ประชาชน ข้าราชการ ‘จิตอาสา’ ร่วมพัฒนาคลองเปรมประชากร ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ (เมษายน 2562)
คลองเปรมประชากรเป็นคลองสายแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้ขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2413 เพื่อเป็นคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร ไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรี อยุธยา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเศษ มีความกว้างประมาณ 12 เมตร
โดยมีพระราชประสงค์เพื่อย่นระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงเก่า (อยุธยา) เนื่องจากเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมเป็นทางน้ำอ้อมวกเวียนใช้เวลาเดินทางนาน และเพื่อขยายพื้นที่การทำนาริมสองฝั่งคลอง เพราะเดิมพื้นที่แถบนี้เป็นป่ารกเต็มไปด้วยโขลงช้างป่า ไม่มีใครไปบุกเบิกถากถาง เพราะไม่มีคลองส่งน้ำ เมื่อขุดคลองขึ้นมาแล้ว ประชาชนจะได้มีความสะดวกสบาย ทั้งด้านการทำมาค้าขายและการสัญจรไปมา
ดังที่พระองค์ทรงบันทึกเอาไว้ว่า “จะให้ราษฎรได้ความเย็นใจ ราษฎรชายหญิง ทั้งคฤหัฐ บรรพชิต ลูกค้าวานิชและต่างภาษา ค้าขายขึ้นล่องคลองนี้โดยสะดวกทุกท่าน”
จึงโปรดเกล้าฯ จ้างแรงงานจีนมาขุด ใช้เวลาขุด 16 เดือน ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 2,544 ชั่ง 2 ตำลึง และพระราชทานนามว่า “คลองสวัสดิ์เปรมประชากร”
ในการขุดคลองครั้งนั้นได้มีการปักหมุดหมายริมคลองเปรมฯ จากคลองผดุงกรุงเกษมถึงพระนครศรี อยุธยา เพื่อบอกระยะทางทุกๆ 100 เส้น หรือ 4 กิโลเมตร รวม 13 หลัก แต่ปัจจุบันหลักหมุดทั้งหมดได้หายไป เหลือเพียงแต่ชื่อเช่น หลักสี่ (กรุงเทพฯ) และหลักหก (รังสิต)
ขณะเดียวกันเมื่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้รถยนต์ ใช้ถนนสัญจรไปมา คลองเปรมประชากรจึงลดความสำคัญลง....เมื่อเมืองมีการขยายตัว ที่ดินมีราคาแพง จึงทำให้มีผู้คนมาบุกเบิกจับจองสร้างบ้านเรือนริมสองฝั่งคลองเรียงรายหนาแน่น ตั้งแต่ย่านหลักสี่ ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี คนที่มาทีหลังหรือคนที่มีครอบครัวขยายก็ปลูกบ้านลงไปในคลอง จนกลายเป็นชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งหมด 38 ชุมชน กว่า 6,000 ครอบครัว
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงภาพคลองเปรมประชากร บริเวณดอนเมืองไปทางบางเขน ปี 2483 มีแต่ทุ่งนาและบ้านเรือนเป็นหย่อม (ภาพจาก U.of Wisconsin/facebook : Misc.Today)
วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และแผนฟื้นฟูคลองในกรุงเทพฯ
จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554 สาเหตุหนึ่งมาจากการระบายน้ำในคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีบ้านเรือนปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองจำนวนมาก ทำให้ลำคลองคับแคบ ตื้นเขิน
ในปี 2555 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เสนอแผนงานการแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วม ตามแผนจะมีการสร้างเขื่อนระบายน้ำและขุดลอกคลองในลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ จำนวน 9 แห่ง คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางเขน คลองสามวา คลองลาดบัวขาว คลองพระยาราชมนตรี คลองบางซื่อ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระโขนง แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการ
ล่วงมาถึงสมัยรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในปี 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ’ มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรกในปี 2559 โดยกรุงเทพมหานครรับผิดชอบก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวเพื่อป้องกันน้ำท่วม ระยะทางทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร
สภาพบ้านเรือนริมคลองลาดพร้าว (ด้านหลังมหาวิทยาลัยศรีปทุม) ก่อนการพัฒนา
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่สร้างบ้านเรือนรุกล้ำคลองลาดพร้าว (ที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ดูแล) จำนวน 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน โดยชุมชนเหล่านี้จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน ส่วน พอช.จะสนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อการก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ ตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’
โดยมีหลักการสำคัญ คือ 1.ชุมชนที่รื้อบ้านแล้ว หากอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ ชุมชนจะต้องรวมกลุ่มกันในนามสหกรณ์เคหสถานเพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจากกรมธนารักษ์ เช่าระยะยาว 30 ปีในอัตราผ่อนปรน 2.หากที่ดินไม่เพียงพอ อาจจัดหา หรือซื้อที่ดินแปลงใหม่ เพื่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่
เริ่มรื้อย้ายบ้านที่รุกล้ำคลองเพื่อก่อสร้างบ้านหลังแรกที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ซอยพหลโยธิน 54 (ตรงข้ามตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่) ในเดือนเมษายน 2559 โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ (ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี ต่อมาในช่วงต้นปี 2560 การก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่แห่งแรกริมคลองลาดพร้าวที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญจึงแล้วเสร็จ รวมทั้งหมด 65 หลัง
ปัจจุบัน การรื้อย้ายเพื่อก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ในคลองลาดพร้าว ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 35 ชุมชน 42 โครงการ สร้างบ้านเสร็จและมีประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้ว รวม 3,568 ครัวเรือน (50.47 %) ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว บริษัทรับเหมาก่อสร้างได้ก่อสร้างเขื่อนฯ โดยตอกเสาเข็มเพื่อเป็นฐานรากเขื่อน รวมระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตรเศษ จากระยะทางทั้งหมดประมาณ 45 กิโลเมตร)
บ้านใหม่ ชุมชนริมคลองลาดพร้าวหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เขตจตุจักร เป็นบ้านแถว ขนาด 2-3 ชั้น ด้านหน้าชุมชนปรับปรุงเป็นพื้นที่ขายอาหาร กระเป๋าสานชุมชน
การฟื้นฟูคลองเปรมประชากร...น้ำพระทัยจากในหลวง
ส่วนคลองเปรมประชากรที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความยาวกว่า 50 กิโลเมตร เชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมใจกลางพระนคร ผ่านหลักสี่ ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี และบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอดีตเป็นคลองที่มีความสำคัญด้านการคมนาคม การขนส่งข้าวและสินค้าต่างๆ
แต่สภาพปัจจุบันกลับกลายเป็นท่อน้ำทิ้งขนาดใหญ่ มีสภาพไม่ต่างจากคลองลาดพร้าว คือ น้ำในคลองเน่าเสีย มีบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง รุกล้ำคูคลอง ทำให้ลำคลองคับแคบ ตื้นเขิน ขยะลอยฟ่อง กีดขวางทางไหลของน้ำ คลองไม่สามารถช่วยระบายน้ำในยามน้ำท่วมได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554
ความเสื่อมโทรมของคลองเปรมประชากรดังกล่าวนี้ อยู่ในสายพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระ วชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรทั้งระบบ เพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของลำคลอง ทำให้ลำคลองกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง
โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาคลองเปรมประชากร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 โดยจัดทำ ‘โครงการจิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากร’ ขึ้นมา มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ประชาชนจิตอาสาร่วมกันเก็บขยะในคลอง ขุดลอกคลอง ปรับสภาพน้ำในคลองให้สะอาดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนริมคลอง ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
จิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากร
จากโครงการจิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ‘แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร’ ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี (พ.ศ.2562-2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร
ทั้งนี้เนื่องจากคลองเปรมฯ เป็นลำคลองที่รับน้ำมาจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ จากอยุธยา-ปทุมธานี-ลงมาถึงกรุงเทพฯ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย คลองเปรมฯ จึงมีความสำคัญในการช่วยระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยรัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนงานหลักระยะเร่งด่วน ปี 2562-2565 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,448 ล้านบาท คือ
1.กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ จากถนนเทศบาลสงเคราะห์ – สุดเขต กทม. ระยะทางทั้งสองฝั่ง 27.2 กิโลเมตร วงเงิน 3,443 ล้านบาท
2.กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่ – คลองรังสิตประยูรศักดิ์ วงเงิน 980 ล้านบาท
3.กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร วงเงิน 16 ล้านบาท
4.ขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร วงเงิน 9 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากรลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตจตุจักร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 650 ตารางกิโลเมตร
เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ รวมถึงยังช่วยรับน้ำฝนที่ระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ข้างเคียง คือ นนทบุรีและปทุมธานี และสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเจือจางน้ำเสียในคลองเปรมประชากรได้อีกด้วย...!!
สภาพบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองเปรมฯ (ตรงข้ามวัดเสมียนนารี) เขตหลักสี่
‘บ้านมั่นคง’ ของคนคลองเปรมฯ
ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรนั้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีแผนพัฒนาเช่นเดียวกับชุมชนริมคลองลาดพร้าว ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ พบว่า มีชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในลำคลองและพื้นที่ริมตลิ่งซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ทั้งหมด38 ชุมชน รวม 6,386 ครัวเรือนในพื้นที่เขตจตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และในจังหวัดปทุมธานี
โดยชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ทั้งหมด แต่จะต้องรื้อย้ายขึ้นมาสร้างบ้านใหม่บนฝั่ง เพื่อให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน และจะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (30 ปี) กับกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานดูแลที่ดินราชพัสดุ เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกเป็นเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย”
นอกจากนี้ตามแผนงานจะมีการปรับทัศนียภาพชุมชนริมคลอง ปลูกต้นไม้ให้มีความร่มรื่น เพื่อให้คลองเปรมประชากรมีความสวยงาม มีสภาพแวดล้อมที่ดี บ้านเรือนสวยงาม เปลี่ยนจากชุมชนแออัด เป็น “ชุมชนสุขภาวะดี” ส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ-ท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมรถ-ราง (ไฟฟ้า) -เรือ
การรองรับที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร พอช. ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว และนำหลักการของโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช.ใช้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศมาใช้ (เริ่มโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546) มีหลักการสำคัญ คือ “ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา”
เช่น ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน ร่วมกันออกแบบบ้าน-ผังชุมชน จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล สำหรับทำนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดิน ทำเรื่องขอใช้สินเชื่อจาก พอช. และร่วมกันบริหารโครงการ ฯลฯ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน เช่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ การประปา การไฟฟ้า หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ ฯลฯ
ขณะที่ พอช. นอกจากจะสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชน ส่งสถาปนิกเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชนแล้ว พอช.ยังสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 147,000 บาท เพื่อก่อสร้างบ้าน สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง และสนับสนุนสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท ผ่อนระยะยาว 20 ปี
พลเอกประยุทธ์เป็นประธานพิธียกเสาเอกสร้างบ้านที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร เป็นชุมชนแรกในคลองเปรมฯ จำนวน 210 ครอบครัว เมื่อมกราคม 2563
เริ่มก่อสร้างบ้านหลังแรกที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร ในเดือนมกราคม 2563 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธียกเสาเอก ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร หลังจากนั้นการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรและการก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ก็มีความคืบหน้าเป็นลำดับ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในพิธียกเสาเอกครั้งนั้นว่า ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถือเป็นชุมชนแรกในคลองเปรมประชากรที่มีการพัฒนา จากเดิมที่ชุมชนอยู่อาศัยอย่างไม่ถูกต้อง รัฐบาลก็ทำให้พี่น้องได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้อง เป็นบ้านที่ถูกกฎหมาย โดยมอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เพื่อให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยทุกคนภายในปี 2579 และนอกจากจะดำเนินการพัฒนาในคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าวแล้ว ต่อไปก็จะพัฒนาคลองสายอื่นในกรุงเทพฯ รวมทั้งหมด 9 คลองด้วย
“โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญ เป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทำให้คูคลองมีความสะอาด มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยให้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อน ร่วมมือกันพัฒนา เหมือนกับคลองลาดพร้าว ทำให้บ้านน่าอยู่ มีความสวยงาม ซึ่งต่อไปชุมชนจะต้องทำเรื่องท่องเที่ยว ทำเรื่องอาชีพ และเรื่องสิ่งแวดล้อม และให้ปลูกต้นไม้ มีสถานที่ให้เด็กได้พักผ่อน มีที่ค้าขาย และให้ทุกคนช่วยกันดูแลคลอง เพื่ออนาคตของลูกหลานต่อไป” พลเอกประยุทธ์กล่าว
ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน รวม 1,699 ครัวเรือน (26.61%) ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน (18.74 %) ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการ ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงที่ 4 ในพื้นที่เขตดอนเมือง โดย กทม.ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 3,200 เมตร จาก 10,700 เมตร มีความคืบหน้าของโครงการรวม 26%
ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร (ตรงข้ามวัดเสมียนนารี) สร้างบ้านเสร็จแล้ว รวม 283 ครอบครัว
เสียงจากคนริมคลองเปรม...
จสอ.พยัพ เขื่อนขันธ์ อายุ 77 ปี อดีตทหาร ม.พัน 4 เกียกกาย กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นประธานชุมชนประชาร่วมใจ 1 (ตรงข้ามวัดเสมียนนารี) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ บอกว่า ชุมชนประชาร่วมใจ 1 มีชาวบ้านเริ่มเข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมประชากรตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวปี 2489 โดยบิดาของตนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นครอบครัวแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมฯ
“เมื่อก่อนน้ำในคลองยังใสสะอาด เพราะแถวริมคลองเปรมฯ ยังมีแต่ทุ่งนา ชาวบ้านยังใช้น้ำในคลองทั้งอาบและกิน น้ำกินเราจะตักโอ่ง ใช้สารส้มแกว่งให้ตกตะกอนก็ใช้ได้ ปลาในคลองยังมีเยอะ กุ้งก้ามกรามตัวโตๆ ยังชุม บ้านผมเมื่อก่อนยังยกยอหาปลาเอาไว้กิน แต่ตอนหลังๆ ช่วงปี 2530-2531 น้ำในคลองเริ่มจะเสีย เพราะบ้านเมืองขยายตัว ทุ่งนากลายเป็นหมู่บ้าน น้ำจากที่ต่างๆ ทางดอนเมือง หลักสี่ ไหลลงคลองเปรมฯ ทำให้น้ำเน่าเสีย ช่วงหลังคนจากที่ต่างๆ ก็มาอยู่ริมคลองมากขึ้น มาปลูกบ้านริมคลองเพราะไม่ต้องเสียค่าเช่า บางครอบครัวก็ขยายบ้านลงไปในคลองเลย ทำให้กลายเป็นชุมชนแออัดริมคลอง” จสอ.พยัพบอก
ลุงพยัพบอกว่า ราวปี 2560 เริ่มมีข่าวการพัฒนาปรับปรุงคลองเปรมฯ มีทหาร มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเก็บขยะในคลอง ขุดลอกคลอง มีเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ ให้เหมือนกับคลองลาดพร้าว ชาวบ้านก็เริ่มกลัวว่าจะโดนไล่ที่ เพราะที่อยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปีเป็นที่ดินของหลวง ถ้าจะสร้างเขื่อนริมคลองตามแบบคลองลาดพร้าว กว้าง 38 เมตร ชาวบ้านก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องโดนไล่ที่แน่ๆ
“ตอนนั้นพวกเราเริ่มรวมตัวกันแล้ว เจ้าหน้าที่ พอช.เข้ามาแนะนำให้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนหาที่อยู่อาศัยใหม่ เราไปดูที่ดินแถวคลอง 9 อำเภอหนองเสือ ปทุมธานี เพราะที่แถวนี้มันแพง แต่ที่หนองเสือก็ไกล ห่างจากที่เดิม 30 กว่ากิโลฯ แต่พอตอนหลังรู้ข่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านทรงเมตตา ให้ชาวบ้านอยู่ที่เดิมได้ พวกเราก็ดีใจ ที่ไม่ต้องโดนไล่ที่ เพราะจะลำบาก ทั้งเรื่องการทำงาน เรื่องโรงเรียนของลูกหลาน” ลุงพยัพเล่า
ลุงบอกว่า ชาวบ้านทั้งชุมชนมีทั้งหมด 283 ครอบครัว เมื่อรู้ว่าจะได้อยู่อาศัยในที่เดิม แต่จะต้องขยับบ้านให้พ้นแนวคลอง แนวก่อสร้างเขื่อน และร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนทำเรื่องที่อยู่อาศัยโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช.จะสนับสนุน ส่วนใหญ่ก็พร้อมจะเข้าร่วม มีเพียง 2 หลังที่ไม่เข้าร่วม โดยชาวบ้านร่วมกันออมเงินเป็นรายเดือนครอบครัวหนึ่งตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป เริ่มออมช่วงปี 2561 เป็นต้นมา
หลังจากนั้นจึงมีการประชุมชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ เพื่อทำความเข้าใจกับโครงการ พาชาวบ้านไปดูโครงการบ้านมั่นคงที่ทำไปแล้วในคลองลาดพร้าว เพื่อให้ทุกคนเกิดความเชื่อมั่น ร่วมกันออกแบบบ้านในฝัน เป็นบ้านใหม่ที่สวยงาม ไม่ผุพัง ทรุดโทรมเหมือนที่เป็นอยู่ มีทางเดินเลียบคลองสะดวกสบาย มีที่ดินที่เช่าจากกรมธนารักษ์อย่างถูกต้อง (ช่วงแรก 30 ปี /ราคาตารางวาละ 3 บาท/เดือน)
จนถึงปี 2564 เมื่อชาวบ้านออมเงินกันได้จำนวน 5 % ของวงเงินที่จะขอใช้สินเชื่อสร้างบ้านจาก พอช. (ไม่เกิน 360,000 บาท) จึงร่วมกันจดทะเบียนเป็น ‘สหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 1 จำกัด’ เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล และทำโครงการขอใช้สินเชื่อสร้างบ้านจาก พอช. เริ่มสร้างบ้านในช่วงกลางปี 2564 จำนวน 283 หลัง โดยการจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
ขนาดบ้านมีหลายแบบ ตามขนาดพื้นที่และจำนวนผู้อยู่อาศัย เช่น บ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4x7, 5x6 และ 6x7 ตารางเมตร และบ้านชั้นเดียว ราคาประมาณหลังละ 490,000 บาท ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,800 บาท ระยะเวลา 20 ปี สร้างบ้านเสร็จตั้งแต่ปี 2565 ตอนนี้ชาวบ้านเข้าอยู่กันหมดแล้ว และช่วยกันปลูกต้นทองอุไรริมคลอง ทำให้ชุมชนดูสวยงาม ร่มรื่น มีทางเดินเลียบคลอง ใช้ขี่จักรยานเลียบคลองเพื่อออกกำลังกายหรือท่องเที่ยวก็ได้
“พวกเราต่างปลาบปลื้ม ดีใจ ที่ในหลวงท่านมีเมตตาต่อประชาชน ทำให้พวกเรามีบ้านอยู่ที่เดิม ไม่ต้องย้ายไปไหน ไม่งั้นคงลำบากกันน่าดู เพราะทั้งสายคลองมี 30 กว่าชุมชน คนอยู่กว่า 6 พันครอบครัว คนเป็นหมื่นๆ คนจะย้ายไปอยู่ที่ไหนได้” ลุงพยัพ หรือ จสอ.พยัพ เขื่อนขันธ์ ประธานชุมชนประชาร่วมใจ 1 บอก
นอกจากชาวชุมชนริมคลองเปรมฯ จะมีบ้านใหม่ที่มั่นคงแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานต่างๆ ยังจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ วัฒนธรรม สร้างอาชีพ ปลูกต้นไม้ ปรับภูมิทัศน์ริมคลอง ฯลฯ เพื่อให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“คนจนไม่ทิ้งกัน” สร้าง ‘บ้านกลาง’ ให้ผู้ด้อยโอกาส
สุุพิชญา สร้อยคำ ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่่นคงเปรมประชาสมบููรณ์ จำกัด บอกว่า ชุมชนเดิมมีสภาพเป็นสลัม ตั้งอยู่หลังโรงแรมอมารี เขตดอนเมือง เมื่อก่อนชาวบ้านจะสร้างบ้านอยู่ริมคลอง บางหลังก็รุกลงไปในคลอง ส่วนใหญ่ใช้ไม้อัด สังกะสีสร้างบ้าน อยู่กันมานานหลายสิบปี จนบ้านเรือนทรุดโทรม เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ ชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้านเพราะอยากจะมีบ้านใหม่ มีชีวิตที่ดีขึ้น จึงเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุน รวมทั้งหมด 125 ครอบครัว เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ค่าก่อสร้างประมาณหลังละ 403,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,900 บาท โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณรวมทั้งหมด 19 ล้านบาทเศษ และให้สินเชื่อสร้างบ้าน รวม 44 ล้านบาท
เริ่มสร้างบ้านเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โดยจ้างบริษัทรับเหมา แล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ขณะนี้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว เปลี่ยนสภาพจากชุมชนที่เคยปลูกสร้างบ้านเรือนหนาแน่นแออัด สภาพทรุดโทรม เป็นชุมชนใหม่ที่ดูสวยงาม สะอาดตา มีสภาพแวดล้อมที่ดี
นอกจากนี้ ชาวชุมชนยังร่วมกันสร้าง ‘บ้านกลาง’ ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส 1 หลัง คือนายสมาน พิลึก อายุเกือบ 70 ปี อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีงานและรายได้ประจำ อาศัยเพียงเบี้ยยังชีพคนชราและงานรับจ้างเล็กน้อยๆ เมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงฯ คณะกรรมการสหกรณ์ฯ เห็นว่า นายสมานคงไม่สามารถหารายได้มาเข้าร่วมโครงการได้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทอดทิ้งกัน โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อสร้างบ้านคอนกรีตชั้นเดียว ขนาด 3.5 X 7 ตารางเมตร ให้นายสมานได้อยู่อาศัย มีบ้านที่มั่นคงเหมือนกับชาวชุมชนคนอื่นๆ
“คนจนๆ ไม่มีรายได้ประจำ ถ้าเราจะไปกู้ธนาคารเพื่อจะสร้างบ้าน คงไม่มีธนาคารที่ไหนจะให้กู้แน่ๆ ต้องขอขอบคุณ พอช.และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยให้ชาวชุมชนคลองเปรมฯ มีที่อยู่อาศัยที่ถูกกฎหมาย มีบ้านใหม่ที่สวยงาม มั่นคง ไม่ต้องกลัวถูกไล่รื้ออีกต่อไป” สุุพิชญา ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่่นคงเปรมประชาสมบููรณ์ แกนนำบ้านมั่นคงบอกทิ้งท้าย...
บัดนี้คลองเปรมประชากรที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้ขุดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2413 ล่วงมาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 150 ปี ผ่านแผ่นดินมาแล้ว 6 รัชสมัย และเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา กำลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ลำคลองกลับคืนความสมบูรณ์ ใสสะอาด ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเชื่อมโยงการเดินทาง ทั้งทางรถยนต์ รถรางไฟฟ้า ทางเรือ และจักรยาน เพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวชุมชนได้
สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ที่ว่า “จะให้ราษฎรได้ความเย็นใจ ราษฎรชายหญิง ทั้งคฤหัฐ บรรพชิต ลูกค้าวานิชและต่างภาษา ค้าขายขึ้นล่องคลองนี้โดยสะดวกทุกท่าน”
สุพิชญา ผู้นำชุมชน (ซ้าย) นำ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (ขวา) ตรวจเยี่ยมการก่อสร้าง (มีนาคม 2566) ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งชุมชน
****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต