สานพลังความร่วมมือ มรภ.นครราชสีมา หนุนองค์กรชุมชนพัฒนาความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น

นครราชสีมา/ 23  พฤษภาคม 2567  ณ ห้องประชุม ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อาคาร 9 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา และมูลนิธิเอเชีย บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเสริมสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ ซึ่งนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เกียรติเป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฝ่าย โดยมีรศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และนายสมพงษ์ แสงสิริ ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา และมี นางสาวแสงดาว อารีย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา และนายวินสตัน เชาว์ ผู้อำนวยการโครงการ USAID and Australia Mekong Safeguards มูลนิธิเอเชีย ร่วมลงนามสักขีพยาน 

นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในการพัฒนาความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ทำอย่างไรชุมชนฐานล่างจะมีความเข้มแข็ง ไม่ร้องขอและรอคอยความช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการพัฒนาที่เริ่มคิดจากข้างล่าง ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ปัญหาช่วยกันดำเนินการ และทุกคนสมารถมีส่วนในการเสนอความคิดเห็น ในงานทางด้านสังคม ชุมชน ถ้าเราได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาของเด็ก เยาวชน ผู้สูงวัย และวัยทำงาน คนพิการ ผู้เปราะบางต่างๆ เราคงต้องช่วยกันพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนในทุกมิติ การบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นเป็นโอกาสสำคัญที่ 3 หน่วยงาน จะมาช่วยกันทำงานพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ ให้คนนครราชสีมามีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีภารกิจเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีบทบาทให้การเกื้อหนุนหน่วยงานในพื้นที่ ในการพัฒนาความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์การมหาชน และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา การทำงานของมหาวิทยาลัยเน้นการพัฒนาพื้นที่การพัฒนาท้องถิ่น ตามรอยรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยเป็นตัวกลางในการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาในจังหวัดทำชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันฯ มีความจริงใจ และพร้อมที่จะร่วมมือในการแก้ปัญหาของชุมชน พอช.ก่อตั้งมาเข้าสู่ปีที่ 24 มีบทบาทมนการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน จากฐานคิดชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งคือทางรอดของประเทศไทย ที่มีบทพิสูจน์จากการเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด ที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถสร้างระบบการช่วยเหลือดูแลและรับมือวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้น พอช.จึงปักธง ภายในปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเต็มประเทศไทย ในขณะที่นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ทำให้การพัฒนาประเทศเดินหน้าบ้าง หยุดอยู่กับที่บ้าง ถอยหลังบ้าง  แต่ถ้าเราให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งจะทำให้รากฐานของประเทศมีความพร้อมในการพัฒนาต่อไป

ในการร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งองค์กรชุมชน จำเป็นที่ต้องจับมือกับภาคีสถาบันการศึกษา ใช้วิชาการใช้ฐานข้อมูลและงานวิจัย มาหนุนเสริมการสร้างพื้นที่ทางสังคม พื้นที่เรียนรู้ โดย พอช.ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาสถาบันในการพัฒนาผู้นำ และคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามาร่วมกันพัฒนาชุมชน โดยมีการออกแบบหลักสูตร ที่ต่อเชื่อมกับสถาบันการศึกษา สร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วม โดยจะพัฒนาหลักสูตรให้สามารถเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนี้ได้มีหลักสูตรการพัฒนาผู้นำที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อไปขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ด้วยจตุพลัง ท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชน เอกชน และพลังทางวิชาการ ที่จะเป็นพลังในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ด้าน นายสมพงษ์ แสงศิริ ประธานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครรราชสีมา ให้ข้อมูลว่า ในการดำเนินงานของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอ 333 ตำบล โดยขบวนองค์กรชุมชนได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 10 โซน ปัจจุบันมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้วจำนวน 332 สภาองค์กรชุมชน มีกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 161 กองทุน มีสมาชิก 150,000 กว่าราย มีเงินหนุนเวียนรวมประมาณ 400 ล้านบาท ที่เป็นการให้อย่างมีคุณค่ารับอย่างมีศักดิ์ศรี ในการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2546-2567 จำนวน 188 ตำบล มีผู้รับผลประโยชน์ 7,570 ครัวเรือน เป้าหมาย คนโคราชพึ่งตนเองได้ เป็นองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ และทำงานบูรณาการร่วมกับภาคีภาคส่วนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างให้องค์กรมีความเข้มแข็งยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาขบวนองค์กรชุมชนได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในระดับพื้นที่และในระดับจังหวัด และเกิดการบูรณาการความร่วมมืออย่างหลากหลาย เช่น ร่วมมือกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี มทร.อีสาน ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มรภ.นครราชสีมา เป็นต้น โดยในปี 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้สนับสนุนการพัฒนาที่จังหวัดนครราชสีมากว่า 15 ล้านบาท   

อย่างไรก็ตาม บันทึกความร่วมมือฉบับนี้กำหนดระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ลงนามข้อตกลง มีขอบเขตการความร่วมมือ 4 ประการ ประกอบด้วย

1) การบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัยตามแพลตฟอร์มการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของจังหวัดนครราชสีมา การสร้างกลไกความร่วมมือในการขจัดความยากจนระดับจังหวัด การพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนแบบชี้เป้าและชุมชนริมราง การพัฒนาระบบส่งต่อและติดตามความช่วยเหลือ การพัฒนาโมเดลแก้จน และการทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น

2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชุมชน จังหวัดนครราชสีมา ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และยุทธศาสตร์การพัฒนาของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน

3) การร่วมมือด้านการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย องค์ความรู้และเทคโนโลยี นวัตกรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การจัดทำคลังข้อมูล  การจัดการความรู้ สำหรับการนำไปวางแผนและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

และ 4) การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการศึกษา การพัฒนาพื้นที่ Social Lab การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสหวิทยาการ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาฝึกงาน ภาคีบัณฑิต แกนนำแครือข่ายองค์กรชุมชน ให้มีทักษะการปฏิบัติงานเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง

กระทรวง พม. เปิดปฏิบัติการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

กรุงเทพฯ/29 มิถุนายน 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง (1)

สำหรับทุกคนที่เดินทางมาจังหวัดตราด ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งไปเกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “เกาะช้าง” และหมู่เกาะบริวารเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ

“หาดเล็กบ้านในน้ำ” ชุมชนชาวประมงต้นแบบบ้านมั่นคงในที่ดินกรมเจ้าท่าแห่งแรกในประเทศไทย

ตำบลหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ชุมชนชาวประมงเล็กๆ เป็นชุมชนชายฝั่งชายแดน อยู่ทะเลด้านตะวันออกสุด และมีพื้นดินส่วนที่แคบที่สุดในประเทศไทย