สทนช.ตั้ง “วอร์รูม” เฉพาะกิจผนึกกำลังบูรณาการวางแผน สั่งการ แก้ปัญหาทำนบดินชั่วคราวพังทลาย น้ำเค็มทะลักเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ลงพื้นที่เร่งติด ตามการดำเนินงานในเชิงรุก หวังลดผลกระทบที่เกิดขึ้น มั่นใจสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในเดือนเม.ย.นี้อย่างแน่นอน
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก สทนช.ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เพื่อแก้ปัญหาจากกรณีการพังทลายของทำนบดินชั่วคราว โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบท่าถั่ว ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 67 จนทําให้น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลทะลักเข้าคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและพืชน้ำ รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคต่อประชาชน ให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร่งด่วนนั้น ล่าสุดได้มีการมีประชุมหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ครั้งที่ 1/2567 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทางจังหวัด ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภายหลังการพังทลายของทำนบดินชั่วคราว ได้มีการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวและติดตั้งบิ๊กแบ๊กเสริมความมั่นคงปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งดำเนินการตอก Sheet Pile บริเวณด้านหน้าและหลังของทำนบดินเพื่อความแข็งแรงในระยะยาวรองรับฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึง ขณะเดียวกันได้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเพื่อบรรเทาปัญหาคุณภาพน้ำที่มีค่าความเค็มค่อนข้างสูงในหลายจุด รวมถึงกำจัดวัชพืชเพื่อชะลอการเน่าเสียของน้ำ นอกจากนี้ยังได้สร้างทำนบชั่วคราวเป็นระยะๆ เพื่อให้สามารถสูบระบายน้ำเค็มออกได้โดยเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย
ส่วนการแก้ไขในระยะต่อไปนั้น ได้มีการวางแผนระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงมาช่วยเจือจางค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง และฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ รวมทั้งคลองสาขา โดยในเบื้องต้นจะพิจารณาการใช้น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นอันดับแรก โดยจะผันน้ำมาประมาณ 40-50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาใช้เจือจางความเค็มและฟื้นฟูคุณภาพน้ำ อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวเป็นการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ จำเป็นจะต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำป่าสักก่อน แต่ถ้าหากปริมาณน้ำต้นในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีไม่เพียงพอ จะมีการพิจารณาขอใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มาใช้สนับสนุนเพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง และให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ 23 หมู่บ้าน 6 ตำบล 2 อำเภอ คือ อ.เมืองฉะเชิงเทรา และ อ.บ้านโพธิ์ รวมประมาณ 3,428 ครัวเรือน เพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ตลอดจนชาวประมงที่เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
“สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) หน่วยงานทหาร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น ในการทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาความเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 67 จนถึงปัจจุบัน สามารถจำกัดการแพร่กระจายของน้ำเค็มและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ขณะนี้ได้เร่งฟื้นฟูคุณภาพน้ำ และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่าสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในเดือน เม.ย. 67 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สทนช. เผย 18 จังหวัดยังจมบาดาล
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำการสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น.
สทนช. อัปเดตสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ เตือนรับมือฝนตกหนัก 30 ก.ย.-1 ต.ค.
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น. 1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (159 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ (50 มม.) ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (74 มม.)
เช็กเลย! 'สถานการณ์น้ำ' ภาพรวมทั้งประเทศ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ เวลา 7.00 น. ดังนี้ 1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด
สทนช. อัปเดต 'สถานการณ์น้ำ' ภาพรวมทั้งประเทศ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 ก.ย.67 เวลา 7.00 น.
อีสานระทึก! ระดับน้ำโขงพุ่งพรวดเดียวเกือบเมตร เสี่ยงท่วมฉับพลัน
นครพนมลุ้นระทึกอีกครั้ง! ระดับน้ำโขงพรวดเดียวสูงขึ้นอีกเกือบเมตร ฝนกระหน่ำซ้ำทั้งคืน ท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆ ลาวแจ้งด่วนเขื่อนจีนปล่อยน้ำ
กรุงเทพฯ รอด! ไม่ซ้ำรอยปี 54
สถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับฝนระลอกใหม่เดือนกันยายนนี้ หลังจากช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมภาคเหนือ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยถึง 12 จังหวัด ขณะที่รายงานกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ฝน One Map