สำรวจประชากรLGBTQ+ เล็งออกแบบรองรับพรบ.คู่ชีวิต

ประเทศไทยกำลังจะมีร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายรองรับการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ...ท่ามกลางความกังขาว่า ประเทศของเรามีคนกี่เพศกันแน่?!?

ประชากรเพศหลากหลาย (LGBTQ+) หมายถึง หญิงรักหญิง, เลสเบี้ยน, ทอม, ดี้, ชายข้ามเพศ, ชายรักชาย, เกย์, คนรักสองเพศ, กะเทย, สาวประเภทสอง, คนข้ามเพศ, หญิงข้ามเพศ, เควียร์, คนมีสองเพศ, เพศกำกวม, คนไม่ฝักใฝ่ทางเพศ, คนนอกกล่องเพศ หรือคนนอกระบบสองเพศ บางเสียงระบุว่ามี 16 เพศ บางเสียงระบุมากถึง 100 เพศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดโครงการคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศ และสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTQ+ ครั้งแรกในไทย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ โดยเชิญภาครัฐ ภาคประชาชน กลุ่มตัวแทน LGBTQ+ มาแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประชากรกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ เปิดเผยว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการทำงานเรื่องสุขภาวะคนทุกกลุ่มที่อยู่ในไทย แต่ยังขาดข้อมูลประชากรและสถานการณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ชัดเจนและทันสถานการณ์ ซึ่งการไม่ถูกมองเห็นทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาวะในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (Health  Literacy) ทั้งนี้การมีข้อมูลด้านประชากรของคนกลุ่มนี้ที่ชัดเจนจะเอื้อให้ สสส.ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับความต้องการ หรือช่วยแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้ได้

“เป็นงานออกแบบในเชิงลึกเพื่อนำมาขยายผล ก่อนที่เมืองไทยจะบังคับใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เนื่องจาก สสส.ทำงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะ เป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อมูล การสำรวจขนาดประชากรของกลุ่ม LGBTQ+ ครั้งนี้เป็นเฟสแรกสำรวจเยาวชนในโรงเรียน จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี เพื่อดูว่าตัวเลขน่าตกใจหรือไม่? มั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกสำรวจ เพราะถือเป็นโอกาสทองของข้อมูลที่จะมีการเปิดใจในการออกแบบความหลากหลายทางเพศ เพื่อรวบรวมข้อมูลสุขภาวะ ด้านร่างกาย จิตใจ  ชีวิตความเป็นอยู่ รูปลักษณ์ ความสัมพันธ์ การติดตามและการถูกเลือกปฏิบัติที่น่าเชื่อถือ แม่นยำ สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลพัฒนานโยบาย และมาตรการทางสังคม เศรษฐกิจ  และสุขภาพ หรือใช้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ในแง่มุมต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและเศรษฐกิจ อัตราความชุกของการเลือกปฏิบัติ  และผลกระทบทางเศรษฐกิจหากมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมได้นำชุดข้อมูล และตัวเลขกลาง ไปอ้างอิงในการทำงานขับเคลื่อนตามลักษณะเฉพาะ ทั้งสามารถวางแผนจัดสรรทรัพยากร ออกแบบโครงการ และบริการที่ตรงความต้องการ ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิการ สร้างหลักประกันชีวิตและสุขภาพที่เป็นธรรม ที่ผ่านมาค่อนข้างมีอุปสรรคจึงได้ข้อมูลที่เลือนราง ได้เพียงการตั้งสมมติฐานที่สังคมตีตราว่ากลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง คนข้ามเพศเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อ HIV สูงกว่าคนปกติ ดังนั้นจะต้องมีการออกแบบนวัตกรรมด้วยการให้ความสำคัญ” นางภรณีชี้แจง

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ที่ปรึกษาโครงการ ตั้งข้อสังเกตว่า ชายจริงหญิงแท้ไม่มีในโลกนี้ เพราะทุกอย่างในโลกนี้ถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเพศ สังคมไทยผู้ชายอยากเป็นหญิง ผู้หญิงอยากเป็นชาย เรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน อีกทั้งไม่ใช่เป็นพยาธิสภาพโรคแต่อย่างใด เคยมีการจัดเป็นหัวข้อเสวนา Gender Talk Series ดังนั้นในแบบสอบถามจะมี 3 คำถาม เพศกำเนิด อัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี เน้นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปี

ไทยยังไม่เคยมีการคาดประมาณขนาดประชากรกลุ่มเพศหลากหลายอย่างเป็นระบบมาก่อน ในฐานะที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเชี่ยวชาญด้านคาดประมาณประชากร ได้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลพื้นฐาน โดยจะใช้การสำรวจ 2 ลักษณะ คือ  สำรวจประชากรทั่วไปอย่างเป็นระบบใน จ.ราชบุรี  2,400 ครัวเรือน และการสำรวจเชิงพื้นที่นำร่องในสถานศึกษา 3 ระดับ ใน จ.นครปฐม 1,100 คน อายุระหว่าง 15-25 ปี โดยพิจารณาจากความพร้อม และศักยภาพพื้นฐานของจังหวัด ที่มีลักษณะทางสังคมเศรษฐกิจในระดับกลาง ไม่มีลักษณะเฉพาะที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นพื้นที่ที่มีประชากร LGBTQ+ มากหรือน้อยไปจากจังหวัดอื่นๆ และจะเปิดการสำรวจออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไป อายุ 15 ปีขึ้นไป เข้าไปตอบแบบสำรวจด้วยตัวเอง  จำนวน 1,500 คน ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย.นี้

“เราควรสำรวจข้อมูลความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว ไม่ถือว่าล้ำสมัยแต่อย่างใด การสำรวจครั้งนี้ประเทศไทยเป็นครั้งแรกในกลุ่มอาเซียน การสำรวจทั้งออนไลน์และเข้าถึงครัวเรือน ทั้งนี้ระมัดระวังไม่ให้มีการนับซ้ำ การสำรวจเสมือนเป็นการถ่ายภาพ One Time เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลหลัก คือแบบสอบถามในแท็บเล็ต สามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ โดยเฉพาะอัตลักษณ์ทางเพศ เกย์ ทอม มีเพศวิถีอย่างไร แนวโน้มดึงดูดทางเพศกับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ดังนั้นคนสัมภาษณ์จะต้องผ่านการอบรมเข้ม 3 วันเพื่อเข้าใจทฤษฎีทางเพศ ไม่มีอคติทางเพศ ผู้ถูกสัมภาษณ์อาจจะไม่ตอบ ก็ต้องอธิบายถึงความมุ่งหมายในการสำรวจครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ได้นำไปใช้ส่วนตัว ก่อนหน้านี้มหิดลเคยสำรวจเรื่องความรุนแรงของผู้หญิงในชีวิตคู่ พบว่ามีสูงถึง 40%”

โดยจะสำรวจครัวเรือนเพื่อทำการแจงนับบุคคลทุกคนในครัวเรือน และครัวเรือนใดที่พบว่ามีบุคคลเป็นคนหลากหลายทางเพศ จะขอสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามรายบุคคล ที่มีคำถามครอบคลุมถึงสถานการณ์ชีวิตด้านต่างๆ ทั้งความรอบรู้ด้านสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตด้านเพศ ทั้งในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ รสนิยม และความรู้สึกดึงดูดใจด้านเพศ (Sexual Orientation) การมีข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับประชากร LGBTQ+ เป็นความจำเป็นข้อแรกๆ ของการสร้างสังคมที่ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ และเท่าเทียมกันมากขึ้น” รศ.ดร.กฤตยาเปิดเผย

นางกาญจนา ภู่มาลี ผู้อำนวยการกองนโยบายและวิชาการสถิติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้แจงว่า ไทยไม่มีตัวเลขประชากรกลุ่มนี้ที่เป็นทางการ เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้ส่วนมากยังถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดนำไปใช้อ้างอิง หรือขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่างๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติเคยพยายามสำรวจผู้มีความหลากหลายทางเพศในปี 2562  ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการนำร่องศึกษาแนวทางการเก็บข้อมูลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเพิ่มข้อถามเรื่องเพศ 1 ข้อ ในแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสอบถามหัวหน้าครัวเรือน หรือสมาชิกในครัวเรือน ตอบคำถามถึงลักษณะทางประชากร สังคม  เศรษฐกิจของสมาชิกในครัวเรือนทุกคน จึงได้ตัวเลขประชากรกลุ่ม LGBTQ+ 0.7% และในกลุ่มอายุ 15-20 ปี คำตอบสูงขึ้นเป็น 1.5% ทั้งนี้ตัวเลขที่ได้จากการสำรวจต่างกันมาก ความพยายามทำการสำรวจ หรือประเมินขนาดกลุ่ม LGBTQ+ จึงมักต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความไม่แม่นยำ แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมไทยควรขยายความเข้าใจต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ  เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ชีวิตและสุขภาพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเครียด..ภัยเงียบของสังคมไทย! ห้ามไม่ได้..แต่รู้เท่าทันอยู่ให้เป็นได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

'ดีเจ.อ๋อง' ตัวแทนชาว LGBTQ รักหวานเตรียมจดทะเบียนสมรส

ดีเจอารมณ์ดี อ๋อง-เขมรัชต์ หนึ่งในตัวแทนLGBTQ ที่แฮปปี้ที่สุด หลังกฎหมายเตรียมรองรับการจดทะเบียนสมรสแต่งงานของเพศเดียวกัน งานนี้ความรักที่ซุ่มเงียบปิดตัวมานาน 18 ปี ได้เวลาเบ่งบานพร้อมออกสื่อเรียบร้อยแล้ว ล่าสุด ดีเจอ๋อง ขอเปิดใจความรักหวานๆ กลางรายการ โต๊ะหนูแหม่ม เผยหมดเปลือกพร้อมจัดงานแต่งอย่างเป็นทางการแล้ว

'STAR HUNTER' จับมือ 'พอร์ช-อาม' เปิดตัวโปรเจกต์พิเศษเรื่องแรกของเอเชีย!

ข่าวดีส่งท้าย Pride Month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองและความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ค่าย STAR HUNTER ENTERTAINMENT บริษัทผู้ผลิตซีรีส์วาย

โอบรับความหลากหลาย! ค้นพบความสุขทั้งกายและใจด้วยหัวใจที่เท่าเทียม ในงาน SX TALK SERIES #4 HEALTHY PRIDE “หลากหลายอย่างมีสุข”

งานเสวนาที่ชวนคุณมาร่วมเปิดมุมมองกับหลากทัศนะ พร้อมคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจความหลากหลายอย่างมีสุข

ครั้งแรก!! สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย สร้าง“สังคมปลอดคุกคามทางเพศ”

ปัญหาสังคมในสถานที่ทำงาน อย่างการคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการบูลลี่ด้วยสายตาและวาจา เป็นเรื่องจริงที่หลายคนเลือกที่จะนิ่งเฉย และมองข้าม

'อ้อย จิระวดี' ควงลูกชาย 'พอชตี้ค์' เคลียร์ปมในใจโดนล้อมีแม่เป็นทอม

"อ้อย จิระวดี" นักแสดงรุ่นเก๋าที่วันนี้ขอเปิดเรื่องราวในอดีตหลังประกาศตนว่าเป็นทอม แม้ตอนนั้นกำลังเป็นนางเอกชื่อดัง ลั่นขอเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด พร้อมควงลูกชายสุดหล่อ พอชตี้ค์ ณัฏฐพล เคลียร์ปมในใจวัยเด็กหลังโดนเพื่อนล้อมีแม่เป็นทอม