การมีส่วนร่วมฟื้นฟูประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาทางน้ำของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโดทำให้ได้รับรางวัล “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประเภท ‘การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ’
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www.thaipost.net/public-relations-news/546209/)
โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 10 ด้าน ‘การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
ชาวบ้านริมคลองลาดชะโดยังหาปลาด้วยการยกยอ
ย้อนตำนานคนลาดชะโด
ชาวบ้านลาดชะโดแต่เดิมคงมีหลายเชื้อชาติ ที่มีมากคือไทยและมอญ การตั้งบ้านเรือนนิยมตั้งบนทำเลริมน้ำ อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนา เพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้ทุ่งลาดชะโด ซึ่งเป็นพื้นที่ดินตะกอนปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีคลองลาดชะโดซึ่งเชื่อมต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นทางน้ำสำคัญ เป็นหมู่บ้านที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำในแถบนี้ ปัจจุบันได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
สถานที่น่าสนใจของชุมชน ได้แก่ วัดลาดชะโด ที่เป็นวัดเก่าแก่มานานกว่า 200 ปี แต่เดิมพื้นที่วัดถูกล้อมรอบด้วยลำคลองมีลักษณะคล้ายเกาะ มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง วัดลาดชะโดมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับชุมชนตลาดลาดชะโด เนื่องจากตลาดลาดชะโดตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด และที่ดินที่ใช้ก่อสร้างตลาดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งกรรมสิทธิ์ของวัด โดยวัดได้ยินยอมให้ก่อสร้างตลาดลาดชะโดขึ้น สมาชิกในตลาดจึงผูกพันอยู่กับวัด วัดและตลาดจึงเอื้อแก่กันในด้านต่างๆ วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในตลาดที่เกือบจะทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนตลาดเองก็เกื้อหนุนทํานุบํารุงวัดอย่างแข็งขันมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมี ‘ศาลเจ้าลาดชะโด ศาลผีใหญ่ และศาลพ่อใหญ่’ (ทั้ง 3 ศาลตั้งอยู่ใกล้กัน) เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน รวมถึง ‘ตลาดลาดชะโด’ ซึ่งก่อตั้งมานานนับ 100 ปี โดยพัฒนามาจากตลาดน้ำ ชุมชนเดิมในตลาดมาจากชุมชนเรือนแพค้าขาย เกิดเป็นรูปแบบของตลาดน้ำ ถึงแม้ปัจจุบันความคึกคักในด้านการค้าขายของตลาดน้ำจะซบเซาลง แต่พื้นที่ดังกล่าวก็ยังมีความน่าสนใจและยังคงมีเสน่ห์ของตลาดเก่าแก่ ดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนตลอดมา รวมทั้งยังใช้เป็นฉากในการถ่ายทำหนังและละครย้อนยุคหลายเรื่อง เช่น “บุญชู” ,“รักข้ามคลอง”,“ดงดอกเหมย” , “ความสุขของกะทิ” เป็นต้น
เดิมทีชาวลาดชะโดตั้งแต่อดีตใช้เรือเป็นหลัก จนกระทั่งปี 2530 ถนนหนทางตัดผ่านบ้านลาดชะโดไปยังอำเภอและจังหวัด วิถีชีวิตจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเรือก็เริ่มเป็นรถยนต์ ทำให้ความสำคัญของเรือลดลง และในเวลาต่อมาเรือก็ค่อย ๆ ถูกขายออกไป เรือที่ผุพังก็ไม่มีการดูแลรักษา
ในปี 2552 ชุมชนลาดชะโดเริ่มฟื้นฟูประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งในปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ครอบคลุมหลายพื้นที่ในภาคกลาง รวมไปถึงบ้านลาดชะโด ถนนหนทางเต็มไปด้วยน้ำ การคมนาคมขณะนั้นมีเพียงเรือเท่านั้นที่สามารถใช้สัญจรไปมาได้
หลังจากนั้นชาวลาดชะโดจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรือเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้มากมายนัก ดังนั้นผู้นำชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชนจึงเริ่มหาวิธีเพื่ออยากจะให้เรือคงอยู่กับชาวลาดชะโดตลอดไป
คนในตำบลและทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเพณี
กองทุนสวัสดิการสืบสานงานประเพณีแห่เรือทางน้ำ
ในปี 2560 แกนนำในตำบลได้จัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด’ ขึ้นมา เพื่อมุ่งสร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับคนในชุมชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน
กองทุนสวัสดิการฯ มีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่ 1.สวัสดิการด้านการเกิด 2.สวัสดิการด้านสงเคราะห์ผู้สูงอายุ 3.สวัสดิการด้านการรักษาพยายาลและสาธารณสุข 4.สวัสดิการด้านการเสียชีวิต 5.สวัสดิการด้านการศึกษา 6.สวัสดิการด้านผู้สูงอายุ/คนพิการ/ผู้ด้อยโอกาส/โรคร้ายแรง 7.สวัสดิการด้านประเพณีวัฒนธรรม 8.สวัสดิการด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และ 9.สวัสดิการด้านการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และอื่น ๆ ตามมติของคณะกรรมการ
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด มีสมาชิกจำนวน 1,634 คน ซึ่งครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ทุกพื้นที่ในเขตเทศบาล จาก 17 หมู่บ้าน 19 ชุมชน มียอดรายรับทุกด้าน 4,761,691 บาท รายจ่ายทั้งสิ้น 2,455,746 บาท ยอดเงินคงเหลือ 2,305,945 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566)
การดำเนินงานของกองทุนฯ จะมีการประชุมร่วมกันเดือนละครั้ง เพื่อนำเรื่องราวหรือปัญหาต่าง ๆ ของกองทุนฯ รวมทั้งการรับฟังความเห็นจากสมาชิกแล้วใช้มติที่ประชุมเพื่อตัดสินใจ โดยกองทุนฯ มีรูปแบบการรับเงินสมทบ 4 ขา ได้แก่ 1.สมทบจากสมาชิกกองทุนฯ โดยมีรูปแบบการเก็บทั้งที่เป็นรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือรายปีตามความสะดวกของสมาชิก 2. การสมทบจากภาครัฐผ่านทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’
3.การสมทบจากเทศบาลฯ และ 4. จากเงินบริจาค โดยกองทุนฯ จะมีการเปิดรับบริจาคทุกวันที่ 1 กันยายนของทุกปีซึ่งเป็นวันก่อตั้งกองทุนฯ และจะมีการรับสมัครสมาชิกใหม่ โดยเน้นการสื่อสารว่า “กองทุนสวัสดิการชุมชนคือกองบุญ” เป็นการออมวันละบาทเพื่อส่วนรวม เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยพี่น้องชาวลาดชะโดในสวัสดิการ 9 อย่าง
กองทุนฯ ได้ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นการวางรากฐานของคุณภาพคนในชุมชนด้วยการให้สวัสดิการด้านการศึกษาแก่สมาชิกที่เป็นเด็กและเยาวชน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนสมาชิกกองทุนฯ (ข้อมูลปี 2566) ที่เป็นเด็กและเยาวชนมีสัดส่วนถึง 710 คน (จากทั้งหมด 1,975 คน) และมีการเชื่อมโยงการทำงานกับโรงเรียนวัดลาดชะโด ในการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี มีการจัดทำข้อมูลและพิพิธภัณฑ์ประเภทเรือต่าง ๆ ที่ชาวลาดชะโดเคยได้ใช้เป็นพาหนะ ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้มีความรู้ในเชิงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นรวมถึงมีความหวงแหน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมประเพณีสำคัญ
นอกจากนี้กองทุนฯ ยังมีส่วนในการฟื้นฟูงานประเพณีแห่เทียนทางน้ำ โดยมีเป้าหมายที่อยากเห็นความยั่งยืนของประเพณี ประชาชนเกิดความรักและหวงแหนภูมิปัญญาและวิถีพื้นถิ่น จึงประชุมหารือทุกภาคส่วนที่เป็นเครือข่ายในชุมชน เกิดการระดมความคิดในด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง อีกทั้งมีภาครัฐ โดยเฉพาะท้องถิ่นคอยสนับสนุน เพื่อให้งานแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ลาดชะโดเป็นที่รู้จัก สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชน เกิดกระแสรักและหวงแหนเรือ การละเล่นพื้นบ้าน ภูมิปัญญาพื้นถิ่น
เด็กนักเรียนร่วมกันทำเรือจำลอง
คนลาดชะโดร่วมใจอนุรักษ์เรือ-ฟื้นประเพณี
จากการที่กองทุนฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมให้ดำรงอยู่ เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สร้างกิจกรรมอันเป็นศูนย์รวมให้คนทุกเพศทุกวัยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สร้างการเรียนรู้ร่วมกันทุกฝ่ายโดยใช้กิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมเป็นแก่นแกนในการเชื่อมโยง โดยใช้กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ เป็นกลไกที่มีความเป็นกลางเชื่อมประสานทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์ ได้แก่
1.ชาวบ้านในชุมชนหยุดการขายเรือ เริ่มอนุรักษ์เรือ และเยาวชนเรียนรู้ในการบำรุงรักษา ซ่อมแซมเรือ เพื่อให้เรือคงอยู่ สามารถใช้สัญจรในยามอุทกภัย อีกทั้งนำเรือร่วมขบวนในงานประเพณีแห่เทียนทางน้ำทุกปี ทำให้เรือยังคงอยู่คู่ชาวลาดชะโดตลอดไป
2.เกิดกระแสรักษ์บ้านเกิด รักประเพณีดั้งเดิม และหวงแหนวิถีชาวน้ำ ชาวเรือ ทำให้งานแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ลาดชะโดเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานจำนวนมากทุกปี
นักท่องเที่ยวเดินทางมาแน่นขนัดทุกปี
3.เกิดการอนุรักษ์เพลงเรือ ร้องรำในเรือ ขยายสู่โรงเรียน ประถม มัธยม โรงเรียนผู้สูงอายุ ฝึกร้องรำและเล่นในเรือ และมี “เพลงแห่เทียนพรรษาคลองลาดชะโด” เป็นเพลงประจำตำบล
4ใเกิดกระแสหวนคืนถิ่น ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำทุกปี ชาวลาดชะโดที่เคยเกิดหรือเคยตั้งถิ่นฐานที่บ้านลาดชะโดในอดีตจะมาร่วมประเพณีดังกล่าว โดยพาลูก พาหลาน บ้างก็พาพ่อพาแม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยชรามาหวนรำลึกถึงอดีต จนกลายเป็นภาพแห่งความประทับใจ
5.เกิดการนำภูมิปัญญาการแทงหยวกกล้วยและการต่อเรือจำลองเพื่อเป็นที่ระลึกมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนและเยาวชนเพื่อใช้ในการตกแต่งเรือแห่เทียนพรรษาทางน้ำในทุก ๆ ปี
6. นำภูมิปัญญาการต่อเรือจำลองเป็นที่ระลึกมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนและเยาวชนเพื่อเป็นอาชีพเสริม
การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมดังกล่าว ทำให้เกิดความสำนึกรักบ้านเกิด การอนุรักษ์อาชีพ เพลงพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจ จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เช่น บริษัทแทนไท กรีนคลีน จำกัด วิสาหกิจในชุมชน หน่วยงานรัฐ โรงเรียนทั้ง 2 แห่ง สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ทั้ง 2 ตำบล สถานีตำรวจภูธรลาดชะโด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการจัดงานแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ลาดชะโดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เรือประเภทต่างๆ ที่ชาวลาดชะโดร่วมกันดูแลรักษา
ปัจจัยสู่ความสำเร็จของกองทุนฯ
การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโดที่มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมทางน้ำ รวมทั้งการบริหารกองทุนฯ ให้เป็นที่พึ่ง ช่วยเหลือสมาชิกได้ทั่วถึง มีปัจจัยต่างๆ ดังนี้
การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ ทุกคนจะยึดหลักการในการสื่อสารเดียวกันว่า การทำงานกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้นถือเป็นการทำบุญร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน โดยเน้นสื่อสารว่า เงินที่ทุกคนร่วมกันสมทบนั้นเป็น “กองบุญ” ที่ช่วยเหลือพี่น้องชาวลาดชะโดในสวัสดิการ 9 อย่าง
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ โดยมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วม ใช้ทักษะด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์ทั้งในด้านกิจกรรมของกองทุนฯ หรือในด้านกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน ผ่านการสื่อสารระหว่างคณะกรรมการกองทุนฯ สมาชิกกองทุนฯ ด้วยการมีห้องพูดคุยผ่านระบบ Line
รวมทั้งการใช้ Facebook Page เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของกองทุนฯ เช่น เผยแพร่กิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมสำคัญที่กองทุนฯ โดยร่วมดำเนินการกับภาคีทุกภาคส่วนในชุมชน จนทำให้เกิดการยอมรับทั้งจากคนในชุมชนและนอกชุมชน
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้ตกแต่งเรือเพื่อเข้าร่วมขบวนในงานแห่เรือเพื่อประชาสัมพันธ์กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ในงานด้วยเช่นกัน
การใช้ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การที่กองทุนสวัสดิการฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม โดยนำมาเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วม และสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์แบ่งบทบาทที่สำคัญของแต่ละภาคส่วนร่วมกันได้ภายใต้กิจกรรมประเพณีของชุมชน เพราะเรื่องประเพณีวัฒนธรรมได้แทรกซึมเข้าไปยังตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่จากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะประเพณีแห่เรือประจำปี ทุกคนต่างมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของงานด้วยกัน
การทำงานด้วยใจและเสียสละของผู้นำ ผู้นำหรือแกนนำที่เป็นคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ รวมถึงที่ปรึกษากองทุนฯ มีความตั้งใจจริงและเห็นประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะการทำงานของผู้นำที่ทุกคนใช้วิธีการทำงานให้เห็นเป็นตัวอย่าง ใช้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้นำเข้ามาบริหารจัดการได้อย่างดี อีกทั้งคณะกรรมการกองทุนฯ หลายท่านเป็นอดีตข้าราชการ และครูเกษียณทำให้มีลูกศิษย์มากมายที่เคารพนับถือ สามารถสร้างฐานการรับรู้และขยายผลการรับรู้ในการดำเนินงานของกองทุนฯ ได้อย่างน่าเชื่อถือ
การทำงานด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลและยึดหลักการระเบียบของกองทุนฯ การทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ เป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “เงิน” ซึ่งมีทั้งเงินสมทบจากสมาชิก การสมทบผ่านหน่วยงานต่างๆ และการบริจาค ทำให้ทุกขั้นตอนในการทำงานจึงต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยใช้การประชุมเป็นพื้นที่สำคัญในการตัดสินใจร่วมกันในทุกเรื่อง มีหลักฐานการทำงานทุกเรื่อง และต้องอยู่บนหลักการและระเบียบกองทุนฯ เป็นสำคัญ ไม่ทำนอกเหนือจากระเบียบที่กำหนดไว้ พร้อมกับสื่อสารเรื่องต่างๆ ให้สมาชิกรับทราบ
การประชุมของคณะกรรมการกองทุนฯ ยึดระเบียบข้อบังคับเป็นหลัก
การทำงานเป็นทีมยึดหลักประชาธิปไตยในการทำงาน “ฟังและเข้าใจ” กองทุนสวัสดิการฯ มีการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่เป็นคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งต่างมีการรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่รับฟังเด็กและเด็กรับฟังผู้ใหญ่ สร้างความเข้าใจและยอมรับความสามารถของแต่ละฝ่าย สร้างทีมทำงานที่สอดประสานช่วยเหลือกันของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า
หน่วยงานภาคีให้ความสำคัญ กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง จึงอาศัยพลังในการทำงานจากภาคีต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งเทศบาลตำบลลาดชะโดให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากร รวมถึงบทบาทของนายกเทศมนตรี (ปัจจุบัน คือนายเกรียงศักดิ์ พิมพันธ์ดี) ที่ได้เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาของกองทุนฯ รวมถึงการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วย
การจัดการความรู้และข้อมูล คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มีคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในด้านการจัดทำสื่อและข้อมูลเข้ามาร่วมทำงานข้อมูลและความรู้ที่สำคัญ เช่น มีฐานข้อมูลคนในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน มีฐานข้อมูลความรู้ด้านวัฒนธรรม
นอกจากนี้กรรมการกองทุนฯ แต่ละหมู่บ้านได้ช่วยกันสำรวจเรือไทยโบราณในลาดชะโด พบว่ามี 1.เรือไม้สักทอง ได้แก่ เรือเอี่ยมจุ๊น เรือแปะ(ป๊าบ) เรือแปะมอญ เรือหมู เรือบด เรือเข็ม เรือสำปั้น 2.เรือขุดจากไม้ตะเคียนทอง ได้แก่ เรือมาด (ใหญ่ กลาง เล็ก) เรือพายม้า (ใหญ่ กลาง เล็ก) รวมแล้วมีเรือรวมทั้งสิ้น 373 ลำ แบ่งเป็นเรือไม้สักทุกชนิด 326 ลำ เรือขุดจากไม้ตะเคียน 47 ลำ (ข้อมูลยังไม่ครบถ้วน)
ก้าวต่อไป...กองทุนสวัสดิการฯ มีแผนงานและเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรในพื้นที่ภายใน 2 ปี (ปัจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,634 คน) รวมถึงการขยายผลการทำงานของกองทุนฯ ที่จะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขยะของชุมชนในระยะถัดไป
นอกจากนี้กองทุนฯ ยังเล็งเห็นถึงคุณภาพชีวิตของคนทุกคนในชุมชนจึงมีแผนงานด้านการส่งเสริมอาชีพ เช่น การทำอาหารท้องถิ่นให้กับผู้สูงอายุในชุมชนที่ไม่ใช่สมาชิกกองทุนฯ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ต่อไป...!!
********************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา