พอช. ร่วมขบวนชุมชน ถอดบทเรียนพื้นที่รูปธรรม “คนสร้างบ้าน พัฒนาชีวิตที่มั่นคง” Collective Housing : ให้คนเป็นแกนหลักในการพัฒนา พัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ทำให้เมืองขยายตัว  เกิดชุมชนแออัด  ชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน ห้องเช่า บ้านเช่า และชุมชนบุกรุกที่ดินมากมาย  เช่น  ชุมชนในย่านคลองเตย ชุมชนในที่ดิน รฟท.  ชุมชนในที่ดินราชพัสดุ  สำนักงานทรัพย์สินฯ  ที่ดินเอกชน  ชุมชนใต้สะพาน  ชุมชนริมคลอง  ฯลฯ นอกจากนำมาซึ่งความเจริญในเมืองใหญ่ ยังแลกมาด้วยผลกระทบต่อชุมชนเมืองมากมายหลายด้าน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงสวัสดิการและทรัพยากร กลายเป็นปัญหาชุมชนแออัด มีหนี้สิน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ยังไม่รวมถึงชุมชนได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อชุมชนและเวนคืนที่ดินจากนโยบายการพัฒนาเมือง เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาความมั่นคงในการอยู่อาศัย พร้อมทั้งยังขาดการจัดการด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มคนเปราะบางในเมือง จึงกลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

กว่า 3-4 ทศวรรษ ที่ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทได้รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่หลากหลาย มีการรวมกลุ่มกันเพื่อปรึกษาหารือ แก้ไขปัญหา หาทางออก ตลอดจนคิดค้นวิธีการที่จะยกระดับให้คุณภาพชีวิตนั้นดีขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นจากการรวมกันเป็นกลุ่มองค์กรชุมชนเล็กๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มจัดการป่าชุมชน ฯลฯ ซึ่งการรวมกลุ่มลักษณะนี้มีเป้าหมายเพื่อ “การพึ่งตนเอง” ของชุมชน ในขอบเขตระดัชุมชน หมู่บ้าน เมือง จากนั้นได้มีการสั่งสมประสบการณ์ เรียนรู้ ลองผิดลองถูก เกิดบทเรียนองค์ความรู้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกัน จนมีการถักทอเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย รวมทั้งได้ยกระดับงานพัฒนาจากการทำกิจกรรมเพื่อพึ่งตนเอง เปิดพื้นที่ทำงานร่วมกับภาคีมากขึ้น

‘บ้านมั่นคง’ บ้านที่ทุกคนร่วมสร้าง

โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เริ่มดำเนินการในปี 2546  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการและอนุมัติงบประมาณในเดือนมกราคมปีนั้น  จำนวน 146 ล้านบาทเศษ  เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย นำร่องจำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนบ่อนไก่  ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  กรุงเทพฯ  ชุมชนแหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง  ชุมชนบุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์  ชุมชนเก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ

โครงการบ้านมั่นคงมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญคือการให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการตนเอง โดยมีการรวมกลุ่มจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชน บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ และพัฒนาศักยภาพชุมชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การออมทรัพย์ การบริหารจัดการองค์กร การบริหารจัดการงานก่อสร้าง และการจัดการที่ดิน เป็นต้น โดยมีภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นให้การสนับสนุน

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า โครงการบ้านมั่นคง เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมชุมชนทั้งหมดของเมือง มีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาเชิงรุก จัดทำแผน แนวทาง และรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายตามสภาพปัญหาของชุมชน และแผนการพัฒนาเมือง รวมทั้งยังเน้นให้เกิดกระบวนการทำงานและจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนและท้องถิ่น โดยมีกลไกการทำงานร่วมกันเป็นคณะกรรมการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย เทศบาล ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันวางแผนและพัฒนาชุมชนแออัด

“พอช. จะสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น  อยู่ในที่ดินบุกรุกทั้งของรัฐและเอกชน  ที่ดินเช่า  บ้านเช่า  เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ฯลฯ  รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  จัดหาที่ดินใหม่  โดยเช่าหรือซื้อ เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ หรือซ่อม  สร้าง  ปรับปรุงบ้านใหม่ในที่ดินเดิม ฯลฯ  ตามสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่ม จัดตั้งคณะทำงานจากชุมชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการ  ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ออกแบบผังชุมชน ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  และจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล นอกจากนี้ พอช. ยังมีหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินแก่ชุมชน  เช่น  ให้สินเชื่อซื้อที่ดิน ก่อสร้างบ้าน ที่มีดอกเบี้ยต่ำ  ผ่อนระยะยาว อุดหนุนงบประมาณการสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  โดย พอช. จะอนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา ที่ไม่ได้อนุมัติเป็นรายบุคคล และคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จะร่วมกันบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ”

จากผลการสำรวจข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 ระบุว่า จำนวนครัวเรือนในประเทศไทย 21.32 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 15.45 ล้านครัวเรือน และ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 5.87 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ ในปี 2560 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครัวเรือน  โดยการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  พอช. จำนวน 1,053,702 ครัวเรือน ทั้งนี้มีผลการดำเนินงานภายใต้ภารกิจของ พอช. ดังนี้  1. “โครงการบ้านมั่นคง” การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด/ชุมชนบุกรุก โดยมีเป้าหมายแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัย  เพื่อสร้างชุมชนที่มั่นคง “บ้าน...ที่มากกว่าคำว่าบ้าน” เป้าหมายตามแผนแม่บท 20 ปี จำนวน 690,000 ครัวเรือน ผลการดำเนินงานสะสม นับตั้งแต่ปี 2546 – ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) จำนวน 133,382 ครัวเรือน 2. การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการกำหนดมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ จากการสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยชุมชนริมคลองสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในที่ดินที่มีความมั่นคง มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการและ สิ่งแวดล้อมที่ดี ตลอดจนปรับเปลี่ยนสถานะจากผู้รุกล้ำ เป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกต้อง ทั้งการเช่าที่ดิน การขออนุญาตก่อสร้าง รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม  เป้าหมายตามแผน 20 ปี จำนวน 13,455 ครัวเรือน ปัจจุบัน สามารถดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แบ่งเป็น (1) คลองลาดพร้าว 3,646 ครัวเรือน (2) คลองเปรมประชากร 1,768 ครัวเรือน

3.คนไร้บ้าน มีการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน โดยสนับสนุนการสร้างชุมชนใหม่ของคนไร้บ้าน และศูนย์พัฒนาชีวิตคนไร้บ้าน 3 ศูนย์ รองรับคนไร้บ้าน 1,395 ราย/698 ครัวเรือน ในกรุงเทพ(ปทุมธานี) ขอนแก่น และเชียงใหม่ 4. บ้านพอเพียง “ซ่อมสร้างบ้านคนจน” เป็นการสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อยในชนบท ซึ่งมีที่อยู่อาศัยและที่ดินแล้ว แต่สภาพบ้านทรุดโทรม เกิดการปรับปรุง ซ่อมแซม และก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาส มีเป้าหมายรวม 352,000 ครัวเรือน ปี 2560 – ปัจจุบัน (มีนาคม 2567)  เกิดการปรับปรุง  ซ่อมแซมและก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาส ครอบคลุม 77 จังหวัด ใน 12,880 ตำบล ผู้รับผลประโยชน์ 145,262 ครัวเรือน  

จากการดำเนินงานในช่วงปี 2565-2566 ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท 1,235 ตำบล/เมืองใน 77 จังหวัด เกิดความร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีพัฒนา เช่น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวม 22 หน่วยงาน ในโครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ในระยะเวลา 5 ปี , การสร้างหลักประกันยามชราภาพและความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของชุมชนผ่านการออม  ร่วมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ยกระดับการออมให้กับผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงการออมแบบครอบคลุมทุกชุมชน  ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 50 แห่ง 

ลำดับช่วงเวลาการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546-2566

‘บ้านมั่นคง’ ครบ 20 ปี “รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่”

 หากนับวันเวลาหลังจากที่มีการขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2546 “20 ปี กับการทำบ้านมั่นคง ที่มุ่งให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา” นับได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนท ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ทำให้เกิดบทเรียนที่ชุมชนหรือผู้ที่เดือดร้อนเข้ามาร่วม เพื่อสร้างอนาคตของตนเอง ยังหมายรวมถึงการช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยนั้นได้มีบ้าน ได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงไปด้วยกัน

ในช่วงวันที่ 24-25 ตุลาคม 2566 เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกันจัดงาน ‘รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรุงเทพ โดยมีผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.  เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน จากเวทีมี

จากเวทีดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนและสรุปบทเรียนร่วมกันโดยมีสาระสำคัญดังนี้ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคง ของ พอช. เริ่มต้นในปี 2546 ดำเนินการนำร่องจำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนบ่อนไก่  ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ ชุมชนคลองลำนุ่น กรุงเทพฯ  ชุมชนแหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง  ชุมชนบุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์  ชุมชนเก้าเส้ง  จ.สงขลา เป็นต้น หลักคิดสำคัญของโครงการบ้านมั่นคง  คือ 1. องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักดำเนินการโดยองค์กรชุมชนและท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินการในทุกขั้นตอน  2. สร้างสังคมมั่นคงในเรื่องที่ดินอยู่อาศัย เน้นการใช้ที่ดินของรัฐ ที่ดินของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  รวมทั้งการหาที่ดินใหม่ในกรณีที่ต้องมีการรื้อย้าย 3. สร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของชีวิตด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นสังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกันและมีการจัดการร่วมกัน   4. วางแผนการแก้ไขปัญหาทั้งเมืองโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งให้เกิดแนวทางและแผนการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทุกชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งเมือง  5. ความหลากหลายของรูปแบบและแนวทางการปรับปรุงที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความต้องการ ความสามารถในการจ่ายของชุมชนผู้เดือดร้อน เงื่อนไขที่ดินและความเห็นร่วมของคณะกรรมการการเมือง ฯลฯ

นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์วิกฤติ เช่น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  พอช. ได้สนับสนุนให้เครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศ  จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19’  เช่น  ในปี 2563  ดำเนินการใน 228 เครือข่าย/เมือง  2,846 ชุมชน  1,546 ตำบล  รวม 529,502 ครัวเรือน โดยชุมชนต่างๆ ร่วมกันผลิตหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายชาวชุมชนและประชาชนทั่วประเทศ  รวม 1.1 ล้านชิ้น  แจกถุงยังชีพ  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  ฯลฯ มูลค่ารวม 2.25 ล้านบาท  ทำครัวกลางแจกจ่ายอาหาร 49 ครัวหลัก  ใน 540 ชุมชน  รวม  336,930 กล่อง เกิดอาสาสมัครทำงาน 2,638 คน ถือเป็นการลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือกันและกันของเครือข่ายองค์กรชุมชนก็ว่าได้

เวทีถอดบทเรียน Collective Housing

Collective Housing : ให้คนเป็นแกนหลักในการพัฒนา พัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ผู้ทรงคุณวุฒิ พอช. พร้อมโดยผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ พอช.ที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 40 คน ร่วมแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนพื้นที่รูปธรรม Collective Housing  โดยการถอดบทเรียนจากคนทำงานจริงในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาสู่องค์ความรู้ และสามารถนำมาสู่คู่มือ พร้อมทั้ง จัดทำในรูปแบบภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ในการประชุมสัมมนานาชาติ เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Let People be The Solution : Collective Housing & Community Development) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-4 ก.ค. 2567 นี้ ณ ห้องประชุม 301-302 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนใน 3 ประเด็น คือ 1. การรวมกลุ่ม 2. 10 เรื่อง สำคัญในการทำที่อยู่อาศัยในชุมชน เรื่องที่ไม่ควรทำ /ต้องระวัง  และ 3. บทบาทหน้าที่ในการทำที่อยู่อาศัยในชุมชน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.วิธีการรวมกลุ่ม เงื่อนไข การบริหารจัดการ (ก่อน-กลาง-หลัง) ซึ่งจะต้องมี (1) สร้างความเข้าใจร่วม ให้เกิดเป้าหมายร่วมกัน มีทำความเข้าใจจากปัญหาของชุมชน เช่น ความเดือดร้อน เรื่องที่อยู่อาศัย อาชีพ มาคุยปรึกษาหารือกัน “สร้างการรวมกลุ่มให้เกิดพลัง” (2) สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผ่านเครื่องมือ และแรงจูงใจ เริ่มจากเงิน คน (ทรัพยากร) มารวมกันทำเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น การออมทรัพย์ หรือการทำข้อมูลทั้งเมือง (เพื่อให้เข้าให้ถึงผู้เดือดร้อนที่สุดมากกว่าจะผ่านตัวกลาง) หรือสร้างงานพัฒนาอาชีพ เป็นเครื่องมือในการรวมตัวกัน (3) เกิดแกนนำเป็นตัวแทนกลุ่ม มีผู้นำตามธรรมชาติ สร้างความเชื่อมั่นภายในกลุ่ม ผู้นำอาจมาจากหลายคนที่มีความสามารถต่างกัน สื่อสารได้ เข้าใจ รับฟัง เขียนและถ่ายทอดได้ มีวิสัยทัศน์ มีความรู้เท่าทัน มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส ชี้แจงขั้นตอน แจกแจงสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับ ให้สมาชิกเข้าใจ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เห็นอกเห็นใจ ไม่ทิ้งใคร (Inclusive) อดทน (4) สร้างโครงสร้าง กติการ่วมกัน กติกาที่ยืดหยุ่น ตามความสามารถ ความเปราะบางของแต่ละสมาชิก เช่น ความสามารถของการออมของแต่ละบ้าน (5) สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิก สร้างโอกาสให้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้หลากหลาย แบ่งบทบาทการทำงาน ตามความสามารถ เพิ่มทักษะคนทำงาน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีความเท่าเทียมกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน (ใช้เรื่องบวกมานำเรื่องลบ มีส่วนที่สนุก ให้คนอยากเข้ามาร่วม) สร้างทัศนคติที่ดี

(6) สร้างการบริหารจัดการที่ดี สร้างทีมพี่เลี้ยงช่วยส่งเสริม มีกลไกการตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส  หาวิธีการแก้ไขร่วมกันก่อน เช่น ประนีประนอม ไม่คาดโทษ หรือฟ้องร้องกัน มีการทบทวนโครงสร้างภายในชุมชน (ทุก 5 ปี) กลุ่ม สหกรณ์ (7) การสร้างทุน/ศักยภาพ (8) สร้างการเชื่อมโยงกับภาคี และสร้างการยอมรับจากภายนอก  โดยการประสานกับหน่วยงาน ใช้ข้อมูลชุมชน ในการสร้างแผนงานร่วม ใช้เครื่องมือ เช่น กองทุนเมืองในการเชื่อมโยงระดับเมือง การทำงานของกลุ่มช่วยให้หน่วยงานปรับตัว เข้าใจความเป็นจริงของชุมชน มีความคลายตัว และปฏิรูปความคิด ตลอดจนโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานรัฐ รวมถึงการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

10 ขั้นตอนสำคัญ การทำที่อยู่อาศัยในชุมชน

2.10 เรื่องสำคัญ การทำที่อยู่อาศัยในชุมชน ดังนี้ (1) การทำข้อมูลชุมชน ทุกมิติ ที่ทำโดยชุมชน : ที่ดิน ประวัติที่มา จำนวน สภาพปัญหา ฯลฯ (2) การรวมกลุ่ม : การสร้างการมีส่วนร่วม ความรู้ ความเข้าใจ ร่วมคิด ร่วมทำของสมาชิก การมีกลุ่มย่อย แบ่งงานกันทำ แบ่งบทบาท ความใกล้ชิด ความไว้วางใจ เชื่อใจ มั่นใจ เป็นพี่เป็นน้อง การรวมทุกคน ให้โอกาสทุกๆคนเข้าถึง (3) มีกลุ่มออมทรัพย์ : สร้างกองทุน ความสามารถในการจัดการเงินของสมาชิก/ของกลุ่ม โยงกับระบบภายนอก (4) มีการออกแบบภาพชุมชนใหม่ : สร้างระบบชุมชนใหม่ที่มั่นคง กระบวนการสร้างรูปแบบ แนวทางของชุมชนใหม่ รูปแบบ/แนวทาง/แนวสมาชิก/การพัฒนา การสร้างกระบวนการ/รูปแบบ/ผัง/แผน/การอยู่อาศัย ชุมชนใหม่ (5) การเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย : ขบวนการ ทำงานระหว่างชุมชน แลกเปลี่ยน ช่วยเหลือ สนับสนุน ยึดโยงถ่วงดุล ขยายผล ทำงานกับหน่วยงานอื่น ครอบคลุมชุมชนทั้งเมือง (6) การทำงานร่วมกับท้องถิ่น/หน่วยงาน : สร้างการเชื่อมโยง สร้างกลไกร่วมในท้องถิ่น เชื่อมโยงกับเครือข่ายเมือง (7) มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องทุกเรื่อง รอบด้าน : อาชีพ เศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการ สิ่งแวดล้อม ปลุกผัก ขยะ เด็ก คนรุ่นใหม่ กองทุนศึกษา ผู้สูงอายุ สุขภาพ วัฒนาธรรมการช่วยเหลือแบ่งปัน (8) มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง : รู้ทันความเป็นไป การเป็นพลเมืองตื่นรู้ (9) การบริหารจัดการอย่างโปร่งใส : มีธรรมภิบาล มีส่วนร่วม > การออมทรัพย์ การก่อสร้าง ก่อน-หลังดำเนิน โครงการ (10) การติดตาม ตรวจสอบ การสื่อสารสาธารณะและถ่ายทอดความรู้

3.บทบาทหน้าที่ในการทำที่อยู่อาศัยในชุมชน (1) บทบาทสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ) รวมกลุ่มทำกิจกรรมด้วยกัน บริหารเวลาการทำงาน ครอบครัวกับงานชุมชน สมาชิกมีเป้าหมาย มีความต้องการตรงกันทั้งครอบครัวให้ชัดเจน การบริหารการเงินในครอบครัวในการออมทรัพย์ ช่วยเหลืองานชุมชน บริหารชุมชน ดุแลชุมชนอย่างต่อเนื่อง เคารพระเบียบกติกาของชุมชนที่วางร่วมกัน เปลี่ยนมุมมองว่าชาวบ้านมีความสามารถในการกำหนดการพัฒนาของตนเองได้ สร้างความเชื่อมั่น/สร้างรูปธรรมความสำเร็จ สมาชิกชุมชนเป็นหลักในการพัฒนา ผู้เดือดร้อนทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยไม่ตกหล่น ต้องมีความเชื่อมั่นว่าชาวบ้านมีความสามารถกำหนดการพัฒนาของตนเองได้ สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองจากคนยากจนเป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้ อย่างมีศักดิ์ศรี ออกแบบทีอยุ่อาศัยตามศักยภาพ รายได้ และความสามารถด้านการเงิน  จิตใต้สำนึกต้องมีการอยากเปลี่ยนแปลง อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลในการพัฒนา

(2) บทบาทของผู้นำ/กรรมการ มีความเข้าใจการทำงานของโครงการบ้านมั่นคง ถ่ายทอดสู่  ชาวบ้านอย่างชัดเจนโดยง่าย อธิบายได้ สื่อสารได้ เป็นตัวแทนชาวบ้านในการเชื่อมโยงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการทำงาน มีหลักคิดอุดมการณ์ การทำงาน มีจิตอาสา มีความเสียสละ มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ โปรงใส มีบทบาทสำคัญในการคิดค้นแนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้าน ต้องให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่น กรรมการต้องมีความมุ่งมั่นและประสานการทำงานให้รวดเร็ว และให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เชื่อมโยงผู้เดือดร้อน ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ หรือการพาไปศึกษาดูงาน มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการชุมชน ให้กับสมาชิก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ว่างงาน เพื่อเป็นการสร้างรายได้   สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการ/โครงสร้างชุมชนเป็นประจำเพื่อให้เกิดการหมุนเวียน เปิดโอกาสให้สมาชิกมีบทบาทในชุมชน และสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมและการต่อรองกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับนโยบาย

(3) บทบาทของหน่วยงานสนับสนุน มีการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตามบทบาทภารกิจ โดยเฉพาะในมิติที่ชุมชนมีความต้องการในการพัฒนาศักยภาพ ระเบียบ ข้อกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

บทเรียนที่ได้แลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้ เมื่อมองถึงความสอดคล้องในช่วงที่พี่น้องขบวนองค์กรชุมชน 5 ภาค ได้มีการจัดเวทีสรุปบทเรียนไปเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงรูปธรรมงานพัฒนาที่อยู่อาศัยและผลลัพธ์แห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ การที่ภาคประชาชนนั้นมีการใช้ข้อมูล บทเรียน มาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและเชื่อมโยงทั้งเครือข่ายและภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเปิดใจในการเรียนรู้เติมเต็ม เปิดรับโอกาสที่จะนำไปสู่การยกระดับในการพัฒนาในมิติต่างๆ ให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสถาบัน ระบุว่า ความสำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจนนั้น จะต้องให้คนเป็นแกนกลางในการพัฒนา ให้ชุมชนนั้นมีโอกาสในการรวมตัว พัฒนาศักยภาพตนเอง เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนอนาคต เกิดการสร้างความมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในด้านดังกล่าวนี้อย่างเห็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน มีรูปธรรม มีโมเดลที่มากจากการลุกขึ้นมาร่วมพัฒนา ร่วมขับเคลื่อนจากพี่น้ององค์กรชุมชนกับคนที่เกี่ยวข้อง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นมิติที่บ่งบอกถึงชุมชนนั้นสามารถร่วมจัดการ ที่จะนำพาไปสู่การจัดการระบบการอยู่อาศัย ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ที่นำไปสู่ความเข้มแข็งได้ในอนาคต

รูปธรรมการสร้างกระบวนการ Collective Housing

รูปชุมชนเมืองชุมแพ (ก่อน-หลังปรับปรุง)

  • “บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ” อีก 1 นิยาม คำว่า”บ้านที่มากกว่าบ้าน”

นางสนอง  รวยสูงเนิน เล่าให้ฟังถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย สหกรณ์เคหะบ้านมั่นคงชุมแพ จ.ขอนแก่น ว่า ปี 2547 ชาวชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ด้านหนี้สิน และด้านอื่นๆ โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลและ พอช. จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ชาวบ้านมีความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยกว่า 900 ครัวเรือน จึงได้นำร่องโครงการบ้านมั่นคงที่ชุมชนสว่างแสงศรีเป็นแห่งแรก จากนั้นก็เริ่มขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ จนกระทั่งปี 2556 มีบ้านมั่นคงรวมแล้วกว่า 600 หลังคาเรือน สมาชิกบ้านมั่นคงเมืองชุมแพหลายครอบครัว ในอดีตสูญเสียที่นา พอมาอยู่ในเมืองก็เช่าที่ทำนาอยู่ จึงมีความคิดร่วมกันว่า ควรจะมีการทำนาเพื่อลดค่าใช้จ่ายและสร้างแหล่งอาหารไว้ให้ลูกหลาน การรวมตัวครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพช่วยให้คนยากคนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ไม่ต้องกลัวโดนไล่รื้อ จำนวน 13 ชุมชน  รวม 1,052 ครอบครัว และมีแปลงนารวมที่ช่วยกันทำ ช่วยกันบริหาร ปีที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวได้ผลผลิตรวม 28 ตัน นำมาแบ่งปันกันกิน มีโรงงานผลิตน้ำดื่ม ขายให้ชาวบ้าน 13 ชุมชน  และหน่วยราชการต่างๆ  มียอดขายรวมประมาณเดือนละ 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน  เช่น  กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ  มีเงินหมุนเวียนประมาณ 16 ล้านบาท   กองทุนสวัสดิการชุมชนเครือข่ายบ้านมั่นคง  มีเงินกองทุนประมาณ 2 ล้านบาท มีกลุ่มออมทรัพย์ให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ ฯลฯ  ทำให้พี่น้องชุมชนและเครือข่ายได้อาศัยพึ่งพา  แก้ปัญหาความเดือดร้อน  สร้างความมั่นคงทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต  จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ  และได้รับรางวัลเกียรติยศจากหลายหน่วยงาน

จากปัญหาในวันนั้น สู่ความมั่นคงในวันนี้ ชุมแพกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้ เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยทั้งหมดนี้เริ่มจากการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม และเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

รูปชุมชนนครสวรรค์ (ก่อน-หลังปรับปรุง)

  • 17 ปี คนจนนครสวรรค์’ ร่วมมือรัฐ-เทศบาลแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง

นางอร่ามศรี  จันทร์สุขศรี ประธานเครือข่ายพัฒนาชุมชนนครสวรรค์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยว่า จังหวัดนครสวรรค์เป็นประตูไปสู่ภาคเหนือ เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ ทำให้ที่ดินมีราคาแพง ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ แต่จำเป็นต้องอยู่อาศัยในเมืองเพราะเป็นแหล่งทำมาหากิน  เช่น  เป็นแม่ค้า ขายผักขายปลาในตลาด ทำงานรับจ้างทั่วไป งานก่อสร้าง ถีบสามล้อ  ฯลฯ ชุมชนส่วนใหญ่บุกรุกอาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุ  ที่ดินวัด เทศบาล การรถไฟฯ บ้างเช่าบ้าน เช่าที่ดินเอกชน ฯลฯ  มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ประชาชนมีรายได้น้อย ฐานะยากจน ขณะเดียวกันหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น เทศบาลนครนครสวรรค์ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆ รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ  ฯลฯ  แต่ยังไม่มีโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

เมื่อ พอช. เข้ามาทำงาน ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ในชุมชนต่างๆ จึงส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา ออมกันเดือนละสิบบาท-ร้อยบาท  เพื่อฝึกการบริหารจัดการการเงินชุมชน  ฝึกวินัยการออม  ใครมีมากก็ออมมาก และเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่ทรุดโทรมและสภาพแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น  เช่น  ทางเดิน ท่อระบายน้ำ  ฯลฯ

เริ่มที่ ‘ชุมชนเขาโรงครัว’ ในปี 2549  เป็นชุมชนบุกรุกที่ดินราชพัสดุ 156  ครอบครัว โดยชุมชนได้รับการสนับสนุนจากธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์  ให้เช่าที่ดินแปลงเดิมระยะยาว เพื่อการอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 64 ครอบครัว โดย พอช. สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านในที่ดินเดิม โครงการบ้านมั่นคงชุมชนเขาโรงครัวถือเป็นต้นแบบของโครงการบ้านมั่นคง และขยายไปยังชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เช่น วัดเขาจอมคีรีนาคพรต ชุมชนรณชัย  ฯลฯ  ซึ่งต่อมาตัวแทนชุมชนต่างๆ ได้รวมกันเป็น ‘เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์’  เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นจริง มีการสำรวจชุมชนที่เดือดร้อนเพื่อเป็นใช้ข้อมูลเป็นฐานในการแก้ไขปัญหา นำไปสู่แนวคิดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง

ในปี 2550 มีการจากการสำรวจข้อมูลของคณะกรรมการเครือข่ายฯ พบว่า  มีชุมชนในเขตเทศบาลบุกรุกที่ดินราชพัสดุ 25 ชุมชน ที่ดินวัด/สำนักงานพระพุทธศาสนา 8 ชุมชน ที่ดินตนเอง/เช่าเอกชน 18  ชุมชน และที่ดินอื่น ๆ 10 ชุมชน  จึงใช้เป็นฐานข้อมูลชุมชนที่มีความเดือดร้อนเพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ปัญหา และมีการตั้ง ‘คณะกรรมการเมือง’ เพื่อการวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ มีผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทน้าที่ในการพิจารณาเห็นชอบ  ให้ความเห็นต่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในเมือง  ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ร่วมวางแผนพัฒนาเมือง และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองกับเครือข่ายชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์ ร่วมกันพัฒนาชุมชนในชื่อ ‘เครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์’   เพราะทำทุกเรื่อง ทุกด้าน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย  สวัสดิการชุมชน  พัฒนาอาชีพ  คุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  สุขภาพ  สุขภาวะที่ดี แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้พี่น้องคนจนในเขตเทศบาลและอำเภอใกล้เคียงไปแล้ว รวม 39 ชุมชน  จำนวน  3,598 ครัวเรือน  แต่ปัจจุบันยังเหลือผู้ที่เดือดร้อน  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 40 ชุมชน  รวม 3,063 ครัวเรือน

รูปชุมชนคลองลาดพร้าว (ก่อน-หลังปรับปรุง)

การพัฒนาตามแนวทางบ้านมั่นคงไม่เพียงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ เดินทางมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ ได้ยกย่องเป็นตัวอย่างโครงการที่เอื้อให้ท้องถิ่นเป็นหลักในการพัฒนา ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง ไม่ต้องอยู่ในสภาพบุกรุก บ้านเรือนแออัด  สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  หรือกลัวว่าจะถูกขับไล่อีกต่อไป ตลอดจนร่วมกันคิดร่วมกันออกแบบเพื่อยกระดับไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ หลากหลายมากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

10 ภาคีร่วมจัดประกวดองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ศ.ดร.ป๋วย’ ปี 2567

ธรรมศาสตร์ รังสิต / 10 องค์กรภาคีร่วมจัดประกวดรางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ร่วมเวทีพลังองค์กรชุมชน ขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ ระบุความท้าทายที่ขบวนองค์กรชุมชนต้องทำคือสร้างผู้นำและขยายผลรูปธรรมชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่

กทม. : องค์กรชุมชนขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ ร่วมสรุปผลการดำเนินงาน และระดมความเห็นเสนอหน่วยงานที่สนับสนุนชุมชนเข้มแข็งบูรณาการและนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม

ผู้บริหาร พอช.ลงพื้นที่ร่วมขบวนองค์กรชุมชน จัดทำแผนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือในหลายพื้นที่ พร้อมชูนโยบายแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน และกำลังไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางและ กทม.