"เสมา1" มอบ สพฐ. ใช้ระบบไอทีทำใบ ปพ.5 ช่วยลดขั้นตอนเอกสารของครูผู้สอน ใบสำคัญด้านการศึกษา หวังก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายลดภาระครู ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลุดกรอบการทำเอกสารของครูผู้สอนแบบเดิม สู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบโดยเร็วที่สุดนั้น จากที่ได้รับเสียงสะท้อนในโลกออนไลน์ เรื่องภาระครูที่มีความซ้ำซ้อนอยู่มากในหลายเรื่องที่ยังคงแบบเดิมอย่างเห็นได้ชัดคือ การที่ครูต้องกรอกรายละเอียดด้วยลายมือใน ปพ.5 เป็นเอกสารที่ผู้สอนจัดทำขึ้น เพื่อใช้บันทึกผลการเรียนเป็นรายวิชา แสดงผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับตรวจสอบยืนยันสภาพการเรียน และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยจำนวนนักเรียนแต่ละชั้นเรียนทำให้ใช้เวลานานและล่าช้า และด้วยแนวปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งบางประการทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามสู่ระบบดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ
.
โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ รมว.ศธ. มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าวจึงต้องการนำ Digital Transformation มาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการลดภาระครู ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของโลก โดยมอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดำเนินการในส่วนนี้เพื่อลดภาระครู ก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดทำใบ ปพ.5 และทุกเอกสารที่เป็นใบสำคัญทางด้านการศึกษา เพื่อลดขั้นตอนของครูผู้สอนอย่างเป็นระบบ และในอนาคตจะต้องตรวจสอบและติดตามข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 100% ซึ่งขณะนี้องค์การค้าของ สกสค. ได้จัดทำระบบจัดเก็บเอกสารหลักฐานทางการศึกษาแบบอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการผ่าน Block chain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย ไม่สามารถปลอมแปลงหรือแก้ไขได้ เป็นประโยชน์ในระยะยาว
.
ทั้งนี้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานทางการศึกษาแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดทำคำสั่งที่ลงนามโดย รมว.ศธ. และร่างแนวทางในการ Transform แปลงโฉมจากระบบเดิมที่ครูต้องบันทึกการผลการเรียนด้วยลายมือ ให้เกิดเป็นการลงระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดงานด้านเอกสารที่ซ้ำซ้อนของครูผู้สอน คาดว่าจะเสร็จสิ้น และให้สถานศึกษาเปิดใช้ได้อย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป และนอกจากจะเริ่มจาก สพฐ. แล้ว หน่วยงานอื่นในสังกัด ก็จะทยอยปฏิบัติตามให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning

กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม

การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ขับเคลื่อนได้จริงตามนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ.

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 ต้นแบบการส่งเสริม การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดย ดร.ภูมิ พระรักษา