สวัสดิการชุมชนตำบลยายชา พัฒนาศูนย์เรียนรู้หลากหลาย ดูแลกันและกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

ภาพศูนย์เรียนรู้ตำบลยายชา

ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 7,958 คน รวม 4,969 ครัวเรือน มีประชากรแฝงเข้ามาใช้แรงงานกว่า 3,000 คน เป็นชาวเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ฯลฯ มีพี้นที่ 4,678 ไร่  มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยมีแม่น้ำท่าจีนคั่นกลางระหว่างพื้นที่ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวจึงเหมาะแก่การเพาะปลูก ที่สำคัญแหล่งน้ำธรรมชาติจากแม่น้ำท่าจีน ยังไหลหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน เสมือนสายเลือดใหญ่ของชุมชนตำบลยายชา

“ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” คำกล่าวที่หลายๆ คน พึงระลึกอยู่เสมอ คนตำบลยายชาก็เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา” ขึ้น และนับเป็นหนึ่งในกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่อยากจะสร้างระบบการดูแลซึ่งกันและกัน

กองทุนสวัสดิการชุมชนก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 มีสมาชิกเริ่มต้น 44 คน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,226 คน จากจำนวนประชากร 7,517 คน คิดเป็นร้อยละ 17 ของจำนวนประชากร เงินสมทบเริ่มแรก 1,000 บาท ปัจจุบันมีจำนวน 1,808,830 บาท จดทะเบียนรับรองสถานภาพองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562  

นางสาวสมภัสสร จีนประชา

นางสาวสมภัสสร จีนประชา ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา เล่าว่า แต่เดิมมีท่านอาจารย์มณเฑียร สอดเนื่อง มาร่วมจัดตั้งกองทุนให้ตำบลเรา ตอนที่จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน จำได้ว่า มีการประชุมทำความเข้าใจ มีผู้เข้าร่วม 44 คน แล้วก็เชิญชวนผู้เข้าร่วมสมัครสมาชิก ก็จ่ายเงินกันคนละ 30 บาท ก็คิดแค่เพียงว่าจ่ายเป็นกองบุญจบๆ ไป เดี๋ยวกองทุนนี้ก็คงยุบเลิก เพราะช่วงนั้นมีหลายกองทุนในตำบลที่ก่อตั้งและภายหลังต้องยุบเลิกกันไป 

“หลังจากเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุน เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นในตัวเหรัญญิกกองทุนสวัสดิการชุมชน  ป้าแดงนางวิไลวรรณ  พูลสวัสดิ์  ป้าแดงทำงานร่วมกับเลขานุการกองทุน ด้วยมีความมุ่งมั่น เสียสละ ภายหลังเลขานุการกองทุนเสียชีวิตไป ป้าแดงไม่มีผู้ช่วย ตนเองจึงได้อาสาเข้ามาช่วยทำงาน ตอนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน จากที่ไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ตนเองและทีมงานต้องสื่อสารให้สมาชิกเข้าใจ จึงได้ไปเรียนรู้ศึกษาดูงานกองทุนสวัสดิการชุมชนที่อื่น โดยประสานงานกลไกเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครปฐม ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดี”

จากที่คนตำบลยายชาได้รวมกันจัดตั้งสวัสดิการชุมชนขึ้น เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน มีการสมทบเงินจากสมาชิกและภาครัฐให้การสมทบโดยผ่าน พอช. เงินเหล่านี้ได้นํามาเป็นกองทุนจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างระบบสวัสดิการของชุมชนในด้านต่างๆ มีการจัดสวัสดิการให้สมาชิก 16 ประเภท ได้แก่ การเกิด อุบัติเหตุ เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษา การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/ยากไร้ ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ สนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณี สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์และสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และจัดสวัสดิการให้คณะกรรมการที่เป็นจิตอาสาเข้ามาทำงานให้กับกองทุน ฯลฯ

คนยายชาจัดการขยะ เกษตรปลอดภัย ป้องกันภัยพิบัติ

รูปสวนผัก ต้นกล้าในศูนย์เรียนรู้

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่านอกเหนือการจัดสวัสดิการพื้นฐาน อันได้แก่ การดูแลสมาชิกยามเกิด แก่ เจ็บ ตายแล้ว กองทุนสวัสดิการตำบลยายชา ยังได้มีการต่อยอดขยายผลไปสู่การทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นการช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสังคมโดยส่วนร่วม อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ ขยะ) การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น

ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา เล่าเพิ่มเติมว่า เราทำเรื่องสวัสดิการชุมชนอยู่แล้ว น่าจะเป็นแกนหลักในการทำงานร่วมแบบบูรณาการโดยการคิดร่วมกัน บริหารจัดการแบบเป็นระบบ อีกทั้งยังช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การดูแลดิน ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์  ใช้ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ฟาร์มชุมชนตำบลยายชา “ทุ่งธรรมนา” เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ ผลที่ได้รับคือ มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 50 ครัวเรือน มีผักปลอดสารเคมีไว้รับประทาน และมีสุขภาพดีขึ้น

การดูแลแหล่งน้ำ เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ได้ประสานความร่วมมือโดยมีคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ เข้าร่วมโครงการอบรมความรู้การบำบัดน้ำเสีย มีภาคีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกกองทุนสวัสดิการและคนในชุมชน ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ทราบถึงวิธีการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองยังช่วยกันเฝ้าระวังวัชพืช และจัดเก็บดูแลขยะบริเวณพื้นที่บ้านตนเอง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการถึง 50 ครัวเรือน

นอกจากนี้ คนในชุมชนตำบลยายชา ยังให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยจะปลูกต้นไม้ในวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคีความร่วมมืออื่นๆ  ให้การตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ การรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าและปิ่นโตในโรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุ และสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา ยังได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการขยะอีกด้วย  เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นทุกปี และจากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2559 พบว่า มีปริมาณการเกิดขยะรวมกันทั้งประเทศ 27.06 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าตึกใบหยก 2 จำนวน 140 ตึก คิดเป็นประมาณ 74,130 ตันต่อวัน เฉลี่ยเป็นปริมาณขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ยังไม่รวมขยะตกค้างสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านตัน  ในปี พ.ศ. 2557 ปริมาณขยะในตำบลยายชามีปริมาณ 4,217 ตัน ปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณ 4,871 ตัน และในปี พ.ศ. 2561 มีปริมาณสูงถึง 5,420 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี

นางสาวพรชนัน แซ่คู

นางสาวพรชนัน แซ่คู ประธานอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก(อถล.) และเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชาเล่าเพิ่มเติมว่า ขยะอินทรีย์ และ ขยะรีไซเคิล เป็นสิ่งที่มีในทุกครัวเรือน หากทำการคัดแยกก่อนทิ้ง จะเปลี่ยนขยะเป็นเงินได้ เป็นการเพิ่มรายได้ และลดปริมาณขยะในเวลาเดียวกัน ที่ผ่านมาสมาชิกเข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ภายหลังจากการเข้ารับการฝึกอบรมได้รับผลตอบรับที่ดี สมาชิกกองทุนสวัสดิการและคนในชุมชนมีความตื่นตัว ได้ทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เอาไว้ใช้บำรุงต้นไม้ ที่สำคัญได้คนต้นแบบในการจัดการขยะอีกด้วย ขยายผลสู่กิจกรรมต่างๆ เช่น เกิดร้านค้า 0 บาท โครงการขยะแลกน้ำดื่ม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค กันยงวัฒนา มอบเงินสนับสนุนให้จัดทำโครงการจำนวน 1,300,000 บาท และพนักงานมาร่วมทำกิจกรรมการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ จำนวน 200 คน

“ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้การสนับสนุนบ่อซีเมนต์ ถังดักไขมัน ถังหมักน้ำหมักชีวภาพ มูลค่า 20,000 บาท และร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชนให้กับสมาชิก เช่น ฉลาก ยายชา เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อจำหน่าย ตลอดจนชุดความรู้ต่างๆ ของตำบลยายชา รวมถึงการเชื่อมโยงภาคีภาคราชการ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม มอบศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจร พร้อมชุดความรู้สำนักงานพลังงานจังหวัดนครปฐม จัดอบรมให้ความรู้และมอบอุปกรณ์การเผาถ่าน และภาคีท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนตำบลยายชา ได้จัดอบรมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกเพื่อให้บรรลุผลได้ด้วยดี”

ผลิตภัฑ์ของชาวยายชา

บูรณาการหน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ เสริมพลัง

นอกจากการเรียนรู้ระบบการดูแลและช่วยเหลือกัน รวมถึงการยกระดับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ นำมาสู่การพัฒนาอาชีพหรือสัมมาอาชีพในชุมชน จากการสนับสนุนของหน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาในพื้นที่

นางสาวสมภัสสร เล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ตำบลยายชาทำการพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้ต่อยอดงานพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นองค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริม เข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเงินสมทบทําให้กองทุนเราเติบโตขึ้น มีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือ สำหรับการพัฒนาอาชีพ ได้รับการสนับสนุนจาก พมจ. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน อําเภอ จังหวัด รวมถึงกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มาเติมเต็มในเรื่องของงบประมาณและจัดอบรมให้กับสมาชิกของเรา มันก็จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิก

“จุดเด่นของตำบลนี้คือ การสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของอินทรีย์ มีความพิเศษอยากจะให้คนภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้ที่นี่ ในเรื่องของอาหารนี่ มันมีความจําเป็นกับชีวิตของคนเรามากเลย ถ้าเรารับประทานอาหาร ที่มีสารพิษเข้าไปมากๆ มันก็ไปสะสมในร่างกายของเรา เกิดโรคต่างๆ เบาหวาน  ความดัน หลอดเลือด ที่เกิดจากการบริโภค เราก็คิดว่าถ้าเรากินอาหารที่ปลอดภัย ทำบริโภคเองในบ้าน สิ่งที่เราได้อย่างน้อยก็ประหยัดค่าใช้จ่าย ได้อาหาร ได้ผักที่ปลอดภัย มีการจัดการขยะทุกบ้าน มีนําเศษอาหาร เศษผักมาทําปุ๋ยหมัก อบต.ก็สนับสนุนในเรื่องของถังหมักรักษ์โลก เอาเศษอาหารใส่ไปแล้วมันก็จะกลายเป็นปุ๋ย ที่นี่เป็นที่สาธิตให้ดูเป็นศูนย์เรียนรู้ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ตามธรรมชาติ สมาชิกหรือคนที่เห็นมาขอก็แบ่งๆ กันไปปลูกที่บ้าน คือกลุ่มสมาชิกก็ช่วยดูแลกันของส่วนรวมทั้งหมดและในส่วนของพื้นที่สีเขียว”

การทำปุ๋ย

ในเรื่องของสัมมาอาชีพที่นี่มีความน่าสนใจตรงที่ว่า มีการรวมกลุ่มกันแล้วก็ทําอาชีพหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการอบขนม หรือการทําผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  การทำไข่เค็มสมุนไพร กล้วยกรอบ ยาหม่อง สบู่ นำวัตถุดิบในท้องที่เรามีอยู่มาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ซึ่งอยู่ที่บ้านไม่ได้ทําอะไร บางคนก็เก็บผักตบชวาหั่นๆ สับๆ ตากให้แห้ง แล้วก็เอามาขายให้กับกลุ่มทําปุ๋ย-ทําดิน ก็เป็นการสร้างอาชีพ ให้กับผู้สูงอายุ/ผู้พิการที่อยู่ทางบ้าน เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ ทุกอย่างมันก็ล้วนมาจากด้วยความที่ชุมชนรวมกันพึ่งตนเองเป็นส่วนที่สําคัญ แล้วก็หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาสนับสนุน ก็เป็นการช่วยเสริมแรงต่อยอดให้กับอาชีพของคนในชุมชนนั่นเอง

ขยะออมบุญ ส่งเสริมสวัสดิการชุมชนคนยายชา

จุดประสงค์หลักๆ ของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา คือ อยากให้ชุมชนมาสร้างการเรียนรู้ แล้วก็เอาไปประกอบอาชีพของตัวเอง ทำ “โครงการขยะออมบุญ” เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกนำขยะแลกเงิน หรือ “ขยะ 0 บาท” วิธีการคือ จะมีตะแกรงไว้ให้ใส่ สมาชิกกองทุนมีขยะอยู่ที่บ้าน ไม่อยากเก็บเพราะที่บ้านสมาชิกมีพื้นที่น้อย จะรอขายก็ไม่ได้กี่เงิน สมาชิกก็นำมาหย่อนในจุดที่เราเตรียมไว้ให้

“เราก็จะมีป้าน้อย คอยดูแลในเรื่องของการคัดแยกขยะ คัดแยกพลาสติก คัดแยกนู่นนี่ มีพี่เล็ก(พรชนันท์) มารับซื้อไปจำหน่ายต่อ เงินเราไม่ได้เอาเข้ากองทุน แต่เราจะเก็บไว้ส่วนหนึ่ง โดยทําบัญชีไว้ แล้วเราก็เอาเงินส่วนนี้แหล่ะไปซื้อนม ซื้อของ ซื้อแพมเพิส เยี่ยมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง” นางสาวสมภัสสร เล่าเพิ่มเติม

ศูนย์เรียนรู้ตำบลยายชา

การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการเพื่อดูแลคนในชุมชน

ดูเหมือนว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา จะมีการขยายต่อยอดไปทำเรื่องอื่นๆ ที่เป็นการจัดสวัสดิการหรือดูแลกันและกันในทางสังคมที่นอกเหนือจากเกิด แก่ เจ็บ และตายแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงฝันที่วาดหวังไว้เท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องการขยายฐานสมาชิกกองทุนให้เต็มพื้นที่เต็มตำบล เนื่องด้วยมีข้อติดขัดจากที่คณะกรรมการมีหลายหน้าที่ หลายตำแหน่งในชุมชน ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง เมื่อมีเรื่องใหม่เข้ามาต้องวางงานกองทุนฯ ทำให้การขยายฐานสมาชิกยังไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้

การบริหารความขัดแย้งเมื่อมีกรณีความเห็นที่แตกต่างกัน กลุ่มจะขอฉันทามติจากที่ประชุมเพื่อให้ได้ข้อสรุปและนำดำเนินการต่อไป หลายครั้งมติที่ประชุมไม่ได้เป็นไปตามที่หน่วยงานต่างๆ สั่งการ  แต่เน้นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเป็นสำคัญ เมื่อถามถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยงของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา พบว่า มีการจัดทำเอกสารรับ-จ่าย ทุกๆ 2 เดือน เพื่อประเมินความพร้อมของกองทุน มีการปรับลดการจ่ายเงินสวัสดิการกรณีเสียชีวิตปัจจุบันจ่ายสวัสดิการเสียชีวิต จำนวน 6,500 บาท  ซึ่งผ่านมติการประชุมสามัญประจำปีจากคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนแล้ว ด้วยการบริหารงานที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ประกอบกับสถานที่ตั้งของกองทุนสวัสดิการชุมชนมีความเหมาะสม ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนได้เป็นศูนย์กลางในการประชุมเครือข่ายสวัสดิการชุมชนอำเภอสามพราน/อำเภอพุทธมณฑลทุก 2 เดือน/ครั้ง ทำให้ติดอาวุธ ได้รับความรู้ ประสบการณ์จากแลกเปลี่ยนในการประชุมอยู่เสมอ

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา ดำเนินการและขับเคลื่อนร่วมกับกลไกคณะกรรมการที่มีความหลากหลาย  มีความสามารถ เทคนิค ประสบการณ์เฉพาะตัว ผ่านการทำงานที่สะสมมาของแต่ละบุคคล  การเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน  ความเห็นที่แตกต่างไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด  ผสมผสานเกิดเป็นความต่างที่น่าสนใจแก่ผู้มาเยือน  มีการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มจำนวนสมาชิกของกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มากขึ้น การเปิดใจรับและเรียนรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การเป็นพื้นที่เป้าหมายในการวิเคราะห์หรือประเมินผลตอบแทนทางสังคม จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการถอดบทเรียนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. ในครั้งนี้ ที่สำคัญ ชุมชนจะนำข้อมูลไปพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลยายชา ค้นพบว่า แนวทางการพัฒนากองทุนที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น ประการแรก การทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ประการที่สอง หาคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีเวลา เสียสละเพื่อชุมชน ประการที่สาม การบริหารจัดการทุน ซึ่งจะต้องแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายให้ชัดเจน ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดแผนการทำงานในอนาคตร่วมกัน อาทิ การสร้างคณะกรรมการที่มาจากสมาชิกที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ  ถ่ายทอดการทำงานสนับสนุนให้เข้ามาเรียนรู้งานกองทุนฯ ด้านการจัดสวัสดิการเน้นที่ไม่ใช่ให้ตอนเสียชีวิต แต่เป็นสวัสดิการที่ดูแลกันตอนมีชีวิตอยู่นั่นเอง

ภาพรวมผู้นำตำบลยายชา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง

กระทรวง พม. เปิดปฏิบัติการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

กรุงเทพฯ/29 มิถุนายน 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง (1)

สำหรับทุกคนที่เดินทางมาจังหวัดตราด ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งไปเกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “เกาะช้าง” และหมู่เกาะบริวารเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ

“หาดเล็กบ้านในน้ำ” ชุมชนชาวประมงต้นแบบบ้านมั่นคงในที่ดินกรมเจ้าท่าแห่งแรกในประเทศไทย

ตำบลหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ชุมชนชาวประมงเล็กๆ เป็นชุมชนชายฝั่งชายแดน อยู่ทะเลด้านตะวันออกสุด และมีพื้นดินส่วนที่แคบที่สุดในประเทศไทย