ร่วมมือสร้างภูมิคุ้มกัน..ข่าวลวง คนไทย "แชมป์เอเชีย" ถูกหลอก

สสส.-ภาคี โคแฟค-กทม. เปิดเวทีสัมมนาวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2 เม.ย.ของทุกปี Everyone is a  fact checker ตรวจสอบข่าวเช็กให้ชัวร์ก่อนเผยแพร่ สร้างพื้นที่สื่อออนไลน์ปลอดภัย สานพลังสังคมสร้างสุขภาวะที่ดี ไทยขึ้นแท่นเหยื่อข่าวลวงติดอันดับ 1 ของเอเชีย และ 1 ใน 10 ของโลก ผู้สูงอายุเชื่อสนิทใจ 85%  มิจฉาชีพโทร.-ส่งข้อความหลอกคนไทย 79 ล้านครั้ง พุ่งสูงขึ้น 18%  เชิญชวนใช้เครื่องมือดิจิทัล

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีโคแฟค ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานสัมมนาระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ “Cheapfakes สู่  Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International  Fact Checking Network - IFCN) กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็น “วันตรวจสอบข่าวลวงโลก” หวังกระตุ้นให้คนทั่วโลกตื่นตัว ตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ก่อนส่งต่อ และเข้าใจอันตรายที่เกิดขึ้นจากข่าวลวง

ทั้งนี้ จากรายงานประจำปี 2566 ของฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่าปี 2566 คนไทยโดนหลอกจากสายโทร.เข้าและส่งข้อความหลอกลวง 79 ล้านครั้ง  เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มี 66.7 ล้านครั้ง คิดเป็นเพิ่มขึ้น 18% โดยเฉลี่ยคนไทย 1 คน ได้รับเอสเอ็มเอสหลอกลวง 20.3 ข้อความ ถือว่าไทยถูกหลอกลวงมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์และฮ่องกง ทั้งนี้ งานสัมมนาระดับชาติที่จัดขึ้น สสส.หวังสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะในประเด็นการตรวจสอบข้อมูล ก่อนเชื่อหรือแชร์ด้วยเครื่องมือดิจิทัล ประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ และรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงการตรวจสอบข้อมูล นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะให้ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวในวันเปิดงานว่า “ขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเพื่อสร้างภูมิต้านทานเป็นเกราะป้องกันข่าวลวง 1 April’s fool  day เพื่อตรวจสอบข่าวที่ถูกต้อง ทุกวันนี้มียุทธศาสตร์การขายตรงใช้โทรศัพท์หลอกลวงเอาเงิน เหยื่อไม่ทันเกมหลงเชื่อโอนเงินให้ โดยมิจฉาชีพเจาะเข้าไปถึงตัวเหยื่อที่อ่อนแอมีภูมิต้านทานต่ำ”

“ขณะนี้เรามี COFACT 2563 สร้างภาคีเครือข่ายขึ้นมาเพื่อช่วยตรวจสอบข่าว เพราะขณะนี้ประเทศไทยติดอันดับถูกหลอกลวงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย มีการใช้ sms หลอกลวงสูงถึง 79 ล้านครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย เป็นความสูญเสียถึง 3 หมื่นล้านบาท สสส.หนุนภาครัฐจัดการปัญหา ประชาชนทุกภาคส่วน นักวิชาการ มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาร่วมมือกันทำงานจิตอาสา เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เข้มแข็งให้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกัน”

ผู้จัดการ สสส.ตอกย้ำว่า สสส.วางเป้าหมายพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะที่ส่งผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมการใช้สื่อเพื่อสุขภาวะ เสริมทักษะรู้เท่าทันสื่อ และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดสื่อสุขภาวะและปกป้องผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกช่วงวัย จากผลการดำเนินงานของ โคแฟค ประเทศไทย  ที่ สสส.ร่วมผลักดันสนับสนุนให้ โคแฟคเป็นพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนสื่อออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2563-2567  โคแฟคได้บริการตรวจสอบข่าวลวง 7,672 บทความ ช่วยปกป้องคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพผ่านการอบรมตรวจสอบข้อมูลกว่า 5,000 คน สสส.มุ่งหวังให้ทุกคนเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ มีความสามารถในการตรวจสอบข่าวได้ด้วยตนเอง จนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังตรวจสอบข้อมูล และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวงได้ โดยเชื่อว่า “Everyone is a fact checker” นพ.พงศ์เทพเปิดเผย พร้อมมอบข้อเตือนใจ  อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน ถ้าโอนเงินไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทช่วยให้การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ไม่ว่าจะด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่ข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้ง่ายๆ แต่ความเสี่ยงต่อการถูกหลอก สร้างความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง ถูกหลอกให้ลงทุนและโอนเงินออกจากบัญชีก็เกิดขึ้นให้เห็นทุกวัน กทม.ให้ความสำคัญการป้องกันภัยคุกคามจากออนไลน์ทุกรูปแบบ จึงร่วมกับ สสส.เร่งสร้างการรับรู้ภัยอันตรายที่เกิดจากข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งเครือข่าย “โคแฟค ประเทศไทย” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้คนในสังคมได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวหลอกลวงที่เกิดขึ้นร่วมกัน และขยายผลความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือได้อย่างเท่าทัน

ประชาชนรับฟังข่าวจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ถ้ามีเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทร.เข้ามาไม่ต้องรับสาย เป็นการป้องกันตัวเอง ทุกวันนี้ กทม.มีช่องทางในการสื่อสารที่เข้าถึงได้หลายรูปแบบ ข่าวลวงเสมือนกันโรคโควิด เราต้องหามาตรการป้องกันด้วยการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขณะเดียวกันก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย ไม่ให้ข่าวปลอมแพร่กระจายไปยังคนอื่นได้ รวมทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานเชื้อโรค ถ้าคนเรามีภูมิต้านทานที่ดีแล้ว ข่าวปลอมก็ทำอะไรเราไม่ได้ กทม.ฝึกทักษะตรวจสอบข้อมูลให้มากขึ้นด้วย

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค  (ประเทศไทย) ชี้แจงว่า คนไทยถูกมิจฉาชีพใช้ชีปเฟกหลอกลวงมากกว่าดีปเฟก สอดคล้องกับสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  รายงานว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 - 15 มี.ค. 2567 มีประชาชนแจ้งความทางออนไลน์มากกว่า 400,000 คดี สูงสุด 3 ประเภทที่มักโดนหลอก ได้แก่ 1.ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงิน

โคแฟคก่อตั้งเข้าปีที่ 5 ตรวจสอบข่าวการเมือง ข่าวการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ในการใช้ Line Chat เพื่อแจ้งข่าวลวง ปีนี้จึงบูรณาการภาครัฐและเอกชนอบรมสร้างทักษะการตรวจสอบข้อมูลในยุคเอไอทั่วประเทศ มีผู้เข้าร่วม 2,500 คน  และสร้างคอนเทนต์ในอินฟลูเอนเซอร์สายตรวจสอบข่าว และพัฒนาให้เกิดศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงภูมิภาคกว่า 7 แห่ง อาทิ อีสานโคแฟค มหาวิทยาลัยบูรพา สามจังหวัดชายแดนใต้ และจะเปิดรับภาคีใหม่มาทำกิจกรรมตรวจสอบข่าวและสร้างพลเมืองทุกคนให้เป็น Fact Checker ต่อไป และสุดท้ายขอชวนประชาชนทุกคนฝึกตรวจสอบข่าว เช็กให้ชัวร์ก่อนเผยแพร่ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ โดยเฉพาะในยุคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง สามารถเข้าใช้งานได้ที่เว็บไซต์ cofact.org

“เราต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยมากขึ้น เสมือนหนึ่งการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องอาศัยทุกภาคส่วน รวมทั้งการใช้ Google ตรวจค้น เหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ มิจฉาชีพทุกวัยทุกการศึกษาจึงเป็นจุดอ่อนที่จะเข้าถึงตัวเหยื่อ ทางแก้ไขและป้องกันอย่าตื่นตระหนก งานข่าวเป็นเสาหลักสำคัญของอุตสาหกรรม มิฉะนั้นจะทำให้สูญเสียรายได้ที่ผ่านมา Cheapfakes สูญเสียเงิน 3 หมื่นล้านบาทเพราะเชื่อฟังข่าวเท็จ เพียงภาพตัดต่อคนที่มีชื่อเสียงหลอกว่าเป็นคนนั้นๆ ส่วน Deepfakes ใช้ AI มีบทบาททำงานในเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น เสียงที่เปล่งออกมาคล้ายตัวจริง ดังนั้นต้องศึกษาอย่างละเอียด การใช้ Google AI ช่วยทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักในการแยกแยะข้อมูลเพื่อการใช้งานด้วย”

การผลิตข่าวข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงได้รับการยอมรับทางสากล เห็นพ้องต้องกันกับผู้เชี่ยวชาญ การสร้างจรรยาบรรณนักข่าวเป็นตัวเสริมในโครงสร้างการทำงานขององค์กร มีความโปร่งใส มีเครื่องหมายรับรอง jti สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนองค์กรสื่อในประเทศไทย เมื่อผ่านการประเมินผลงานอย่างมีประสิทธิภาพนี้เป็นการทำงานร่วมกับประเทศออสเตรเลีย สหรัฐฯ CBC องค์การสื่อภาครัฐประเทศแคนาดา”

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. เปิดเผยถึง Cheap  Fakes ถึง Deep Fakes การตรวจสอบ-รู้เท่าทันว่า สสส.มีความห่วงใยสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงการให้บริการด้านสุขภาวะทางกาย  จิตวิญญาณ การหลอกลวงได้สร้างความทุกข์อย่างมหาศาล มีคนไร้เดียงสาจำนวนหนึ่งต้องพลอยตกเป็นเหยื่อของการโกหกหลอกลวงโดยเฉพาะ มนุษย์ปุถุชนมีกลุ่มคนโลภ อยากสวย อยากหายป่วย บางครั้งไม่มีเงินรักษาโรคมะเร็ง เมื่อได้รับคำแนะนำให้กินน้ำอุ่นแช่มะนาวฝานจะช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งโดยไม่ต้องรักษา ก็เชื่อทันที ทดลองทำดูเพราะไม่เห็นว่าจะเสียหายแต่อย่างใด แทนที่จะหายป่วยหาย กลายเป็นจนมากขึ้น ดังนั้นการรวมตัวกันในภาคประชาสังคมในทุกระดับพื้นที่ นานาชาติ เพื่อรับมือกับข่าวปลอมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเครียด..ภัยเงียบของสังคมไทย! ห้ามไม่ได้..แต่รู้เท่าทันอยู่ให้เป็นได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

'ปุ๊กลุก' หวั่นเอี่ยวสิ่งผิดกฎหมาย หลังเพจปลอมอ้างชื่อกว่า 10 ปี!

นางเอกมากฝีมือ ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล เปิดใจในรายการ คุยแซ่บshow ทางช่องone 31 หลังเพจปลอมแอบอ้างชื่อนานกว่า 10ปี หวั่นเอี่ยวสิ่งผิดกฎหมาย ตอนแรกคิดว่าเป็นแฟนคลับ ขนาดพ่อยังเข้าใจผิด

เตือนภัย! หนุ่มโพสต์ทำบ้านน็อคดาวน์ขาย สุดท้ายเทงาน พบผู้เสียหายเพียบ

ผู้สื่อข่าวได้รับเรื่องร้องเรียน จากชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ว่า โดนช่างผู้รับเหมารายหนึ่ง Facebook ชื่อว่า “ท็อป‘เท็น” ซึ่งได้โพสต์ลงตามกลุ่มต่างๆ ว่ารับเหมาสร้าง “บ้านน็อคดาวน์สไตล์นอดิก”

ครั้งแรก!! สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย สร้าง“สังคมปลอดคุกคามทางเพศ”

ปัญหาสังคมในสถานที่ทำงาน อย่างการคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการบูลลี่ด้วยสายตาและวาจา เป็นเรื่องจริงที่หลายคนเลือกที่จะนิ่งเฉย และมองข้าม

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ร่วมกับสสส. ระดมสมองกว่า 20 ภาคี ร่วมจัดทำแผนจัดการความปลอดภัยทางถนนปี 2568

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)