ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์ด้านปริมาณและราคาปุ๋ยอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยคาดว่าตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปเกษตรกรจะมีการซื้อปุ๋ยกันมากขึ้นเพื่อเตรียมสำหรับฤดูเพาะปลูกประจำปีนี้ โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ภาคกลางจะเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกมากในช่วงเดือนมีนาคม - มิถุนายน และจากการติดตามพบว่า แม้ความต้องการใช้ปุ๋ยทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมีมากขึ้นตามช่วงเวลาและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ด้วยปริมาณปุ๋ยในตลาดโลกที่มีอยู่มาก โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียซึ่งเป็นแม่ปุ๋ยสูตรหลัก ทำให้คาดการณ์ว่าหากไม่มีสถานการณ์แทรกซ้อนใดเกิดขึ้นราคาปุ๋ยในตลาดโลกก็มีแนวโน้มที่จะทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ในส่วนของไทย ในปี 2566 มีการนำเข้าปุ๋ย 5.08 ล้านตัน มากกว่าปริมาณนำเข้าปี 2565 24% และในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ยังคงมีการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สต็อกปุ๋ย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 1.08 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ไม่มีปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอย่างแน่นอน จากการติดตามราคาปุ๋ยในปัจจุบัน (ราคาเฉลี่ยภาคกลาง) ก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกับของปีที่แล้ว (เดือนมีนาคม 2566) อาทิ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 850 บาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 13% ปุ๋ยฟอสเฟต (18-46-0) ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 1,150 บาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 34% ปุ๋ยโพแทส (0-0-60) ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 950 บาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 42% ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 530 บาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 22% ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 1,020 บาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 22% และปุ๋ยสูตร 16-20-0 ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 880 บาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 24%
อย่างไรก็ตาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่พี่น้องเกษตรกร เช่นเดียวกับการรักษาระดับราคาผลผลิตให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดี กรมการค้าภายในจึงได้ประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ทุกฝ่ายพร้อมที่จะร่วมกับกรมการค้าภายในจัดทำ “โครงการเชื่อมโยงปุ๋ยราคาถูกให้แก่เกษตรกร” เฟสที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2567 ต่อเนื่องจากเฟสหนึ่งที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยจะเชื่อมโยงปุ๋ยลดราคาจากโรงงานมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกร และจะทบทวนรายการปุ๋ยที่นำมาลดราคาทั้งหมดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ที่สำคัญยังคงครอบคลุมสูตรปุ๋ยที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชทุกชนิดเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว พืชไร่ พืชสวน หรือผลไม้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายการปุ๋ย ตั้งเป้าให้มีปริมาณปุ๋ยลดราคามากกว่าเฟสแรก (เฟสแรกมีปริมาณปุ๋ยเข้าร่วม 3.1 ล้านกระสอบ)
เกษตรกรที่สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านสถาบันเกษตรกรที่ตนเป็นสมาชิก เช่น สหกรณ์การเกษตร ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และแปลงใหญ่ ซึ่งสถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้รวบรวมยอด
การสั่งซื้อแจ้งไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรกรอยู่ในขณะนี้ก็สามารถรวมกลุ่มกันซื้อ หรือไปซื้อปุ๋ยจากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.dit.go.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลยันผู้ปลูกมันสำปะหลังไม่ถูกกดราคาแน่
รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นผู้ปลูกมันสำปะหลัง เตือนพ่อค้ากดราคา โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี จัดสายตรวจเฉพาะกิจ ลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายมันฯ ในแหล่งเพาะปลูกทั่วประเทศ รับฤดูเก็บเกี่ยวที่จะเริ่ม ธ.ค.นี้
พาณิชย์คุยปิดฤดูกาลผลไม้ราคาพุ่งทุกรายการ มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท
ปิดฤดูกาลผลไม้ปี 67 อย่างงดงาม เกษตรกรยิ้ม ราคาพุ่งทุกรายการ ส่งออกผลไม้ 8 เดือนแรกเป็นบวก รวมมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท “พิชัย”สั่งเตรียมมาตรการเชิงรุกปี 68 ต่อ