บ้านรักไทยยามเช้าท่ามกลางไอหมอก
ร้านอาหารจีนรอนักท่องเที่ยวมาเยือน
แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีทั้งกลุ่มคนดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่อาศัยมานานนับร้อยนับพันปี เช่น ชาวลัวะ กะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ ไตหรือไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากพม่า เช่น ปะโอ ปะหล่อง คะยา ลาหู่ ลีซู ม้ง ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีชาวจีนจากยูนนานหรือ ‘จีนฮ่อ’ ซึ่งเป็นทหาร ‘ก๊กมินตั๋ง’ ที่เคยสู้รบกับทหารคอมมิวนิสต์จีนมายาวนานหลายสิบปี แต่ต้านทานไม่ไหว คอมมิวนิสต์ยึดประเทศจีนได้ในปี 2492 หลังจากนั้นทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัวจึงหนีไปตั้งหลักบนเกาะไต้หวัน บางส่วนถอยร่นเข้าประเทศพม่า และหนีตายเข้าสู่ชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
หลังจากโยกย้ายเข้ามาอยู่ชายแดนไทยนานหลายปี ราวปี 2510 ทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัวกลุ่มหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากที่บ้านแม่ออ ต.หมอกจำแป๋ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนพม่าเพียงไม่กี่กิโลเมตร ที่นั่นพวกเขาใช้เวลาอีกหลายสิบปี พลิกผืนดินที่รกร้าง สร้างครอบครัว สร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ภายใต้ร่มพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9
‘พิพิธภัณฑ์สงครามบ้านดิน’ ที่บ้านรักไทย
ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร บนเส้นทางที่คดเคี้ยวและสูงชัน บ้านแม่ออหรือปัจจุบันคือ ‘บ้านรักไทย’ ตำบลหมอกจำแป๋ (ดอกลั่นทมในภาษาไทใหญ่) ตั้งอยู่ที่นี่ แต่บัดนี้มันไม่ใช่หมู่บ้านรกร้างตามแนวชายแดนอีกแล้ว
เพราะมันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักเดินทางหลายคนใฝ่ฝัน ด้วยทิวเขาที่โอบล้อมหมู่บ้าน รีสอร์ทน้อยใหญ่ลดหลั่นตามเชิงเขา บึงน้ำขนาดใหญ่ เรือพายทรงเก๋งจีนพลิ้วละล่องเหนือผืนน้ำ เคล้าเคลียไอหมอกและสายลมหนาว งดงามราวกับเมืองในฝัน ดั่งฝีแปรงของจิตรกรเอกที่บรรจงวาด
ถัดลงไปเบื้องล่าง มีร้านค้า ร้านอาหารตกแต่งสไตล์จีนโบราณตั้งอยู่เรียงรายรอบบึงน้ำ ประดับประดาด้วยโคมไฟสีแดง สะดุดตาด้วยบ้านดินมุงใบตองตึงหลังหนึ่ง เป็นบ้านชั้นเดียว ขนาดประมาณ 6 X10 ตารางเมตร รอบบ้านเขียนด้วยตัวหนังสือจีน แซมด้วยภาษาไทย ผนังด้านหนึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับยืนข้างพระราชินี ใต้รูปเขียนคำว่า “คนไทยต้องรักในหลวง” ถัดลงมาเขียนว่า “ร้านชาจาต๋า”
บริเวณประตูด้านข้างมีแผ่นไม้เขียนด้วยตัวหนังสือสีเหลือง มีข้อความว่า “ใต้ร่มพระบารมี เราจึงอยู่เย็นเป็นสุขจนถึงทุกวันนี้” ถัดลงมาอีกบรรทัดเขียนว่า “บ้านรักไทย จาต๋า เรารักในหลวง ร.9”
ลุงจาต๋า
‘จาต๋า แซ่ข่วง’ วัยเฉียด 60 ปี คือเจ้าของบ้านดินหลังนี้ บอกว่า เขาสร้างบ้านดินหลังนี้เพื่อให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์สงคราม’ โดยรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในสมัยสงครามและซากอาวุธต่างๆ ที่ชำรุดเสียหายเอามาจัดแสดง เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมฟรีตั้งแต่ปี 2542 ภายหลังเขาจึงเปิดเป็นร้านจำหน่ายใบชา ถ้วยชา และอุปกรณ์ชงชา เพื่อให้มีรายได้มาดูแลพิพิธภัณฑ์ที่เขาควักทุนส่วนตัวสร้างขึ้นมา
ภายในพิพิธภัณฑ์สงครามบ้านดิน ลุงจาต๋าจัดแสดงภาพถ่ายสมัยสงครามก๊กมินตั๋ง มีรูปลุงจาต๋าสมัยเป็นทหารหนุ่ม ข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระติกน้ำ หม้อสนาม กล่องข้าว เป้สะพาย เข็มขัดทหาร หมวกเหล็ก ฯลฯ เครื่องรับ-ส่งวิทยุสนาม วิทยุสนาม ซากอาวุธ เช่น ปืนชนิดต่างๆ ซองกระสุน ระเบิดแบบขว้าง ฯลฯ อุปกรณ์บรรทุกสำหรับใช้กับล่อต่าง
นอกจากนี้ยังมีกุญแจมือไม้ไผ่ แอกคอนักโทษทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ เอาไว้สวมคอทหารที่มีความผิดหรือเชลยสงครามที่จับได้ เพราะก่อนที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวดังเช่นวันนี้ บริเวณบ้านรักไทยถือเป็นพื้นที่อันตรายชายแดนไทย-พม่าที่ยังมีการสู้รบ มีกองกำลังฝ่ายต่างๆ เคลื่อนไหว ทั้งก๊กมินตั๋ง กลุ่มขุนส่า กองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ค้าฝิ่น เฮโรอีน ค้าของเถื่อน ซึ่งอำนาจรัฐไทยเอื้อมไปไม่ถึง
แอกคอ (บนขวา) กุญแจมือไม้ไผ่ (ล่าง)
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจาก ‘ลุงจาต๋า’
ลุงจาต๋า เล่าว่า ก่อนที่จะมาอยู่บ้านรักไทย พ่อแม่ของเขาอยู่ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ช่วงนั้นคอมมิวนิสต์ยึดประเทศจีนได้แล้ว (พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดประเทศได้เบ็ดเสร็จในปี 2492) แต่ตามพื้นที่ชายแดนจีน-พม่า ยังมีการสู้รบกันอยู่ เพราะทหารก๊กมินตั๋ง (กองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งหรือ ‘พรรคชาตินิยมแห่งประเทศจีน’) ถอยร่นเข้ามาในพม่า พ่อของลุงจาต๋าตอนนั้นเป็นพลทหารของก๊กมินตั๋งต้องอพยพครอบครัวเข้ามาด้วย ครอบครัวทหารคนอื่นๆ ก็เช่นกัน ต้องอพยพลูกเมียตามกองทัพเข้าพม่า เพราะทหารคอมมิวนิสต์จีนไล่ตามเพื่อบดขยี้
“ตอนนั้นผมอายุได้ประมาณ 2 ขวบ พ่อแม่พาหนีเข้าพม่า โรงเรียนก็ไม่เคยรู้จัก ต้องกินนอนอยู่ในป่า นานหลายปี ต้องหัดอ่าน หัดเขียนอยู่ในป่า จนผมอายุได้ 11 ปี จึงได้เป็นทหารเด็กของก๊กมินตั๋ง สังกัดกองพล 93 ได้ฝึกยิงปืน ขว้างระเบิด และเริ่มโตเป็นหนุ่มตอนเข้ามาอยู่แถวชายแดนไทยแล้ว ตอนนั้นกองพล 93 เข้ามาทางเปียงหลวง” ลุงจาต๋าบอกด้วยภาษาไทยสำเนียงจีน
อุปกรณ์สำหรับบรรทุกข้าวของผูกติดไว้กับหลังม้าหรือล่อ เรียกว่า “ม้าต่าง” หรือ “ล่อต่าง” ตัวหนึ่งบรรทุกของได้ประมาณ 40-60 กิโลกรัม ทหารหรือพ่อค้านิยมใช้เป็นสัตว์พาหนะบรรทุกข้าวของไปตามเส้นทางป่าหรือภูเขาสูง
เปียงหลวงที่ลุงจาต๋าบอกอยู่ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตแดนติดต่อกับรัฐฉาน ประเทศพม่า และอยู่ไม่ไกลจากบ้านแม่ออ (บ้านรักไทยปัจจุบัน) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทหารก๊กมินตั้งและครอบครัวนับหมื่นคนถอยร่นเข้ามาอยู่ตามแนวชายแดนไทยตั้งแต่ก่อนปี 2510
ต่อมารัฐบาลไทยได้เจรจากับกองทหารก๊กมินตั๋งให้ไปช่วยสู้รบกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.) เช่น ที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ คุ้มกันการก่อสร้างถนนสายยุทธศาสตร์ที่ จ.น่าน และ จ.เชียงราย เพราะทหารก๊กมินตั๋งมีประสบการณ์สู้รบในป่า โดยต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมายาวนาน จึงย่อมรู้กระบวนยุทธ์ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ดี (พคท.ใช้วิธีการต่อสู้ในป่าตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน)
เมื่อสงครามกับพคท.ยุติลงในปี 2525 รัฐบาลไทยได้ตอบแทนโดยอนุญาตให้ทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัวตั้งรกรากอยู่ในไทยอย่างถูกต้อง จัดสรรที่อยู่อาศัยและทำกิน เช่น ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ , อ.เทิง และดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และบ้านรักไทย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
“ตอนรบกันหนักๆ ก็ที่เขาค้อ แต่ที่เขาค้อผมไม่ได้ถูกส่งไปรบหรอก เพราะอายุยังน้อย ตอนนั้นเขาต้องการทหารที่มีประสบการณ์ไปสู้กับคอมมิวนิสต์ เพราะคอมมิวนิสต์มีฐานตั้งอยู่บนภูเขา เป็นสนามรบที่คอมมิวนิสต์ได้เปรียบ เพราะฝ่ายที่บุกจะต้องปีนเขาหรือตัดถนนขึ้นไป ทำให้ถูกซุ่มโจมตี จึงต้องเอาคนเก่งๆ ขึ้นไปรบ แต่ก็ตายเยอะ ส่วนผมรบไม่เก่ง จึงรอดตาย” ลุงจาต๋าพูดแล้วอมยิ้ม
ส่วนที่บ้านรักไทยนั้น กองกำลังของก๊กมินตั๋งเริ่มเข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2510 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นหมู่บ้าน เป็นลักษณะค่ายทหารชายแดน มีการขุดบังเกอร์หรือหลุมหลบภัยเตรียมพร้อม มีคุกทหาร ต่อมาอีกหลายปีทหารก๊กมินตั๋งที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่าจึงพาครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัย เพราะเห็นว่าเป็นทำเลที่ดี มีภูเขาล้อมรอบ มีบึงน้ำใหญ่ จนขยายเป็นหมู่บ้านใหญ่ และพัฒนาจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว
บังเกอร์บุคคลที่บ้านรักไทยสมัยที่ยังมีสงคราม
ปัจจุบันบ้านรักไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 1,200 คน มีหลายเชื้อชาติ คือ จีนฮ่อ ไทใหญ่ คนเมือง ม้ง ฯลฯ อยู่ในพื้นที่หมู่ 6 เขตปกครองของ อบต.หมอกจำแป๋ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกชาตามไหล่เขา เพราะพื้นที่ราบมีน้อย และเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงหมู ไก่ ม้า
ส่วนอาชีพที่สำคัญตอนนี้คือ การท่องเที่ยว บริการที่พัก ขายอาหาร ขายสินค้าที่ระลึก ใบชาอบแห้ง อุปกรณ์ชงชา ชุดถ้วยชา ป้านชา ขนม ผลไม้อบแห้ง ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนและไต้หวัน
“ครอบครัวของทหารก๊กมินตั๋งตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 100 ครอบครัว เพราะทหารรุ่นเก่าตายไปเกือบหมดแล้ว พ่อผมเพิ่งตายไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นพ่ออายุได้ 86 ปี ตอนนี้ก็เหลือแต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่รู้เรื่องก๊กมินตั๋ง ไม่รู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ผมจึงต้องรักษาพิพิธภัณฑ์นี้เอาไว้ แม้ว่ามันจะไม่มีรายได้” ลุงจาต๋าบอก
อีกอย่างที่ลุงจาต๋าบอกก็คือ เขาอยากให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสิ่งเตือนใจคนรุ่นหลังให้เห็นถึงความเลวร้ายของสงคราม เพราะมันสร้างความทุกข์ยากลำบากให้แก่ทุกคน พี่น้องต้องพลัดพราก แตกฉานซ่านเซ็น ญาติๆ ทางเมืองจีนก็ไม่รู้ข่าวคราวว่าใครเป็นตายร้ายดีอย่างไร เพราะหนีสงครามกันไปคนละทิศคนละทาง
ร้านอาหารจีนที่บ้านรักไทย
“ใต้ร่มพระบารมี เราจึงอยู่เย็นเป็นสุขจนถึงทุกวันนี้”
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์สงครามของลุงจาต๋าในวันนี้จะดูทรุดโทรมลงไปเพราะสร้างมานานกว่า 20 ปี ผนังดินสีส้มมีรอยแยก แตกร้าวไปทั่วทั้งหลัง จนแลเห็นเส้นฟางที่ยึดผนังดินเข้าไว้ด้วยกัน แต่ความทรงจำ และสำนึกของลุงจาต๋ายังคงเด่นชัดและมั่นคง โดยเฉพาะความกตัญญูที่มีต่อแผ่นดินไทยและในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ไม่เคยเสื่อมคลาย
“คนจีนถือว่ากินข้าวใครต้องรู้บุญคุณ ครอบครัวผมและทหารก๊กมินตั๋งได้อยู่อาศัยที่นี่ เพราะในหลวงให้พวกเราอยู่อาศัย และยังมีโครงการหลวงมาช่วยให้พวกเราปลูกชา ทำให้มีอาชีพ เมื่อก่อนตอนเป็นทหารเราอยู่กินอย่างลำบาก ต้องไปหาล่าสัตว์ จับปลามาเป็นอาหาร เพราะเสบียงทหารไม่พอ กินแบบอดอยาก แต่ตอนนี้ลูกหลานของพวกเรามีความเป็นอยู่ดีกว่าก่อนหลายเท่าตัว ผมจึงสำนึกบุญคุณของในหลวง และมีความรู้สึกว่าผมเป็นคนไทย ตายก็จะตายที่นี่” ลุงจาต๋า” บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ลุงบอกด้วยว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ก่อนในหลวงรัชกาลที่ 9 จะสวรรคต พระองค์เคยเสด็จมาที่พระตำหนักปางตอง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่กี่กิโลเมตร ที่นั่นมีโครงการพระราชดำริ (โครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2523) ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชและผลไม้เมืองหนาว ปลูกชา กาแฟ เลี้ยงสัตว์ เพราะแต่เดิมพื้นที่แถบนี้จะมีการลักลอบปลูกฝิ่น พระองค์จึงส่งเสริมอาชีพใหม่ให้แก่ชาวบ้าน
พื้นที่ส่วนหนึ่งของพระตำหนักปางตอง
ลุงจาต๋าและคนจีนบ้านรักไทยเคยเอาม้าที่เลี้ยงไปแสดงที่พระตำหนักปางตองเมื่อครั้งพระองค์เสด็จมา เพราะเมื่อ ก่อนถนนหนทางยังไม่สะดวก คนจีนที่บ้านรักไทยจะเลี้ยงม้าและล่อเอาไว้ใช้บรรทุกข้าวของ พอเปิดการท่องเที่ยวที่บ้านรักไทยลุงจาต๋าจึงใช้ม้าพานักท่องเที่ยวไปชมหมู่บ้าน ดูบังเกอร์และคุกที่ยังเหลือร่องรอย
ทุกวันนี้ลุงจาต๋ามีความสุขกับการดูแลพิพิธภัณฑ์ หากมีนักท่องเที่ยวมาเยือนลุงจะดีใจและยินดีต้อนรับ และพร้อมจะพาไปดูอนุสรณ์สงคราม เช่น คุกทหารและบังเกอร์ และมีลูกสาวเปิดร้านอาหารเล็กๆ อยู่ด้านข้างพิพิธภัณฑ์ ชื่อร้านจาต๋า มีป้ายเขียนภาษาจีน อังกฤษ และไทย ข้อความว่า “รักเมืองไทย” ขายอาหารจีนยูนนาน เช่น หมูพันปี ขาหมูตุ๋น หม่านโถ ไก่ตุ๋นยาจีน ยำใบชา ปลาทรงเครื่อง ผัดถั่วยูนนาน ฯลฯ รสชาติอร่อย ราคาไม่แพง
หากใครมีโอกาสมาเที่ยวที่บ้านรักไทย ลองแวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ชิมอาหารยูนนาน และพูดคุยกับลุงจาต๋า คนจีนพลัดถิ่นที่สำนึกในแผ่นดินไทยและพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เชื่อว่าจะทำให้ท่านรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เกิดและอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินนี้…!!
ลุงจาต๋า คนจีนพลัดถิ่นหัวใจไทย
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา