เครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ร่วมกับสสส. ระดมสมองกว่า 20 ภาคี ร่วมจัดทำแผนจัดการความปลอดภัยทางถนนปี 2568

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมพลังจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมจัดทำแผนการจัดการความปลอดภัยทางถนนปี 2568 (Road Safety) ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ กว่า 20 แห่ง ครอบคลุมทั้ง ภาครัฐ นักวิชาการ และประชาสังคม ร่วมแก้โจทย์ใหญ่ในสังคม มุ่งลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางท้องถนน จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น โดยได้รับเกียรติจาก นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ด้วย

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม และผู้ก่อตั้ง ห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) หรือ Social Lab (Thailand) กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอุบัติเหตุทางท้องถนนในประเทศไทย นับเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง จากตัวแทนหน่วยงานที่หลากหลาย มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และงานที่ตนเองกำลังขับเคลื่อนอยู่ พร้อมทั้งนำเรื่องที่ต้องการปรึกษาหารือ รวมถึงการหาเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อช่วยกันดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่มีอยู่ หรือมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเป็นการร่วมกันวางแผน หรือมองไปข้างหน้าเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยทางท้องถนนในประเทศไทย

“การร่วมกิจกรรมดังกล่าวโดยหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ได้มาอยู่รวมกัน มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และสร้างเครือข่าย หาโอกาสทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ทำให้สามารถเห็นภาพที่ชัดขึ้นโดยมีประเด็นที่ได้จากการพูดคุยกันจนตกผลึกในช่วงท้าย โดยมีเป้าหมาย ที่สำคัญร่วมกันคืออยากเห็นชุมชนที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางท้องถนน และเห็นว่า มีโอกาสที่จะทำให้คน ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการความปลอดภัยทางท้องถนนมากขึ้น”

ดร.อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นความปลอดภัยทางท้องถนนที่มุ่งเน้นสำหรับชุมชนมี 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. เมื่อพูดถึงชุมชนปลอดภัย จะหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ความเร็วของยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถรับส่งสาธารณะ ฯลฯ ที่ผ่านเข้ามาในชุมชนจะต้องใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม และสร้างให้เกิดความปลอดภัยในชุมชน และ2. เรื่องหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อก เพราะต้องยอมรับว่าจักรยานยนต์ยังเป็นพาหนะหลักของคนในประเทศไทย ในเรื่องการสร้างชุมชนปลอดภัยนี้จึงมี 3 ส่วนที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย ชุมชนที่ปลอดภัย ความเร็ว และหมวกกันน็อก รวมทั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่นๆ

ต่อจากนี้จะเป็นการนำประเด็นต่างๆที่ได้ ไปบูรณาการร่วมกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของสสส. เพื่อขับเคลื่อนแผนการจัดการความปลอดภัยทางถนนปี 2568 และมีความเป็นไปได้ว่า ในอีกประมาณ 4 เดือนข้างหน้า จะมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามความก้าวหน้าของหน่วยงานต่างๆ ที่มาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ เพื่อรวมพลังกันขับเคลื่อนงานนี้ต่อไป ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย คือเรื่องการสร้างค่านิยมใหม่ในประเทศไทย ในเรื่องการให้คุณค่าความปลอดภัยทางถนนให้มากขึ้น เป็นการร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ โดยปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างค่านิยมเรื่องความปลอดภัย สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะการให้คุณค่ากับอะไรก็ตามก็ต่อเมื่อเห็นว่าสิ่งๆ นั้นสำคัญ ดังนั้น ภาคประชาชนจะมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะทุกคนสามารถเริ่มได้ด้วยตนเอง เริ่มจากตนเอง คนที่เรารักและคนที่รักเรา

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนงาน ความปลอดภัยทางถนน ของ สสส. ซึ่งทำให้ได้เห็นพลังของภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมขับเคลื่อนงาน เห็นประเด็นร่วมที่ทุกส่วนสามารถบูรณาการงานร่วมกันได้ ภายใต้การสนับสนุนเป้าหมายแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 ให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น ซึ่งเน้นประเด็นสำคัญ เช่น การลดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการสร้างกระแสสังคมให้ตื่นตัวในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ ในเขตชุมชน เขตเมือง ตลาด โรงเรียน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ เป็นเขตควบคุมความเร็ว เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ มาจากภารกิจที่ต้องการลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น จากอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้ ยังเกิดความสูญเสียมากมาย จากสถิติพบว่าในประเทศไทย ทุกชั่วโมงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างน้อย 2 คน ด้วยความตระหนักในเรื่องนี้ และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านจึงเกิดห้องปฏิบัติการทางสังคมด้านความปลอดภัยทางถนน Road Safety Social Lab เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย Social Lab (Thailand) เป็นการระดมความคิดเห็นประสบการณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย สร้างความร่วมมือการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งก่อเกิดเป็นคณะทำงาน ภายใต้ชื่อกลุ่มเครือข่าย “เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” เพื่อสร้างคุณค่าและค่านิยมใหม่ในสังคมไทยด้านความปลอดภัย สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และกิจกรรมครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากเครือข่ายที่มี เพื่อรวมพลังขับเคลื่อนความร่วมมือใหม่ๆ เกิดความเข้าใจกันในการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ทั้งนี้ การนำกระบวนการ Social Lab มาใช้ในการดำเนินกิจกรรม มีข้อดีเนื่องจากเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ประเด็นทางสังคมที่ซับซ้อนไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะแก้ไขได้ หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะดำเนินการได้โดยลำพัง ดังนั้นพลังร่วมของคนในสังคมจึงสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำทางความคิด ที่จะมาระดมสมองร่วมกัน และไปลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง Social Lab เป็นการเปิดและสร้างพื้นที่ที่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งจะก่อให้เกิดแนวคิดการขับเคลื่อน ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย สำคัญต่อไปตามเป้าหมายของทุกคน พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและปลอดภัยที่จะให้ผู้นำมาร่วมกันทดลองปฏิบัติการ ทดลองทำงานร่วมกันเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

สำหรับภาคีเครือข่ายที่มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มีความหลากหลาย ครอบคลุมทำให้เห็นมุมมองเพิ่มขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยกว่า 20 หน่วยงาน ได้แก่ สสส. ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางท้องถนน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มูลนิธิไทยโรดส์ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน 2022-2026 มูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ กองป้องกันการบาดเจ็บกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารระ สถาบันยุวทัศน์และโครงการเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สำนักจราจรและขนส่งกทม. สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบกกรมการขนส่งทางบก สำนักอำนวยความปลอดภัยกรมทางหลวง และห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) เหล่านี้เป็นต้น

ติดตามและร่วมเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย กับกลุ่มเครือข่าย “เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” ได้ที่ Facebook : เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม และ Facebook : Imagine Thailand Movement

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครั้งแรก!! สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย สร้าง“สังคมปลอดคุกคามทางเพศ”

ปัญหาสังคมในสถานที่ทำงาน อย่างการคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการบูลลี่ด้วยสายตาและวาจา เป็นเรื่องจริงที่หลายคนเลือกที่จะนิ่งเฉย และมองข้าม

ปอด..คนไทยไม่ปลอดภัย "PM2.5-บุหรี่ไฟฟ้า"ตัวร้าย!!

อันตรายที่มองไม่เห็นอย่างฝุ่น PM2.5 กำลังคร่าชีวิตและบ่อนทำลายสุขภาพของคนในสังคมไทยอย่างเงียบเชียบ ด้วยตัวเลขที่มีการยืนยันว่า คนไทยกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5

ต้อนรับเทศกาลPride Month รู้ให้จริง..กม.รับรองเพศสภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมในบัญชีจำแนกโรคสากลฉบับที่ 10 (ICD-10)

โพลชี้เกือบ 1 ใน 4 เคยพบ/เห็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอีก 126 คน เจอกับตัว กอด-จูบ-ลูบ-คลำ มีครบ ม

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง ภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์การป้องกันการคุกคามทางเพศ โ

“จิตวิญญาณอาหารกับเยาวชน” การเรียนรู้ที่มากกว่ากินอิ่มอร่อย

การเรียนรู้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำ ให้สังคมและชุมชนอยู่รอด ยิ่งหากมีการเรียนรู้ร่วมกัน ยิ่งทำให้สังคมหรือชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

อุดช่องว่างดิจิทัล ช่วยพลิกชีวิตคนพิการ

แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวไกลไปถึงยุค 5G แต่ทุกวันนี้กลุ่มผู้พิการมีข้อจำกัดในการใช้งานออนไลน์ สำหรับผู้พิการทางสายตาเข้าไม่ถึงข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากเว็บไซต์ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่รองรับการใช้งานของคนตาบอด จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขไทยมีผู้พิการทางสายตา 2 ล้านคน  พบว่า