“ถ้ำเสือ” จากตำนานสู่การจัดการป่า สร้างฝายมีชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน อย่างยั่งยืน

ภาพมุมสูงป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ

มีตำนานเล่าขานของบ้านถ้ำเสือในอดีต  สภาพบริเวณแถวนี้เป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ และยังมีสัตว์ป่าดุร้าย ช้างป่า ม้า เสือ กระทิงอาศัยอยู่ เนื่องจากพื้นที่แถวนี้มีความอุดมสมบูรณ์และสามารถเพาะปลูกได้ ชาวบ้านก็เริ่มถางป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการเกษตรและอยู่อาศัย สัตว์ป่าน้อยใหญ่ก็เริ่มหลบเข้าไปอยู่ในป่าบริเวณที่ลึกขึ้น ชื่อของบ้านถ้ำเสือนั้น เกิดจากที่ชาวบ้านไปพบเจอกับร่องรอยและได้ยินเสียงคำรามของเสือในถ้ำบริเวณนั้น จึงเรียกกันติดปากตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเมื่อปี พ.ศ. 2517 เปลี่ยนชื่อจากบ้านท่าน้ำ เป็นบ้านถ้ำเสือ จนกลายมาเป็นชื่อของบ้านถ้ำเสือจนถึงปัจจุบัน

“บ้านถ้ำเสือ” ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  เป็นชุมชนเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขาต้นแม่น้ำเพชรบุรี บนพื้นที่ 4,000 กว่าไร่ ที่มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่ และชุมชนบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ใจกลางธรรมชาติ โดยมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านสร้างความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้กับป่าชุมชนผืนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำเกษตร ทำไร่ทำสวน

ก่อนจะมาเป็นป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ

ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือมีพื้นที่รับผิดชอบจำนวน  4,821 ไร่  ได้รับการจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตั้งแต่ปีงบประมาณ  พ.ศ.  2552 และดำเนินการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนให้เป็นป่าชุมชนตามประราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.  2562    เป็นป่าชุมชนที่ได้มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม  โดยการรับรู้ปัญหาตลอดจนหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันภายในชุมชน  ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์   เป้าหมาย  และแนวทางการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน  ได้ตั้งกฎระเบียบป่าชุมชน  ส่วนการปฏิบัติงานได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เช่น  กรมป่าไม้   ธกส.    องค์กรภาครัฐและเอกชนอื่น ใน " การดูแลรักษาป่าชุมชน "   เช่นการตรวจลาดตระเวนพื้นที่ป่า  การปลูกฟื้นฟูป่า  เพิ่มพื้นที่สีเขียว  ป้ายแสดงขอบเขตความรับผิดชอบ  การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อรักษาความชื้น   การคำนวณหาปริมาณการกักเก็บคาร์บอน  การจัดทำแนวกันไฟ  และการดับไฟป่า  การสร้างเยาวชนรักษ์ป่าสืบทอดรุ่นต่อไป  การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชน

“พี่น้อย” หรือ นายสุเทพ  พิมพ์ศิริ

“พี่น้อย” หรือ นายสุเทพ  พิมพ์ศิริ แกนนำป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ เล่าให้ฟังว่า  ก่อนจะเป็นต้นแบบในการดูแลและจัดการป่าชุมชนแบบวันนี้  ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน  ชาวบ้านถ้ำเสือก็ไม่ต่างจากเกษตรกรไทยทั่วไปที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เช่น  ฝ้าย  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด  อ้อย  สับปะรด ฯลฯ  ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี  แต่ยิ่งปลูก  ยิ่งเป็นหนี้  เพราะชาวบ้านกำหนดราคาขายไม่ได้  ทำแล้วไม่คุ้มทุน  ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพาะปลูก  เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละปีแล้วจึงหักลบกลบหนี้กับเถ้าแก่รับซื้อพืชไร่  แล้วลงมือเพาะปลูกรอบใหม่ วนเวียนเป็นวงจรความยากจนไม่มีที่สิ้นสุด หลังจากปี 2540 การเกษตรเริ่มมีการตื่นตัวเรื่อง ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ ตามแนวทาง ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของในหลวงร. 9  ชาวไร่  ชาวนา  ทำเกษตรแบบผสมผสาน  เน้นการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ลด  ละ  เลิก  การใช้ปุ๋ยและสารเคมี หันมาทำปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยชีวภาพ  สารขับไล่แมลงจากต้นทุนในชุมชนท้องถิ่นที่ตนเองมีอยู่  บ้านถ้ำเสือก็เช่นกัน  เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  ปี 2548  เมื่อตัวแทนชาวบ้านบ้านถ้ำเสือได้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้เรื่องโครงการ ‘ธนาคารต้นไม้’ ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มจัดขึ้นในปีนั้น  โดย ธ.ก.ส. มีแนวคิดว่า “ต้นไม้   เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่มีราคา สามารถถือครองได้  ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้   หรือใช้หนี้  ใช้เป็นบำนาญยามชรา และเป็นมรดกแก่ลูกหลานได้

ทุเรียนต้นแรกเมืองเพชรบุรี(พี่น้อยโอบกับเจ้าของสวน)

พี่น้อย เล่าต่อไปอีกว่า  ได้เป็นตัวแทนชาวบ้านถ้ำเสือที่เข้าอบรมในครั้งนั้น  ได้เข้าใจและเห็นประโยชน์คุณค่าของป่าและต้นไม้ที่มีต่อคนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อกลับจากการอบรมตนจึงเป็นแกนนำในการพาชาวบ้านเข้าร่วม ‘โครงการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ’ ช่วงแรกชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ  ไม่เข้าร่วม  ต้องใช้เวลาชี้แจงอยู่นาน  มี ธ.ก.ส.เข้ามาส่งเสริม  ทำให้ชาวบ้านเริ่มเชื่อมั่น  มีสมาชิกช่วงแรกประมาณ 30 คน  โดยเรามีเงื่อนไขว่า  ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีต้นไม้ 9 ต้นขึ้นไป  เป็นไม้ยืนต้น  ไม้กิน  ไม้มีค่า  มะม่วง  สะเดา  มะค่าโมง  สัก  และไม้ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในไร่สวน  เพื่อเอามาขึ้นทะเบียน  มีการวัดเส้นรอบวง  วัดขนาดของต้นไม้  จับพิกัดด้วย และต้องปลูกไม้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว  เมื่อไม้โตขึ้นก็จะนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง” 

ธนาคารต้นไม้

ต้นไม้มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้  

ในปี 2562 ธ.ก.ส.เริ่มปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรที่นำต้นไม้จากโครงการธนาคารต้นไม้มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้   โดยที่บ้านถ้ำเสือมีเกษตรกร 4 ราย นำต้นไม้มาค้ำประกัน วงเงินกู้รวม 500,000 บาทเศษ 

พี่น้อย ก็เป็น 1 ในชาวบ้านถ้ำเสือที่นำต้นไม้มากู้เงินจาก ธ.ก.ส.  โดยใช้ต้นไม้ต่างๆ รวม 80 ต้น  เช่น  สะเดา  ปีป  มะค่าโมง  สัก  ฯลฯ  ได้เงินมา 300,000 บาท  กำหนดผ่อนชำระคืนภายในเวลา 10 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท/ปี   ธ.ก.ส.จะกำหนดมูลค่าของต้นไม้แต่ละชนิด และต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปีขึ้นไป มีลำต้นตรง 2 เมตรขึ้นไป    มีต้นไม้ 200-400 ต้นในพื้นที่ 1 ไร่  ต้องปลูกในที่ดินตัวเอง โดย ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ 50% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน

พี่น้อย บอกถึงผลที่เกิดขึ้นว่า “ตอนนี้เรามีสมาชิกธนาคารต้นไม้มากกว่า 70 คน  ปลูกต้นไม้เพิ่มและขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส.ไปแล้วกว่า 20,000 ต้น  และยังส่งเสริมให้สมาชิกทำเรื่องอื่นๆ  เช่น  ทำเกษตรอินทรีย์  ปลูกพืชผสมผสาน  ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง    ทำน้ำส้มควันไม้ใช้บำรุงพืช   ใช้สมุนไพรไล่แมลงศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุน และยังช่วยกันดูแลแม่น้ำเพชรด้วย  เพราะเป็นการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ไม่มีสารเคมีไหลลงไปในแม่น้ำ” 

แปลงผลไม้เกษตรอินทรีย์(กล้วย/มะนาว/ผักกูด)

‘ถ้ำเสือ’ 1 ใน 15 ป่าชุมชนนำร่องของประเทศไทย  

พี่น้อย เล่าต่อไปอีกว่า  ชุมชนบ้านถ้ำเสือได้ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาดูแล  มีคณะกรรมการรวม 15 คน  มีระเบียบข้อบังคับ  เช่น  ห้ามตัดไม้ทุกชนิด  ห้ามล่าสัตว์ป่า  ห้ามบุกรุกแผ้วถาง ห้ามจุดไฟเผาป่า  หากทำผิดระเบียบจะว่ากล่าวตักเตือนก่อน  หากทำผิดซ้ำจะโดนปรับ  และจะส่งดำเนินคดีหากยังทำผิดซ้ำอีก  แต่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเก็บหาของป่าเพื่อบริโภค  ตัดไม้ไผ่เพื่อใช้สอย  หากใช้ประโยชน์อื่นๆ คณะกรรมการป่าชุมชนจะประสานกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เพื่อพิจารณา  ชาวบ้านถ้ำเสือยังช่วยกันดูแลป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  เป็นป่าชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้  อยู่ห่างจากย่านชุมชนหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร  เป็นป่าที่ราบสลับภูเขา  มีไม้ต่างๆ เช่น ไม้รวก สามพันตา งิ้ว มะค่า ตะแบก ไม้รัง ฯลฯ มีถ้ำซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านถ้ำเสือ’  โดยกรมป่าไม้ได้ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นป่าชุมชนในปี 2552 เนื้อที่ 772 ไร่เศษ  (ปัจจุบันชาวบ้านขยายการดูแลป่าชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 2 แปลง  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,500 ไร่)

จากผลงานการดูแลป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือมาอย่างต่อเนื่อง  จึงทำให้บ้านถ้ำเสือได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 15 ป่าที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ พอช.  และได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 75,000 บาท  เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมการพัฒนาป่าชุมชน  เช่น  การทำฝายชะลอน้ำบริเวณป่าถ้ำเสือ  การเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน

นาย วิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ พอช. 

พอช.หนุนขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ พอช.  ได้กล่าวว่า ในปี 2566 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ จึงร่วมกับกรมป่าไม้และภาคีเครือข่าย  เช่น  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  มูลนิธิชุมชนไท  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุน ‘โครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เช่น  ให้ความรู้เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน   การจัดตั้งป่าชุมชน  การจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน  ฯลฯ  และได้คัดเลือกพื้นที่ป่าชุมชนที่มีการดูแลป่า  มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งในระดับหนึ่ง  เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องเข้าร่วมโครงการ  รวม 15 แห่งทั่วประเทศ โดยคัดเลือกพื้นที่ป่าชุมชนที่มีการดูแลป่า  มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งในระดับหนึ่ง  เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องเข้าร่วมโครงการ  เช่น  ป่าชุมชนบ้างยางเปียง  อ.อมก๋อย    จ.เขียงใหม่  ป่าชุมชนบ้านคลองเสลา  อ.บ้านไร่  จ.อุทัยธานี  ป่าชุมชนตำบลกุดหมากไฟ  อ.หนองวัวซอ  จ.อุดรธานี  ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ  อ.แก่งกระจาน    จ.เพชรบุรี  ฯลฯ    และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU.) ‘การสนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ระหว่าง  8 หน่วยงานภาคี  คือ พอช.-สสส.–กรมป่าไม้-กรมทรัพยากรทางทะเลฯ- RECOFTC Thailand-มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน-มูลนิธิชุมชนไท-มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาป่าชุมชนที่ยั่งยืน  ชุมชนมีอาชีพ-มีรายได้-ลดภาวะโลกร้อน ฯลฯ โดยจะขยายพื้นที่ในการขับเคลื่อนป่าชุมชนทั่วประเทศในปี 2567 อีกจำนวน 60  แห่ง

ร่วมไม้ร่วมมือทำฝายชะลอน้ำถ้ำเสือ

ฝายมีชีวิต  แหล่งผลิตอาหารชุมชน

การขับเคลื่อนโครงการจัดการป่าชุมชนและการสร้างฝายชะลอน้ำ เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน  และเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้  ต้นน้ำลำธาร  คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน

พี่น้อย เล่าต่อไปอีกว่า ฝายชะลอน้ำบ้านถ้ำเสือ เป้าหมายที่ชุมชนอยากจะสร้างคือ 20 ตัว ขณะนี้สร้างขึ้นแล้ว 3 ตัว ซึ่งฝายนี้มีประโยชน์มากมายหลายประการ ถือเป็น ‘ฝายมีชีวิต’ จะช่วยชะลอการไหลของน้ำ  ทำให้น้ำซึมลงไปใต้ดิน  จากเดิมที่ฤดูน้ำหลาก  น้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว  ชะลอความแรงของน้ำ   ช่วยลดการกัดเซาะตลิ่ง ช่วยดักตะกอน  กิ่งไม้  เศษไม้   ดิน  หิน  โคลน  ทราย  ทำให้ลำน้ำหลังฝายตื้นเขินช้าลงช่วยเก็บกักน้ำ  ทำให้เกิดความชุ่มชื้นบริเวณฝายและพื้นที่เหนือฝาย  ช่วยป้องกันไฟป่า  ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เช่น ปลูกผัก  เลี้ยงสัตว์  ทำไร่  ทำนา  ทำสวน  เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  เช่น  ปลา  ปู  กุ้ง หอย  เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน  มีเห็ด  หน่อไม้  สมุนไพร  ผักกูด  บนพื้นที่ริมตลิ่ง  ริมห้วย เก็บความชุ่มชื้น เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน  ใช้ประโยชน์ในการทำประปาหมู่บ้าน  ฯลฯ

ล่องเรือยางชมธรรมชาติริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี

จากการจัดการป่าสู่การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน

พี่น้อย ได้เล่าถึงจุดเด่นของบ้านถ้ำเสือว่า  นอกจากป่าชุมชนแล้ว จุดเด่นของที่นี่ คือ การเป็นชุมชนริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีความเข้มแข็งในเรื่องการท่องเที่ยวและการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม  กิจกรรมในเส้นทางการท่องเที่ยว ณ ชุมชนบ้านถ้ำเสือ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัส นั่นคือ ยิง “กระสุนเมล็ดพันธุ์” ช่วยชุมชนสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่ม เป็นกิจกรรมที่ช่วยอนุรักษ์และปลูกต้นไม้แบบง่ายๆ ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ด้วยการปั้นดินเหนียวบรรจุเมล็ดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดมะขวิด พะยอม ปั้นเป็นลูกกระสุนโดนปั้นให้ดินแบนก่อนแล้วใส่เมล็ดลงไปแล้วปั้นให้กลม ดินแห้งแล้วจึงนำมาใช้ยิงกระจายเมล็ดพันธุ์ ด้วยการยิงหนังสติ๊ก รอวันที่เมล็ดพันธุ์ค่อยๆ เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในอีกรูปแบบ

ยิงกระสุนเมล็ดพันธุ์

ส่วนการล่องเรือยางชมธรรมชาติของสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี เป็นการล่องเรือยางชมความงามของธรรมชาติที่มีทั้งความร่มรื่น สวยงาม ของต้นไม้ใหญ่ขนาบไปสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งจะได้สัมผัสกับ อากาศที่สดชื่น และบริสุทธิ์  อีกทั้งยังสามารถมาเที่ยวได้ทุกฤดูกาล และได้เห็นธรรมชาติอันอุมดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเพชรบุรี

ตลาดจามจุรีริมแม่น้ำเพชรบุรีที่ถ้ำเสือ

และในทุกวันเสาร์ จะมีตลาดจามจุรีที่หมู่บ้านถ้ำเสือ เป็นตลาดริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่บรรยากาศดีมาก มาหาของกินแบบธรรมชาติ ในราคาถูก ทั้ง ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ ส้มตำ ยำ ลาบ ไอศกรีม น้ำมะพร้าว ข้าวเกรียบปากหม้อ กล้วยปิ้ง ลูกชิ้นทอด ไก่ย่าง ขนมถ้วย มีผักผลไม้ปลอดสารพิษ มีเมนูเด็ดที่อยากจะแอบบอกนั่นก็คือ “กระเพราะปลานายน้อย” (ของพี่น้อยเองแหละ) และอีกหลากหลายสารพัดเมนูให้เลือกสรร   สามารถหาของกิน ซื้อมา แล้วมาเลือกที่นั่งริมน้ำตามชอบ บรรยากาศดี เย็นสบาย สูดโอโซนแบบเต็มปอด  ร่มรื่นยตลอดทั้งวัน เปิดตั้งแต่เช้ายันเย็น

นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ แคมป์ปิ้ง และศึกษาดูงาน สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ อยากจะมาเยี่ยมชมหรือมาท่องเที่ยว มาอยู่กับป่า ธรรมชาติ  สายน้ำ มาดูการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  อยู่อย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ มาสัมผัสธรรมชาติที่แท้ทรูกันได้ ที่ชุมชนบ้านถ้ำเสือ มีคำตอบให้คุณอย่างแน่นอน ติดต่อมาได้ที่ นายสุเทพ  พิมพ์ศิริ หรือ พี่น้อยถ้ำเสือ  เบอร์โทรศัพท์ 082-9187774

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา

'ADDA FEST ON THE BEACH' เทศกาลดนตรีส่งท้ายปีที่จัดเต็มความสนุกล้นหาด!

เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่มอบความสุขท่วมท้นจนล้นหาดชะอำกันเลยทีเดียว กับงาน “ADDA FEST ON THE BEACH” ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ TRIPLE TREE BEACH RESORT จ.เพชรบุรี