ชาวบ้านมั่นคงสหกรณ์นิคมผ่านศึกพลิกฟื้นที่ดินรกร้างสร้างเศรษฐกิจชุมชน
ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ดินนิคมสร้างตนเองตำบลผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ (อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.) ยังเป็นที่ดินรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นที่ดินที่ทางราชการสงวนเอาไว้เพื่อความมั่นคง เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน อยู่ห่างจากเขตแดนไทย-กัมพูชาไม่กี่กิโลเมตร ในขณะที่สถานการณ์ชายแดนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมายังมีสงครามการสู้รบอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อสถานการณ์ชายแดนสงบลง ที่ดินรกร้างผืนนี้จึงถูกนำจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินตำบลผ่านศึก
ละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ผู้แทนเครือข่ายที่ดินและที่อยู่อาศัยจังหวัดสระแก้ว บอกว่า จังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่ชายแดน จึงมีที่ดินที่อยู่ในความดูแลของทหารหรือที่ดินที่สงวนไว้เพื่อความมั่นคงเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนมากที่ขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เครือข่ายที่ดินฯ และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้วจึงได้บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น หน่วยงานเจ้าของที่ดิน รวมทั้งตัวแทนประชาชนที่เดือดร้อน สำรวจข้อมูลปัญหาครอบครัวผู้ที่เดือดร้อนและที่ดินที่จะนำมารองรับ
ตัวแทนชาวบ้านร่วมกันสำรวจที่ดิน
“การแก้ไขปัญหาที่ดินที่ตำบลผ่านศึก เราใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลผ่านศึก ร่วมกับตัวแทนประชาชนที่เดือดร้อน จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับตำบลขึ้นมา โดยร่วมกันสำรวจข้อมูลปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งตำบล และนำข้อมูลมาทำประชาคม ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งตำบลผ่านศึก 1,244 ครัวเรือน พบว่า มีผู้ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 79 ครัวเรือน หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลไปพูดคุยกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน และทำเรื่องขอใช้ที่ดินผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เสนอไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา” ละอองดาวเล่าถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา
เขาบอกว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินในตำบลผ่านศึกใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีเศษ เริ่มต้นกระบวนการในปี 2560 ตั้งแต่การจัดเวทีประชุมผู้เดือดร้อน จัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบล สำรวจข้อมูล เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ฯลฯ หลังจากนั้นในปี 2561 จึงได้รับการอนุมัติให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของที่ดิน เนื้อที่ 100 ไร่ รองรับประชาชนที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 79 ครอบครัว ในลักษณะให้อยู่อาศัย แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์
พลิกผืนดินรกร้างสร้างเศรษฐกิจชุมชน
สุรพงษ์ เฟื่องรัศมี ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงนิคมผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว บอกว่า หลังจากชาวบ้านได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินแล้ว จึงได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดงานเรื่องที่ดิน โดยชาวบ้าน 79 ครอบครัวได้รับจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างบ้านครอบครัวละ 50 ตารางวา ที่ดินทำกินครอบครัวละ 3 งานเศษ ในลักษณะเช่าที่ดินผ่านสหกรณ์ คือที่อยู่อาศัยไร่ละ 100 บาทต่อปี ที่ดินทำกินไร่ละ 200 บาทต่อปี และต้องทำสัญญาใหม่ทุก 3 ปี โดยในเดือนตุลาคม 2561 มีการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกในที่ดินแปลงนี้ และมีการมอบหนังสือการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้แก่ชาวบ้าน
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ตำบลผ่านศึกเมื่อเดือนตุลาคม 2561
“พอขึ้นปี 2562 ชาวบ้านจึงเริ่มเข้ามาปลูกสร้างบ้าน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านและสาธารณูปโภคส่วนกลาง ครอบครัวหนึ่งประมาณ 72,000 บาท ส่วนอาชีพก็จะปลูกพืชผสมผสาน เพราะมีที่ดินไม่เยอะ เช่น ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย กล้วย ผักสวนครัว ส่วนที่ดินส่วนกลางเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ แต่เดิมเป็นที่ดินรกร้าง ชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกสมุนไพรและอ้อยคั้นน้ำ” ประธานสหกรณ์ฯ บอก
เขาบอกว่า นอกจากจะสนับสนุนงบสร้างบ้านแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ยังสนับสนุนงบพัฒนาคุณภาพชีวิตจำนวน 190,000 บาทให้แก่สหกรณ์ฯ เพื่อนำมาทำเรื่องการส่งเสริมอาชีพ สหกรณ์ฯ จึงพาสมาชิกไปดูตัวอย่างการปลูกอ้อยเพื่อคั้นน้ำทำน้ำอ้อยสดที่ตำบลบ้านแหลม จังหวัดจันทบุรี เพราะเห็นว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่โตไว ใช้เวลาปลูกประมาณ 8 เดือนก็สามารถนำมาคั้นน้ำบรรจุขวดขายได้ เริ่มปลูกในปี 2562 ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ใช้น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมักจากมูลวัว
อ้อยที่ปลูกเป็นพันธุ์สุพรรณ 50 ให้น้ำเยอะ มีรสหวาน กลิ่นหอม มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารต้านมะเร็ง ดื่มแล้วสดชื่น แก้กระหาย เริ่มบรรจุขวดขายในปี 2563 ขนาดขวดละ 250 ซีซี ขายราคาขวดละ 10 บาท โดยฝากร้านค้า รถเร่ และผลิตตามสั่ง วันหนึ่งจะผลิตได้ประมาณ 10 โหล หรือ 120 ขวด เดือนหนึ่งหลายพันขวด แต่มาสะดุดในช่วงโควิดแพร่ระบาด
“ข้อดีของการปลูกอ้อยคือ ปลูก 1 ครั้งจะให้ผลผลิตได้นาน 3 ปี นอกจากนี้เรายังปลูกสมุนไพร ใช้พื้นที่ 4 ไร่ ปลูกฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระเจี๊ยบส่งขายพ่อค้า และทดลองปลูกข้าวไร่ รวมทั้งผลิตปุ๋ยมูลสัตว์อัดเม็ด เดือนหนึ่งจะผลิตได้ประมาณเดือน 10 ตัน ราคาขายกิโลฯ ละ 5 บาท หรือตันละ 5,000 บาท แต่ตอนนี้ยังเพิ่งเริ่ม และทำเพื่อใช้กันเองก่อน” เขาบอก
เขาบอกด้วยว่า ตอนนี้ชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินนิคมผ่านศึกได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ชีวิตก็ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะมีบ้าน มีที่ดินทำกิน แม้จะไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่ไม่ต้องไปเร่ร่อนทำงานรับจ้างที่ไหน ได้อยู่กับครอบครัว ปลูกผักต่างๆ ส่งขาย มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวประมาณเดือนละ 8,000-9,000 บาท นอกจากนี้สหกรณ์ยังให้สมาชิกทั้ง 79 ครอบครัวร่วมกันออมเงินเข้าสหกรณ์ฯ เพื่อเป็นเงินสะสมของครอบครัว (ครอบครัวหนึ่งต้องถืออย่างน้อย 5 หุ้นๆ ละ 10 บาท) และต้องออมทุกเดือน ปัจจุบันมีเงินออมรวมกันประมาณ 50,000 บาทเศษ
เด็กๆ ในหมู่บ้านสหกรณ์ฯ
“ปีหน้านี้ เราจะทำเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป เน้นการส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ให้ปลูกสมุนไพรขาย เช่น ขมิ้นชัน เพราะตลาดต้องการเยอะ ราคาขายกิโลฯ ละ 25 บาท จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน ตอนนี้ทดลองปลูกแล้วได้ผลดี ถ้าทุกครอบครัวปลูกข้าวเอาไว้กินเองก็จะช่วยลดรายจ่าย เพราะตอนนี้ต้องซื้อข้าวกินทุกวัน” ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงนิคมผ่านศึกบอก
ขณะที่ ละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ผู้แทนเครือข่ายที่ดินและที่อยู่อาศัยจังหวัดสระแก้ว บอกในตอนท้ายว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ตำบลผ่านศึกถือเป็นต้นแบบที่จะทำให้ชาวบ้านที่ยากจนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่มั่นคง
“แต่ในจังหวัดสระแก้วยังมีชาวบ้านที่ขาดแคลนที่ดินอีกเป็นจำนวนมาก เครือข่ายที่ดินฯ จึงใช้ตำบลผ่านศึกเป็นต้นแบบ และขยายผลไปยังตำบลมหาวัน ตำบลตาหลังใน อำเภอวังน้ำเย็น โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เช่น อำเภอวังน้ำเย็น ป่าไม้เขต อบต. พอช. โดยเร็วๆ นี้ เครือข่ายฯ จะเสนอขอใช้ที่ดินป่าไม้ที่เอกชนเคยเช่าปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสในตำบลทุ่งมหาวันและตำบลตาหลังใน พื้นที่ประมาณ 800 ไร่ นำมาให้ประชาชนได้เช่าอยู่อาศัยและทำกินต่อไป”
การลงนามแก้ไขปัญหาที่ดินในอำเภอวังน้ำเย็นเมื่อ 11 มิถุนายน 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
ข่าวดี! กรมชลฯ เปิดรับแรงงานเกษตรกร 8.4 หมื่นราย
กรมชลฯเปิดรับแรงงานเกษตรกร หารายได้เสริมกว่า 8.4 หมื่นคน ช่วยงานโครงการพระราชดำริและงานขุดลอกคูคลองต่างๆ ทั่วประเทศสนใจสมัครด่วนวันนี้
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
กษ. เปิดแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก ‘ร้อยเอ็ด’
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่านายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแ
รัฐบาลขีดเส้น 30 วัน เร่งเยียวยาเกษตรกรใต้ 9.4 หมื่นราย
'อนุกูล' เผยรัฐบาลเร่งเยียวยาเกษตรกรชาวใต้หลังน้ำท่วม ตีกรอบสำรวจความเสียหาย 30 วัน รับเงินช่วยเหลือภายใน 10 วัน หลัง ธกส. อนุมัติ