่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่น้องมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อปูทางให้เยาวชนที่อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกเส้นทางในอนาคตได้พลิกมุมมองการเรียนรู้ให้สนุกกว่าที่เคย
พร้อมนำไปต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในอนาคต
หากนิยามความหมายของค่ายรากแก้วที่จัดขึ้นมายาวนานร่วม 3 ทศวรรษนั้น “จากรุ่นสู่รุ่น” อาจเป็นคำนิยามที่ชัดเจนที่สุด เพราะเมื่อค่ายได้ดำเนินไปแล้วกว่าหลายสิบปี สิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่เพียงแค่การสร้างบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศเท่านั้น แต่เป็นการปลูกต้นกล้า “ความหวัง” ซึ่งจุดประกายเส้นทางฝันและอนาคตที่ส่งต่อกันมาจากพี่สู่น้องโดยแท้จริง
ทุกๆ ปี ค่ายรากแก้วเวียนจัดในจังหวัดต่างๆ เพื่อกระจายโอกาสให้เข้าถึงเยาวชนในทุกพื้นที่ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่สระบุรี ณ โครงการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนักเรียนมากกว่า 100 ชีวิตที่ได้เข้าร่วมค่ายนี้มาจากหลากหลายจังหวัด ที่ต่างสนใจเปิดประสบการณ์ใหม่ของการเรียนรู้จากค่ายนี้ด้วยเช่นกัน
“หนูทำค่ายรากแก้วมาตั้งแต่อยู่ปี 1 ตอนนั้นทำตำแหน่งเลขา ซึ่งหนูชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับค่ายเลย ทั้งแนวทางการจัดค่าย ทั้งกิจกรรม ปีนี้ได้มีโอกาสมาเป็นประธานค่าย หนูกับเพื่อนจึงตั้งใจออกแบบค่ายให้น้องๆ สามารถเต็มที่ทั้งกิจกรรมวิชาการ และได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ไปพร้อมกัน โดยสิ่งที่อยากให้น้องๆ ได้กลับไปไม่ใช่แค่การมีโอกาสเข้าห้องแล็บหรือจับอุปกรณ์ของจริงเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับกิจกรรมแนะแนวด้วย” นางสาวจิรัฐิตินันท์ บุญกิจ หรือน้องเจนนี่ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานค่ายโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ “รากแก้ว” ครั้งที่ 33 กล่าวถึงกิจกรรมภายในค่ายเพิ่มเติมว่า
“สำหรับช่วงเช้า เราเน้นกลุ่มกิจกรรมวิชาการอย่างฐานมหัศจรรย์ ที่สร้างความสนใจสาขาวิชาในกลุ่มวิทย์-คณิตมากขึ้น รวมถึงมีกิจกรรมดาราศาสตร์ให้น้องๆ ได้ฝึกการใช้กล้องโทรทรรศน์และดูดาวด้วยตาเปล่าในพื้นที่จริง และกิจกรรมไฮไลท์ที่หลายคนสนใจกันมากคือ 4 ฐานปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพราะเราเข้าใจว่าในห้องเรียน น้องๆ อาจจะยังไม่มีโอกาสได้จับอุปกรณ์มากนัก แต่สำหรับค่ายนี้เราจัดเต็มกับกิจกรรมแล็บ เพื่อให้น้องๆ ทุกคนได้ทดลองกันอย่างเต็มที่ เช่นได้ลองทำสไลด์ส่องกล้องดูเนื้อเยื่อเอง พร้อมทั้งเราได้นำนวัตกรรมใหม่อย่างกล้องจุฬาสมาร์ทเลนส์ที่คล้ายกล้องจุลทรรศน์ให้น้องๆ ได้ทดลองใช้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีไฮไลท์ที่เราตั้งใจเพิ่มมาปีนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เราไม่ได้เผชิญแค่โลกร้อนเท่านั้น แต่กำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด เพื่อสร้างความตระหนักถึงประเด็นนี้ จึงนำการทดลองเชิงปฏิบัติการในการวัดการกักเก็บคาร์บอนในต้นไม้เข้ามาในค่าย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ มีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนเลยคือพอน้องๆ เรียนเรื่องนี้แล้ว ทุกคนพยายามไม่ทานข้าวเหลือเพราะตระหนักเรื่อง Food Waste และพยายามปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราพยายามสอดแทรกค่อยๆ ซึมซับเข้าหาน้องรุ่นต่อไปจริงๆ”
ไม่เพียงแต่กิจกรรมด้านวิชาการเท่านั้น แต่น้องเจนนี่ยังย้ำว่า “เรียนคือเรียน แต่เมื่อเล่นเราก็เต็มที่กับกิจกรรมนันทนาการไม่แพ้กัน กิจกรรมที่หนูมองว่าสามารถเปิดโลกให้น้องๆ ค้นหาตนเองได้มากขึ้นคือตลาดนัดคณะ ที่น้องจะได้พูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงจากตัวแทนรุ่นพี่นิสิตแต่ละคณะ อีกทั้งยังมีแนะแนวอาชีพจากพี่ๆ เชฟรอนในฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้าง และฝ่ายสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดโอกาสให้เห็นเส้นทางอนาคตที่อยากจะเป็นชัดเจนขึ้น รวมถึงเราอยากสร้างค่ายนี้ให้เป็นเหมือนครอบครัวรากแก้วของน้องๆ เพื่อสานสัมพันธ์กับเพื่อนที่มาจากหลากหลายโรงเรียนอย่างกิจกรรมกีฬาสี ไปจนถึง Rakkaew Tonight ที่ให้น้องๆ แต่ละกลุ่มทำการแสดงร่วมกัน ซึ่งพอได้ยินน้องๆ เดินมาบอกว่าพอเข้ามหาลัยแล้ว อยากกลับมาเป็นพี่ค่ายอีกครั้ง ทำให้หนูรู้สึกว่าแรงบันดาลใจที่หนูและเพื่อนทุกคนอยากส่งต่อ ได้ส่งไปถึงน้องแล้วจริงๆ”
น้องจิมมี่ เป็นหนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมค่ายอีกเสียงที่ยืนยันว่าค่ายรากแก้วเป็นค่ายที่ “ลงตัว” ที่สุด โดยเมื่อถูกถามถึงกิจกรรมที่ชอบ น้องจิมมี่ตอบด้วยเสียงชัดเจนอย่างไม่ลังเลว่า “ชอบทั้งค่ายครับ แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายเลยคือการเรียนรู้เรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนที่น่าสนใจกว่าที่คิดไว้มากและเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราจริงๆ หรือกระทั่งกิจกรรมเล่นเกม พี่ๆ ได้ทำให้เห็นว่าวิทย์-คณิตไม่ใช่แค่วิชาการ แต่มันคือหลักการที่สอนวิธีคิด การวิเคราะห์ การวางแผนที่อยู่กับเราทุกการตัดสินใจ นอกจากนี้ ก่อนเข้าค่ายผมตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเข้าคณะวิศวะอย่างเดียว พอได้คุยกับพี่คณะอื่นๆ เราได้เติมทางเลือกใหม่ให้ตัวเองมากขึ้น ซึ่งพอจบค่าย เรายังคงติดต่อกับเพื่อนๆ พี่ๆ กันอยู่ ซึ่งเป็นความผูกพันที่ได้อะไรกลับมาที่ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหน”
“ความรู้สึกที่หนูจำได้เลยคือพอเป็นพี่สอนน้อง ทำให้การเรียนสนุกขึ้นกว่าเดิมเพราะพี่ๆ จะใส่ความเป็นตัวเอง ทำให้เรากล้าถาม กล้าคิดมากขึ้น ซึ่งหนูว่านี่คือจุดเด่นของค่ายรากแก้ว” นางสาวพรสวรรค์ วุฒิ หรือน้องเบลล์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม กล่าวเสริม “ตอนได้จับอุปกรณ์หนูตื่นเต้นมาก แล้วพอได้ลงมือทำหลายอย่างด้วยตัวเอง ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราชอบด้านไหน ชอบทำอะไร นอกจากนี้สำหรับกิจกรรมตลาดนัดคณะ พอมีพี่ๆ มาเล่าประสบการณ์จริงให้ฟัง จากเดิมที่หนูอยากเป็นเภสัชกรอยู่แล้ว ยิ่งจุดประกายให้หนูมั่นใจกว่าเดิมว่านี่แหละคือสิ่งที่อยากเป็น ซึ่งจำได้เลยว่าวินาทีนั้นตาเป็นประกายเลยค่ะ” น้องเบลล์กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
แรงบันดาลใจของเหล่าเยาวชนกว่า 100 ชีวิตเปรียบเสมือนกล้าต้นใหม่ที่จะเติบโตไปพร้อม “รากแก้ว” ที่แข็งแกร่ง โดยด้าน นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงการสนับสนุนค่ายดังกล่าวว่า “สิ่งที่เชฟรอนในฐานะบริษัทพลังงานให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือการพัฒนาพลังคน ผ่านการสร้างรากฐานของการศึกษาที่แข็งแกร่ง ซึ่งทักษะด้านสะเต็ม ถือเป็นองค์ความรู้สำคัญที่ต้องปลูกฝังแก่เยาวชน เพื่อสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต ตลอด 26 ปีที่เชฟรอนได้สนับสนุนค่ายรากแก้ว เรารู้สึกยินดีและขอบคุณทางองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างมาก ที่ได้ให้โอกาสเชฟรอนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรากแก้วที่แข็งแกร่งของเยาวชน ซึ่งในทุกๆ ปี เราได้เห็นดอกผลความสำเร็จจนเดินทางมาถึงปีที่ 33 และเชื่อมั่นว่าแรงบันดาลใจของน้องๆ ทุกคนในวันนี้ จะส่งต่อสู่รากแก้วรุ่นถัดไปอย่างไม่รู้จบ”
เสียงหัวเราะที่ดังมาจากค่ายเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าการเรียนรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเคร่งเครียดเสมอไป แต่สามารถน่าตื่นเต้นไปได้พร้อมกัน ผ่านการให้เยาวชนได้สัมผัสและมีส่วนร่วมอย่างสนุกสนานจากความตั้งใจจริงของพี่ๆ สู่น้องค่าย กับตำรานอกห้องเรียนฉบับใหม่ที่เปิดเส้นทางอนาคตแก่ทุกคน
“ผมหวังว่าค่ายรากแก้วจะเป็นคำตอบให้ใครอีกหลายคนได้ค้นพบเส้นทางของตัวเอง พร้อมเก็บความรู้สึกนี้ไว้ถ่ายทอดสู่น้องๆ รุ่นถัดไปเหมือนกับผมครับ” น้องจิมมี่ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชฟรอนแถลงความสำเร็จการทดสอบนำโดรนมาใช้ในการผลิตปิโตรเลียม ครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีโดรนมาประยุกต์เพื่อเพิ่มศักยภาพและความปลอดภัย
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แถลงผลสำเร็จของการทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept) ของการนำอากาศยานไร้คนขับหรือ
เชฟรอนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจาก UN Women 2024 Thailand WEPs Awards ในสาขาการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งในสาขาการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม
เชฟรอนสนับสนุนมูลนิธิแพธทูเฮลท์ เดินหน้าโครงการ “คนใต้หยัดได้ สุขเป็น” สร้างภูมิคุ้มกันทางใจในเยาวชน
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดย นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร (ขวา) เป็นตัวแทนมอบงบประมาณสนับสนุนจำนวน 5,000,000 บาท