เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” ‘วราวุธ รมว.พม.’ ระบุขบวนองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคมและสถาบันครอบครัว

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม.  พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก  “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชูประเด็นรูปธรรมการจัดสวัสดิการชุมชนดูแลคนในชุมชนและสังคม และประกาศเจตนารมณ์อาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ‘วราวุธ’ รมว.พม. ร่วมทักทายผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ พร้อมระบุขบวนองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคมและสถาบันครอบครัว

วันที่ 24 เมษายนนี้ จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย โดยมีผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ผู้แทนกองทุนที่ได้รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนหน่วยงานภาคี ผู้แทนภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมงานสมัชชาฯ  670 คน ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

นายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า การจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนในวันนี้ ผมรับรู้ได้ถึงความตั้งใจและพลังของพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนและคณะผู้จัดงานทุกท่าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลังของพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนเป็นพลังสำคัญในการร่วมสร้างสังคม สร้างชุมชน สร้างให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถนำนโยบายการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทยสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ภารกิจสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คือ การเร่งสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง

          “ประเทศไทยเจอวิกฤติด้านประชากร ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ปัจจุบันประเทศไทยมีประมาณ 13 ล้านคน อีกไม่เกิน 10 ปี จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นถึง 20 กว่าล้านคน นับว่าพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคมและสถาบันครอบครัว ซึ่งกระทรวง พม. มีความพยายามส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เพื่อเป็นการป้องกันในมิติต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงในครอบครัว ที่จะก่อปัญหาให้เกิดความรุนแรงในสังคม ตามที่ปรกากฎในข่าว ล้วนเกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน ผู้สุงอายุ ผู้พิการ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด นำมาสู่ปัญหายาเสพติด กินเหล้า กลายเป็นปัญหาหลายสิ่งหลายอย่าง  หัวใจสำคัญในการป้องกันคือ การส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ทั้งทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ หากสามารถผนึกเครือข่ายของพี่น้ององค์กรชุมชน จะเกิดความเข้มแข็ง มั่นคงปลอดภัยในทุกด้าน”

นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ 110 ตำบล และ 997 หมู่บ้าน อาชีพหลักของชาวสุพรรณบุรีคือ อาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน มีความแตกต่างด้านรายได้และฐานะความเป็นอยู่ห่างกันพอสมควร ได้เห็นปัญหาและจุดอ่อนตรงนี้ที่เป็นความท้าทายที่ต้องแก้ไข ซึ่งพัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัดสุพรรณบุรี มีการจัดสวัสดิการ ในการดูแลกลุ่มคนต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ดีขึ้น ปัจจุบันมีประชากร 8.3 แสนคน ผู้สูงอายุ 1 แสนเศษ คิดเป็น 23.39% พบว่าจำนวนผู้สูงอายุของสุพรรณมีมากขึ้นทุกปี ในขณะที่เด็กเยาวชน มีประมาณ 9% กลุ่มคนที่ทำงาน ประมาณ 40% ถือว่ามีความแตกต่างของช่วงวัยเช่นกัน กองทุนสวัสดิการเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สุพรรณบุรีมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ครอบคลุม 10 อำเภอ 538 หมู่บ้าน รวมจำนวนทั้งสิ้น 68 กองทุน จำนวนสมาชิก 45,910 คน เงินกองทุนประมาณ 141,014,881.28 บาท ในปี 2566 มีการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 6 ล้านบาท ประมาณ 5% ของงบประมาณจังหวัด เข้ากองทุน เพื่อดูแลสภาพที่อยู่อาศัยของพี่น้องชุมชน ร่วมกับ พอช. ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัด ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาส ในปี 2567 มีการจัดสรรงบประมาณในด้านอาชีพ ขับเคลื่อนเพื่อลดช่องว่างความแตกต่างด้านรายได้ รวมถึงการดูแลผ่านทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการจัดสรรเจ้าหน้าที่ในการไปเยี่ยมเยือนดูแลประชาชนกลุ่มต่างๆ

“กองทุนสวัสดิการจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ ต้องส่งเสริมให้กองทุนนั้นเข้มแข็ง จังหวัดสุพรรณบุรี จะมีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของกองทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในชุมชนต่างๆ ต่อไป”

นายธนพล  ศรีใส ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคกลางและตะวันตก กล่าวว่า การจัดงานสมัชชาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับรู้งานสวัสดิการชุมชนสู่การประสานงานในระดับนโยบาย  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ตลอดจนเป็นการสร้างพลังและความมุ่งมั่นของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนสู่การยกระดับเป็นองค์กรทางสังคม ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ขบวนองค์กรชุมชน รวมตัวกันจัดระบบสวัสดิการเพื่อดูแลซึ่งกันและกัน “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” โดยการสนับสนุนจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชน ประมาณ 6,000 กองทุน มีสมาชิก 6.7 ล้านคน ช่วยเหลือสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคมได้มากกว่า 7.5 ล้านคน

“กองทุนสวัสดิการชุมชนมีบทบาทในการเป็น ‘ผู้ช่วยเหลือในเบื้องต้น’ ในยามเกิดภาวะวิกฤต กองทุนสามารถปรับแผนงานและจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ และสถานการณ์ อาทิเช่น สถานการณ์การ Covid-19 หรือกรณีภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น มีการระดมทุนจากกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกัน รวมทั้งการเป็นผู้ประสานและส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานราชการเพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้รับการดูแล พร้อมกันนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นองค์กรทางสังคมที่มีความกว้างขวางและหลากหลายทั้งด้านการเข้าเป็นสมาชิก การมีสวัสดิการที่หลากหลายมิติ ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต มีระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อร่วมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญ”

เครือข่ายสวัสดิการชุมชน มีแนวทางในการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การเสนอร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. .... ประการที่สอง การปรับวิธีการสมทบงบประมาณให้กับสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนแบบถ้วนหน้า และ ประการที่สาม การเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินงานสวัสดิการชุมชนของผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้ามาโดยตลอดและถือได้ว่าเป็นขบวนองค์กรชุมชนที่ร่วมสร้างพลังทางสังคมในการสร้างให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเชื่อมโยงกับนโยบายการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทยสู่การปฏิบัติ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ภายใต้หลักการจัดสวัสดิการชุมชนที่ว่า “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”

“รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการพัฒนา สร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันมีอัตราการเกิดน้อยกว่าการตายมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุเป็นโครงสร้างใหญ่ ซึ่งจากการระดมความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทย พบว่า 1 ใน 5 ประเด็นสำคัญ ของการแก้ไขปัญหาคือ การสร้างระบบนิเวศ (Eco system) ที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัวคือการสร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกช่วงวัย (Community For All) ทั้งความปลอดภัย ความเป็นมิตร และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งเครือข่ายสวัสดิการชุมชนถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศซึ่งจะเป็นวาระแห่งชาติต่อไป”

เสวนา “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

นายอนุกูล  ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า การยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลและการผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ถือเป็นสิ่งสำคัญและสะท้อนความต้องการของชุมชนในการออกแบบ การพัฒนาตามบริบทพื้นที่ และการสร้างกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านสังคม

“การสร้างกำลังใจให้กับพี่น้องเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยท่านรัฐมนตรีและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญและมีเจตนารมย์ที่ดีในการร่วมมือขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนร่วมพี่น้องเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ถึงแม้ว่าการจัดสวัสดิการสังคมของภาครัฐอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน แต่พวกเรามีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานด้านสวัสดิการสังคม โดยใช้ศักยภาพต้นทุนของชุมชนในการขับเคลื่อน สร้างความก้าวหน้าและลดช่องว่างทางสังคมผ่านการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมถึงเชื่อมโยงกลไกกระบวนการสวัสดิการชุมชน ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ที่ต้องร่วมกันออกแบบสวัสดิการชุมชนและผลักดันเชิงนโยบายโดยการเชื่อมโยงการความต้องการของภาคประชาชน สร้างระบบสวัสดิการชุมชนให้เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนต่อไป”

นายแก้ว  สังข์ชู ประธานเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค  กล่าวว่า สังคมไทยมีวิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่อย่างเกื้อกูลกัน แต่ยุคสมัยเปลี่ยนความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนแปลงไป  ชุมชนต้องมีการปรับเปลี่ยนในมิติต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายนอก  จึงมีการคิดสร้างระบบทุน ระบบสังคมที่ช่วยเหลือกัน และนำมาสร้างระบบสวัสดิการของตนเอง  โดยเชื่อมโยงให้ภาครัฐเข้ามาช่วยหนุนเสริม เพื่อให้ระบบของชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น 

ในการช่วยเหลือสมาชิกและคนในชุมชนของระบบสวัสดิการชุมชน ต้องเป็นไปตามความสอดคล้องและเหมาะสม เพราะกองทุนสวัสดิการชุมชนไม่มีสูตรสำเร็จ  แต่ละตำบลสามารถออกแบบสวัสดิการภายใต้วิธีวัฒนธรรมตามความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นๆ  แต่ต้องสร้างความเข้าใจหลักคิดเจตนารมณ์ให้ชัดเจน  สร้างการถ่วงดุลและสมดุล  สิ่งสำคัญต้องสร้างเครือข่ายในการเชื่อมโยงกัน  ต้องมีการพัฒนาและถอดบทเรียนในการพัฒนา มีระบบการติดตามตรวจสอบเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาข้อติดขัดข้อจำกัดของกองทุนนั้นๆ เพื่อให้กองทุนสามารถบริหารจัดการได้อย่างเข้มแข็ง  

“สวัสดิการชุมชนเป็นของคนทุกคน เงินที่สมทบและบริจาคไปนั้นต้องเป็นสมบัติและเงินของตำบลนั้น เป็นมรดกของลูกหลานในพื้นที่ ตอนที่เกิดวิกฤติสามารถที่จะดึงทุนหรืองบประมาณที่ชุมชนมีมาช่วยเหลือกันอย่างเร่งด่วนได้ สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องเชื่อมั่นและศรัทธา  คนข้างล่างลุกต้องขึ้นมาจัดการตนเอง  ร่วมกันสร้างระบบสวัสดิการที่จะส่งต่อถึงลูกหลานต่อไป”

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานพัฒนาชุมชนและสังคม กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนใช้เงินเป็นเครื่องมือ ทั้งในรูปแบบของการช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ที่ชุมชนต้องการ  เรื่องสำคัญเราต้องมีทุน ทั้งทุนของสังคม คือ ทุนทางปัญญาและทุนทุนทางทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ มาเชื่อมโยงในมิติต่างๆ  เป็นการใช้ทุนบวกกับความเข้มแข็งทางสังคม การบริหารกองทุนของชุมชนอยู่ในสายตาของคนในชุมชน  เพราะวัฒนธรรมของการทำงานนั้นต้องมีการเปิดเผย โปร่งใสของการบริหารจัดการ สมาชิกเกิดการรับรู้ร่วม  มีกลไกเชื่อมโยงซึ่งดีกว่าระบบแนวดิ่งที่รัฐกำหนด  เป็นการกระจายอำนาจให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม  โดยมีกติกาทางสังคมที่เป็นตัวกำกับควบคุมให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่ดี   หากภาครัฐสามารถมาสนับสนุนและตอบโจทย์ให้ระบบสวัสดิการชุมชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศมีความก้าวหน้า ระบบราชการต้องส่งเสริมและสนับสนุน ไม่ใช่เป็นการบริหารชุมชน จะทำให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง 

“ในเรื่องของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการชุมชน พ.ศ. ....  ถือว่ากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้กองทุนมีสถานภาพทางสังคม แต่การออกกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบ Top down ดังนั้นในการร่างกฎหมายต้องให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ปรับกฎหมายให้บังคับน้อยแต่ให้ความยืดหยุ่นมากขึ้น  และสำคัญต้องขยายระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อสร้างรากฐานของสังคมที่มั่นคง โดยไม่ได้มองสวัสดิการเป็นแค่สิทธิชุมชนอย่างเดียว  แต่ต้องสร้างระบบสวัสดิการร่วมของคนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่  เชื่อมโยงการดูแลกันทุกมิติทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย  มีกลไกการดูแล  มีระบบสุขภาพที่ดี มีอาหารปลอดภัย พัฒนาระบบสวัสดิการต่างๆ นี้ ให้ครอบคลุมคนทุกช่วงวัย และเชื่อมโยงท้องถิ่น หน่วยงานทั้งภายในภายนอก  รวมถึงเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆเข้ามาช่วยกันสร้างความรู้สึก สร้างความเชื่อมั่นความมั่นคงให้เกิดขึ้น ฟื้นโครงสร้างทางสังคม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้โดยใช้โครงสร้างของสวัสดิการชุมชน”

นายกัณตภณ  ดวงอัมพร โฆษกคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาองค์การเงินในระดับพื้นที่ ที่สนับสนุนเป็นรายปัจเจคบุคคลพบว่า มีหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนจากสมาชิก หรือการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ถือเป็นองค์กรรูปแบบหนึ่งที่เป็นเครื่องมือให้กับประชาชนในการจัดบริการด้านสวัสดิการตามความต้องการของประชาชน

ในส่วนคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร มีความเชื่อว่าสวัสดิการที่ดีถ้วนหน้าจะนำสู่การลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาสังคม การดำเนินงานที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมฯ มีการศึกษาเพื่อทบทวนสวัสดิการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าตามระบบขั้นบรรได การพัฒนาระบบการเข้าถึงสวัสดิการเด็กแรกเกิดและการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ลดปัญหาของประชาชนที่ยังไม่เข้าระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสวัสดิการชุมชนที่ดี ชุมชนสามารถดูแลตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่ดี 

“ข้อจำกัดในการจ่ายเงินงบประมาณจากภาครัฐ ทั้งในเรื่องเงื่อนไขกับจ่ายเงินและเอกสาร ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการทำงานของพี่น้องประชาชน อีกทั้งการประชาสัมพันธ์งานสวัสดิการชุมชนมีส่วนสำคัญ ในการสร้างการรับรู้และความโปร่งใสในการดูแลกัน เกิดการเข้าถึงระบบสวัสดิการที่ถ้วนหน้าเพิ่มมากขึ้น เช่น การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยหรือนพิการ การส่งต่อความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหา ต่อไป”

บทบาท พอช. ในการหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน นำไปสู่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มีภารกิจสําคัญคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและชุมชน ในการที่จะพัฒนาบนฐานของการพึ่งตนเอง สวัสดิการชุมชน เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เกิดจากการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชน ในการที่อยากจะมีระบบสวัสดิการของตัวเองที่จะดูแลตัวเอง เติมเต็มกับสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เพราะฉะนั้นชุมชนก็ลุกขึ้นมาเอาเงินมาสมทบร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ใช้เงินเป็นเครื่องมือ ในการรวมคนเข้าหากัน รวมถึงการคิดออกแบบการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางในการดําเนินงานตามบทบาทภารกิจของ พอช. ที่จะต้องไปสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เพราะฉะนั้น การหนุนเสริมการดําเนินงานสวัสดิการชุมชน นอกจากจะสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรสวัสดิการชุมชนในระดับตําบลแล้วนั้น จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล และระดับเขตของกรุงเทพมหานครให้เต็มพื้นที่

“พอช. มีแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ในการพัฒนาสนับสนุนกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ ให้สามารถขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่กำหนด การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มีความสามารถในการจัดการทุนของตนเอง และเชื่อมโยงหน่วยงานในระดับพื้นที่ได้ การพัฒนาฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลไกสวัสดิการชุมชนด้านระบบการบริหารจัดการที่ และการขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามและผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. ....  การเสนอปรับรูปแบบการสมทบงบประมาณของกองทุนสวัสดิการชุมชน “สมทบถ้วนหน้า” การลดหย่อนภาษีให้กับผู้สมทบงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน การขับเคลื่อนงานร่วมหน่วยงาน 2 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กระทรวงกลาโหม ภายใต้ “แนวทาง 1 กองพัน 1 ตำบล ทหารกับประชาชนร่วมกันสร้างความมั่นคงของประเทศ” และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เรื่อง แผนการพัฒนาด้านสังคมสวัสดิการ” ผอ.พอช. กล่าว

ทั้งนี้ในปี 2566 พอช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ตามโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน เพื่อสมทบกองทุน พัฒนากองทุนและกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 233,822,800 บาท โดยจัดสรรเป็น 2 ส่วน คือ 1. งบค่าบริหารจัดการ จำนวน 11,691,100 บาท (ร้อยละ 5)  2. งบอุดหนุนชุมชน (ร้อยละ 95) ภายใต้ 4 แผนงานสำคัญ ประกอบด้วย (1) งบสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน เป้าหมาย 780 กองทุน สมาชิก 600,000 บาท (2) งบเพื่อจัดสวัสดิการและการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน เป้าหมาย 1,000 กองทุน  (3) การสนับสนุนการขับเคลื่อนกลไกระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค และระดับชาติ (4) งบจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน

จากการขับเคลื่อนและส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน ส่งผลให้เกิดพื้นที่รูปธรรมการจัดสวัสดิการชุมชนในด้านต่าง  เช่น การจัดสวัสดิการด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร  โดย กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกุดปลาดุก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ มีการดูแลป่าชุมชนจำนวน 10 ป่า เกิดแหล่งอาหารและสมุนไพรจากป่าให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์คิดเป็นมูลค่าปีละ 12 ล้านบาท การจัดสวัสดิการด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก โดย กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวสมาชิกกองทุนสวัสดิการ เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาเสพติด สามารถช่วยเหลือได้ 115 ครอบครัว  การจัดสวัสดิการด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน โดย กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว อ.เมือง จ.นครพนม  ได้การสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านผู้ที่มีฐานะยากจน  และนำที่ดินสาธารณะมาสร้าง ‘ฟาร์มชุมชน’ เพื่อเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา  ปลูกผัก  สร้างอาชีพให้แก่สมาชิกในตำบล การจัดสวัสดิการด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ  โดย กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น  เช่น  การแห่เทียนเข้าพรรษาทางน้ำ  การอนุรักษ์เรือเก่า  นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือสนับสนุนกันในระดับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์พลุระเบิดที่ตำบลมูโนะ จ.นราธิวาส เหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู แผ่นดินสไลด์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน น้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี ล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามลำบาก ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้

ส่วนในปีงบประมาณ 2567 พอช. สนับสนุนการดำเนินงานโครงการการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน 233,822,800 บาท สามารถสนับสนุนการสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน 1,370 กองทุน สมาชิก 807,742 คน สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 771 กองทุน จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนใหม่ จำนวน 95 กองทุน รวมถึงพัฒนาศักยภาพกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับทั้งการการดำเนินงาน การบริหารจัดการและระบบเทคโนโลยี

ในการจัดงานสมัชชาครั้งนี้ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ประกาศเจตนารมณ์ ขออาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยจะร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการ (1) ฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพและยกระดับ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ที่มีอยู่ และจะจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นกลไกกลางที่ทำงานเชิงรุกในการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองและสร้างความมั่นคงในชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ยากลำบากหรือขาดโอกาสในชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในการดำรงชีวิตปกติและสถานการณ์วิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจและภัยพิบัติ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้หลักคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” และ “การพึ่งตนเองและช่วยเหลือกัน” ของชุมชน (2) พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ให้มีบทบาทและความสามารถในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ความร่วมมือกับองค์กรภาคีแบบหุ้นส่วนการพัฒนา และการพัฒนานโยบาย (3) ผลักดันทางนโบายให้เกิดการพัฒนา “ระบบสวัสดิการของชุมชน” ซึ่งเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และระบบสวัสดิการถ้วนหน้า รวมถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. .... ที่ภาคประชาชน  โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจะประสานพลังความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชน  องค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย