เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคใต้จัดเวทีสมัชชาระดับภาค สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย

ยะลา / เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคใต้ ร่วมกับ กระทรวง พม. พอช. ศ.อบต.ชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และจังหวัดยะลา จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคใต้  “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” ที่จังหวัดยะลา ชูประเด็นรูปธรรมเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ดูแลคนในชุมชนและสังคม และประกาศเจตนารมณ์อาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ปลัด พม. เป็นประธานในงาน

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคใต้ “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และจังหวัดยะลา โดยมีผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ผู้แทนกองทุนที่ได้รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนหน่วยงานภาคี ผู้แทนภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมงานสมัชชาฯ กว่า 600 คน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก นายอำพล พงษ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ร่วมต้อนรับผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ พร้อมระบุ การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งต้องสร้างจากฐานราก จะทำให้เกิดความเข้มแข็งของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

นายอำนาจ  ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 341 หมู่บ้าน ประชากร 549,946 คน มีอาณาเขตทางใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล และเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ดังปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดคือ ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู รองลงมาคือ ชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยพุทธ อย่างไรก็ตามยะลาถือเป็นจังหวัดที่ดำรงความเป็นพหุวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน เพราะมีความแตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา แต่ชนทุกกลุ่มยังคงรักษาวิถีชีวิตและประเพณีของตนไว้อย่างเหนียวแน่น

การสนับสนุนงานกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดยะลา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีระบบการจัดสวัสดิการในการดูแลซึ่งกันและกัน และเห็นว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกองทุนที่ดำเนินการในรูปแบบ "หุ้นส่วนการพัฒนา” คือ คนในชุมชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา ที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างครอบคลุมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ จึงส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน 57 กองทุน สมาชิก 28,632 คน เงินกองทุนสะสม 47,500,950.82 บาท สามารถจัดสวัสดิการดูแลสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคมได้จำนวน 28,009 คน 1,681,207,808.86 บาท สำหรับการจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาคในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้งานสวัสดิการชุมชนและร่วมเป็นภาคีสำคัญในการสร้างพลังสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ดี ขอให้พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีดังที่ได้มุ่งหวังไว้”

นายอนุกูล  ปีดแก้ว  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า งานในวันนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนแสดงถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับสว้สดิการชุมชน เจตจำนงค์สำคัญของพี่น้อง 14 จังหวัดภาคใต้ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือ การกินดีอยู่ดีของพี่น้องภาคใต้ การพบกันในวันนี้ถือว่าเป็นการสานพลังอย่าสงแท้จริง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเชื่อมโยงกับวิกฤติประชากร รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย  และการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการพัฒนา สร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ด้วยประชากรเป็นมิติที่สำคัญ ซึ่งพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เป็นการลดจำนวนประชากรจนเกิดวิกฤติ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพ แต่ในประเทศไทยมีวิกฤติการลดลงของจำนวนประชากร ซึ่ง รมว.พม. มีนโยบาย 5x5 ร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทย ซึ่งวิกฤติประชากรไม่ใช่แค่เรื่องของประชากรลดลงเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการกินดีอยู่ดีหรือคุณภาพชีวิต ที่สอดรับกับคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยแรงงาน เด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ เชื่อมโยงกับคนพิการ สุดท้ายเรื่องการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม สังคมปลอดภัย ชุมชนปลอดภัย คุณภาพของครอบครัว ถือเป็นภาพนโยบายที่จะได้เห็นถึงการเชื่อมโยงกัน

“ในการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนทุกภาคทั่วประเทศ พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ขับเคื่อน และนำประสบการณ์และรูปธรรมมาแลกเปลี่ยน และจะเห็นว่าการจัดสวัสดิการชุมชนภาคใต้มีความก้าวหน้าในการจัดสวัสดิการชุมชนเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสภาวะจากภายนอกที่ส่งผลกระทบ ทั้งสงคราม ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ ฯลฯ เหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนกับตลาดทุน ที่ระบบเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่สามารถเท่าเทียมกับระบบทุนอย่างแน่นอน ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่สามารถสร้างสมดุลให้พี่น้องประชาชนได้ สวัสดการชุมชนจึงเกิดจากนวัตกรรมของพี่น้องเอง ที่คิดค้นสร้างความสมดุล เป็นภาพแห่งความพยายามในการปรับตัวในเรื่องสวัสดิการชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ตลอดจนภาคีเกี่ยวข้องกับทุกส่วนถือเป็นกลไกสำคัญ หากเราตระหนักร่วมกัน และให้โอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สวัสดิการชุมชนจะเกิดขึ้นได้จากการมีส่วนร่วม และจากการลงมือทำของพี่น้องจริงๆ ในพื้นที่ที่จะนำไปสู่พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้สวัสดิการชุมชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการทำความร่วมมือร่วมกัน ฉะนั้นสถาบันการศึกษาและทุกภาคส่วนร่วมสร้างพลังสังคมอย่างแท้จริง การเคลื่อนงานในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้จะบรรลุผลแน่นอน”

นางวารุณี สกุลรัตนธารา กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน ในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคใต้ ระบุว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการสร้างการรับรู้งานสวัสดิการชุมชนสู่การประสานงานในระดับนโยบาย สร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและอื่นๆ ตลอดจนสร้างพลังและความมุ่งมั่นของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนสู่การยกระดับเป็นองค์กรทางสังคม และสื่อสารงานสวัสดิการชุมชนต่อสาธารณะ ภายใต้อุดมการณ์ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”

“การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย มีแนวทางสำคัญ 3 ประการ คือ คือ 1) การเสนอร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. .... , 2) การปรับวิธีการสมทบงบประมาณให้กับสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนแบบถ้วนหน้า และ 3) การเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคใต้ จึงใคร่ขอความกรุณาท่าน ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน  และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างพลังทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทยในอนาคตต่อไป”

(ช่วงเช้า) วงเสวนา “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

เสวนา “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ  รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า บทบาทของ กระทรวง พม. มีหน้าที่หนุนเสริมคือ (1) การจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐ (2) การจัดสวัสดิการชุมชน โดย พม. มีความพยายามเชื่อมโยง 2 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน เพราะไม่มีการจัดสวัสดิการใดที่จะเข้าถึงพี่น้องชาวบ้านได้เท่ากับการจัดสวัสดิการชุมชน จึงต้องสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการที่มีกองทุนต่างๆ ในการสนับสนุนจากรัฐ ใน 5-6 กองทุน เราจะต้องอาศัยสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจกับพี่น้องสมาชิกได้เกิดความเข้าใจ และเข้าถึงสิทธิสวัสดิการในมิติต่างๆ ทั้งเรื่อง สุขภาพ การศึกษา ฯลฯ กองทุนสวัสดิการชุมชน มีบทบาทในการดูแลกลุ่มเป้าหมายให้เขาดูแลตนเองได้

“ชุมชนเป็นจุดเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนและดำเนินการได้ มีการคิดค้นนวัตกรรมและรูปธรรมที่แก้ไขปัญหาในพื้นที่ พม. มีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้เกิด พม.ชุมชน จะทำให้เกิดเครือข่ายการช่วยเหลือกันและขับเคลื่อนจากพื้นที่ สิ่งที่ตั้งใจอยากให้เกิดคือทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกครั้งที่มีนโยบายใหม่ๆ พื้นที่มักจะถามว่าทำอย่างไร ซึ่งเราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะแต่ละชุมชนมีความแตกต่าง แต่ละกองทุนสวัสดิการชุมชน คนที่จะรู้คือตัวเขาเอง ปรับไปตามสถานการณ์ สิ่งที่พวกเราต้องพัฒนาคือ ข้อมูล เพราะข้อมูลคืออำนาจ นำวัฒนธรรมท้องถิ่น นำมาสู่การขับเคลื่อนและช่วยเหลือคนในชุมชนอย่างไร ให้เขาอยู่ได้ในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายสมชาย เกียรติ์ภราดร ผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบย.) กล่าวว่า ศอ.บต. มีหน้าที่วางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล โดยทำงานร่วมกับทุกกระทรวง ทบวง กรม มีภารกิจหน้าที่สำคัญคือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งมองว่าส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ ศอ.บต. เป็นข้อต่อ และมีกลไกในการร่วมกับภาคี  อาทิ (1) สภาสันติสุขตำบล มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ อำเภอ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนภาคประชาชน เป็นกลไกในระดับตำบล พุ่งเป้าในการแก้ไขปัญหาความยากจน ใน TP MAP มีกระบวนการส่งต่อเรื่องการช่วยเหลือใน 5 มิติ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับคุณภาพชีวิต มีเป้าหมายในการสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนดังกล่าว 14,500 ครัวเรือน ที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกัน  (2) ภาคประชาสังคม ปี 2566 มีแผนส่งเสริมการมีส่วนร่วม มีงบประมาณในการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนส่งเสริมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร สนับสนุนงบประมาณตามประเด็นที่หน่วยงาน/องค์กรนั้นเคลื่อนอยู่ องค์กรที่แสวงผลกำไร เช่น วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ เพื่อยกระดับตนเองเป็นสหกรณ์เพื่อให้มีศักยภาพในการจัดสวัสดิการให้วิสาหกิจชุมชน และต่อยอดสู่สวัสดการชุมชน (3) การส่งเสริมศักยภาพเด็กและสตรี เชื่อมโยงกับ พม. ทำให้เด็กและสตรียกระดับคุณภาพชีวิตเปลี่ยนจากคนมือล่างเป็นคนมือบน ทั้ง 3 ส่วน มุ่งตรงสร้างความเข้มแข็งให้คนแต่ละกลุ่ม นำมาสู่การสร้างความเข้มแข็งจากชุมชน

นางวารุณี สกุลรัตนธารา กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน ในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ระบุว่า การจัดสวัสดิการชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัดค่อยๆ เติบโต ขับเคลื่อน มีหลักการบริหารจัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน ร่วมกับหน่วยงานภาคี มีการพัฒนามาเรื่อยๆ กระทั่งปี 2553 โดย ครูชบ  ยอดแก้ว ได้เชิญนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น มีการนำเสนอเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน และเกิดวาระแห่งชาติ มีการสมทบจากรัฐบาล ผ่าน พอช. เรื่อยมาถึงปัจจุบัน มีการสมทบตั้งแต่สมาชิกชุมชน สมทบจากรัฐบาล โดย พอช. และสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการสมทบ 3 ขา แต่ก็ยังไม่พอ ยังไม่มั่นคง จนเกิดการสร้างความมั่นคงให้เกิดการสร้างขาที่ 4 ขึ้นมา โดยให้ภาคธุรกิจ ทั้งท่องเที่ยว มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่ร่วมสมทบสนับสนุนให้กองทุนชุมชนเข้มแข็ง จนเกิดการสมทบ 4 ขาขึ้นมา และขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ เริ่มแรกคิดการจัดสวัสดิการ 4 ด้าน คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย  ในขณะที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการช่วยเหลือสนับสนุนมากกว่า 30 ประเภท

“มีหน่วยงานทุกภาคส่วนที่พร้อมมาร่วมสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน แต่จะสร้างความเชื่อมั่นคือ กองทุนต้องมีการบริหารจัดการกองทุนที่ดี มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งทุกกองทุนเองมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าว ตอนนี้มีโปรแกรมสวัสดิการชุมชน ในการบริหารจัดการกองทุน เพื่อให้เห็นถึงข้อมูล และตรวจสอบในระบบได้ การพัฒนาคนคือการพัฒนาคนรุ่นใหม่ มีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่น และให้สมาชิกสวัสดิการชุมชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของตนเองต่อไป”

ผศ.ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและกิจการพิเศษ   มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การจัดสวัสดิการชุมชน หรือ ซากาด หากทำกับคนจน สิ่งที่เราทำพร้อมกับการออมคือการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ให้ชุมชนเกิดองค์ความรู้ มหาวิทยาลัยมีการส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสมสนับสนุนให้ภาคประชาชน จากประสบการณ์ที่ร่วมขับเคลื่อนกับชุมชน สิ่งสำคัญคือ ทัศนคติของชาวบ้านที่จะพร้อมประกอบอาชีพ พร้อมที่จะออม พร้อมที่จะมารวมเป็นกลุ่ม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องสร้างและวางเป้าหมายร่วมกัน แล้วเราจึงเติมเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสม จึงจะทำให้เกิดผลสำเร็จขึ้น

“ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น(ราโชบาย) กับการพัฒนาชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีตัววัด มีการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยเทคโนโลยี งานที่ประสบความสำเร็จและใช้งบประมาณน้อยที่สุดคือ จาโป โมเดล  JAPO Model ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา คือ ไก่ ผึ้ง เห็ด ผัก ปลา ยกระดับการผลิตและการแปรรูป โดยมีการนำครัวเรือนยากจนเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สู่การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ตลาดและการลดต้นทุนทางการเกษตร เป็นการปรับทัศนคติ ติดตั้งองค์ความรู้ และงานวิจัยเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ การจัดสวัสดิการชุมชนต้องเติมองค์ความรู้เข้าไป มีการพัฒนาความสามารถเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตง โดย การ Appropriate Technology ซึ่งอยากให้ พอช. ช่วยเชื่อมโยงและส่งเสริมให้คนจนมาร่วมกับการพัฒนาในมิติดังกล่าวให้มากขึ้น จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีพลัง ตลอดจนการปรับทัศนคติด้านเศรษฐศาสตร์ องค์กรชุมชนจะเข้มแข็งได้จะเริ่มจากข้างใน”

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. ระบุว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มีภารกิจสําคัญคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและชุมชน ในการที่จะพัฒนาบนฐานของการพึ่งตนเอง สวัสดิการชุมชน เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เกิดจากการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชน ในการที่อยากจะมีระบบสวัสดิการของตัวเองในการดูแลกันและกัน โดยมีการเติมเต็มกับสวัสดิการที่รัฐจัดให้ หัวใจสำคัญที่ชุมชนมีคือ (1) คลังปัญญาของตนเอง ชุมชนมีวิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น มีนวัตกรรมใหม่ๆ  (2) คลังทรัพยากร ทั้งคน และทรัพยากรต่างๆ ในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบทุนที่อยู่ในท้องถิ่น สวัสดิการชุมชนถือเป็นคลังในท้องถิ่น เมื่อเจอวิกฤติหรือปัญหา คลังด้านนี้สามารถช่วยเหลือ และบรรเทาปัญหาของพี่น้องในชุมชนได้ (3) คลังอาหาร ที่ชุมชนมีแหล่งอาหารที่มั่นคง พอช. พร้อมขยับขับเคลื่อนในมิติ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสนับสนุนพร้อมเป็นหุ้นส่วนสมทบการดำเนินงานของกองทุน ในรูปแบบ 1 : 1 : 1 พอช. ไม่สามารถจะเป็นหน่วยที่หนุนเสริมพี่น้องได้เพียงลำพัง เราต้องเสริมพลังร่วม เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ในการหนุนเสริมชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

(ช่วงบ่าย) บทเรียนหลากหลายมิติของสวัสดิการชุมชน

บทเรียนหลากหลายมิติของสวัสดิการชุมชน       

  • นางกัญญากร อินทชูด ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เล่าถึงบทเรียนความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกองทุนสวัสดิการชุมชนว่า เทศบาลเมืองตะลุบัน มีการตั้งงบประมาณที่เทศบาลทั้งเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนากลุ่มอาชีพ มีการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนับสนุนการประชุมสามัญประจำปี มีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ในการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีขั้นตอนการดำเนินการกองทุนสวัสดิการชุมชนต้องปิดรายงานผลการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา มีหนังสือนำส่งมาที่เทศบาล มีภาพประกอบการรายงานเป็นรูปเล่ม และหากจะขอสนับสนุนงบประมาณจะต้องเขียนและเสนอโครงการมายังเทศบาล ซึ่งกองทุนจะต้องเตรียมตัวทำแผนพัฒนาของกองทุน
  • นายวิเชียร มณีรัตนโชติ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลอ่าวพะยูน จังหวัดพัทลุง เล่าถึงบทบาทในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนด้านสังคมและระดับพื้นที่ สู่แผนพัฒนาระดับจังหวัดว่า ภาคประชาชนมีการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัดพัทลุงเองมีการผลักดันและมีแนวคิดไม่ทะเลาะนายไม่หายจน ช่วงหลังคิดใหม่มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการสนับสนุนในด้านต่างๆ กระบวนการจัดทำแผนชีวิตชุมชน และกระบวนการทำแผนพัฒนาสังคม หากวิเคราะห์จริงๆ จะเห็นว่า โครงสร้างประชากรต่างกัน ความห่างระหว่างคนจนคนรวย วิถีชีวิตเมืองและชนบท และมองว่าจุดแข็งของภาคประชาชนจะทำให้เห็น 3 ส่วน คือ (1) วงความรู้ ภาคประชาชนสะสมความรู้บทเรียนจากการจัดทำแผน เดิมมี 7 ขั้นตอน ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว อาจจะทำบางขั้นตอน และสังคมไม่ใช่เจ้าของคนเปราะบางอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับรายรับรายจ่าย เศรษฐกิจชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) กลไก เป็นกลไกที่มาหนุนเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง ขยายวงให้เกิดการเสริมพลัง ทั้งภาคประชาชน อพม. อปพร. ตลอดจนกลไกสวัสดิการชุมชน ที่จะมาร่วมและเป็นตัวนำในการนำเรื่องดังกล่าวเข้ามา เพราะเรื่องราวของชุมชนก็เป็นเรื่องราวของลูกหลานของเราทั้งนั้น ก็ต้องมองถึงระบบดูแลกัน (3) การติดตามประเมินผล กระบวนการจัดทำแผนของพัทลุงมีการจัดทำแผนทุกตำบล ริเริ่มให้กองทุนสวัสดิการชุมชนทำแผนชีวิตชุมชนและแผนพัฒนาสังคม พัฒนาอาชีพ ดูแลคนด้อยโอกาส เพราะเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้ว ไม่ต้องเริ่มใหม่หรือสำรวจใหม่ เราไปประสานงานกับ อบต. แล้วนำข้อมูลมารีเช็คอีกครั้ง และที่สำคัญที่สุดแผนทุกกองทุนมาอยู่ที่เครือข่ายระดับจังหวัด เราสามารถหยิบมาใช้เรื่องไหร่ก็ได้ เชื่อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอแผนดังกล่าวเสนอต่อ กบจ. ใช้โครงการของชุมชนไปขอการสนับสนุนในด้านต่างๆ ตลอดจนการมองถึงผู้นำและวางบทบาทในการขับเคลื่อนร่วมกัน และมีเวทีบูรณาการแผนที่มีอยู่แล้ว เชิญหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วม
  • นายมณเฑียร สอดเนื่อง อนุกรรมการสวัสดิการชุมชน ระบุถึงการยกระดับสวัสดิการชุมชนสู่องค์กรทางสังคมว่า ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ข้อมูลตัวเลขหลายกองทุนสวัสดิการชุมชนมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเช่นกัน ทิศทางสำคัญของการยกระดับการทำงานสวัสดิการชุมชนคือ 1) มีวิธีคิดใหม่ ไม่มองแค่การได้รับประโยชน์จากกองทุนเพียงอย่างเดียว 2) ใช้ชุดความรู้ใหม่ ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ 3) มีวิธีการทำงานใหม่ ต้องเรียนรู้งานที่ทำจริงๆ ว่างานที่ทำนั้นคืออะไร 4) สร้างความสัมพันธ์ใหม่ โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเจ้าภาพ และเชื่อมโยงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วม มีความสัมพันธ์อันดีกับสถาบันวิชาการ เราต้องสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระนาบเดียวกัน เป็นองค์กรทางสังคม “เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา มีศักดิ์ศรีการพัฒนาร่วมกัน” และมองถึงการยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนแนวใหม่ เป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคมภาคประชาชน โดยมีกระบวนการดังนี้ ประการแรก การเปิดการสมทบในหลากหลายรูปแบบที่มากกว่าการสมทบแบบวันละบาท ประการที่สอง มีการให้สวัสดิการกว้างขวางมากขึ้น เปิดกองทุนสวัสดิการแบบสาธารณะให้ทุกคนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ประการที่สาม มีระบบการจัดการกองทุนที่ดี อย่างน้อย 8 ระบบ ประการที่สี่ มีระบบข้อมูลด้านสังคม สถานการณ์ของกลุ่มคนทั้งหลาย นำมาวิเคราะห์สู่การจัดสวัสดิการต่อไป ประการสุดท้าย การใช้เทคโนโลยีร่วมในการดำเนินการ
  • ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ระบุถึงสวัสดิการชุมชนแก้ปัญหาความยากจนว่า จังหวัดพัทลุงเป็นหนึ่งใน20 จังหวัดยากจน สิ่งที่ต้องค้นหาคือเพื่อนร่วมการทำงาน มีเป้าหมายร่วมในการทำงาน คือ กองทุนสวัดิการชุมชน มีเครือข่ายภาคประชาชนที่ พอช. สนับสนุน และใช้ข้อมูล TP MAP ทำให้รู้ว่าคนจนอยู่ตรงไหน ทำไมถึงจน และได้รับความร่วมมมือกับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ในจังหวัดพัทลุง 73 กองทุน ในการช่วยรีเช็คข้อมูลสอบทานคนจน และได้รับการยืนยันจากกองทุน และมีการพูดคุยกับกองทุนสวัสดิการทั้ง 4 โซน และมีกลุ่มเปราะบางในการเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้เห็นพลังของกองทุนสวัสดิการในการช่วยเหลือคนจน ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด ในขณะที่มหาลัยนำตัวเลขทั้งหมดมาร่วมวิเคราะห์ รวมถึงตัวเลขด้านรายได้ มีการแบ่งกองทุนประเภท ใช้เงินมากกว่า 70% ช่วยเหลือด้านทุนมนุษย์ที่มากกว่าการช่วยเหลือหลังจากเสียชีวิต พลังของข้อมูลทำให้เห็นสถานะของกองทุนเป็นอย่างไร และมีกลไกในการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง ทำให้เห็นถึงโมเดลการแก้จนของพื้นที่ ตลอดจนการเสาะหาภาคีเป็นต้นแบบ และยกระดับสวัสดิการให้ได้รับการยอมรับ ใช้พื้นที่กองทุนสวัสดิการ ของตำบลชัยบุรี ในการใช้ไข่อารมณ์ดี มีการลงขันหุ้นร่วมกัน การลงหุ้นดังกล่าวเป็นการสร้างพลังร่วม ให้เกิดความยั่งยืน ม.ทักษิณลงไปส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำฟาร์มไก่ ตลอดจนพลังการตลาดเข้ามาช่วย และมองถึงกลุ่มผู้บริโภค กำไรที่ได้จากการหักค่าใช้จ่ายเข้าสู่กองทุนสวัสดิการและช่วยเหลือคนในพื้นที่ทั้งหมด กลไกภาคประชาสังคมหรือกองทุนสว้สดิการชุมชน เป็นพลังที่เป็นปึกแผ่นของท้องที่ท้องถิ่น โดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาวิเคราะห์หาจุดเด่นนำมาสู่การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

บทบาท พอช. ในการหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน นำไปสู่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า การหนุนเสริมการดําเนินงานสวัสดิการชุมชน นอกจากจะสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรสวัสดิการชุมชนในระดับตําบลแล้วนั้น จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล และระดับเขตของกรุงเทพมหานครให้เต็มพื้นที่ พอช. มีแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ในการพัฒนาสนับสนุนกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ ให้สามารถขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่กำหนด การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มีความสามารถในการจัดการทุนของตนเอง และเชื่อมโยงหน่วยงานในระดับพื้นที่ได้ การพัฒนาฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลไกสวัสดิการชุมชนด้านระบบการบริหารจัดการที่ และการขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามและผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. ....  การเสนอปรับรูปแบบการสมทบงบประมาณของกองทุนสวัสดิการชุมชน “สมทบถ้วนหน้า” การลดหย่อนภาษีให้กับผู้สมทบงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน การขับเคลื่อนงานร่วมหน่วยงาน 2 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กระทรวงกลาโหม ภายใต้ “แนวทาง 1 กองพัน 1 ตำบล ทหารกับประชาชนร่วมกันสร้างความมั่นคงของประเทศ” และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เรื่อง แผนการพัฒนาด้านสังคมสวัสดิการ

ทั้งนี้ในปี 2566 พอช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ตามโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน เพื่อสมทบกองทุน พัฒนากองทุนและกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศ จำนวน 5,961 กองทุน สมาชิก 6,715,570 คน เงินกองทุน (สะสม) 21,585,475,332.47 บาท ช่วยเหลือสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคม จำนวน 7,142,015 ราย และมีกลไกในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ทุกระดับทั้งระดับตำบล โซน จังหวัด ภาค มีการจัดสวัสดิการประเภทต่างๆ ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปจนถึงสวัสดิการการศึกษา การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การประกอบอาชีพ การดูแลช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นต้น โดยมีหลักการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของคนในชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน  

ในส่วนของการขับเคลื่อนงานสวัสิการชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการขับเคลื่อนงานในรูปแบบบูรณาการ ระหว่างขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และสถาบันการศึกษา มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ แผนงาน ทิศทาง จังหวะก้าวในการขับเคลื่อนงาน และติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ พัฒนายกระดับแกนนำด้านสวัสดิการชุมชนให้สามารถเป็นกลไกที่มีความเข้มแข็งและขับเคลื่อนงานในพื้นที่ได้ โดยมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/เทศบาล จำนวน 1,142 กองทุน สมาชิก 1,404,304 คน เงินกองทุนรวมทั้งสิ้น 4,017,014,315 บาท มีสัดส่วนมาจากเงินสมทบของสมาชิก จำนวน 2,539,997,685.37 บาท สมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. จำนวน 778,685,027.51 บาท สมทบจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล/อบจ.) จำนวน 234,522,736.60 บาท และจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ (ที่นอกเหนือจากการสมทบที่ผ่าน พอช.) จำนวน 198,774,147.55 บาท รวมถึงจากส่วนอื่นๆ เช่น เงินบริจาค ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าธรรมเนียมแรกเข้า เงินสมทบจากผลกำไร จำนวน 265,034,717.97 บาท มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคมมากกว่า 15 ประเภท มีผู้รับผลประโยชน์ (สะสม) จำนวน 1,456,404 ราย เงินจ่ายสวัสดิการ (สะสม) จำนวน 1,681,207,808.86 บาท และนอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีบทบาทในการเป็น “ผู้ช่วยเหลือเบื้องต้น” เนื่องจากกองทุนสวัสดิการชุมชนมีการบริหารจัดการโดยชุมชน จึงสามารถปรับแผนงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการระดมทุนจากกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งการเป็นผู้ประสานและส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานราชการเพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้รับการดูแล ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที พร้อมกันนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้เป็นองค์กรทางสังคมที่มีความกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งด้านการเข้าเป็นสมาชิก การมีสวัสดิการที่หลากหลายมิติ ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต มีระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญ

ในปีงบประมาณ 2567 พอช. สนับสนุนการดำเนินงานโครงการการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน 233,822,800 บาท สามารถสนับสนุนการสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน 1,370 กองทุน สมาชิก 807,742 คน สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 771 กองทุน จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนใหม่ จำนวน 95 กองทุน รวมถึงพัฒนาศักยภาพกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับทั้งการการดำเนินงาน การบริหารจัดการและระบบเทคโนโลยี

ในการจัดงานสมัชชาครั้งนี้ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ ประกาศเจตนารมณ์ ขออาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยจะร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการ (1) ฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพและยกระดับ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ที่มีอยู่ และจะจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นกลไกกลางที่ทำงานเชิงรุกในการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองและสร้างความมั่นคงในชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ยากลำบากหรือขาดโอกาสในชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในการดำรงชีวิตปกติและสถานการณ์วิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจและภัยพิบัติ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้หลักคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” และ “การพึ่งตนเองและช่วยเหลือกัน” ของชุมชน (2) พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ให้มีบทบาทและความสามารถในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ความร่วมมือกับองค์กรภาคีแบบหุ้นส่วนการพัฒนา และการพัฒนานโยบาย (3) ผลักดันทางนโบายให้เกิดการพัฒนา “ระบบสวัสดิการของชุมชน” ซึ่งเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และระบบสวัสดิการถ้วนหน้า รวมถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. .... ที่ภาคประชาชน  โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจะประสานพลังความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชน  องค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง

คุมตัวผู้ต้องสงสัย เหตุคาร์บอมบ์หน้าแฟลตตำรวจบันนังสตา เค้นข้อมูล

ความคืบหน้าเหตุการณ์ คนร้ายลอบวางระเบิดแสวงเครื่องประกอบในรถยนต์ (คาร์บอมบ์) บริเวณหน้าแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจภูธรบันนังสตา

เปิดศูนย์เยียวยาเหยื่อคาร์บอม ครู-ผู้บาดเจ็บ 34 ราย

“ทวี” ลงพื้นที่จุดคาร์บอม หน้าโรงพักบันนังสตา เปิดศูนย์เยียวยาช่วยเหลือ เหยื่อทั้งเสียชีวิต และบาดเจ็บ สั่งติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง