โพลชี้เกือบ 1 ใน 4 เคยพบ/เห็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอีก 126 คน เจอกับตัว กอด-จูบ-ลูบ-คลำ มีครบ ม

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง ภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์การป้องกันการคุกคามทางเพศ โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ นิด้าโพล สำรวจสถานการณ์การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน วันที่ 9-16 พ.ค. 2567 กลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไป 2,000 คน ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 หรือ 23.5% เคยเห็นการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ขณะที่ 6.3% แหรือ 126 คน เคยถูกคุกคามทางเพศ สิ่งที่ถูกกระทำมากที่สุดคือด้วยวาจา 50% พูด-วิจารณ์สัดส่วนร่างกาย และถึงขั้นขอหรือชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ 2.88% ด้านกิริยา จ้องมองแทะโลมด้วยสายตามากที่สุด 86.21%

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ด้านร่างกาย 70.83% ถูกจับมือ แตะไหล่ แขน หลัง 66.67% เข้ามาใกล้หรือเบียด 8.33% ลูบ คลำ ต้นคอ บ่า หลัง 4.17% ถูกกอดจูบ และ 4.17% เคยถูกใช้กำลังบีบบังคับให้ทำกิจกรรมทางเพศ กลุ่มตัวอย่างที่ถูกคุกคามทางเพศ 62.5% ได้รับข้อความส่อไปทางเพศ 25% ได้รับภาพเคลื่อนไหวลามก 12.5% ได้รับภาพร่างกายหรืออวัยวะเพศ บุคคลที่เป็นผู้คุกคามทางเพศอันดับหนึ่ง คือ เพื่อนร่วมงาน 81.75% หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา 16.67% ลูกค้า/ผู้รับบริการ 8.73% ลูกน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชา 5.56% ผู้บริหาร/เจ้าของบริษัท 3.17% ส่วนมาตรการที่อยากให้หน่วยงานมี เพื่อจัดการกับการคุกคามทางเพศ กลุ่มตัวอย่างทั้งที่ถูกคุกคามและพบเห็นการคุกคาม 33.5% อยากให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้กระทำในลักษณะต่างๆ 30.4% มีนโยบายป้องกันที่ชัดเจน 25.8% มีช่องทางร้องเรียนสายตรงผู้บริหาร 25.25% มีฝึกอบรมพนักงาน

“เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างที่ถูกคุกคามทางเพศว่า ทำอย่างไรต่อจากนั้น 38.10% ไม่ทำอะไรเลย อีก 33.33% ใช้วิธีต่อว่า 3.17% ขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่อยู่ในบริเวณนั้น มีไม่ถึง 3% ที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกหรือแจ้งความ เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างที่เคยพบเห็นการคุมคามทางเพศ ส่วนใหญ่ 55.32% ไม่ทำอะไรเลย แต่น่ายินดีว่าอีก 29.57% เข้าไปต่อว่า 8.09% แจ้งหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา จากผลสำรวจรวมถึงความต้องการให้มีมาตรการจัดการป้องกันการคุกคามทางเพศที่ชัดเจน รวมไปถึงการที่ผู้ถูกคุกคามและผู้ที่พบเห็นการคุกคามทางเพศส่วนใหญ่ เลือกจะนิ่งเฉย อาจเกิดจากหลายเหตุผล ทั้งหวาดกลัว ทั้งไม่แน่ใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไม่มั่นใจว่าถ้าไปร้องเรียนหรือแจ้งความ จะได้รับผลอย่างไร สะท้อนว่าการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เหยื่อยังรอความช่วยเหลือ ผู้ที่พบเห็นยังอยากให้มีการแก้ไข ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นเหยื่อ ยังต้องการความปลอดภัย หากทุกหน่วยงาน องค์กร รวมพลังกันป้องกัน แก้ไข การคุกคามทางเพศ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงพฤติกรรมทั้งการกระทำ วาจา สายตา ที่เป็นการคุกคามทางเพศ มีมาตรการจัดการผู้กระทำ และช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศในที่ทำงานได้” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกสถานที่ สสส. ขอชวนทุกคน ทุกหน่วยงาน องค์กร ร่วมแสดงพลังป้องกัน ต่อต้าน การคุกคามทางเพศ ทุกที่ ทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ สร้างบรรทัดฐานการไม่ยินยอม ร่วมส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคล ปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ในระดับองค์กร สสส. ประกาศเจตนารมณ์ 1.บริหารงาน และปฏิบัติงานบนความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2.สร้างวัฒนธรรมองค์กร ปลูกฝั่งค่าที่นิยมที่ดี 3.สร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมความปลอดภัยในองค์กร 4.มีกลไกและกระบวนการในการป้องกันการคุกคามทางเพศ โดยยกระดับการป้องกันการคุกคามทางเพศที่เข้มข้นขึ้นด้วยมาตรฐานสากล 1.ตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภายนอกคุ้มครองเหยื่อ 2.มีแนวปฏิบัติการรักษาความลับ 3.จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของ สสส. เรื่องการปกป้อง คุ้มครองการคุกคามทางเพศ และจะขยายผลไปถึงภาคีเครือข่ายกว่า 2,000 องค์กร ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบ โดยจะไม่สนับสนุน หรือร่วมดำเนินงาน ทั้งนี้ สสส. มีภาคีเครือข่ายที่ทำงานป้องกันการคุกคามทางเพศ พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งองค์ความรู้ ชุดข้อมูลวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันการคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบ ติดต่อที่ 02 343 1500 Facebook : สสส. หรือ Facebook นับเราด้วยคน เพื่อร่วมสานพลังสังคมที่ปลอดจากการคุกคามทางเพศ

รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ลักษณะการคุกคามทางเพศ คือ การแสดงความคิดเห็น คำพูด การกระทำ หรือรวมทุกอย่างที่กล่าวมา มีลักษณะจงใจสื่อนัยไปในเรื่องทางเพศ โดยผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์ ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากเห็น ไม่ต้องการ การถูกร้องเรียนเรื่องการมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาผู้ถูกกระทำมักเลือกที่จะเงียบ วางเฉย จึงได้ร่วมกับ สสส. พัฒนาแผนดำเนินงาน ทั้งการเก็บข้อมูลวิชาการสถานการณ์การคุกคามทางเพศกับกลุ่มชาย-หญิง และ LGBTQIA+ นำไปพัฒนาระบบบริการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และเสริมศักยภาพพัฒนาหลักสูตรแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เพื่อผลักดันให้สถานประกอบการที่สนใจบรรจุเป็นระเบียบขององค์กร โดยจะนำเนื้อหา และกระบวนการเริ่มทดลองใช้กับเจ้าหน้าที่ และภาคี สสส. เป็นต้นแบบของหลักสูตร

นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ช่องโหว่สำคัญของการคุกคามทางเพศ คือ ผู้พบเห็นอาจมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นทัศนคติที่ทำให้ตัดสินใจนิ่งเฉย ปัจจุบันสังคมตื่นตัวมากขึ้น แต่คนจำนวนมากยังไม่รู้แนวทางจัดการหากถูกคุกคามหรือพบเห็นการคุกคาม ดังนั้นหน่วยงานในระดับองค์กร ควรมีการดำเนินงาน 1.มีกระบวนการเพิ่มทักษะความรู้ให้กับพนักงาน 2.มีแนวทางการป้องกันและรับมือปัญหา รวมถึงมีช่องทางร้องเรียนขอความช่วยเหลือ 3.มีกลไกการตรวจสอบที่เชื่อมั่นได้ รักษาความลับ มีความเป็นธรรมให้ทั้งผู้ถูกกระทำ และผู้ถูกกล่าวหา ทั้งหมดนี้คือการรักษาสิทธิที่สร้างบรรยากาศการทำงานเป็นมิตร ปลอดภัย พลิกมุมมองวัฒนธรรมองค์กร ไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ สมาคมเพศวิถีศึกษาทำงานขับเคลื่อนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กับ สสส. มาโดยตลอด จะร่วม ดำเนินการตามที่สสส. ได้ประกาศเจตนารมณ์ หากสามารถเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในองค์กรได้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ร่วมกันสร้างสังคมที่มีความฉลาดรู้ในเรื่องการคุกคามทางเพศ และกล้าปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) กล่าวว่า UNFPA มีหลักการการป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ (Prevention of Sexual Exploitation and Abuse) เป็นข้อปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่ของ UNFPA และหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติทั่วโลก ต้องลงนามปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด UNFPA มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศเจตนารมณ์หยุดคุกคามทางเพศ กับ สสส. นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันความก้าวหน้าในการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบ ทุกพื้นที่ในสังคม พร้อมร่วมมือกับ สสส. ส่งเสริมแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน ในบ้าน ในโรงเรียน และพื้นที่สาธารณะทุกแห่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนของการมีพื้นที่ปลอดภัยในทุกที่ของสังคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร

สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567

ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์

ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง