“ถ้าไม่มีพะยูน คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้ เพราะถ้าที่ไหนมีพะยูน ท้องทะเลตรงนั้นก็จะแสดงถึงความอุดมสมสมบูรณ์ และคนเกาะลิบงส่วนใหญ่ก็หากินกับท้องทะเล ทำประมงพื้นบ้าน มีปลาอินทรีย์ มีหอยต่างๆ มีปลิงทะเล เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นแหล่งอาหารของคนเกาะลิบง พวกเราจึงต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนและสัตว์น้ำวัยอ่อน” คนลิบงโดยส่วนมากเวลาถามถึงวิถีและทะเลหน้าบ้านของพวกเขา ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน
เกาะลิบง จังหวัดตรัง ไม่ใช่แค่มีฐานะเป็นเมืองหลวงของพะยูนเท่านั้น แต่ท้องทะเลที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลและปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนและที่สำคัญยังเป็นแหล่งอาศัยของปลิงขาว ปลิงกาหมาด หอยชักตีน และหอยเป๋าฮื๋อ สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง แต่ทว่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้กำลังจะหมดไป คนลิบงกลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลของพวกเขาเอาไว้ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนลียีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อฟื้นฟูท้องทะเล เฝ้าระวังและอนุรักษ์พะยูน เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ
คนเกาะลิบงกับพะยูน
เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน มีพื้นที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร มี 4 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 3,300 คน เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ฯลฯ การสัญจรไปมาระหว่างอำเภอกันตังไปยังฝั่งเกาะลิบง มีเรือโดยสารให้บริการที่ท่าเรือบ้านหาดยาว วิ่งตั้งแต่เช้า-เย็น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ส่วนบนเกาะจะมีรถซาเล้งหรือมอเตอร์พ่วงข้างเป็นรถโดยสารรับจ้าง
ส่วนชื่อ “ลิบง” สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “นิบง” ในภาษามลายู หมายถึง ต้นหลาวชะโอน ซึ่งเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ในอดีตต้นนิบงคงจะมีอยู่มากที่เกาะแห่งนี้ ขณะที่ประชากรดั้งเดิมในแถบนี้เป็นชาวมลายู จึงเรียกชื่อเกาะนี้ว่า “นิบง” และในเวลาต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ลิบง”
พื้นที่บริเวณเกาะลิบงเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่บริเวณหาดทรายใต้น้ำมากถึง 12 ชนิด จึงเป็นแหล่งอยู่อาศัยของฝูงพะยูนหรือ “ดุหยง” ในภาษามลายูท้องถิ่น พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อหลายสิบปีก่อนฝูงพะยูนมีจำนวนหลายร้อยตัว แต่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงแบบล้างผลาญ โดยเฉพาะเรืออวนรุนและอวนลากที่ลักลอบเข้ามาทำประมงชายฝั่ง ทำให้อวนเหล่านี้ลากเอาสัตว์เล็กสัตว์น้อยในท้องทะเล รวมทั้งพะยูนติดอวนไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการล่าพะยูนโดยตรง จึงทำให้ฝูงพะยูนลดน้อยลง คนเกาะลิบงจึงลุกขึ้นมาปกป้องพะยูนเหมือนกับเป็นญาติที่ต้องดูแลกัน เพราะพะยูนเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของเกาะลิบง หากชาวลิบงเห็นพะยูนมาเกยตื้นก็จะช่วยกันนำไปปล่อย หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาดูแล
ชาวเกาะลิบงได้ร่วมกันดูแลฝูงพะยูน โดยการจัดตั้ง ‘กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง’ ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2554 โดยมีเยาวชนและชาวบ้านในเกาะลิบงร่วมเป็นสมาชิก มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเฝ้าระวังไม่ทำร้ายพะยูนแก่นักเรียนและชาวประมง รณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะลงทะเล ช่วยกันเก็บขยะตามชายหาด สำรวจแหล่งหญ้าทะเล ฯลฯ
เกาะลิบง เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ เมื่อ ปี 2562 ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยที่ยังไม่หย่านม พลัดหลงฝูง เจ้าหน้าที่จึงนำมาฟูมฟักที่เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขณะที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ พร้อมใจกันเสนอข่าว ทำให้เรื่องราวของมาเรียมที่เกาะลิบงได้รับความสนใจนานหลายเดือน แต่ในที่สุดพะยูนน้อยต้องจบชีวิตลงเพราะขยะพลาสติกในท้องทะเลที่กลืนเข้าไป สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายอย่างในท้องทะเลไทย
อิสมาแอน เบ็ญสะอาด หรือ ที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘บังแอน’ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง ได้บอกเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า ในปี 2562 กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้จัดทำโครงการ ‘การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์เกาะลิบง’ ขึ้นมา แล้วเสนอโครงการไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (depa) เพื่อใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนถ่ายภาพทางอากาศเพื่อดูแลพะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยว และได้รับการสนับสนุนโดรนจาก depa จำนวน 1 เครื่อง (งบประมาณ 240,000 บาทเศษ โดยชุมชนร่วมออกเงินสมทบ 120,000 บาท)
“เราจะใช้โดรนขึ้นบินตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงที่อาจจะมีเรือประมงต่างถิ่นลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย และอาจเป็นอันตรายต่อพะยูน นอกจากนี้ยังใช้โดรนบินถ่ายภาพฝูงพะยูนแล้วต่อสัญญาณภาพมาที่จอโทรทัศน์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู ไม่ต้องนั่งเรือเข้าไปดูใกล้ๆ เป็นการรบกวนพะยูน และอาจทำให้พะยูนได้รับอันตราย เพราะเมื่อก่อนเคยมีเรือสปีดโบ๊ตพานักท่องเที่ยวมาดูแล้วชนพะยูนตาย” บังแอนบอกถึงการใช้ประโยชน์จากโดรน
ปัจจุบันมีพะยูนอาศัยอยู่ในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมดประมาณ 200 ตัว ถือเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยพะยูนจะอาศัยอยู่บริเวณฝั่งทะเลอันดามันมากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณเกาะลิบง เนื่องจากมีแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนอุดมสมบูรณ์ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง ระบุผลการสำรวจฝูงพะยูนบริเวณเกาะลิบงและหมู่เกาะใกล้เคียงในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า มีฝูงพะยูนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 140-170 ตัว
ฟื้นเกาะลิบงด้วยงานวิจัยและส่งเสริมการท่องเที่ยว
ในปี 2546 – 2547 ชาวเกาะลิบง จัดทำโครงการวิจัยท้องถิ่นเรื่อง ‘โครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสืบสานตำนานตะลิบง’ มีเป้าหมายเพื่อให้คนลิบงรู้จักประวัติศาสตร์รากเหง้าของตัวเอง และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเกาะลิบง เนื่องจากเกาะลิบงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ป่าชายเลนเสื่อมโทรมลง มีการทำประมงผิดกฎหมาย การท่องเที่ยวและวิถีวัฒนธรรมจากภายนอกรุกคืบเข้ามา ที่ดินบนเกาะมีการเปลี่ยนมือจากคนลิบงไปขายให้คนภายนอกเพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ
บังแอน เล่าต่อว่า จากการค้นคว้าเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกาะลิบงในอดีต ไม่ว่าจะเป็นที่หอสมุดแห่งชาติ ที่รัฐเคดาห์ของมาเลเซีย เพราะในสมัยก่อนเกาะลิบงหรือ ‘ตะลิบง’ เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เคดาห์ (พ.ศ. 2452 สยามมีข้อพิพาทกับอังกฤษ ต้องยอมยกไทรบุรีและเมืองอื่นๆ ให้แก่อังกฤษ)
นอกจากนี้ยังสำรวจซากเมืองเก่าและสถานที่สำคัญต่างๆ ในเกาะลิบง พบว่า เกาะลิบงในอดีตมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมาก เพราะเป็นแหล่งส่งออกรังนก ปลิงทะเล ช้าง และสินค้าต่างๆ ไปค้าขายทางเรือกับต่างประเทศ โดยสุลต่านผู้ครองเมืองเคดาร์ได้ส่งเจ้าเมืองมาปกครองที่เกาะลิบง เพื่อค้าขาย จัดเก็บภาษี ฯลฯ ปัจจุบันยังเหลือซากที่คาดว่าจะเป็นวังของเจ้าเมืองลิบงอยู่ที่บริเวณแหลมพร้าว
ศักยภาพของเกาะลิบง ไม่ว่าจะเป็น แหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากร วิถีชีวิต ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ แหลมหญ้าคา สะพานหินจุดชมพระอาทิตย์ตกดิน เขาบาตูปูเต๊ะ แหลมโต๊ะชัย ถ้ำสมบัติ หลุมฝังศพเจ้าเมืองลิบง ซากกำแพงเมือง การประกอบอาชีพ ทำอวนปู ตกหมึก กุ้ง สำรวจพะยูน หญ้าทะเล ปะการัง นกทะเล เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาวางแผน จัดการท่องเที่ยวชุมชนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวเกาะลิบง และจัดอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น และได้ถูกต่อยอดนำมาสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โดยการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวฯ มีสมาชิกกว่า 100 คน มาจากกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มรถซาเล้งรับจ้าง เรือรับจ้าง มัคคุเทศก์ชุมชน กลุ่มโฮมสเตย์ โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านที่มีความพร้อมจัดทำที่พักแบบโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
Sea Farming ที่เกาะลิบง
บังแอน เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า ชาวเกาะลิบงได้ร่วมกันอนุรักษ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ธนาคารปูม้า โดยชาวประมงที่จับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองจะนำปูมาฝากเลี้ยงที่ธนาคารจนได้ปูม้าวัยอ่อน แล้วนำลูกปูจิ๋วไปปล่อยคืนสู่ทะเล ปูม้าแต่ละตัวจะมีไข่ประมาณ 250,000 – 2 ล้านฟอง (แล้วแต่ขนาดปู) หากมีอัตรารอดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็จะทำให้มีปูม้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,500 ตัวต่อแม่ปู 1 ตัว
ส่วน “โครงการ Sea Farming” เป็นโครงการต้นแบบ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเกาะลิบง โดยการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนวิธีคิด จากการทำประมงพื้นบ้านแบบเดิมมาสู่การทำประมงที่ยั่งยืน ด้วยการเพาะและเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ในกระชังหรือในบ่อร่วมกัน เช่น ปลากะพง ปลาเก๋า ดุกทะเล หอย ปลิง เพราะปกติสัตว์น้ำพวกนี้ก็อยู่ในทะเลด้วยกันอยู่แล้ว ถ้าเราเพาะเลี้ยงได้ก็จะช่วยลดต้นทุน แล้วนำมาแปรรูป สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นมา
Sea Farming มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เป็นการทำประมงแบบอัจฉริยะ โดยการ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง มีเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำ คุณภาพ และสามารถควบคุมการเลี้ยงผ่านโทรศัพท์มือถือได้
การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนเกาะลิบงตามแนวทางโครงการ ‘บ้านมั่นคง’
นางสาวรมิดา สารสิทธิ์ หรือ จ๊ะเซาะ คณะทำงานเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองลิบง บอกว่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ของพี่น้องชาวชุมชนเกาะลิบง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้เข้ามาสนับสนุน ให้มีการจัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่ดิน-ที่อยู่อาศัย ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ อาชีพ รายได้ ฯลฯ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จัดทำแผนที่ทำมือ ทำให้มองเห็นข้อมูลต่างๆ ในตำบล นำไปสู่การวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้จัดทำ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ เพื่อซ่อมสร้างบ้านเรือนให้แก่ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนเพราะในตำบลเกาะลิบง มีชาวบ้านที่มีรายได้น้อย บ้านเรือนที่ปลูกสร้างมานานมีสภาพทรุดโทรมเป็นจำนวนมาก เริ่มซ่อมสร้างบ้านตั้งแต่ปี 2560 โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณหลังหนึ่งไม่เกิน 25,000 บาท และ เราตกลงกันว่าทุกครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือจะต้องคืนเงินเพื่อเป็นกองทุนเดือนละ 10 เปอร์เซ็นต์ของงบที่ได้รับการช่วยเหลือ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายอื่นต่อไป ตอนนี้ทำเสร็จไปแล้วประมาณ 700 กว่าหลัง
จาก ‘บ้านมั่นคง’ ต่อยอด สู่ ‘โฮมสเตย์’ ท่องเที่ยววิถีชุมชน
จ๊ะเซาะ เล่าให้ฟังอีกว่า ปัจจุบันหลังจากซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแล้ว ชาวชุมชนเกาะลิบงได้ต่อยอดทำโฮมสเตย์เกือบ 100 ครอบครัว และยังมีอาหารทะเลสดๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง มีเมนูต่างๆ เช่น ปลาอินทรีย์แดดเดียวทอด แกงเหลืองหรือแกงส้มปลากะพง หมึกน้ำดำ ปูม้านึ่ง ยำสาหร่ายทะเล อาหารจากปลิงทะเล ฯลฯ หรือซื้ออาหารทะเลแปรรูปเป็นของฝาก เช่น ปลาอินทรีย์ ปลามง กะปิ กุ้งแห้ง น้ำพริกคั่วกลิ้งปู น้ำมันปลิงกาหมาด ปลิงกาหมาดดองน้ำผึ้ง ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว กลุ่มวิสากิจชุมชนการท่องเที่ยวฯ ได้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ บนเกาะลิบง โปรแกรม 2 วัน 1 คืน ราคาคนละ 2,550 – 2,260 บาท ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว ที่พัก และอาหาร จะหักเข้ากลุ่มจำนวน 10 % เพื่อนำมาเป็นค่าบริหารจัดการ ราคาที่พักเริ่มต้น 200 บาท/คน/คืน
สู่ยุคคนรุ่นใหม่คืนถิ่นสานต่องานพัฒนาเกาะลิบง
นายยุทธนา สารสิทธิ์ หรือ คนที่เกาะลิบง เรียกกันว่า บังดาวูด เล่าให้ฟังว่า เกิดที่เกาะลิบง จนเรียนจบ ม. 3 เข้ามาเรียน กรุงเทพฯ จนจบปริญญาตรีด้านเคมี แล้วทำงานต่อที่บริษัทเอกชน จุดเปลี่ยนมีหนังเรื่องนีโม่ เลยไปเรียนกราฟฟิกเพิ่มเติม แล้วก็มาทำงานด้านนี้มาโดยตลอด ช่วงโควิด-19 ได้กลับมาอยู่บ้าน ก็ได้เข้าไปช่วยงานของชุมชน กับ บังแอน ทำเรื่องอนุรักษ์ในพื้นที่เกาะลิบงเก็บข้อมูลงานวิจัย “สืบสานคนลิบง” และด้าน IT เรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี บินโดรน ติตามพะยูน พานักท่องเที่ยวดำน้ำ เที่ยวเกาะ ยกระดับบ้านมั่นคงให้เป็นโฮมสเตย์ ช่วงนั้นการท่องเที่ยวลิบงยังไม่คึกคัก มาดังพลุแตกเมื่อ ปี 2562 มาเรียม พะยูนน้อยที่ยังไม่หย่านม พลัดหลงฝูง เจ้าหน้าที่จึงนำมาเลี้ยงดูที่อ่าวดุหยง เกาะลิบง
เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเกาะลิบงมากขึ้น ทำให้มีปัญหาเรื่องขยะตามมา ทั้งเรื่องการขุดลอกร่องน้ำทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศ ตะกอนทรายพัดมาทับแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล ทำให้มีปริมาณแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลลดลง พะยูนและสัตว์ทะเลต้องออกไปหาอาหารในแหล่งอื่น จึงได้ชักชวนคนเกาะลิงบง จัดทำกระชังเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลและแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล พร้อมทั้งยกระดับการท่องเที่ยววิถีชุมชนเกาะลิบงให้มีมาตฐานมากยิ่งขึ้น หวังเพียงว่าเมื่อแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ พะยูนและสัตว์ทะเลก็จะกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ดังคำที่คนเกาะลิบงพูดกันจนติดปากว่า ‘คนอยู่ได้พะยูนอยู่รอด’ ว่า มีความหมายต่อคนเกาะลิบง ดังนั้นชุมชนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องการดูแลทรัพยากรของเกาะ ได้แก่
1.เรื่องของการอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเล และกำหนดโซนดูพะยูน เพราะเมื่อใดหญ้าทะเลหมดไปหรือไม่มีหญ้าทะเล ก็จะไม่มีพะยูน 2. การประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับทะเล โดยการขอความร่วมมือไม่ใช้เครื่องมือประมงที่จะไปทำร้ายพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก และต้องไม่ทิ้งขยะลงทะเล และ 3. การจัดการขยะครบวงจรทั้งในทะเลและบนบก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงการจัดการขยะบนฝั่ง แต่การจัดการขยะให้ครบวงจรได้ต้องมาจากการจัดการขยะในครัวเรือน
ในการจัดการทรัพยากรของคนเกาะลิบง ชุมชนเล็กๆ ที่มีใจที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการประมง การเกษตร และการท่องเที่ยวธรรมชาติ ผสมผสานเข้ากับต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมขนมธรรมเนียมในพื้นที่เข้าด้วยกัน การมีส่วนร่วมของชุมชน ถือเป็นประเด็นที่มีความหมายสำคัญ ดำเนินการเพื่อลูกหลานในอนาคต และเพื่อการดำรงความเป็นชุมชนเกาะลิบงได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
นายกฯ ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูน ตรวจอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ผลงานยุคทักษิณ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แวะจังหวัดพังงา ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ที่หาดบางขวัญ ตำบลโคกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งในพื้นที่นี้ยังมีพะยูนอยู่โดยมีชื่อว่า
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ