โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกเมื่อเกือบห้าปีก่อน เปรียบเสมือนความทรงจำจาง ๆ แต่แม้ว่าเราจะผ่านระยะระบาดหนักของโรคนี้ไปแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโควิด-19 ไม่ได้หมดไปและยังมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราเป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แห่งการแพร่ระบาด เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ที่เราต้องติดต่อและสัมผัสกับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใครหลายคนกำลังเดินทางกลับบ้าน หรือจัด ทริปท่องเที่ยวพักผ่อน
เตรียมความพร้อม รับเทศกาลสงกรานต์
นอกจากเตรียมแผนการเดินทางให้พร้อม เช็คสภาพรถสำหรับผู้ต้องขับรถระยะไกลแล้ว อย่าลืม! เช็คสภาพร่างกายตัวเองด้วยว่าพร้อมที่จะเดินทางหรือไม่ ไม่ใช่แค่เพื่อตนเองแต่เพื่อคนที่คุณรัก โดยกรมควบคุมโรคแนะนำว่าผู้ที่มีความเสี่ยง หรือต้องติดต่อ หรือสัมผัสกับกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้ป่วยใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดในสมอง รวมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ยิ่งจำเป็นต้องตรวจ ATK ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 72 ชั่วโมง นำมาตรการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม ล้างมือเป็นประจำ หรือเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปีเพื่อสร้างความมั่นใจ เพราะขณะนี้ก็ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีรายงานผู้เสียชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608
หากติดโควิด-19 ยังเดินทางได้ หรืองดไปต่อดี
หากติดโควิด-19 ควรงดเดินทางเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและคนรอบข้างโดยเฉพาะเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวอยู่ในกลุ่ม 608 เนื่องจากอาการอาจรุนแรงขึ้นระหว่างเดินทาง และยังมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้
ความรุนแรงของโควิด-19 ลดลงแล้ว ยังต้องป้องกันอีกหรือไม่
แม้หลายคนอาจรู้สึกว่าโควิด-19 มีอาการของโรคที่ไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังไม่หายไปไหน โดยอาการและความรุนแรงนั้นแตกต่างกันในแต่ละบุคคล กรมควบคุมโรคแนะนำว่า วัคซีนโควิด-19 ควรฉีดกระตุ้นปีละครั้งโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงในกลุ่ม 608 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเกิดภาวะลองโควิด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนต่างกลับบ้านเพื่อใช้เวลาในวันหยุดยาวและฉลองวันขึ้นปีใหม่ไทยพร้อมกับครอบครัวและญาติมิตรอาจเพิ่มโอกาสในการได้รับเชื้อได้ จึงต้องใส่ใจป้องกันตนเองและคนที่รักอยู่เสมอ
ทำอย่างไร เมื่อผู้ใหญ่กลัววัคซีน
ในยุคที่เราสามารถรับข้อมูลข่าวสารมาจากหลายทิศทางโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงได้อย่างง่ายและแพร่หลาย จึงมีโอกาสที่เราจะได้รับข้อมูลที่เผยแพร่และส่งต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือมาจากแหล่งที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับ จนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยได้ คุณพ่อคุณแม่และญาติผู้ใหญ่ของเราก็เช่นกัน ลูกหลาน ผู้ดูแลรวมถึงคนรอบข้างจึงมีส่วนสำคัญมากในการสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้สูงอายุซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง 608 รวมไปถึงดูแลให้พวกท่านสวมหน้ากากอนามัยในการพบปะพูดคุยกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงให้เข้ารับวัคซีนกระตุ้นปีละครั้ง[1] ซึ่งควรปรึกษาแพทย์
วัคซีนมีความปลอดภัย
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)[2] ระบุว่า การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกแล้วกว่า 13,000 ล้านโดส[3] ภายใต้การติดตามและเฝ้าระวังความปลอดภัยของวัคซีนหลังการฉีดให้กับประชาชนในแต่ละประเทศ โดยหน่วยงานระดับชาติ รวมถึงในประเทศไทย พบว่าวัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 14.4 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ WHO ได้ทำการศึกษาทางคลินิกหลังการอนุมัติให้มีการใช้วัคซีนกับประชาชนใน วงกว้างเพื่อรายงานความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน โดยทำการติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินผลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ถึงผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับบ่งชี้ว่า หลังจากที่มีการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ไปมากกว่าพันล้านโดสทั่วโลกนั้น มีความปลอดภัยดี ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนโควิด-19 พบได้น้อยมาก โดยอาการข้างเคียงที่เจอส่วนใหญ่ไม่ต่างจากวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่มีใช้กันมานาน และอาการไม่รุนแรง ขณะที่ประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อและโรครุนแรงมีมากกว่าความเสี่ยงอย่างเทียบกันไม่ได้ จึงยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง
วัคซีนโควิด-19 มีอาการข้างเคียงไม่ต่างจากวัคซีนต่างๆ ทั่วไป
ผลจากการติดตามเฝ้าระวังและศึกษาในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้วัคซีน mRNA ไปแล้วเกือบ 50 ล้านโดส พบว่า มีอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบราว 53 ราย หรือคิดเป็นอัตรา 1 ในล้าน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีน mRNA นั้นเกิดขึ้นได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น จากไวรัสตัวอื่น ๆ หรือจากการติดโควิด-19 เอง หรือจากภาวะลองโควิด ที่สำคัญคือ การไม่ได้รับวัคซีนอาจมีโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากตัวโรคโควิด-19 ได้มากกว่า[4] นอกจากนี้ WHO ยังระบุว่า เราสามารถพบอาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด 19 ได้เหมือนกับวัคซีนชนิดอื่น แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราวและไม่รุนแรง เช่น การปวดบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาการข้างเคียงที่รุนแรงพบได้น้อยมาก แต่หากมีอาการมากขึ้นและไม่หายไปภายใน 2 - 3 วันหลังจากได้รับวัคซีน ควรพบแพทย์ด่วน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่เข้มแข็ง โดยระบบเฝ้าระวังและการติดตามเหตุไม่พึงประสงค์นั้นมีประโยชน์หลายประการ ได้แก่ การติดตามอาการข้างเคียงรุนแรงที่เกิดกับ ผู้ได้รับวัคซีน ประการที่สอง หลังการฉีดวัคซีนแก่คนจำนวนมาก มีโอกาสที่บางรายจะเกิดการเจ็บป่วยโดยที่อาการป่วยนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ในบางรายที่มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงหลังจากได้รับวัคซีน อาจทำให้ผู้ป่วยหรือครอบครัวเกิดความสงสัยว่า การเจ็บป่วยนั้นเกิดจากการได้รับวัคซีนก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนจึงมีการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากมีการตรวจพบเหตุไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ทีมผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาจะร่วมสอบสวนสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ โดยมีหลายกรณีที่พบว่า การเจ็บป่วยนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน เช่น ผู้ได้รับวัคซีนมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เป็นต้น
วัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ป้องกันเชื้อสายพันธุ์ล่าสุดได้
แนวโน้มของวิวัฒนาการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกอาจมีการชะลอตัว ทว่าการกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ที่ร้ายแรงยังเกิดขึ้นได้ และวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่อาจลดลงจากวัคซีนเข็มก่อนหน้านี้ และเพิ่มการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งมีความเปราะบาง ซึ่งหากติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายมากกว่า[5] ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น หลังวัคซีนเข็มสุดท้ายที่เคยได้รับมา 6 - 12 เดือน อาจมีความจำเป็น แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากโรคประจำตัวและสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งขณะนี้วัคซีนรุ่นใหม่ “XBB.1.5 โมโนวาเลนต์” ตัวล่าสุดที่ป้องกันโอไมครอนหลายสายพันธุ์และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีต่อสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะใช้ป้องกันโควิด-19 ปีนี้ได้มีการนำเข้าในไทยและมีให้บริการแก่ประชาชน[6]
[1] CDC (Centers for Disease Control and Prevention) - Benefits of Getting A COVID-19 Vaccine published on 23 Sep 2023
[2] World Health Organization (WHO): COVID-19 advice for the public: Getting vaccinated
[3] ICMRA statement on the safety of COVID-19 vaccines
[4] https://www.thelancet.com/journals/lanres/article/PIIS2213-2600(22)00059-5/fulltext
[5] ศูนย์จีโนมการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ Center for Medical Genomics, Thailand
[6] World Health Organization (WHO) - Statement on the antigen composition of COVID-19 vaccines
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหยื่อ 'แก๊งนักรบ' โผล่อีก! ผู้บังคับบัญชาพาพลทหารมอบตัวแล้ว
จากกรณีที่นายวิ่งและนางสาวกุลนันท์ ชาว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพ่อและแม่ของ นายระพีพัฒน์ หรือแพต อายุ 16 ปี ได้นำคลิปหลักฐานขณะลูกชายถูกรุมทำร้ายร่างกาย
ลุงวัย 63 ปี ซิ่งรถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง กลับจากเล่นสงกรานต์ เสียหลักชนเสาไฟเสียชีวิต
มีอุบัติเหตุรถสามล้อเครื่องชนเสาไฟฟ้ามีผู้เสียชีวิต ภายในซอยวัดด่านสำโรง แยกย่อยซอยสำโรงเหนือ 17 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
ตำรวจแจ้ง 5 จุดจอดรถ เล่นน้ำสงกรานต์พระประแดง 21 เม.ย.
จุดจอดรถ สงกรานต์พระประแดง วันอาทิตย์ ที่ 21 เม.ย.67 ระบุว่า มีจุดจอดรถยนต์ รองรับประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมสงกรานต์พระประแดง
กลุ่มโจ๋เล่นสงกรานต์ทำร้ายตำรวจ มอบตัวพร้อมนำกระเช้าขอโทษ
พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ (ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ) ได้เดินทางมาสอบถามเหตุการณ์ที่ตำรวจโดนทำร้ายร่างกายด้วยตัวเอง