13 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย อาทิ ลาว อินโดนิเซีย และญี่ปุ่น พร้อมด้วยแอนโทเนีย โพซิ้ว รองชนะเลิศอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาคี ประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมงาน ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายสืบสาน รักษา และต่อยอด พร้อมขับเคลื่อนสนับสนุน “ซอฟต์เพาเวอร์” มุ่งหวังให้เทศกาล ประเพณีอันดีงามของไทย เป็นพลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็น “เมืองแห่งเทศกาลโลก” ในปีพ.ศ. 2567 วธ. ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนให้จัดงานประเพณีสงกรานต์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยบูรณาการความร่วมมือ กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ให้คงไว้ซึ่งแบบแผนประเพณีอันทรงคุณค่า รวมทั้งมุ่งเน้นเผยแพร่คุณค่าอัตลักษณ์ “งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย” ในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ให้ประชาชนชาวไทย มีความภาคภูมิใจ สร้างความสุข ความสามัคคีและความอบอุ่นในครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เข้าใจและประทับใจ ในวัฒนธรรมประเพณีวิถีไทยมากขึ้น เนื่องในโอกาสแห่งวันสิริมงคล ในวาระปีใหม่ไทย ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือได้ประทานพร ให้ประชาชนไทยประสบความสุข ความเจริญ และมีสุขภาพแข็งแรงตลอดไป
บรรยากาศพิธีเปิดงานสงกรานต์วัดสุทัศน์ฯ เริ่มด้วยการแสดง ชุด “ตำนานนางสงกรานต์” โดย แอนโทเนีย โพซิ้ว รองชนะเลิศอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 นำแสดงเป็น “นางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี 2567” จากนั้นรมว.วธ. ประธานพิธี พร้อมผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน เข้าร่วมพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป ณ พระวิหารหลวง และได้เข้าถวายสักการะ พระพรหมวชิรมุนี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ต่อด้วยการมอบรางวัลการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย และการประกวดพานรดน้ำสงกรานต์ จำนวน 20 รางวัล ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระพรหมวชิรมุนี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม 4 รางวัล
จากนั้นประธานพร้อมคณะได้เดินชมการสาธิตทางวัฒนธรรม บริเวณข้างพระวิหาร ได้แก่ การสาธิตเครื่องหอมไทยในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ น้ำอบ น้ำปรุง ข้าวแช่ชาววัง ทำตุงไส้หมู ภาคเหนือ การกวนกาละแม การทำขนมสี่ถ้วย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์
ด้านนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 12 – 15 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 16.00 – 21.00 น. นอกจากกิจกรรมการสาธิตที่น่าเรียนรู้แล้ว ยังมีกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้าน ที่มาสร้างความสุขมากมาย อาทิ การแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน เช่น รำบายศรีสู่ขวัญ ลำเพลิน รำกลองยาว การแสดงจากน้อง ๆ สมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน เช่น แพรวาร่วมสมัย ไทพวน การแสดงคณะอักษรหุ่นละครเล็ก การแสดงของโรงเรียนวัดสุทัศน์ เช่น ระบำสุโขทัย ระบำ 4 ภาค เซิ้งตังหวาย ระบำตาลีกีปัส การแสดงฟ้อนซอ ชุดป๋าเวณี ศรีล้านนา โดย แม่ครูจำปา แสนพรม การแสดงพื้นบ้านโดย คณะบ้านรักศิลป์ เช่น ระบำตุ่มปัง ระบำเกาะยอ การแสดงมโนราห์ โดย ศูนย์ศึกษพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร และพลาดไม่ได้กับ การแสดงเพลงลูกทุ่ง เอฟเอ็ม 95 โดยจ่อย รวมมิตร ไมค์ทองคำ และกล้วย คลองหอยโข่ง การแสดงเพลงลูกทุ่ง โดย นัท มาลิสา นัน ไมค์ทองคำ การแสดงของคลื่นลูกใหม่สุนทราภรณ์ และไม่ควรพลาดกับการแสดงขับร้องเพลงลูกกรุง โดยศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นายวินัย พันธุรักษ์ นางสุดา ชื่นบาน และ นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ เป็นต้น ภายในงานยังมีซุ้มอาหารคาว หวาน มากมายของดีในกรุงเทพมหานคร อีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนกลางมีกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทยที่ สวธ.จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมสืบสานคุณค่าอัตลักษณ์ความงามของประเพณี อาทิ 1) “สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้า อยู่เย็นเป็นสนุก” วันที่ 13-15 เมษายน 2567 ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กทม. 2) “สงกรานต์ซัมเมอร์ อโลฮ่า ปาร์ตี้” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 10-17 เมษายน 2567 ณ เทอมินอล 21 เขตวัฒนา กทม.
3) EDM Songkran BAZAAR music Festival 2024 กิจกรรมถนนสายน้ำ วันที่ 11-15 เมษายน 2567 ณ เดอะบาซาร์ รัชดา เขตจตุจักร กทม. 4) “สรวลเสเฮฮา มหาสงกรานต์สยาม” การละเล่นไทย ดนตรีและประเพณีร่วมสมัยในรูปแบบงานวัดจำลอง ณ สวนสยาม เขตคันนายาว กทม. และ 5) “เพลิดพราว ดาวสงกรานต์ ความงามในตำนาน แห่งถนนสีลม” วันที่ 13-14 เมษายน 2567 ณ ถนนสีลม เขตบางรัก กทม.
ส่วนสงกรานต์ไฮไลท์ในส่วนภูมิภาค สวธ. ร่วมกับจังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรม จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมสื่อถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค อาทิ ขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ สักการะ-สรงน้ำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ทำบุญสงฆ์น้ำพระ นิทรรศการแสดงข้อมูลองค์ความรู้ประเพณีสงกรานต์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ตำนานนางสงกรานต์ แสดงโดยนางสาวแอนโทเนีย โพซิ้ว รองนางงามจักรวาลอันดับ 1 ประจำปี 2023 ณ จ.เชียงใหม่และขอนแก่น) การแสดงของศิลปินแห่งชาติ การแสดง-การละเล่นพื้นบ้านวิถีถิ่น ตลาดวัฒนธรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมของท้องถิ่น ดังนี้
จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมทางวัฒนธรรมวิถีล้านนา ณ ข่วงเมืองต่าง ๆ ระหว่าง 4 - 21 เม.ย. 67 กิจกรรม ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 13 – 16 เม.ย. 67 ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ สักการะพระพุทธสิหิงค์ ยามค่ำคืน *เปิดตัวนางสงกรานต์ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 14 เม.ย. การแสดงการแสดงตำนานสงกรานต์ โดย แอนโทเนีย โพซิ้ว ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 700 ปี กิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลาย ณ ประตูท่าแพ เป็นต้น
ขอนแก่น ประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี ระหว่าง 13-15 เมษายน 67 งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น ณ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น วันที่ 11-15 เม.ย. 67 งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว พิธีเปิดวันที่ 15 เม.ย. แอนโทเนีย โพซิ้ว แสดงตำนานนางสงกรานต์ กิจกรรมวันข้าวเหนียวครอบครัวเดียวกัน และคลื่นมนุษย์ (Human Wave) ณ ถนนข้าวเหนียว พลาดไม่ได้กับ อุโมงค์น้ำ “มนต์ธาราศรัทธาสายมู”
ภูเก็ต งานภูเก็ตนครา มหาสงกรานต์ 2567 “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตเพอรานากัน” ระหว่าง 13-15 เมษายน 67 พิธีเปิดวันที่ 14 เม.ย. ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) อำเภอเมือง ภูเก็ต พบกิจกรรมนิทรรศการมีชีวิต 4 โซน ชมห้องตำนานสงกรานต์ วิจิตรา Digital Art ฯลฯ
หนองคาย งานสรงน้ำหลวงพ่อพระใสองค์จำลอง วันที่ 16 เม.ย.67 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
ชลบุรี งานสงกรานต์ “สงกรานต์งามวิจิตร อัตลักษณ์วิถีชีวิต ชลบุรี” Pattaya Old Town ระหว่างวันที่ 18 – 20 เม.ย. 67 พิธีเปิดวันที่ 18 เม.ย. เวลา 18.00 น. ณ ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา วัดหนองใหญ่ พัทยา และวัดชัยมงคล พระอารามหลวง การแสดงตำนานนางสงกรานต์ การสาธิตการก่อเจดีย์ทรายใหญ่ที่สุด ขบวนแห่มหาสงกรานต์ ฯลฯ
ส่วนจังหวัดสมุทรปราการ งานสงกรานต์ “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนมอญ/รามัญ” ระหว่างวันที่ 18-21 เม.ย.67 ณ ป้อมแผลงไฟฟ้า อำเภอพระประแดง จ. สมุทรปราการ การละเล่นและวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์พระประแดง ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม ขบวนแห่รถบุปผชาติ ขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การประกวดนางสงกรานต์พระประแดง การประกวดหนุ่มลอยชาย เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อสร้างสีสันให้เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย วธ.ขอเชิญสวมใส่เสื้อลายดอก ตลอดเดือนเมษายนนี้ และร่วมกันเพื่อแพร่คุณค่าสาระของประเพณี โดยเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลประเพณี และติดตามรายละเอียดกิจกรรมสงกรานต์ ได้ทาง www.culture.go.th / เฟซบุ๊กแฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม / Line@วัฒนธรรม และสายด่วนวัฒนธรรม 1765
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท