กระทรวง พม. จัดประชุมแก้ปัญหา “วิกฤตประชากร” ‘วราวุธ’ แนะเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน ชวนทุกหน่วยงานแก้ปัญหาไปด้วยกัน

นายวราวุธ  รมว.พม. (ที่ 5 จากซ้าย) กับผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง พม.

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ / วราวุธ รมว.พม. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" เนื่องจากสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  มีเด็กเกิดน้อย  ขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น และอยู่ในภาวะ “แก่ง่ายตายยาก”  ทำให้เกิดปัญหาประชากรวัยแรงงานลดลง  ส่งผลต่อการผลิตและ GDP ของประเทศ  ทำให้เศรษฐกิจถดถอย  แนะต้องปรับวิธีคิดและการทำงานใหม่ “ให้คนไทยทุกคนเป็นพลังงานในการพัฒนาประเทศ” ด้านวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ม.จุฬาฯ ศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต้องเร่งทำทันทีเพื่อฝ่าวิกฤตทางประชากร  5 ด้าน

วันนี้ (7 มีนาคม 2567) เวลา 09.00-13.00 น. ที่ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย  กรุงเทพฯ  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร"

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้  เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่าย NGOs และองค์กรประชาสังคม รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencers)เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน

กระทรวง พม.ชวนทุกหน่วยงานเปลี่ยนวิธีคิด-วิธีทำงานก้าวข้ามปัญหาประชากร

นายวราวุธ ศิลปอาชา  รมว.พม. แถลงนโยบายการขับเคลื่อนงาน "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" เพื่อให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากรที่ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ  โดยมีใจความสำคัญว่า  ประเด็นท้าทายของสังคมไทยในอีก 10 ปีนับจากนี้  คือสังคมสูงอายุ  ซึ่งเกิดจากภาวะเจริญพันธุ์ที่น้อยลง มีคนเกิดน้อยลง โดยในปี 2500 อัตราการเกิดต่อผู้หญิง 1 คน จะมีลูก 6 คน  หรือมีอัตราการเกิด 1 ต่อ 6 แต่ปัจจุบันอัตราการเกิด คือ 1 ต่อ 1  ขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิด  1 ต่อ 1.3 และเกาหลี 1 ต่อ .07  นอกจากนี้ประชากรยังมีอายุยืนมากขึ้น  อายุเฉลี่ยคนไทย  67 ปี  คนไทยจึง “แก่ง่ายตายยาก”

“ประชากรไทยในช่วงปี 2562-2566  จำนวนคนไทยหายไปเกือบ 5 แสนคนในช่วง 4 ปีเท่านั้น เพราะคนเกิดน้อย  แต่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นๆ ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ  และจะกลายเป็นสังคมสูงอายุชั้นสุดยอดเหมือนญี่ปุ่นในระยะต่อมา  คือเด็กเล็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น  และอายุยืนมากขึ้น”  นายวราวุธ รมว.พม.กล่าว   และว่า  ปัญหาที่เกิดขึ้น  คือใครจะเป็นคนดูแลผู้สูงอายุ ?  เพราะเมื่อ 17 ปีที่แล้ว อัตราการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ 1 คนจะมีคนวัยทำงานดูแล 6 คน  แต่ตอนนี้จะมีคนคอยดูแลผู้สูงอายุ 3.2 คนต่อ 1 คน  และอีก 10 ปีข้างหน้าจาก 3.2 คนจะเหลือผู้ดูแลเพียง 2 คน

นายวราวุธ  รมว.พม.

นอกจากนี้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพ  ในปี 2566  รัฐบาลใช้เงินทั้งหมด 7.7 หมื่นล้านบาท  จากจำนวนผู้สูงอายุ  10.3 ล้านคน แต่หากช่วยเหลือแบบขั้นบันได  อีก  5 ปีจะต้องใช้เงินถึง  1.2 แสนล้านบาท และหากช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า  คนละ 1 พันบาท จะต้องใช้เงิน 1.9 แสนล้านบาท  และถ้าเพิ่มเป็นคนละ 3 พันบาท  จะต้องใช้เงินเกือบ 5.6 แสนล้านบาท  ซึ่งจะทำให้ประเทศมีปัญหาด้านงบประมาณ  และจะนำไปสู่การล้มละลาย  เพราะไม่มีเงินจ่าย  รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ  เพราะประชากรสูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคน  และอาจต้องใช้เงินประกันสุขภาพอีกเกือบ 6 หมื่นล้านบาท  รวมแล้วเกือบล้านล้านบาท

“ความท้าทายที่เกิดขึ้น  คือ  เด็กน้อยลง  แรงงานน้อยลง  และมีปัญหาด้านคุณภาพของแรงงาน  ดังนั้นจึงต้องพัฒนาด้านการศึกษา  ให้ได้มาตรฐาน  ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน”  รมว.พม.กล่าว และว่านอกจากนี้ยังมีปัญหาครอบครัวไทยเริ่มน้อยลงๆ  เกิดครอบครัวที่อยู่คนเดียวมากขึ้น ครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังก็จะมีมากขึ้น

ดังนั้นประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปได้อย่างไร ? เพราะตลาดประเทศไทยจะเล็กลง กำลังการผลิตและคุณภาพการผลิตจะลดน้อยลงด้วย  จะทำให้ระบบเศรษฐกิจถดถอย  เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ เช่น  สวัสดิการสังคม  ความมั่นคงของมนุษย์  รายได้ประชาชาติจะลดน้อยลง  เกิดผลกระทบทุกกระทรวง

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า  วันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด  เปลี่ยนวิธีทำ เพราะถ้าไม่เปลี่ยน  เราจะเจอปัญหาแบบเดิมๆ  นำไปสู่การตายหมู่  ดังนั้นประชาชนคนไทยทั้ง 66 ล้านคน  ทุกคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของสังคมไทย  เป็นพลังในการพัฒนาสังคม จะต้องพึ่งพาตนเอง  และครอบครัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเพื่อให้คนมีกำลังกายและใจออกไปสู้กับปัญหาต่าง ๆ  และต้องเปลี่ยนสังคมปัจเจก เป็นสังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เหมือนสังคมสมัยก่อน ต้องมองประโยชน์ของตัวเองน้อยลง  มองผลประโยชน์ของประเทศชาติมากขึ้น  เปลี่ยนความคิดจากสังคมแข่งขันเพื่อตัวเอง ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสังคมพอเพียง 

“วันนี้กระทรวง พม. กำลังเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง  ไม่ใช่เป็นกระทรวงสังคมสงเคราะห์อีกต่อไป   แต่เราจะทำงานเชิงรุก  เราจะ empower   กระทรวง พม.วันนี้เราเริ่มเปลี่ยนแล้ว  ผมขอเชิญหน่วยงานทุกๆ หน่วยงานของประเทศไทยมาเปลี่ยนไปพร้อมกันๆ   และผมเชื่อเราจะก้าวข้ามปัญหานี้ไปด้วยกัน” นายวราวุธ ศิลปอาชา  รมว.พม.กล่าว

ประชุม World Café นำข้อเสนอ 5 กลุ่มมาจัดทำแผน

นอกจากการแถลงนโยบายการขับเคลื่อนงาน "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร"  โดยนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.พม.แล้ว  การประชุมเชิงปฏิบัติการวันนี้ยังมีการระดมความคิดเห็นจากที่ประชุมในรูปแบบ World Café เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวสู่ความมั่นคงของมนุษย์ โดยแบ่งเป็นการปฏิบัติการกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเด็กและเยาวชน    2.กลุ่มวัยทำงาน 3.กลุ่มผู้สูงอายุ 4.กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และ 5.กลุ่มระบบนิเวศน์เพื่อความมั่นคงของครอบครัว

การประชุม World Café มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น ในประเด็นที่กลุ่มได้กำหนดเอาไว้  แต่มีบรรยากาศแบบมิตรไมตรี  เหมือนกำลังนั่งคุยเรื่องราวต่างๆ กับกลุ่มเพื่อนสนิทในร้านกาแฟ

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมงาน

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการระดมความเห็นแบบ World Café แล้ว  วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ศึกษาถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่ต้องเร่งทำทันทีเพื่อฝ่าวิกฤตทางประชากร  โดยมีข้อเสนอดังนี้

1.เสริมพลังวัยทำงาน มีเป้าหมายคือ “ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครองครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต” 2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน มีเป้าหมาย คือ “เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ”

3.สร้างพลังผู้สูงอายุผ่อนหนักให้เป็นเบา มีเป้าหมาย คือ “พลิกวิกฤติทางประชากรให้เป็นโอกาส” 4. เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ มีเป้าหมายคือ “เสริมศักยภาพคนพิการ สร้างโอกาสที่เท่าเทียม” และ 5. สร้างระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม “เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ทั้งการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและชุมชนที่น่าอยู่”

ทั้งนี้หลังจากการประชุมครั้งนี้แล้ว กระทรวง พม. จะดำเนินการจัดทำสมุดปกขาว “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์” เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะนำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (57th Session of Commission on Population and Development : CPD57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567

********************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย