สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567 มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาส กลับไปดำรงชีวิตในชุมชน ถิ่นฐานบ้านเกิดของตน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง พร้อมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายคนรุ่นใหม่ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานพัฒนาระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการ Open House “Movement คนรุ่นใหม่” #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น2 รวมกว่า 100 คน ทั้งในระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom meeting) Live สด และ ห้องกรีน ชั้น B1 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.)

เปิดบ้านคนรุ่นใหม่ ความร่วมมือระหว่าง สสส. พอช. และ ไทยพีบีเอส

          นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงบทบาทและการขับเคลื่อนงานของ สสส. ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ปัจจุบันดําเนินงานผ่านแผนหลัก 15 แผนหลัก โดยแผนที่จะมาเชิญชวนวันนี้ เป็นเรื่องคนรุ่นใหม่ ที่อยู่ภายใต้แผนสร้างโอกาส สร้างเสริมสุขภาวะ เป็น 1 ใน 15 แผนหลัก ที่มีพันธกิจสําคัญในการเปิดโอกาส กระจายโอกาสสร้างสรรค์โอกาสให้ใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล กลุ่ม องค์กรชุมชน ประเภทไหนก็ได้ ได้เข้าถึงเรื่องของการทําเรื่องสร้างเสริมสุขภาวะก็เรื่องสร้างเสริมสุขภาวะ ครอบคลุมถึงเรื่องคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ เพราะฉะนั้นใครที่ต้องการแก้ไขปัญหาอยากทําเรื่องดีๆ ทําเรื่องสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงทุนของ สสส. ภายใต้แผนสร้างสรรค์โอกาสสร้างเสริมสุขภาวะ ในแต่ละปีเรากระจายโอกาส ไปที่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ไปถึงกลุ่มเป้าหมายเกือบทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมกว่า 2,000 โครงการ แม้จะเป็นโครงการที่เล็กแต่ว่าสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เห็นความเปลี่ยนแปลง รวมถึงประเด็นที่กระทบกับคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต พฤติกรรมสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออํานวย ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ก็สามารถเข้าถึงทุนเราได้

“การทํางานการสร้างสรรค์โอกาส ดำเนินการผ่านกลไก ที่เรียกว่า หน่วยจัดการหรือโหนด ปัจจุบันอยู่ราวๆร้อยกว่าโหนด กระจายอยู่ทุกจังหวัด เช่น โหนดการพัฒนาศักยภาพทําให้ชุมชนกลุ่มเป้าหมาย สามารถใช้ข้อมูลปัญหาที่ตัวเองมี เอามาออกแบบการทํากิจกรรมที่สร้างสรรค์ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงการช่วยกันกับผู้รับทุนในการถอดเปลี่ยนงานของตัวเอง เพื่อเอาไปสื่อสารในแง่มุมต่างๆ แล้วขยายผล สำหรับการส่งเสริมการทำงานของคนรุ่นใหม่ก็ต้องเรียกว่าเป็นกําลังสําคัญเป็นพลังแห่งอนาคต ที่เราเห็นว่าโจทย์ปัญหาที่มันซับซ้อนการทํางานที่ต้องการการมีส่วนร่วมสูง ใช้ความกล้า มาพร้อมกับทักษะ เทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว เพราะฉะนั้นการใช้ศักยภาพของคนรุ่นใหม่มาช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชน คิดว่าอันนี้เป็นโอกาส ฉะนั้นการเปิดพื้นที่เปิดโอกาสทําให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงถือว่าเป็นพื้นที่แห่งการทดลองที่จะสามารถช่วยสร้างปฏิบัติการที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในต่อตัวคนรุ่นใหม่เองต่อชุมชน สังคม”

นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ดำเนินภารกิจภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นองค์กรที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานรากด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม โดยปี 2579 องค์กรชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา พื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งคนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา โดยเฉพาะการยกระดับให้คนได้รับโอกาส มีส่วนร่วมในการพัฒนา บทบาทหน้าที่ พอช. มีการส่งเสริมชุมชนให้เกิดการเชื่อมโยง เกิดการสร้างเครือข่าย ให้เกิดพลัง เกิดการเรียนรู้ เกิดการแลกเปลี่ยน มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเป็นหลัก โดยการประสานหน่วยงานและเชื่อมโยงกับภาคีทั้งระดับนโยบาย ท้องที่ ท้องถิ่น ทุกหน่วยมีส่วนร่วม ให้เกิดพลังการส่งเสริมชุมชน ใช้โครงการเป็นเครื่องมือให้คนมารวมตัวกัน มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน มีระบบการบริหารจัดการให้ทุกคนมามีส่วนร่วม เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาคน มีกลกลของคนเล็กคนน้อย กลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบท ให้ชุมชนได้มีการบริหารงบประมาณ มีการบริหารคน เครือข่าย มีการฝึกและพัฒนาทักษะของคนในพื้นที่

“ที่ผ่านมาเราพัฒนาคนผ่านแกนนำ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องคนรุ่นใหม่ เป็นพลังสำคัญ อยากเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมเป็นเจ้าของ ในปี 2566 ที่ผ่านมา พอช. มีการเปิดโครงการคนรุ่นใหม่คืนถิ่น ในรุ่นที่ 1 มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสมัคร 139 โครงการ และผ่านการสนับสนุน 80 โครงการ เราได้เห็นถึงพลังของเด็ก พลังของคนรุ่นใหม่ เกิดการทำงานร่วม สามารถไปเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา ประชาสังคม องค์กรชุมชน เราฝันอยากให้เกิดนโยบายการเชื่อมโยงเครือข่ายคนรุ่นใหม่ระดับจังหวัด ตั้งเป้า 77 จังหวัด ที่จะผลักดันให้เกิดแผนและยุทธศาสตร์การเคลื่อนระดับจังหวัด นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ในอนาคต”

น.ส.วลัยลักษณ์  ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส  สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส ระบุว่า ปัจจุบันการพัฒนาศักยภาพของคนในท้องถิ่นและคนรุ่นใหม่ ที่จะมีการเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของดิจิทัล รวมถึงการให้เกิดวิธีคิดใหม่ ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสเองมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม พอช. ขับเคลื่อนเรื่องคนคืนถิ่นพบว่า เทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้คนรุ่นใหม่มีพลัง ส่งเสียงของพื้นที่เข้ามา และเห็นว่าท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมโอกาสให้เกิดความเข้มแข็งได้

“ภาคอีสาน ถือเป็นพื้นที่ที่ควรพูดเรื่องนี้ก่อน เพราะหลังวิกฤติโควิด-19 ภาคอีสานมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านเป็นจำนวนมาก คนรุ่นใหม่ เป็น Incursive City ไทยพีบีเอสได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นมาเสนอต่อระดับนโยบายให้ได้ เห็นการที่คนรุ่นใหม่กลับบ้าน กลับไปพร้อมความรู้ องค์ความรู้ เครื่องมือการสื่อสาร การที่ทำให้คนรุ่นใหม่คืนถิ่นได้ เป็นเครื่องมือการพัฒนาชุมชน สังคม ในเว็บ Local มีการเติมข้อมูลรอบท้องถิ่น เนื้อหาที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็น Partners ช่วยขยายเนื้อหา ในขณะที่มีรายการฟังเสียงประเทศไทย เป็นวงที่นำเสนอวาระของคนในท้องถิ่น ที่คนรุ่นใหม่เกิดความผูกพันกับท้องถิ่น มีเป่าหมายในการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ และขยายผลไปสู่การขับเคลื่อนของพื้นที่และสังคม”

รู้จัก โครงการ“Movement คนรุ่นใหม่” แนวทางและกลไกการสนับสนุนการดำเนินงาน

ดร.พินทุสร โพธิ์อุไร นักบริหารแผนงานสร้างเสริมสุขภาพชำนาญกาญ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระบุว่า อยากให้โครงการเป็นเครื่องมือการสร้างขบวนคนรุ่นใหม่  Movement ของคนรุ่นใหม่ ผ่านการทำโครงการ เพื่อให้เกิดรูปธรรมความเปลี่ยนแปลง” เกิดพลัง มีเครือข่ายในระดับพื้นที่ จังหวัด และประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสได้ทำงานพัฒนาในพื้นที่ชุมชน/ท้องถิ่น มีพื้นที่ มีกิจกรรม ที่คนรุ่นใหม่ได้เป็นหลักในการขับเคลื่อนงานอยากจริงจังและต่อเนื่อง ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ 2. เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพ ยกระดับความรู้ ประสบการณ์การทำงาน ให้สามารถเชื่อมโยงต่อยอดกงานพัฒนาในพื้นที่ได้ 3. เพื่อพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายคนทำงานพัฒนารุ่นใหม่ ในระดับต่างๆ ให้เชื่อมโยงช่วยเหลือสนับสนุนกันได้ในทั้งในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ 4. เพื่อเกิดนวัตกรรมการพัฒนารูปแบบใหม่ ที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

การดำเนินงาน กรอบการสนับสนุนอยากเปิดประเด็นให้มีความกว้าง ให้คนรุ่นใหม่เสนอไอเดียหลากหลาย ทั้งเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะ (กาย จิต สังคม ปัญญา) เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และระบุโครงการ/กิจกรรมที่จะดำเนินการ ซึ่งกรอบเกณฑ์งบประมาณโครงการสำหรับผู้เสนอโครงการในระดับภาค 1) โครงการขนาดเล็ก (ริเริ่มทดลอง)  ไม่เกิน 50,000 บาท 2) โครงการขนาดใหญ่ (ขับเคลื่อนรูปธรรม) ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาในการดำเนินการคือ 10-12 เดือน คาดว่าจะเริ่มสนับสนุนได้ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 นี้

คุณสมบัติผู้เสนอโครงการ ประกอบด้วย (1) คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ (ผู้เดือดร้อนในพื้นที่/ลูกหลานคนในชุมชน/เยาวชนในขบวน) อาทิ คนรุ่นใหม่ที่ทำงานร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน/ประชาสังคม/บัณฑิตคืนถิ่น/อาสาสมัคร/สภาเด็กและเยาวชน/นักศึกษาจบใหม่ นักเรียนนักศึกษา กลุ่มกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานพัฒนากับชุมชน (2) มีอายุไม่เกิน 35 ปี หรือตามความเหมาะสม (3) สมัครโครงการเป็นทีม  เช่น โครงการขนาดเล็ก ตั้งแต่ 2   คนขึ้นไป หรือ โครงการขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป (4) มีความมุ่งมั่นตั้งใจ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในชุมชนสังคม และพร้อมเรียนรู้ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับพี่น้องเครือข่าย เปิดรับสมัครข้อเสนอตั้งแต่ 3 – 25 พ.ค. 2567 แจ้งผลการพิจารณาโครงการวันที่ 12 พ.ค.

น.ส.ออมมาศ รัถยาอนันต์ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า Movement คนรุ่นใหม่ คือ การเชื่อมโยง การสร้างเครือข่าย เปิดพื้นที่การเชื่อมร้อยกันทั้งระดับภูมินิเวศน์ กลุ่มจังหวัด ภาค มีกลไกเชื่อมโยงในจุดต่างๆ และคนรุ่นใหม่กลับบ้านต้องต่อสู้ในพื้นที่เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ต่อสู้กับความโดดเดี่ยว สร้างพลังที่ให้เกิดการเชื่อมโยง สร้างการเปลี่ยนแปลง ในระดับนโยบายและระดับต่างๆ ได้

“ในช่วงที่ผ่านมาในโครงการคนรุ่นใหม่ 1 นอกจากสนับสนุนโครงการในระดับพื้นที่หรือประเด็นที่สนใจแล้วนั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันในระดับภาค เกิดพื้นที่กลางในการหนุนเสริม มีเวิร์คชอปในการแลกเปลี่ยนพัฒนาศักยภาพ สร้างความสัมพันธ์กัน โดยคนรุ่นใหม่สามารถออกแบบการพัฒนาศักยภาพเพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่ นอกจากให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับภาคแล้วนั้น มีแนวทางในการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระดับจังหวัด เช่น มีกำลังคน มีแผน และอยากยกระดับในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงในระดับจังหวัด”

ฟังเสียง “คนรุ่นใหม่กลับบ้าน คนรุ่นใหม่คืนถิ่น”

นายกฤษฎิ์ บุญสาร  จากเพจลาวเด้อ เล่าว่า ลาวเด้อทำ Content วิถีอีสาน มีโอกาสทำที่อีสานได้เจอเพื่อนๆ หลายจังหวัดของภาคอีสาน เห็นอินสปายเลชั่น เห็นความตั้งใจที่เพื่อนอยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด อยากเห็นท้องถิ่นดีขั้น ล่าสุดไปช่วยสื่อสาร “โอกาสขอนแก่น” เป็นอีกแพลตฟอร์มให้คนกลุ่มเปราะบาง ได้มีพื้นที่ในการสื่อสาร และมีผู้คน สังคมเข้าใจในตัวตนของคนเปราะบางนั้นด้วย

จากที่ทำโครงการคนรุ่นใหม่คืนถิ่นรู้สึกประทับใจคือ ทุกคนมีความหวังที่ได้กลับบ้าน อยู่บ้านมีความหวัง มีโอกาส ลาวเด้อทำเรื่องผู้ประกอบการท้องถิ่น เห็นวิถีวิธีคิดและการต่อสู้  ตนเองกลับมาอยู่บ้าน มีการเล่าเรื่องราวผ่านลาวเด้อ มีประเด็นสอดแทรกในเนื้อหา มีเป้าหมายอยากให้ทุกคนรู้ว่าที่อีสานมีของดี

“เราเจอปัญหาอุปสรรคในชุมชน ด้วยในชุมชนเป็นครอบครัวแหว่งกลาง มีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก คิดว่าหากคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ทำให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น มีคนรุ่นใหม่ วัยทำงานกลับมาอยู่ร่วมกัน ความฝันคืออยากทำทีม สร้างสรรค์ผลงานสื่อ อยากให้คนที่จบด้านชุมชน อยากเป็นช่างภาพ ตัดต่อ ครีเอทีฟ อยากชวนคนเหล่านี้มาทำงาน มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ให้รู้ว่าอีสานมีดี”

นายอโนชา ปาระมีสัก คนรุ่นใหม่คืนถิ่น จาก จ.ลำพูน เล่าว่า จริงๆ แล้วตนจบรัฐประศาสนศาสตร์ แต่ทํางานประเด็นเรื่องของเกษตร หลังจากที่เรียนจบมีโอกาสทํางานที่สถาบันเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นองค์กรภาคเอกชน ที่ขับเคลื่อนเรื่องของเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มาวันหนึ่งเราก็คิดว่าเราเหมือนกับเป็นนักส่งเสริม แต่เราไม่ได้ทําจริง ไม่ได้ฝึกปฏิบัติจริง ก็เลยคิดว่าลองกลับบ้านไปลองทํานาอินทรีย์ ลองทําด้วยตัวเองก่อนว่ามันสามารถทําได้จริงไหม เหมือนที่เราส่งเสริมพูดกับชาวบ้านได้ไหม ก็เลยทดลองจากการทําเกษตรอินทรีย์ 1 ไร่ นา 1 ไร่ หลังจากนั้นพอมันได้ผลเราก็เลยเริ่มขยับไปเป็น 5 ไร่ ปัจจุบันก็ทํา 10 กว่าไร่ ตอนแรกที่กลับบ้านไป พ่อก็อุตส่าห์ส่งเรียนมาแล้ว ก็อาจจะเหมือนเพื่อนๆ ทุกคนที่กลับบ้าน อาจจะมีการมองและตั้งคำถามว่าทําไมกลับมาทํานาทําเกษตรอะไรอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ เราไม่เรียนด้านนี้มาเลย ซึ่งพ่อเองก็ไม่เห็นด้วยในการทํา แต่เราก็พยายาม คุยกันกับคุณแม่ว่างั้นเราลองมาทํากันดูไหม แต่บังเอิญว่าเราทําแล้วมันสามารถทําได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้น ที่เราอยากจะไปชุมชนแล้วก็ไปทํา

“กลับมาทําเพราะว่าที่นาที่เดิมเป็นเคมีทั้งหมด แล้วก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนอินทรีย์ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง ก็พยายามให้ครอบครัวดูคลิปเรื่อยๆ พาครอบครัวไปเรียนรู้จากชุมชนที่เขาประสบความสําเร็จ เพราะบางทีปากเราบอก บอกได้นะครับ แต่เขาก็ไม่เชื่ออะไรอย่างนี้ ก็เลยพยายามดึงคนนอกเข้ามาจนทั้งเราก็ไปเรียนรู้จากข้างนอก จนวันนึงเขาก็เกิดการยอมรับ แล้วเราก็เลยคิดว่าเราทําตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องรวมกลุ่มคนในชุมชน ก็เลยดึงคนที่สนใจสู้ก่อน คนที่อยากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทํา เลยรวมกลุ่มกันตั้งชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรธรรมชาติตําบลป่าสักผลิตข้าวอินทรีย์ แต่พอรวมกลุ่มกัน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็ถือว่าทํางานได้ยากเหมือนกัน  ต้องใช้วิธีการสื่อสารที่หลากหลายรูปแบบให้เข้าใจตรงกัน”

          ได้ร่วมโครงการรุ่นใหม่คืนถิ่น เมื่อปีที่แล้ว เพราะสนใจอยากทํา เราทํางานเครือข่ายในพื้นที่อยู่แล้ว ก็เลยลองสมัครดูครับ ทำในเรื่องของการพัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่ โดยใช้ระบบเศรษฐกิจชุมชนเป็นฐาน รวมกลุ่มน้องๆ ในพื้นที่ตําบลป่าสัก และพื้นที่มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท จะมีน้องน้องคนรุ่นใหม่ที่กลับมาตอนช่วงโควิด-19  ก็ชวนกันลองรวมกลุ่มกันทําอะไรบางอย่างในพื้น ก็เลยออกแบบเป็นลักษณะของ “ตลาดสร้างสรรค์” จริงๆ ตลาดสร้างสรรค์ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นเองในการที่จะดึงคนทุกกลุ่มวัยมาทํางานร่วมกัน ใช้โรงเรียนร้าง โรงเรียนที่ถูกยุบรวมมาเป็นทําพื้นที่กิจกรรม เพราะว่าเราก็อยากคิดว่าในประเทศไทย มีโรงเรียนที่ถูกยุบประมาณ 14,000 กว่าโรง ข้อมูลล่าสุดมีอยู่ 1,000 กว่าโรง เลยคิดว่าถ้าอาคารตรงนี้จากพื้นที่รกร้างมันสามารถไปใช้ประโยชน์กับชุมชนได้ ก็น่าจะเป็นเกิดสิ่งที่ดีต่อไปเรา ก็เลยใช้โรงเรียนที่ร้างมาให้คนรุ่นใหม่มาร่วมบริหารจัดการในพื้นที่ก็เป็นรูปแบบของ “ตลาดกลางใจ๋บ้าน” เป็นศูนย์รวมของจิตใจของคนที่อยากทําอะไรร่วมกันมาทําร่วมกันคนมีใจมาทําร่วมกิจกรรมร่วมกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ

นายยุทธนา สารสิทธิ์ จากเกาะลิบง จ.สตูล เล่าว่า เกิดที่เกาะลิบง เรียนที่เกาะจนถึง ม. 3 แล้วมาเรียน กทม. ตั้งแต่ ม.4 จึงถึงมหาวิทยาลัย จบเคมี และมาทำกราฟฟิกดีไซต์ กลับบ้านไปอยู่บ้านปีหนึ่งหลังจบ และทำงานกับบังแอล ที่ทำเรื่องอนุรักษ์ในพื้นที่เกาะลิบง ช่วยเก็บข้อมูล ได้ง่านวิจัย “สืบสานคนลิบง” หลังทำวิจัย ระหว่างนั้นก็พาแขกดำน้ำ เที่ยวเกาะ จุดเปลี่ยนมีหนังเรื่องนีโม่ เลยไปเรียนกราฟฟิกเพิ่มเติม แล้วก็มาทำงานด้านนี้มาโดยตลอด อยากกลับบ้าน แต่ก็ยังไม่มีโอกาส ยังไม่ถึงเวลา จนได้กลับบ้านช่วงโควิด-19 ช่วงนั้นการท่องเที่ยวลิบงยังไม่ดังมาก ก็ได้ไปช่วยด้าน IT เรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่จะอนุรักษ์พะยูน ที่ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจาก DEPA และวิสาหกิจชุมชนร่วมทุน เพื่อเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและพะยูน สำหรับการท่องเที่ยว ของผู้สูงอายุ เราก็จะบินโดรน แล้วให้ผู้สูงอายุชมภาพจากโดรน จน DEPA ได้รับรางวัลทั้งระดับประเทศและโลก

“ทุกอย่างต้องใช้เวลา ที่เกาะได้มีการทำเรื่องขยะ มีเครื่องทำปุ๋ยจากเศษอาหารทะเล เราเป็นวิสาหกิจชุมชนต้องใช้ระบบการบริหารจัดการ แต่เมื่อรับงบประมาณจากรัฐ บางครั้งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ล่าสุดได้งบมาทำโรงเรือนปลูกผัก จากระบบ IOT เป็นโครงการที่ดี แต่ผู้รับเหมาทำงานไม่ทัน เพราะเราอยู่ที่เกาะ สนใจโครงการคนรุ่นใหม่ เฟส 2 ลิบงเริ่มมีการท่องเที่ยว หลังจากมาเรียม ที่เป็นลูกพะยูน มาแถวๆ ลิบง จนได้กลับไปอยู่ที่บ้าน สถานที่เกาะลิบงเราก็รู้ว่ามีที่เที่ยว มีศักยภาพที่ไหนบ้าง ก็เลยกลับบ้านในช่วงโควิด-19 เมื่อก่อนลิบงทำแค่อาชีพ ประมง ค้าขาย ยางพารา หลังจากการท่องเที่ยวเข้ามาก็มีทั้งขับรถซาเล้ง อาชีพนำเที่ยว อาชีพดำน้ำ และคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ก็สามารถที่จะพัฒนาที่พัก และการท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย ความฝันคือ อยากสร้างทีมในการทำจริยธรรม การเป็นคนดี ในองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่เราชอบคนเก่ง อยากส่งเสริมให้มีชอบคนดีให้มากขึ้น”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเครียด..ภัยเงียบของสังคมไทย! ห้ามไม่ได้..แต่รู้เท่าทันอยู่ให้เป็นได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง

กระทรวง พม. เปิดปฏิบัติการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

กรุงเทพฯ/29 มิถุนายน 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการ “พม.ร่วมใจ สานสายใยพี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร”

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง (1)

สำหรับทุกคนที่เดินทางมาจังหวัดตราด ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งไปเกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “เกาะช้าง” และหมู่เกาะบริวารเป็นแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อ