พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม  2566 เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ดำเนินการในปี 2566-2570 เป้าหมาย 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 7,718.94 ล้านบาท พอช.เดินหน้านำร่อง  939 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับสัญญาเช่าที่ดินแล้ว จำนวน 5 ฉบับ 405 ครัวเรือน

ในปี 2541 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนโยบายนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ ให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมาชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท. เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน เพราะชุมชนส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้เช่าที่ดิน รฟท.

คณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543  เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  คือ  1. ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี 2. ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท. จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร  3. กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว  ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม ฯลฯ หลังจากมติบอร์ด รฟท.มีผล  ชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ  และพัฒนาที่อยู่อาศัย  (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี)  โดย พอช. สนับสนุนสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและงบประมาณบางส่วนตามโครงการบ้านมั่นคง

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  ขณะนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  ในกรุงเทพฯ กำลังจะเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  คือ  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

ส่วนพื้นที่ภาคใต้กำลังก่อสร้างรถไฟรางคู่จากนครปฐม-ชุมพร  ระยะทางทั้งหมด  421 กิโลเมตร  กำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566  หลังจากนั้นจะก่อสร้างต่อไปยังสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา  และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) ทั้งนี้การพัฒนาระบบรางของ รฟท. เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี  (พ.ศ.2561-2580) ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่ง รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 

นายธนพล  เมืองเฉลิม  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ระบุว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ได้อนุมัติโครงการและงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 14 โครงการ 912 ครัวเรือน งบประมาณรวม 123,909,780 บาท แต่ในปีงบประมาณ 2567 นี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 340 ครัวเรือน วงเงิน 96.9000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ จึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปพลางก่อน เพื่อดำเนินโครงการ ส่งผลกระทบให้การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางอาจจะดำเนินงานล่าช้าออกไป

“สำหรับแนวทางในการบริหารสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย พอช. และองค์กรชุมชนนั้น มีกระบวนการส่งเสริมให้องค์กรชุมชนเข้มแข็ง จัดตั้งเป็นนิติบุคคลที่เหมาะสม พร้อมทำความเข้าใจกับองค์กรชุมชนที่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีสัญญาเช่าเดิม และชุมชนได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาระบบราง ในการเตรียมความพร้อมให้เกิดการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อเช่าที่ดินโดยตรงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือเช่าช่วงที่ดินจาก พอช. ภายในระยะเวลา 2 ปีหลังจากที่ออกประกาศ  ตลอดจนให้ความรู้การบริหารสัญญาเช่าระหว่างองค์กรชุมชนกับสมาชิกไปพร้อมกัน และมีแนวทางให้องค์กรชุมชนที่เป็นนิติบุคคลสามารถขอเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรงในระยะต่อไป”

ขณะนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  (พทร.)  ได้ดำเนินการจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ โดยภาคใต้ มีการดำเนินงาน ใน 9 จังหวัด  ได้แก่ ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครราชศรีธรรมราช  ตรัง  พัทลุง  สงขลา  ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางภาค รวม 15,168 ครัวเรือน 172 ชุมชน

“ส่วนรูปแบบในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น จะมีทั้งการปรับปรุง  ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้ หากอยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่ได้ จะต้องขอเช่าที่ดินใหม่จาก รฟท. เพื่อก่อสร้างบ้าน หรือจัดหาที่ดินรัฐ เอกชน  หรือจัดซื้อ-เช่าโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ขณะที่ชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช.  จัดทำสัญญาซื้อหรือเช่าที่ดิน  ออกแบบวางผังบ้าน-ผังชุมชน  และบริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ”

นอกจากนี้แล้ว พอช. ยังสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท ส่งเสริมอาชีพ  การจัดสวัสดิการชุมชน  ดูแลสิ่งแวดล้อม ฯลฯ  ยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม  โดยสมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  วิสัยทัศน์  ตามแผนยุทธศาสตร์ของของสถาบันคือ  “ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดินในปี 2579”  โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อน  คือ “ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนา”

จากการดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ จะเห็นได้ว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. เป็นองค์กรมุ่งสนับสนุนพัฒนาองค์กรในทุกระดับสังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็ง ความร่วมมือ ร่วมใจ แก้ไขปัญหาของตนเอง ให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้พี่น้องในชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถจัดการตนเองได้ที่ยั่งยืน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'มท.2' ควงอธิบดีที่ดิน ลงพื้นที่เขากระโดง พิสูจน์ปมพิพาทกับ รฟท.

'มท.2' ควงอธิบดีกรมที่ดิน ลงพื้นที่เขากระโดง พิสูจน์ปมพิพาทที่ดิน รฟท. ชาวบ้าน 2 ตำบล โชว์เอกสารสิทธินส.3 หลักฐานยันอาศัยอยู่ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เรียกร้องความยุติธรรม

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567