แพปลา ธนาคารปูชุมชนแหลมผักเบี้ยเพชรบุรี ต้นแบบในการฟื้นฟูท้องทะเลไทย

ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเมืองเพชร ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้ถูกฟื้นฟูโดยชาวประมงกลุ่มหนึ่ง เริ่มจากจุดเล็กๆ ทำแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย ที่ตั้งอยู่ด้วยความหวังของชุมชนชาวประมงในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์สู่ท้องทะเล  เมื่อจำนวนเรือเพิ่มขึ้นและใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตสัตว์น้ำในช่วงก่อนปี 2551 ทำให้จับปลาได้เหลือเพียงวันละ 3-5 กิโลกรัม จนเรือบางลำต้องเลิกทำประมง แต่ด้วยความร่วมมือของชุมชนและเครือข่ายทะเลของแหลมผักเบี้ย จึงร่วมกันก่อตั้งธนาคารปูม้า  กระชังเพาะเลี้ยงปลาทะเล และฟื้นวิถีการทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อทะเล

ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยที่แหลมผักเบี้ย

“หาดทรายเม็ดแรก” แหลมผักเบี้ย ที่นี่เป็นชายหาดแรกฝั่งอ่าวไทย ที่ต่อจากหาดโคลนของสมุทรสงคราม เป็นหาดทรายหาดแรกที่ยิงยาวๆ ไปภาคใต้ แหลมผักเบี้ยเป็น 1 ใน 10 ตำบลที่อยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นแหลมยื่นออกจากฝั่งไปในทะเลฝั่งอ่าวไทย โดยจะแยกระหว่างหาดทรายกับหาดโคลนออกจากกัน โดยทิศเหนือจะเป็นหาดโคลน ด้านทิศใต้เป็นหาดทราย สำหรับหาดทรายในตำบลแหลมผักเบี้ยนั้นเป็นหาดทรายจุดแรกของอ่าวไทยด้านซีกใต้ เนื่องจากการไหลลงของน้ำจืดจากปากแม่น้ำลงสู่อ่าวไทยของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางประกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี เมื่อตะกอนลงส่งทะเล ทำให้น้ำทะเลในช่วงนี้มีความขุ่นสูง จึงเป็นหาดโคลนและหาดทรายอยู่ติดกัน ทั้ง 2 นิเวศน์ ที่อยู่ในแหลมเดียวกัน มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางทะเลเป็นอย่างมาก

จากวิกฤตเปลี่ยนเป็นโอกาสจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในการฟื้นฟูท้องทะเล

การใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท ใช้อวนขนาดเล็กเกินไป ทำให้มีสัตว์น้ำทะเลที่ไม่ใช่เป้าหมาย ติดเข้ามาอยู่ในถุงอวนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์กำลังถูกจับจนถึงจุดเสี่ยง ประมาณว่าเกิดขึ้นทดแทนไม่ทันและใกล้สูญพันธุ์  ชาวชุมชนแหลมผักเบี้ย ได้ร่วมกันคิดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการพึ่งตนเอง ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการแพปลาชุมชน นัดประชุมชาวประมงที่สนใจ จัดตั้งกลุ่มแพปลาชุมชนโดยการระดมเงินทุนขั้นต้นในการดำเนินการบริหารจัดการแพปลาชุมชนจากสมาชิก มีการกำหนดกฎกติกาสำหรับสมาชิกเพื่อให้เกิดระเบียบในการปฏิบัติร่วมกัน การทำประมงอย่างรับผิดชอบและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งมีแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ชัดเจน ความสามารถในการบริหารจัดการคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่ม ได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดกฎระเบียบกติกาในการปฏิบัติ และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ มีการจัดการเงินทุนและจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบมีคุณธรรม สมาชิกทุกคนมีความพอใจ มีเป้าหมายส่งเสริม การทำประมงและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและรายได้แก่ชุมชน ผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สินค้ามีคุณภาพ โดยมีการตรวจสอบควบคุมอย่างสม่ำเสมอ และมีฐานคิดในการกำหนดราคาอย่างมีเหตุผล มีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ 

วิสาหกิจกลุ่มแพปลาชุมชนโดยการนำของสตรีเหล็ก

ผู้ใหญ่ส้ม หรือ นางอัจฉรี เสริมทรัพย์ ประธานวิสาหกิจกลุ่มแพปลาชุมชน ตำบลแหลมผักเบี้ย เล่าให้ฟังว่า     จุดเริ่มแรก ที่นี่มีปัญหาเรื่องราคาอาหารทะเลตกต่ำ สัตว์น้ำทะเลลดลง การใช้เครื่องมือหาปลาผิดประเภท ใช้อวนขนาดเล็กเกินไป   ทำให้มีสัตว์น้ำที่ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย  ติดเข้ามาอยู่ในถุงอวนเป็นจำนวนมาก  ส่งผลให้สัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์กำลังถูกจับจนถึงจุดเสี่ยง ประมาณว่าเกิดขึ้นทดแทนไม่ทันและใกล้สูญพันธุ์ ทำให้  สัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปะการังน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ถูกลากเข้าไปในอวนลาก ด้วยจึงชักชวนสมาชิกในชุมชนจัดตั้งเป็นแพปลาชุมชนขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยการทำธนาคารปูม้า ควบคู่กับการทำการตลาดเอง  

“เราได้อาหารทะเลมาแล้วคัดแยกก็ส่งขายเอง  ไม่ผ่านแม่พ่อค้าแม่ค้าคนกลางพร้อมทั้งทำเรื่องอาหารปลอดภัย อาหารทะเลอินทรีย์ อาหารทะเลปลอดสาร นำอาหารทะเลสดๆไปขายที่กรุงเทพฯ ได้ราคาที่สูงขึ้น ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อนจากพวกฟอร์มาลีน ทำไปได้ประมาณปีกว่า จึงมาเปิดตลาดในพื้นที่ เพื่อให้แขกผู้มาเยือน นักท่องเที่ยว ที่มาได้รับประทานอาหารทะเลที่ปลอดภัยด้วย”

ธนาคารปูม้าเพื่อการขยายพันธุ์ปูและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ  

ชุมชนแหลมผักเบี้ยมีการทำประมงชายฝั่งโดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสัตว์น้ำที่ต้องการ มีการทำประมงมากจนทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง จึงได้ทำโครงการธนาคารปูม้า เพื่อให้สมาชิกที่ได้นำปูไข่นอกกระดองนำมาบริจาคให้กับกลุ่ม เพื่อนำไปปล่อย ก่อนนำไปขายโดยเล็งเห็นว่าการอนุรักษ์ทรัพยากร เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการทำประมงอย่างรับผิดชอบ รวมทั้งมีแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ชัดเจน

นายอภิชัย เสริมศรี หรือ พี่วิน ประธานธนาคารปูม้าแหลมผักเบี้ย บอกว่า ปูม้านั้นหากจับกินแบบไม่สร้างคืนปูรุ่นลูกให้ธรรมชาติ ปูม้าจะหมดไปได้ การอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าของที่นี่ เราให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแพปลาชุมชนนำปูไข่นอกกระดอง นำมาเลี้ยงในธนาคารปูม้าเพื่อการขยายพันธุ์ปูและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีเงื่อนไขคือ ชาวประมงในหมู่บ้านที่ออกเรือจับปูม้า โดยในแต่ละวันเมื่อกลับเขาฝั่งจะต้องนำแม่ปูม้าที่มีไข่แก่ที่อยู่นอกกระดองมาบริจาคให้แก่ธนาคารปูม้าคนละ 1 ตัว หรือจะบริจาคมากกว่านั้นก็ได้ ซึ่งปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 33 ราย และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  สำหรับแม่ปูม้าที่ได้มาจะถูกนำไปใส่ในถังที่มีออกซิเจนที่มีอยู่ทั้งหมด 53 ถัง จนกระทั่งแม่ปูสลัดไข่ และฟักเป็นตัวอ่อนของลูกปู ทางกลุ่มก็จะปล่อยลูกปูโดยปล่อยไปตามท่อพีวีซีที่มีการต่อเชื่อมจากบ่อลงสู่ทะเล ซึ่งแม่ปู 1 ตัว จะมีไข่เป็นตัวได้ประมาณ 700,000 ตัว  ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน เป็นแหล่งเพาะพันธ์ปูให้มีจำนวนมากขึ้นรองรับอาชีพประมงของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวจะได้มีปูม้ารับประทานกัน ทั้งยังเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับปูม้าและสัตว์น้ำอื่นๆ   ธนาคารปูม้ายังมีบริการให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจ มาศึกษาดูงาน และสามารถนำปูม้าไปปล่อยทะเลด้วยตนเอง โดยเอาถังใบเล็กมาตักไปเทปล่อยที่ทะเลช่วงน้ำลง เพื่อให้น้ำทะเลพาลูกปูออกสู่ชายฝั่งป่าโกงกาง จะได้มีโอกาสรอดและเติบโต

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแพปลาชุมชน ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้รวมกลุ่มกันกว่า 200 ครอบครัว เน้นประมงพื้นบ้านอาหารทะเลปลอดสารพิษ  ได้ร่วมกันตั้งร้านชื่อ โอ้โหปูอร่อย ชุมชนท่องเที่ยวแหลมผักเบี้ย ถ้าจะมาที่นี่ มากินอาหารพื้นบ้าน และอาหารทะเลสดๆ สามารถโทรติดต่อผู้ใหญ่ส้ม โทร. 08-0250-2537 หรือเข้าไปในติดตามในเพจ “โอ้โหปูอร่อย ชุมชนท่องเที่ยวแหลมผักเบี้ย” หากสนใจมานั่งชมทะเลแหวกรบกวนจองล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 2-3วัน เพื่อที่ผู้ใหญ่ส้ม จะดูตารางน้ำ เนื่องจากเวลาออกเรือจะต่างกัน อยู่ที่น้ำขึ้นหรือน้ำลง ชาวชุมชนแหลมผักเบี้ยยินดีต้อนรับทุกท่าน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567