จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ล้านเปอร์เซ็นต์ ที่ตำบลเขาไม้แก้ว “ความเปลี่ยนแปลงจากเกษตรเคมีสู่แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย”

ก่อนจะมาเป็นเกษตรวิถีอินทรีย์

สุนทร  คมคาย  เกษตรกรหนุ่มใหญ่วัยเกือบ 50 ปี  คนในพื้นที่เรียกกันติดปาก  “เกษตรแหลม”  แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว เล่าให้ฟังว่า ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตร สาขาไม้ผล  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ จบแล้วก็มาเป็นเซลล์ขายเคมีภัณฑ์เกษตร  กลับมาที่บ้านก็เปิดร้านขายเคมีเกษตร  คลุกคลีอยู่กับวงการเกษตรเคมี มานานกว่า 10 ปี  ไม่ได้สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์อะไรเลย  ชาวบ้านก็ต่างคนต่างอยู่  ไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกัน  ยกเว้นงานบุญประเพณี  อิทธิพลท้องถิ่นก็ยังเยอะ  มีซุ้มมือปืนเป็นแหล่งส่งมือปืนไปให้บ้านใหญ่  เครือข่ายของนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพลใหญ่ระดับภูมิภาค ก่อนที่จะมาทำเกษตรอินทรีย์แบบวันนี้  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  ปลูกมันสำปะหลัง  ข้าวโพด  อ้อย  ยูคาลิปตัส  ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว  ปลูกเพื่อส่งขายโรงงาน  ต้องใช้สารเคมี  ปุ๋ยเคมี  ยากำจัดหญ้า ฯลฯ

นายสุนทร คมคาย

ตำบลเขาไม้แก้ว  อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี  ในอดีตถือเป็นดินแดนทุรกันดาร  ห่างไกลความเจริญ  ช่วงปี พ.ศ. 2480   มีชาวบ้านจากภาคอีสาน  เช่น  นครราชสีมา  บุรีรัมย์   และอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดปราจีนบุรีเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกิน   บริเวณกลางตำบลมีภูเขาลูกเล็กๆ  มีต้นแก้วขึ้นปกคลุม  จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามนั้น    และยกฐานะขึ้นเป็นตำบลในเวลาต่อมา   ปัจจุบันมี 11 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 9,200 คน   มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  110,000  ไร่  สภาพส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ

แผงผักเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว

จุดพลิกผันที่หันมาสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์

เกษตรแหลม เล่าให้ฟังต่อไปว่า  ในช่วงปี 2553  มีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลจะเข้ามาตั้งที่ตำบลเขาไม้แก้ว  ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวว่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงาน  ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ  ฝุ่นควันและอากาศ  จึงรวมตัวกัน    เป็นการรวมตัวกันแบบชาวบ้าน  ไม่มีแกนนำ  ไม่มีการจัดตั้ง ตนเองก็ไม่เคยนำการชุมชนุม  ไม่เคยขึ้นปราศรัยมาก่อน  แต่เมื่อต้องนำชาวบ้านเขาไม้แก้วประมาณ 300 คนไปที่ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี  ยื่นข้อเรียกร้องไม่เอาโรงไฟฟ้าฯ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ชาวบ้านได้สถาปนาให้เป็นผู้นำในการยื่นหนังสือ  เหตุการณ์ครั้งนั้นชาวบ้านเขาไม้แก้วได้รู้จักกับ กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต อ.สนามชัยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา  ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน  และเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมและทำเกษตรอินทรีย์มาก่อน  เมื่อชาวบ้านเขาไม้แก้วร่วมกันต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล  กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตได้เข้ามาให้กำลังใจ  สนับสนุนการเคลื่อนไหว  และชักชวนให้ทำเกษตรอินทรีย์  ปลูกพืชผสมผสาน  ปลูกผลไม้  ผักสวนครัว  ผักพื้นบ้าน  สมุนไพร  ไม่ใช่ทำเกษตรเคมีหรือปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา  จากที่เกษตรแหลม เขาเคยคลุกคลีอยู่กับวงการเกษตรเคมีมาก่อน  ได้เล็งเห็นพิษภัยของสารเคมี  จึงมีการจัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านถึงผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์  และเริ่มทำเกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2555 

ในช่วงเริ่มต้นมีชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมเพียง 5-6 ครอบครัว จากการรวมกลุ่มชาวบานเขาไม้แก้วที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ในช่วงแรกเพียงไม่กี่คน  สมาชิกได้เพิ่มขึ้นเป็น 38 ครอบครัว  และร่วมกันจัดตั้ง ‘กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว’  ขึ้นมา

แปลงผักเกษตรอินทรีย์เกษตรแหลม

ตนเองเป็นจุดเริ่มต้นและสร้างความเชื่อมั่นวิถีอินทรีย์

เกษตรแหลม ยังได้ใช้ที่ดินของตัวเองเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เป็นเสมือนแปลงสาธิตการทำเกษตรอินทรีย์  เน้นการปลูกพืชผักพื้นบ้าน  เช่น  ผักกูด  ผักปลัง  หวาย  และผักอื่นๆ กว่า 10 ชนิด  เน้นผักที่เพาะปลูกง่าย  ไม่มีแมลงรบกวน   สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เพาะปลูกต่อไปได้   ปลูกผลไม้ต่างๆ  เช่น  ทุเรียน  เงาะ  มะม่วง  กระท้อน  ชมพู่  มังคุด  ส้มโอ  มะละกอ  กล้วยหอม  ฯลฯ  ใช้ปุ๋ยหมักทำจากมูลสัตว์  ปลูกปอเทืองคลุมหน้าดินเมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นปุ๋ย  ใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อบำรุงพืชและดิน  และใช้สมุนไพร  เช่น  บอระเพ็ด  หางไหล  หนอนตายหยาก  ตะไคร้หอม  มาทำเป็นน้ำหมักใช้ขับไล่แมลง  รวมทั้งยังเลี้ยงไก่ไข่และเป็ดแบบอินทรีย์  ไม่ขังคอก  มีพื้นที่ให้ไก่และเป็ดได้เดินคุ้ยหาอาหารกินเอง  ทำให้ได้ “ไข่อารมณ์ดี”  มูลเอาไปทำปุ๋ย   นอกจากนี้ยังพาสมาชิกไปศึกษาเรียนรู้ที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา  กลุ่มเกษตรอินทรีย์วังน้ำเขียว  จ.นครราชสีมา  ฯลฯ  ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ทำเกษตรอินทรีย์มานานหลายสิบปี  มีตลาดรองรับที่แน่นอน  ทำให้สมาชิกเกิดความเชื่อมั่น  ทุ่มเทกับเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่

ไก่อารมณ์ดี

จากการเพาะปลูกผักพื้นบ้าน  สมาชิกได้ขยายการเพาะปลูกไปยังพืชผักที่ตลาดมีความต้องการสูง  เช่น  คะน้า  ผักกาด  กะหล่ำปลี  บวบ  ถั่วยาว  ผักสลัด  ฯลฯ  แต่ยังยึดหลัก “สร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค”  โดยกลุ่มได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์จากมาตรฐานสากลตั้งแต่ปี 2556  ซึ่งต่อมาในปี 2562 ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร

อย่างไรก็ตามนอกจากการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยดังกล่าวแล้ว  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วยัง จัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว”  ขึ้นมา  ในเดือนกันยายน 2557  โดยร่วมมือกับวัด  โรงเรียน  อบต.  รพ.สต.  ผู้นำท้องถิ่น  และชุมชน  จัดทำเป็นข้อตกลงหรือกติกาในการอยู่ร่วมกัน  มีเป้าหมายเพื่อให้คนเขาแก้ว  กินดี  อยู่ดี  มีสุข  มีวิสัยทัศน์  คือ  “เขาไม้แก้วน่าอยู่  ผู้คนน่ารัก” โดยส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์  กินผักพื้นบ้าน  อาหารท้องถิ่น  ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม  ป่าชุมชน  อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี  ฯลฯ

แผงขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ความเชื่อมั่นไปสู่ตลาดคนรักสุขภาพ

สำหรับทางด้านการตลาดนั้น  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วใช้ช่องทางเจาะตลาดคนรักสุขภาพ  นำพืชผัก  ผลไม้  ไข่ไก่  ไข่เป็ด  ข้าวอินทรีย์  น้ำตาลอ้อยอินทรีย์  ฯลฯ  ไปขายที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี  เลม่อนฟาร์ม  ตลาดนัดชุมชน  และออกร้านตามงานประชุม  งานนิทรรศการต่างๆ รวมไปถึงการส่งไปจำหน่ายและประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำรายได้ให้สมาชิกทุกสัปดาห์ๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า  2,000-3,000 บาท  หรือมากกว่านั้น

“เราสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย  ตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค   โดยควบคุมการผลิตอย่างประณีตทุกขั้นตอน ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบวิธีการผลิต  และเข้ามาดูการผลิตในแปลงได้ตลอดเวลา  มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์   เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าจะได้ผลิตผลอินทรีย์อย่างแท้จริง  และเรายังสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ขยายการผลิตผักอินทรีย์ให้มากขึ้น  เมื่อมีผู้ผลิตมากขึ้น  ราคาการจำหน่ายก็จะไม่สูง  คนทุกระดับสามารถซื้อผักและผลไม้ไปบริโภคได้  เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้กินอาหารที่ปลอดภัย  ในราคาที่เป็นธรรม และเกษตรกรก็สามารถอยู่ได้”  เกษตรแหลม เล่าให้ฟังในตอนท้าย

แปลงเกษตรอินทรีย์ระบบIOT

ปัจจุบันกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วมีอายุร่วม 12  ปีที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาตลอด  ขณะเดียวกันได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในเพาะปลูก  ระบบเกษตรอัจฉริยะใช้ในโรงเรือนเพาะปลูก   ควบคุมการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ในระบบปิดด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ควบคุมระบบเปิด-ปิดน้ำ และจ่ายปุ๋ยอัตโนมัติ   พร้อมติดตามการทำงานของระบบ  และการเจริญเติบโตของพืชผักผ่านกล้องวงจรปิด  ทำให้การดูแลแปลงเพาะปลูกมีความแม่นยำ  โดยเฉพาะผักใบ  เช่น  กวางตุ้ง  ผักบุ้ง  คะน้า  ผักกาด  ฯลฯ ที่ต้องการน้ำในปริมาณที่เหมาะสม  ไม่มากหรือน้อยเกินไป   ทำให้เกษตรกรสามารถจัดการน้ำได้อย่างคุ้มค่า   มีประสิทธิภาพ  ประหยัดเวลา  ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน   ผลผลิตมีคุณภาพ  ตลาดมีความต้องการ  ขายได้ราคาดี

ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์

“เมื่อมีผู้ผลิตมากขึ้น  ราคาจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะไม่สูง  คนทุกระดับสามารถซื้อผักและผลไม้ไปบริโภคได้  เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้กินอาหารที่ปลอดภัย  ในราคาที่เป็นธรรม และเกษตรกรก็สามารถอยู่ได้”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘กรุณพล’ แจงยิบปมตร.ค้นบ้านผอ.พรรคประชาชน ปราจีนฯ พบอาวุธปืน-กระสุนอื้อ

สืบเนื่องจากกรณีตำรวจภูธรภาค 2 ชุดขยายผล กวาดล้างผู้มีอิทธิพลใน จ.ปราจีนบุรี บุกค้นจับกุมบ้านผู้ต้องสงสัยพบอาวุธปืนเถื่อน พร้อมเครื่องกระสุนเป็นจำนวนมา

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา