สถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ถ้ามาแล้วไม่ควรพลาด!!! นั่นก็คือ "ตลาดสามชุก" นับว่าเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีของกินอร่อย ของฝากหลากหลายทั้งขนม อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ จากตลาดสามชุกก็ดีไม่แพ้กัน
ตามประวัติของเมืองสามชุกกล่าวไว้ว่า ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่ออำเภอ "นางบวช" ตั้งอยู่บริเวณตำบลนางบวช โดยมีขุนพรมสภา(บุญรอด) เป็นนายอำเภอคนแรก ซึ่งยังมีภาพถ่ายปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี 2457 ต้นรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายอำเภอมาตั้งที่ “บ้านสำเพ็ง” ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญในสมัยนั้น จนกระทั่งปี 2481 สมัยรัชกาลที่ 8 ได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอนางบวช" มาเป็น "อำเภอสามชุก" และย้ายมาตั้งอยู่ริมลำน้ำสุพรรณบุรี(ท่าจีน) ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านคลองมะขามเฒ่า
แต่เดิมบริเวณที่ตั้งอำเภอสามชุกเรียกว่า "ท่ายาง" มีชาวบ้านนำของป่าจากทิศตะวันตกมาค้าขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ บ้างก็มาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้ เป็น 3 สาย จึงเรียกบริเวณที่ค้าขายนี้ว่า "สามแพร่ง" ต่อมาได้เพี้ยนเป็นสามเพ็ง และ สำเพ็ง ในที่สุด ดังปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ในนิทานพื้นบ้านย่านสุพรรณ มีเรื่องกล่าวต่อไปว่า ในระหว่างที่คนมารอขายสินค้าก็ได้ตัดไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของขาย เรียกว่า "กระชุก" ชาวบ้านจึงเรียกว่า "สามชุก" มาถึงปัจจุบัน
ตลาดสามชุก เป็นห้องแถวไม้ริมแม่น้ำท่าจีน ตั้งอยู่ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในอดีตตลาดสามชุกเป็นย่านการค้าสำคัญ และเป็นแหล่งชุมชนที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน มอญ ฯลฯ มีการแลกเปลี่ยน และซื้อขายสินค้ากัน ด้วยความที่ตลาดตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ทำให้ตลาดสามชุกเป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญในอดีต ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อนนั่นเอง จึงทำให้ที่นี่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย หากได้มีโอกาสเดินตลาดสามชุกในวันนี้ ยังคงเห็นร่องรอยของดีอยู่มากมาย บ้านเรือนถึงแม้จะเก่าแก่ แต่เต็มไปด้วยศิลปะกรรมที่งดงามอันหาดูได้ยาก บ้านของขุนจำนงค์ จินารักษ์ ตั้งเด่นสง่าเผยให้เห็นศิลปะกรรมการก่อสร้างที่ประณีต ไม่ต่างจากบ้านของชาวสามชุกหลังอื่น ๆ ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี
สามชุก ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา
ในปี พ.ศ. 2510 การคมนาคมทางบก ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เส้นทางค้าขายทางน้ำซบเซาลง ตลาดสามชุกจึงเริ่มเงียบเหงา เนื่องจากการสัญจรทางน้ำได้รับความนิยมน้อยลงไป การค้าขายที่ตลาดสามชุกก็ไม่คึกคักเหมือนเดิม คนรุ่นใหม่ก็ทยอยออกไปหางานทำที่อื่น
ปี พ.ศ. 2543 มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ ขึ้นมา เพื่อฟื้นฟู ตลาดสามชุก ให้กลับมีชีวิตชีวา คืนมาอีกครั้ง โดยมีการดำเนิน“โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ สามชุกตลาดร้อยปี” ปี 2545 ถือเป็นหนึ่งในโครงการ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองนำร่อง โดยการขับเคลื่อนร่วมระหว่าง มูลนิธิชุมชนไท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีแนวคิดจากการคาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ชุมชนจำนวนมากในประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมเมือง จึงควรหาวิธีการรับมือการเติบโตของเมืองด้วยการสร้างกระบวนการพัฒนาแบบยั่งยืน การบริหารจัดการเมืองที่เหมาะสมโดยท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมจากประชาคมชุมชนเมืองอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายและได้มาตรฐาน ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีและปลอดภัย
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างขบวนการของการพัฒนาเมืองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในท้องถิ่น และเกิดกลไกการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยการมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของภาคประชาชน เชื่อมโยงให้เกิดเครือข่าย จัดทำข้อมูลของเมือง จัดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมของขบวนการและกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมร่วมกัน จัดการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวเมืองอื่นๆ เป็นต้น โดยในช่วงเริ่มต้นนั้นเทศบาลและประชาคมสามชุกมีแนวคิดที่จะปรับปรุงตลาดมาก่อน และมีโครงการ “สามชุกเมืองน่าอยู่” ซึ่งเกิดขึ้นจากคณะกรรมการหลายฝ่ายที่เห็นร่วมกันว่า ควรจะปรับปรุง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ตลาดสามชุก แต่เมื่อเกิดความร่วมมือกับ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ การประชุม การกำหนดการมีส่วนร่วม ตลอดจนกิจกรรมเพื่อความร่วมมือต่างๆ จึงเกิดการรุดหน้าของโครงการอย่างรวดเร็ว
ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ของสามชุกนี้ มีการร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาเมืองสามชุกให้เป็นตลาดมีชีวิต เช่น การทำความสะอาดตลาด ปรับปรุงบ้านที่ทรุดโทรม รื้อฟื้นการทำอาหารไทยพื้นบ้าน ให้คงอยู่ เช่น การทำแกงบวน ข้าวห่อใบบัว ขนมหวาน กาแฟโบราณ รวมทั้งการร่วมกันตั้งพิพิธภัณฑ์มีชีวา โดยใช้บ้านของขุนจำนงค์ จีนาสังข์ นายอากรคนแรกของสามชุกเป็นที่ทำการ เป็นที่รวบรวมของเก่า ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนสามชุกทั้งวิถีชีวิต ความรู้ด้านอาหารเป็นต้น มาไว้ที่นี่ และแม้แต่ตัวอาการอันเป็นที่ทำการ ซึ่งเต็มไปด้วยศิลปกรรมอันงดงามก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์ไปในตั
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เคยกล่าวไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับตลาดสามชุกว่า สามชุกมีความหลากหลายทางชีวภาพมีแม่น้ำ มีผู้คนหลายเชื้อชาติที่มาร่วมกัน สร้างสังคมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ให้ลูกหลาน ดังนั้น “พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงค์” ที่สามชุก จึงเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งแรกของเมืองไทย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เห็นคน เห็นชีวิต เห็นชุมชน เห็นความเคลื่อนไหว เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากจิตสำนึก ของคนในชุมชน ระเบิดมาจากคนในชุมชน มิใช่ทางราชการมาทำให้เหมือนที่มีอยู่ทั่วไป และที่สำคัญคำว่าพิพิธภัณฑ์ของคนสามชุกมิได้มีความหมายเพียงตัวที่ทำการของ พิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงศิลปกรรม และวิถีชีวิตของผู้คนทั้งตลาดสามชุก ที่ใครก็ซึมซับความมีชีวิตนั้นได้
นอกจากการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมการฟื้นฟูวิถี และอนุรักษ์ความเป็นอยู่แล้วนั้น ยังมีการสำรวจผู้เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย ในเขตเทศบาลตำบลสามชุก สร้างขบวนการของการพัฒนาเมืองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในท้องถิ่น และเกิดกลไกการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยการมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของภาคประชาชน เชื่อมโยงให้เกิดเครือข่าย จัดทำข้อมูลของเมือง จัดเวทีให้เกิดการมีส่วนร่วมของขบวนการและกลุ่มต่างๆ จัดการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวเมืองอื่นๆ เป็นต้น และได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกลับมาคึกคักเช่นในอดีต และยังคงอนุรักษ์หลายๆสิ่งหลายๆ อย่าง ที่ล้ำค่าแห่งวิถีชีวิตของคนในตลาดสามชุก เอาไว้ ในนาม “สามชุก ตลาดร้อยปี ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา” อันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากการพัฒนาของคนในชุมชนท้องถิ่นตลาดสามชุกอย่างแท้จริง
บ้านมั่นคงอนุรักษ์สามชุก
การดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัย โดย พอช. มุ่งเน้นให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทหลัก ในการให้เจ้าของปัญหาลุกขึ้นมาจัดการตนเอง หากกล่าวในมิติของการพัฒนาของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น พบว่า มีหน่วยงานไม่มากนักที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในพื้นที่
นางสาวธนสร ทองฉ่ำ หรือ พี่แก้ว ประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงอนุรักษ์สามชุก จำกัด เล่าว่า เรื่องการที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง พี่น้องเครือข่ายมีการสํารวจผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเขตเทศบาลตําบลสามชุกทั้งหมด ทำให้เรามีข้อมูลผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงอยู่ที่ไหนบ้าง เช่น ชุมชนที่บุกรุกที่ดินหลวง บุกรุกที่เอกชน โดนไล่รื้อ รวมไปถึงกลุ่มบ้านเช่า ครอบครัวขยาย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของบ้านมั่นคง ก็รวมกลุ่มกันตั้ง “กลุ่มบริการออมทรัพย์บ้านมั่นคงอนุรักษ์สามชุก”ขึ้น ให้สมาชิกออมเงินวันละ 10 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/เดือน พอเรารวมเงินกันได้ประมาณสัก 2-3 เดือน ช่วงปี 2548 ไปเสนอโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง กับ พอช. แต่ก่อนที่เราจะไปเสนอโครงการก็มีการสํารวจที่ดิน ซึ่งพบว่า สามชุกไม่มีที่ดินรัฐที่จะให้ใช้ได้เลย ก็ต้องเป็นที่ดินซื้อเท่านั้น ก็เปิดวงประชุมกันใช้ตลาดสามชุกนี่แหล่ะเป็นที่ประชุม และปรับจากกลุ่มออมทรัพย์เป็น “สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงอนุรักษ์สามชุก จํากัด” เป็นชื่อที่มาจากตลาดอนุรักษ์ โดยใช้เงินทุนภายในสหกรณ์บริหารอาชีพของสมาชิก 80% เป็นพ่อค้า แม่ค้า ในตลาดสามชุก
“หลังจากที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก พอช. เรามาซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้าน ในระหว่างนั้นก็ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช. ให้สมาชิกวางผังด้วยกัน เลือกแบบบ้านให้เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย กว่าเราจะสร้างความเชื่อมั่นกับสมาชิก เราต้องพาเขาไปดูงาน 2 ที่ ที่แรกไปกันที่บ้านมั่นคงบุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์ ที่ที่ 2 ไปที่
บ้านมั่นคงตาคลี จ.นครสวรรค์ ให้เขาได้เห็นว่ามันทำได้น่ะบ้านที่ชุมชนช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง มันสามารถสร้างความมั่นคงสู่ลูกหลาน และสิ่งที่ภาคภูมิใจคือ บ้านมั่นคงสามชุกไม่ใช่ว่าผู้นําเก่งแล้วมันจะไปรอด แต่สมาชิกทุกคนให้ความร่วมไม้ร่วมมือดีมาตลอด ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันต่างหาก รวมไปถึงการส่งเสริมการออมเงิน พอช. ให้มีการออมทรัพย์ 10% เพื่อเป็นเครื่องมือในการขอเสนองบประมาณ ซึ่งเราก็ไม่ได้มองแค่เราออมเพื่อไปของบประมาณมาทำบ้านแค่นั้น แต่เป็นการฝึกวินัยการออม ซึ่งมองว่าสิ่งหนึ่งที่สมาชิกให้ความสําคัญว่าอันนี้คือสร้างความมั่นคงของเขาด้วยเช่นกัน”
สำหรับการบริหารจัดการของสหกรณ์บ้านมั่นคงสามชุกนั้น สามารถชําระสินเชื่อที่อยู่อาศัย กับ พอช.ได้หมดก่อนสัญญา 4 ปี มีการออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีของสมาชิก ด้วยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าและตลาดสามชุกเป็นตลาดกลางวัน คณะกรรมการก็จะชวนสมาชิกประชุมในตอนเย็น สหกรณ์แห่งนี้มีการประชุมทุกวันที่ 7 ของเดือน และบ้านมั่นคงสามชุกแห่งนี้ ก็ยังคงมีระบบการบริหารกลุ่มออมทรัพย์อยู่เช่นกัน เมื่อคณะกรรมการหมดวาระ สมาชิกในกลุ่มออมทรัพย์ใครพร้อมก็สามารถเข้ามาเป็นคณะทํางานได้เลย
“เราสามารถที่จะบริหารจัดการเงินของเราเองได้มีการบริหารที่ดีมีธรรมาภิบาล สามารถตรวจสอบได้ตลอด และสหกรณ์ของเราสามารถปิดบัญชีได้เป็นปัจจุบันทุกปี มีการจัดเงินปันผลเฉลี่ยคืนให้สมาชิกได้ทุกปี สมาชิกทุกคนบอกมีความภาคภูมิใจมาก ที่เขาไม่คิดว่าชีวิตนี้เขาจะมีบ้าน ซึ่งถ้าเขาไปซื้อบ้านจัดสรรราคาต้องเป็นแสนเป็นล้าน แต่บ้านมั่นคง ขนาด 6x8 เมตร ราคา 174,000 บาท สามารถได้บ้าน 1 หลัง ที่ 3 ชุกถือว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างมาก” พี่แก้ว กล่าวย้ำ
บ้านปลูกผัก แห่งสนามชัย
บ้านมั่นคงสนามชัย มีจุดเริ่มต้นมาจากที่นางเพียงใจ ปริยัติฆรพันธ์ หนึ่งในผู้เดือดร้อนที่ถูกไล่ที่ ของวัดลาวทอง ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสนามชัย ได้เข้าร่วมเวทีประชุมของสภาองค์กรชุมชน ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลในเรื่อง “บ้านมั่นคง” ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และมาบอกน้องสาวให้เข้าไปร่วมรับฟัง
นางสร้อยวสันต์ ปริยัติมรพันธ์ ประธานโครงการบ้านมั่นคงสนามชัย เล่าว่า เมื่อก่อนพี่ยังไม่มีบ้านของตัวเอง ก็อาศัยเขาอยู่ พอดีจังหวะนั้นพี่สาว(นางเพียงใจ)เป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตําบลสนามชัย ก็ไปได้ยินเรื่องบ้านมั่นคงมา ว่าเป็นโครงการที่สร้างบ้านเพื่อคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย เกิดความสงสัยว่าหากเป็นคนจนที่ยังมีแรง และต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง จะทำได้จริงหรือไม่ จึงสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า เป็นโครงการของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่ทำโครงการสำหรับผู้เดือดร้อนที่มีความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัย ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และขับเคลื่อนการทำงานอย่างชัดเจนในทุกขบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ ภายใต้คำแนะนำการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ พอช.
“พอได้รับทราบข้อมูล ได้ช่วยหาทางออกให้แก่ผู้เดือดร้อนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะ บุรุก/เช่าที่ดินวัดลาวทอง ที่ดินเอกชน และเป็นกลุ่มบ้านเช่า ครอบครัวขยาย จาก 6 หมู่บ้าน มีผู้เดือดร้อนประมาณ 240 ครัวเรือน ทำความเข้าใจกับคนในชุมชน ผู้เดือดร้อนมีความกระตือรือร้น ในการแก้ไขปัญหาของตัวเองกันมาก บ้านมั่นคงต้องประชุมบ่อยเพื่อตอกย้ำอุดมการณ์ ค่อยเติมเขา ที่นี่ออมหุ้นกัน 100 บาท/เดือน ค่าสมัครแรกเข้า 50 บาท เพื่อให้สมาชิกรู้จักเก็บออม และมีส่วนร่วมเนื่องจากคนพวกนี้เขาไม่เคยเขาเป็นพวกที่ประเภทรอรับการช่วยเหลืออย่างเดียว แต่ตอนนี้สมาชิกทุกคนปรับตัวลุกขึ้นมาแก้ปัญหาตัวเองแล้ว”
มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และเป็นสหกรณ์วัดลาวทอง จำกัด เมื่อปี 2556 ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงและรับงบประมาณจาก พอช. โดยมีสมาชิกเริ่มแรกประมาณ 130 คน (ปัจจุบันเหลือ 56 คน) การดำเนินงานแต่ละขั้นตอน ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะแกนนำขาดประสบการณ์การทำงานและจัดทำข้อมูล ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ จนผู้เดือดร้อนบางส่วนขอลาออกจากการเป็นสมาชิก แต่ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ทำให้ได้รับการอนุมัติงบประมาณปี 2557
การก่อตั้งสหกรณ์วัดลาวทอง จำกัด มีเจตจำนงเพื่อให้สมาชิกซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนได้ออมเงิน ตามระเบียบของ พอช. ในการเสนอโครงการบ้านมั่นคง ใช้สินเชื่อเพื่อเป็นทุนในการปลูกสร้างบ้าน รวมถึงเป็นการแสดงเจตจำนงค์ของผู้เดือดร้อนว่ามีความพยายามและตั้งใจในการได้มาซึ่งบ้านที่มั่นคง หลังจากการอนุมัติแล้วสหกรณ์ฯ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของที่ดิน โดยขอเช่าที่ดินจากวัดลาวทอง มีกรมพุทธศาสนา มาช่วยดูแลเรื่องสัญญาเช่าที่จะทำกับทางวัด ขอเช่าทั้งหมด 12 ไร่ ระยะเวลา 3 ปี ภายหลังจากการดำเนินการขอเช่าที่ดินแล้ว ได้มีการวางแผนผังโครงการ จำนวนทั้งหมด 86 หลัง โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุด
นางสร้อยวสันต์ เล่าเพิ่มเติมว่า “ทุกวันนี้ยังไม่อยากเชื่อเลยว่า เราจะทำได้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องการก่อสร้างเลย แต่ได้รับคำแนะนำจากทีมช่าง พอช. ได้ที่ปรึกษาดี ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหากเป็นทีมช่างในโครงการบ้านมั่นคงกลุ่มจังหวัดประวัติศาสตร์ (อยุธยา อ่างทอง สุพรรณ) มาให้คำแนะนำเรื่องการก่อสร้าง และทีมสถาปนิก วิศวกร ของ พอช. ได้ร่วมกันออกแบบการก่อสร้าง บอกขั้นตอนรายละเอียด มีการตรวจงวดงานแต่ละงวดแล้วเบิกงบประมาณ มีการทำงานเป็นขั้นตอน ตรวจสอบง่าย ทำให้มือใหม่อย่างเราๆ ทำงานได้ง่ายขึ้นวันแรกที่ตอกเสาเข็ม วันนั้นพวกเราได้เห็นรอยยิ้มของสมาชิก สายตาที่เขามองเราเงินแสนเงินล้านที่ได้รับมาเทียบไม่ได้ ในตอนที่จัดผังแบ่งแปลงที่ดิน สมาชิกมามาช่วยกันขุดเสาหินของตัวเอง พวกเขาดีใจที่จะมีที่ดินปลูกบ้าน วันนั้นเขาได้เห็นแล้วว่าบ้านเขาจะขึ้น เป็นความรู้สึกที่ดี คนทำงานก็หายเหนื่อย”
มาวันนี้ บ้านมั่นคงสนามชัย ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ดำเนินการภายใต้สหกรณ์วัดลาวทองจำกัด ปลูกสร้างเสร็จ สมาชิกเข้าอยู่อาศัยแล้ว ด้วยงบสินเชื่อสนับสนุนการสร้างบ้านจาก พอช. ราว 260,000 บาท สมาชิกผ่อนส่งเดือนละ 1,800 บาท มีค่าเช่าที่ดินจากสำนักพระพุทธศาสนา เนื้อที่ประมาณ 35-50 ตารางวา ราคาตารางวาละ 2-3 บาท รวมๆ แล้วปีละประมาณ 1,000 บาทต้นๆ “เมื่อเปรียบเทียบกับการเช่าบ้านเดี่ยวที่มีเนื้อที่ขนาดนี้ ตกประมาณ 3,500 – 4,000 บาทต่อเดือน หรือถ้าผ่อนส่งกับบ้านจัดสรรสูงกว่านี้หลายเท่าตัว ทำให้ประหยัดเงินไปได้มาก อาจกล่าวได้ว่าถ้าไม่ได้โครงการนี้ ชาวบ้านหลายคนอาจจะไม่มีบ้านเป็นของตัวเองอยู่”
“บ้านมั่นคงสนามชัย ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อจ่ายค่าบ้านถูก มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น สามารถส่งลูกหลานได้เรียนสูงมากกว่าเดิม ตอนนี้มีหลายบ้านส่งลูกเรียนถึงระดับปริญญาตรี ปริญญาโท จากเดิมที่จบเพียงแค่ชั้น ป.6 หรือมัธยม ดังเช่นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง ซึ่งเดิมมีอาชีพขายอาหารตามตลาดนัด เมื่อก่อนต้องขับซาเล้งบรรทุกของไปขาย ปัจจุบันสามารถ “ถอย” กระบะมือสองมาวิ่งรับซื้อของเก่าได้ สามารถไปหาซื้อของ ขายของได้ไกลกว่าเดิม ทำให้มีรายได้เพิ่ม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าได้มากขึ้น” นางสร้อยวสันต์ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อสร้างบ้านเสร็จหน้าที่ของคณะกรรมการก็ต้องดูแลสมาชิกต่อไป เช่น ดูแลเรื่องสินเชื่อ แล้วหาทางให้พวกเขามีเงินมาผ่อนบ้าน เพราะนอกจากจะมีบ้านมั่นคงเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว เราต้องกินอิ่ม นอนอุ่น จึงได้คิดถึงเรื่องของการส่งเสริมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งได้แนวความคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 “ส่งเสริมสมาชิกปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้” ดังนั้น เรื่องอาหารต้องมั่นคง จึงทำ “โครงการบ้านผลิตอาหาร” อยากกินพริกก็มีพริก อยากกินก็มีมะละกอ อีกทั้งยังมีมะม่วง มะรุม อยากกินไข่ไก่ก็ได้กิน โดยไม่ต้องไปซื้อ คิดว่าต้องพึ่งปัจจัยภายในให้มาก เพื่อให้เงินเหลือ จึงนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติร่วมกับสมาชิก จนสมาชิกปลูกผักทุกครัวเรือน อันดับแรกบอกว่าต้องปลูกต้นกล้วยทุกหลัง เพราะว่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ปลูกบ้านละ 1 ต้น พอออกเครือเห็นผลิตผล ก็ปลูกพืชชนิดอื่น นำมาสู่การปลูกผักสวนครัวในบริเวณบ้าน ชอบกินอะไรก็ให้ปลูกอย่างนั้น “ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก” เรื่องนี้ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานใด เพราะมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องจำเป็น
นางสร้อยวสันต์ ตอกย้ำว่า “เพราะฉะนั้นพอพูดแล้วมั่นคง บางคนน้ำตาจะไหล เขาต่อสู้กันมาไม่รู้จะขอบคุณคําไหน เพราะสิ่งที่ไม่เคยลืม พอช. เลย ถือว่าเราเป็นคนโชคดีมากที่ได้รู้จัก พอช. แล้วก็รู้จักบ้านมั่นคง ชาวบ้านอย่างเรามีความต้องการเสนออะไรหรือมีแผนอะไร เสนอไปเนี่ยะ พอช. เขาให้การสนับสนุนเลยนะ พอช. ไม่เคยปฏิเสธพี่น้องเลย แม้ความเป็นมาของโครงการบ้านมั่นคงสนามชัย เดิมหลายๆ คนคิดว่าเป็นโครงการชวนฝัน ไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความแน่วแน่และความตั้งใจ ความร่วมมือของสมาชิกผู้เดือดร้อน แรงสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่น และแรงผลักดันจากพอช. ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น คือ ความสำเร็จ สามารถสร้างบ้านเพื่อผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย และยังต้องดำเนินการพัฒนาในหลายๆ เรื่องเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติต่อไป”
ปัจจัยที่สนับสนุนความเป็นชุมชนเข้มแข็งในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนธรรมชาติ และทุนการเงิน โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของสมาชิกภายในชุมชน ร่วมแรงร่วมใจกัน นำทุนชุมชนที่มีอยู่เหล่านี้ มาพัฒนาต่อยอดในการส่งเสริมอาชีพ เมื่อมีบ้านที่มั่นคงแล้วอาชีพก็ต้องมีความมั่นคงและยั่งยืนด้วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ