“ธรรมนัส" ฟันธงราคายางในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 พุ่ง พร้อมเผย นโยบายด้านยางของรัฐบาลเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ผนวกความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น และกฎเหล็ก EUDR ช่วยส่งเสริมยางพาราของไทยให้มีอนาคตสดใส ด้าน กยท.เดินหน้าตามพันธกิจ ล่าสุดจับมือTFEX กำหนดราคาอ้างอิงยางพาราเพื่อการส่งออกของไทยที่ได้มาตรฐานสากล โปร่งใส ตรวจสอบได้ มั่นใจจะช่วยยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพาราว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงาน ราคายางมีเสถียรภาพขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่เคยราคาต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นมาอยู่ประมาณ 84 บาทต่อกิโลกรัม และเคยขึ้นไปสูงถึงกว่า 96 บาทต่อกิโลกรัมมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเอาจริงในการปราบปรามยางเถื่อน และการขับเคลื่อนนโยบายด้านยางพาราให้เห็นผลเป็นรูปธรรมของรัฐบาล รวมทั้งสถานการณ์ขณะนี้มีปริมาณความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนจำกัด
นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง สหภาพยุโรป (EU) จะบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราใน EU ได้มากขึ้นเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง เนื่องจากยางพาราจากประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศที่สามารถ ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ว่าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ตามกฎหมาย EUDR ดังนั้นประเทศที่ต้องการจะส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบไปขายในตลาด EU จะต้องมาซื้อยางพาราจากประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ราคายางในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มีราคาสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพแน่นอน
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า ราคายางในปัจจุบันค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายด้านยางของรัฐบาลประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญ่ที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ในปัจจุบันสถานการณ์เอลนีโญ่ได้ผ่านพ้นไปแล้วและมีปริมาณยางเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ส่งกระทบต่อราคายาง เพราะตลาดมีความต้องการใช้ยางก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้มีการประเมินคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้ยางเพิ่มมากกว่าปริมาณผลผลิตยาง ผนวกกับกฎหมาย EUDR ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ได้ส่งผลบวกต่อยางพาราจากประเทศไทย จึงทำให้ราคายางในขณะนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความเข้มแข็งและมีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า ขณะที่ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กยท. ยังได้สร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจของ กยท. ที่กำหนดไว้ว่า “บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการเป็นองค์กรชั้นนำด้านยางพาราระดับโลก” โดยล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ กยท.ได้ลงนาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือTFEX ในการพัฒนาการคำนวณราคายางเพื่อเป็นราคาอ้างอิงของไทย (Rubber Reference Price) สำหรับซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลกก็ตาม แต่การอ้างอิงราคายางเพื่อทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศยังคงอ้างอิงราคาจากตลาดยางต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การที่ไทยสามารถพัฒนาสูตรการคำนวณเพื่อกำหนดราคาอ้างอิงได้เองจะช่วยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกรและผู้ผลิตยางพาราไทยได้ กยท. ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของไทยทั้งระบบ ตลอดจนการซื้อขายยางพาราในประเทศและการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราสู่ต่างประเทศ จึงผสานความร่วมมือกับ TFEX ร่วมกันพัฒนาการคำนวณราคาอ้างอิง เพื่อใช้ในการซื้อขายยางของไทยที่มีความโปร่งใสและเป็นมาตรฐานสากล พร้อมเผยแพร่ราคาดังกล่าวสู่สาธารณะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นฐานในการกำหนดราคาทำสัญญาซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ(ราคา FOB)
สำหรับการคำนวนราคาอ้างอิงยางพาราดังกล่าวนั้น จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขึ้นมาพิจารณา โดยมีผู้ว่าการ กยท. เป็นประธาน ซึ่งจะมีการเปิดเผยวิธีการคำนวณและตัวแปรให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ กยท. จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลฐานของราคายางและผลิตภัณฑ์ยางพาราชนิดต่างๆ ตลอดจนปริมาณยางและข้อมูลจำเป็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่งของ กยท. ส่งให้ทาง TFEX ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง เพื่อใช้คำนวราคาอ้างอิง(FOB) โดยจะพิจารณาจากราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต รวมค่าขนส่งและปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย ดังนั้นราคาอ้างที่ประกาศเผยแพร่ออกไป จึงเป็นราคาที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยในระยะแรกประกาศราคาอ้างอิงสำหรับยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS) ในเวลา 12.00 น. เริ่มตั้งแต่่เดือนกรกฏาคม 2567 น้ำยางข้น(LATEX) ยางแท่ง(TSR20) ในเวลา 19.00 น. เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป ส่วนในระยะต่อไปจะพัฒนาราคาอ้างอิงยางพาราของไทยที่เป็นราคา EUDR ด้วย
“ความร่วมมือในการกำหนดราคา Rubber Reference Price จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นำไปสู่การยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา" ผู้ว่าการ กยท.กล่าวในตอนท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กษ.คิกออฟโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน Kick Off “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้
'นฤมล' ลุยอุดรธานี Kick off 'โครงการชะลอการขายยาง'
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการ Kick Off ชะลอการขายยาง ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางรณิดา
กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ผลักดันรับซื้อสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ 50,000 ตัน
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง เร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ
รมว.เกษตรฯ เคาะเพิ่ม 'โกโก้' พืชเศรษฐกิจ ในกำกับคณะอนุกรรมการพืชสวน
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการ
กระทรวงเกษตรฯไทย-อิตาลี เตรียมทำ MOU ผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายฟรานเชสโก โลโลบริจิดา (H.E. Mr
'นฤมล' ตั้งเป้าสร้างนักบริหารยุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายขจัดความยากจนให้เกษตรกร
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม