10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (8) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว จ.นครพนม “จากการสงเคราะห์...สู่การพัฒนาทั้งตำบล”

คณะกรรมการสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว อ.เมือง จ.นครพนม เยี่ยมบ้านสมาชิกกองทุนฯ ที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว  อ.เมือง  จ.นครพนม  เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www.thaipost.net/public-relations-news/546209/)

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 8 ด้าน ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว  อ.เมือง  จ.นครพนม ก่อตั้งเมื่อปี 2557 โดยได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน จ.นครพนม  แกนนำในตำบลวังตามัวจึงเห็นชอบที่จะมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเอาไว้ช่วยเหลือกัน  โดยมีระเบียบให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนคนละ 365 บาท/ปี  แล้วนำเงินกองทุนนั้น  รวมทั้งเงินสมทบจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และ อบต.วังตามัว มาช่วยเหลือสมาชิกที่มีความเดือดร้อนจำเป็น  มีสมาชิกแรกตั้ง 92 คน  สมาชิกปัจจุบัน จำนวน 1,271  คน (บุคคลทั่วไป 597 คน เด็ก/เยาวชน 138 คน ผู้สูงอายุ 536 คน /จำนวนประชากรในพื้นที่ 9,003 คน) มีเงินคงกองทุนฯ คงเหลือ  จำนวน 2,277,275 บาท

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว  มีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก 11 ประเภท ได้แก่ 1.รับขวัญเด็กแรกเกิด/ผูกแขนบุตร 2.เจ็บป่วย 3.เสียชีวิต 4.งานประเพณี 5.ทุนการศึกษา 6.ภัยพิบัติ  โรคระบาด เช่น สถานการณ์โรคระบาด covid-19 7.พัฒนาอาชีพกลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส  (ทำเหรียญโปรยทาน พวงหรีด ดอกไม้จันทน์)  8. ส่งเสริมโรงเรียนผู้สูงอายุ 9. ส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การปลูกป่า) 10.สนับสนุนสาธารณประโยชน์  งานประเพณีต่าง ๆ  และ 11.ที่อยู่อาศัย 

ทั้งนี้ในตำบลวังตามัว  มีพื้นที่ทั้งหมด 76,181 ไร่  มีพื้นที่การเกษตร 12,135 ไร่ ที่อยู่อาศัย 564 ไร่ พื้นที่ป่า 49,096 ไร่ที่ซ้อนทับอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตที่ดิน ส.ป.ก.  ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นคงเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัย

ในปี 2559 คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว ได้เยี่ยมเยือนสมาชิกกองทุนฯ ในหมู่บ้านต่างๆ ทำให้เห็นความเป็นอยู่ของสมาชิกที่มีฐานะยากจน  บางหลังสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ผุพัง  ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย หรืออาจเป็นอันตรายแก่เด็กหรือผู้สูงอายุ  เช่น  กรณีนางดวงตา  จันทะสิทธิ์  บ้านเลขที่ 204 หมู่ 6 บ้านคำสว่าง 

ขณะเดียวกัน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ เช่น  โครงการบ้านมั่นคงชนบท  ซึ่ง พอช.สนับสนุนให้องค์กรชุมชนในตำบลเป็นแกนหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยมีสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ต่างๆ เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวจึงทำงานร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลวังตามัว  ลงพื้นที่สำรวจจัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อนในปัญหาต่างๆ   นำข้อมูลมาวิเคราะห์  สังเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มปัญหา  จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ เชื่อมโยงการทำงานกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตตำบลวังตามัว  โดยมีกรณีนางดวงตา  จันทะสิทธิ์  เป็นครัวเรือนแรกๆ ที่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวได้นำงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. นำมาซ่อมสร้างบ้านให้นางดวงตา  จนมีสภาพบ้านเรือนที่มั่นคงปลอดภัย  หลังจากนั้นจึงขยายไปสู่ครัวเรือนต่างๆ ในตำบล

ส่วนการสำรวจข้อมูลเพื่อช่วยเหลือสมาชิกด้านที่อยู่อาศัยนั้น  คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ แต่ละหมู่บ้านจะเป็นผู้สำรวจ  และนำข้อมูลแต่ละหมู่บ้านมาดูพร้อมกัน  โดยมีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมด้วย   และจัดลำดับความเดือดร้อนว่าหลังไหนเดือดร้อนมากน้อยขนาดไหน  ฉายภาพให้เห็นว่าหลังไหนสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือก่อน

จากสงเคราะห์สู่การพัฒนา...แก้ปัญหาทั้งตำบล

นอกจากการซ่อมสร้าง พัฒนาที่อยู่อาศัย  ดังกล่าวแล้ว  ในเวลาต่อมากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวยังได้ขยายไปแก้ไขปัญหาอื่นๆ  เช่น  ปัญหาที่ดินทำกิน  โดยใช้พื้นที่กลางเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ทำฟาร์มชุมชน  และการปลูกป่าหัวไร่ปลายนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า 

ฟาร์มชุมชน เป็นพื้นที่กลางเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ชาวบ้านเรียกว่า “ฟาร์มชุมชน” มี 2 แห่ง ได้แก่ ฟาร์มชุมชนตำบลวังตามัว 1  มีพื้นที่ 6 ไร่ ฟาร์มชุมชนตำบลวังตามัว 2 มีพื้นที่ 12 ไร่  โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ด้านการเกษตรเพื่อสร้างอาชีพ  โดยการลงแรง  ร่วมมือ  ร่วมใจของสมาชิกกองทุนฯ   

ปัจจุบันฟาร์มชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้  โดยจะมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้ด้านการเกษตรทุกสัปดาห์ ขณะที่ชาวชุมชนได้ใช้ฟาร์มชุมชนเป็นพื้นที่สาธิตปลูกข้าวแปลงรวม เลี้ยงหมู ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ด  ฯลฯ  มีสมาชิก  50 คน

เช่น  กลุ่มเลี้ยงตั๊กแตนมีสมาชิก 20 ครัวเรือน สมาชิกจะระดมทุนไปซื้อไข่ตั๊กแตนมาแบ่งกันเลี้ยงคนละ 1 ขีด  จากไข่ 1 ขีดสามารถเลี้ยงเพิ่มปริมาณได้ถึง 4 กิโลกรัม  ราคาไข่ตั๊กแตน 1 ขีด 600 บาท หรือกิโลกรัมละ 6,000 บาท  ทำให้สมาชิกมีรายได้ดีกว่าการทำนา 

จากการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีบทบาทในการประสานงานและแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกในชุมชนว่ากองทุนสวัสดิการฯ สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่สมาชิกและชาวบ้านในตำบลได้ ทำให้เกิดผลต่างๆ ดังนี้

1.เกิดความมั่นคงด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ที่ดินในตำบลได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ตามแนวทาง คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ/ในระดับจังหวัดมี ผวจ.เป็นประธาน)ในพื้นที่เขตป่าสงวนเสื่อมโทรม  เกิดการวางแผน จัดผัง การใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมอย่างมีส่วนร่วม

  1. เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในตำบล ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ จำนวน 309 ครัวเรือน
  2. เกิดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ยึดโยงผ่านระบบชุมชน ตามอัตลักษณ์และบริบทของพื้นที่ เกิดระบบกองทุนที่อยู่อาศัยป้องกันเหตุการณ์ที่ดินหลุดมือ มีกองทุนสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนได้  เกิดการเชื่อมโยง คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
  3. เกิดการสร้างรายได้ อาชีพ ให้กับคนในชุมชน สร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน มีสถานที่จำหน่าย กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาในระดับจังหวัด
  4. เพิ่มพื้นที่ป่าไม้และการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่

อบต.วังตามัวให้การสนับสนุนการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน

กองทุนสวัสดิการฯ เชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาตำบล

การพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในตำบลวังตามัว กองทุนสวัสดิการชุมชนมีบทบาทในการประสานเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมงาน ดังนี้  1.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนด้านงบประมาณ  ให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาโครงการ  2.องค์กรบริหารส่วนตำบลวังตามัวสนับสนุนด้านสถานที่และบุคลากร  3.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม (พมจ.)สนับสนุนด้านงบประมาณ  ให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาโครงการ

4.สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนครพนมสนับสนุนด้านการฝึกอบรมฝีมือช่างชุมชน เพื่อพัฒนาฝีมือช่างในการสร้าง-ซ่อมแซมบ้านให้ได้มาตรฐาน 5.มณฑลททหารบกที่ 210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง อ.เมือง จ.นครพนม สนับสนุนงบประมาณ  สมทบปูน 50 ถุง และแรงงานช่วยเหลือสร้างบ้าน

6.ศูนย์ผู้สูงอายุ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม  สนับสนุนด้านงบประมาณซ่อมแซมบ้านและห้องน้ำผู้สูงอายุ  7.สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) สนับสนุนด้านบุคลากรให้ความรู้และความร่วมมือ และเป็นที่ปรึกษาในการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม 8.ป่าไม้จังหวัดนครพนมสนับสนุนด้านบุคลากรให้ความรู้กับชาวบ้าน

9.ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ จังหวัดนครพนม สนับสนุนแรงงาน และการประชาสัมพันธ์ 10.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังตามัวสนับสนุนด้านบุคลากรและด้านสุขภาวะอนามัยของคนในชุมชน  และ 11.กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนให้ความร่วมมือและทำกิจกรรมร่วมกัน

พื้นที่ป่าชุมชนกว่า 1,200 ไร่ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล

ป่าชุมชนสร้างแหล่งอาหารได้รับรางวัล ‘ลูกโลกสีเขียว’

ลุงคำผ่อน  บุญหาร  อดีตผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายก อบต.วังตามัว ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการอนุรักษ์ป่ามาตั้งแต่ปี 2534 บอกว่า  สมัยที่ตนเป็นผู้ใหญ่บ้านพรเจริญ  ทำหน้าที่รักษาป่า แม้ว่าในอดีตจะมีผู้เข้ามาบุกรุกถางป่าเพื่อปลูกข้าว ปลูกฝ้าย  ตนจึงได้เริ่มอนุรักษ์ป่าไว้ให้ลูกหลาน  ต้องต่อสู้กับผู้บุกรุกเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2534  ถึงปี 2540   ได้ของบประมาณจากสำนักงานที่ดินเพื่อให้มารังวัดพื้นที่ป่า เพื่อไม่ให้คนไปบุกรุก ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมาเนื้อที่  1,200 ไร่  และมีคณะกรรมการช่วยกันจัดกิจกรรมอนุรักษ์ป่า เช่น การป้องกันไฟป่า   การทำแนวกันไฟ

ปี 2542 ได้รับธงพิทักษ์ป่าจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้โรงเรียนในตำบลเห็นความ สำคัญของการอนุรักษ์ป่า จึงให้นักเรียนมาเรียนรู้  พาลูกหลานมาเรียนมาศึกษาเรื่องต้นไม้ ประโยชน์ของป่า  และต่อมาในปี 2552  ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นการจัดประกวดทั่วประเทศโดย ปตท.

จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรเจริญที่ลุงคำผ่อนและชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา จึงทำให้ป่าเป็นแหล่งอาหาร  มีหน่อไม้  ผักหวาน  เห็ดป่า  สมุนไพรต่างๆ  ทำให้มีพี่น้องชาวบ้านจากขอนแก่น หนองบัวลำภู  ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี ฯลฯ  เข้ามาเก็บหาของป่าเอาไปกินและขาย  

นอกจากนี้ลุงคำผ่อนในฐานะอดีตนายก อบต.วังตามัว  ได้เปรียบเทียบการทำงานของ อบต.ที่ผ่านมาว่า อบต.ยังไม่สามารถช่วยเหลือเข้าถึงพี่น้องชาวบ้านได้อย่างเต็มที่  หากจะใช้จ่ายเงินให้พี่น้องต้องมีระเบียบ กฎกติกา ยุ่งยาก แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนของไทบ้าน (ชาวบ้าน) ธรรมดาๆ เข้าถึงพี่น้องได้ง่าย ยืดหยุ่นกว่า  มีระเบียบของกองทุน มีกฎกติการใช้เงินสวัสดิการที่ไม่ยุ่งยาก  เพราะเป็นระเบียบที่ชาวบ้านร่วมกันกำหนดขึ้นมาเอง

ผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลวังตามัว

ก้าวย่างต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัว

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวก่อตั้งในปี 2557  ปัจจุบันดำเนินการมาได้ 10 ปี  มีประสบการณ์การทำงานและบริหารกองทุนพอสมควร  โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ช่วยกันสรุปบทเรียนการทำงานดังนี้

“ทุกวันนี้กองทุนฯ อยู่ได้เพราะการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เงินทุกบาททุกสตางค์  มีการชี้แจงตามข้อมูลชัดเจนว่า  เงินจากสมาชิก เงินจากรัฐ  อบต.  รวมกันเป็นจำนวนเท่าไหร่ คงเหลือเท่าไหร่  เน้นการบริหารงานอย่างโปร่งใส  ถ้าเราทำแบบโปร่งใสให้ทุกคนรับรู้  เชื่อว่าคนอื่นๆ ก็อยากมาทำงานกับเรา   แต่ถ้าเก็บข้อมูลไว้คนเดียว  ใช้เงินคนเดียว คณะกรรมการคนอื่นก็คงไม่อยากทำงานด้วย  เชื่อว่าหากบริหารแบบนี้กองทุนจะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ   วังตามัวจะไม่มีเรื่องร้องเรียน” 

“ความโปร่งใส  จึงทำให้ยืนหยัดอยู่ได้ทุกวันนี้  ถ้าสมาชิกไม่เพิ่มขึ้นก็จะหารือร่วมกันว่าทำไม ? หรือว่าชาวบ้านไม่เข้าใจกองทุนฯ  ต้องลงพื้นที่หมู่บ้านที่คิดว่ามีปัญหา  ไปทำความเข้าใจเพื่อให้ได้สมาชิกเพิ่มเข้าขึ้น  แต่ถ้ายังไม่สำเร็จก็แปลว่าการสื่อสารของเรายังไม่ดีพอ  ความนอบน้อมถ่อมตน  ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและคนอื่น  คณะกรรมการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  หากไม่เข้าใจก็จะมานั่งคุยกัน มีทะเลาะกันบ้าง   คลี่คลายปัญหาแต่จบในที่ประชุม  ทำกันอย่างนี้ตลอด  ถ้าคณะกรรมการมีปัญหา  เราช่วยกันแก้ไข  รับฟังความคิดของเพื่อนๆ อยู่ด้วยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ตำบลวังตามัวจะค่อยเป็น...ค่อยไป...ทำตามขั้นตอน”    

นอกจากนี้เพื่อให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังตามัวมีความมั่นคง  ยั่งยืน  ช่วยเหลือสมาชิกได้ยาวนาน คณะกรรมการกองทุนฯ จึงมีการปรับปรุงระเบียบของกองทุนให้มีความเหมาะสม  ไม่เกิดความเสี่ยงด้านการเงิน 

เช่น จากเดิมเปิดรับสมัครสมาชิกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 90 ปี  ปัจจุบันเปิดรับสมาชิกอายุไม่เกิน 65 ปี  เพราะผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตมาก  ทำให้กองทุนฯ ต้องจ่ายเงินสวัสดิการมาก  เงินกองทุนฯอาจร่อยหรอ และหากสมาชิกผู้สูงอายุในครัวเรือนใดเสียชีวิต  กองทุนฯ จะมีระเบียบให้คนในครอบครัวเข้าเป็นสมาชิกแทนผู้ที่เสียชีวิต  เพื่อจำนวนสมาชิกจะไม่ลดน้อยลง ส่งผลต่อเงินสมทบจากสมาชิกคนละ 365 บาท/ปีด้วย !!

********************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

แจงดราม่า! งานตักบาตรพระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด โยนออแกไนซ์รับผิด

จังหวัดนครพนม ได้รายงานข้อเท็จจริง กรณีงาน "มหาบุญแห่งศรัทธานครพนม" โดยตามที่ปรากฏข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็น "ทัวร์ลงยับ นิมนต์พระ 1 พันรูป ปล่อยนั่งตากแดด" เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น

สิ้นท่า 'ท้าวตู้' ตัวตึงค้ายาฝั่งโขง ยอมแฉหมดเปลือกแลกอิสรภาพ

นครพนม-จู่โจมจับกลางลำน้ำ “ท้าวตู้ตัวตึงฝั่งโขง” พร้อมชาวประมงคนไทยรวม 2 ราย ทำทีหาปลาแฝงขนยาบ้า ลูกเล่นอ้างจะแฉชื่อเอเยนต์ เพื่อแลกกับอิสรภาพ

ทัวร์ลงยับ! นิมนต์พระ 1 พันรูป ตักบาตรริมโขง ปล่อยพระนั่งตากแดดจนเหงื่อชุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้ชื่อ “Kittichai Kaenjan” โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีข้อความว่า “มนต์พระมานั่งตากแดด จนหลวงพ่อเปียกเมิด บาดเจ้าของนั่งในฮ่ม (พระกะคนใด๋ ฮ้อนเป็นคือกัน) บางอำเภอมาตั้งแต่ตี 3 นั่งถ้าจนหกโมง

เบื้องหลัง 'เรือไฟ' แชมป์เก่า อ.ปลาปาก ไหม้ก่อนไหลโชว์ สูญเกือบล้าน

เบื้องหลังเรือไฟ อ.ปลาปาก มูลค่าเกือบล้านบาท ไฟไหม้ก่อนไหลโชว์ ตะเกียงไส้ยาวจนลามไปอีกดวง กลุ่มผู้สร้างขอนำไปแก้ไข เพื่อทวงบัลลังก์แชมป์คืน เสียดายเงินเหมือนโยนทิ้งน้ำ

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’