คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www.thaipost.net/public-relations-news/546209/)
โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 7 ด้าน ‘การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
กองทุนสวัสดิการฯ สร้างชุมชนเข้มแข็ง
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี ก่อตั้งเมื่อ 7 มกราคม 2554 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้านการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในการใช้ชีวิต มีสวัสดิการที่คอยช่วยเหลือสมาชิกและคนในชุมชน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชุมชนฐานรากและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมในการพัฒนาคุณภาพที่ดี
มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักออมเงินเพื่อแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิกตลอดชีวิต ในเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เพื่อให้เกิดคุณธรรม ความสามัคคี มีน้ำใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา สร้างสัมพันธภาพที่ดีแก่สมาชิก เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง มีองค์กรที่คอยช่วยเหลือเมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือจำเป็น และกองทุนฯ จะไม่ดำเนินการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์กำไรสูงสุดทางทรัพย์สิน แต่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก
กองทุนฯ มีคณะกรรมการจำนวน 22 คน ความสัมพันธ์ของคณะทำงานในกองทุนและชุมชน คณะกรรมการทำงานด้วยความเข้าใจกัน มีการรับฟังซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือ “เป็นกรรมการในรูปแบบของพี่น้อง” ไม่มีปัญหาทะเลาะกัน ถ้าใครมีเวลาว่างก็มาช่วยกันสลับผลัดเปลี่ยนกัน เป็น ”รูปแบบการช่วยเหลือกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนในพื้นที่”
มีการจัดสวัสดิการ จำนวน 9 ประเภทให้แก่สมาชิก คือ 1.สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 2.สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 3.สวัสดิการกรณีเสียชีวิต 4.สวัสดิการคนด้อยโอกาส/พิการ 5.สวัสดิการเพื่อการศึกษา 6.สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 7.สวัสดิการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 8.สวัสดิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 9.สวัสดิการอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด–19 ครอบครัวยากจน เป็นต้น
ส่วนหนึ่งของลวดลายผ้าทอนาหมื่นศรี
ทุนของคนนาหมื่นศรี
ตำบลนาหมื่นศรี ได้เริ่มการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยให้กับคนในชุมชนจากสิ่งที่มีในชุมชน นั่นคือ วิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าของชุมชน สิ่งเหล่านี้ได้แก่ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” เป็นผ้าทอที่มีลวดลายการทอที่ประณีต มีเอกลักษณ์เฉพาะ ชุมชนได้อนุรักษ์ลายผ้า ฝึกเยาวชนทอผ้าเพื่อสืบสานและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
“การทำนาข้าว” และ “ข้าวเบาม่วง” เป็นความมั่นคงทางอาหารของชุมชน และก่อให้จิตสำนึกการรักผืนแผ่นดินเกิด รักที่นา ให้คงอยู่คู่นาหมื่นศรี
“ถ้ำเขาช้างหาย” เป็นมรดกทางทรัพยากรธรรมชาติที่ได้สร้างจิตสำนึกให้คนนาหมื่นศรีรักและใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เป็นมรดกชุมชน จากมรดกทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในชุมชน ทำให้เกิดการส่งเสริมสนับสนุนด้านอาชีพ เมื่อมีอาชีพก็ทำให้มีรายได้ นำมาซึ่งความมั่นคงทางด้านอื่นๆ ตามมา เช่น ด้านเศรษฐกิจ อาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม บุคคล และชุมชน กองทุนฯ ยังให้ความสำคัญของคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการกองทุนฯ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้กองทุนฯ ส่งต่อภารกิจไปยังคนรุ่นต่อไป
กองทุนสวัสดิการฯ สร้างความมั่นคง 6 ด้าน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรีมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนา และสร้างความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านอาหาร ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านบุคคล และด้านชุมชน
ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ คือ การที่ประชาชนมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอในการพึ่งตนเอง กองทุนฯจึงร่วมสนับสนุนส่งเสริมด้านอาชีพเสริมในชุมชน โดยมีกรรมการกองทุนฯ และสมาชิกร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างอาชีพเสริม เพราะเมื่อมีอาชีพเสริมก็จะมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจในชุมชนก็ดีขึ้นนำมาซึ่งความมั่นคงทางด้านอื่นๆ ตามมา
1.“ผ้าทอนาหมื่นศรี” เป็นสินค้า OTOP ชื่อดังของจังหวัดตรัง โดยประธานกลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรีซึ่งเป็นกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ เป็นผู้ที่เชิญชวนสมาชิกกองทุนฯ ให้เข้าร่วมกลุ่มทอผ้าเพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงของชุมชน ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มทอผ้าประมาณ 50% เป็นสมาชิกของกองทุนฯ การทอผ้าของที่นี่จะทำเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ประมาณ 3,000-12,000 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับปริมาณการทอผ้า
2.การเสริมสร้างความมั่นคงในวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น สืบสาน รักษา ต่อยอดให้แก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้แก่ โครงการยุวชาวนา กองทุนฯ ได้รับการสนับสนุนจากประธานกองทุนฯ โดยร่วมกับโครงการการทอผ้า โดยให้บุตรหลานของสมาชิกกองทุน และสมาชิกกองทุนฯ เข้าร่วมโครงการ เป็นการปลูกฝังบุตรหลานให้รักษามรดกท้องถิ่นเอาไว้
3.กลุ่มอาชีพเสริมในชุมชน เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของสมาชิกกองทุนฯ และคนในชุมชน ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาของท้องถิ่นชุมชนนาหมื่นศรี เกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มอาชีพ กลุ่มเหล่านี้สามารถสร้างรายได้และเกิดอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนทอผ้านาหมื่นศรี วิสาหกิจชุมชนลูกหยีแปรรูปเมืองตรัง วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรไสเดือย (เครื่องแกง) วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคนาหมื่นศรี วิสาหกิจชุมชนบ้านไสใหญ่ วิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวตำบลนาหมื่นศรี และกลุ่มอาชีพในตำบลนาหมื่นศรี ได้แก่ กลุ่มนาอินทรีย์ กลุ่มนาหญ้า กลุ่มผู้สูงอายุ ทำพวงหรีดจากผ้าทอนาหมื่นศรี และดอกไม้จันทน์
ข้าวเบายอดม่วง
ความมั่นคงด้านอาหาร คือ การที่คนในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยในตำบลนาหมื่นศรีมีการทำนาและมีพื้นที่นาข้าวมากที่สุดในจังหวัดตรัง ชุมชนมี “ข้าวเบายอดม่วง” ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีประโยชน์ ข้าวที่ปลูกได้ส่วนหนึ่ง กองทุนฯ จะนำมาเป็นของเยี่ยมผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางในชุมชน
นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการสืบทอดการทำนาไปสู่รุ่นต่อไป ชุมชนได้ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้ทำนาในโครงการยุวเกษตร รวมทั้งชุมชนยังมีอาชีพเสริมอื่น ได้แก่ การปลูกพืชผักไว้บริโภคในชุมชน เมื่อเหลือแล้วจึงค่อยนำไปจำหน่าย การเลี้ยงผึ้งและมีผลผลิตน้ำผึ้งจำหน่าย การแปรรูปลูกหยี ฯลฯ
ความมั่นคงด้านสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้กับสมาชิกและประชาชนในชุมชน ที่ตำบลนาหมื่นศรี กองทุนฯ ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ร่วมกันรณรงค์ให้สมาชิกกองทุนฯ และประชาชนใส่ใจตรวจสุขภาพและออกกำลังกาย โดยมีคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้นำเต้นออกกำลังกาย แอโรบิค และป้องกันความเสี่ยงของโรคตามช่วงวัย เช่น โรคความดันโลหิต และโรคเบาหวาน โดยมุ่งเน้นการประชุมร่วมกันและแนะนำการดูแลสุขภาพในทุกๆ ช่วงวัย เพื่อให้ชุมชนมีสุขภาพที่ดีและมีความมั่นคงในการรับมือกับโรคต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ตำบลนาหมื่นศรีมีทรัพยากรที่มีคุณค่าคู่นาหมื่นศรีคือ “ถ้ำเขาช้างหาย” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง ซึ่งกองทุนฯ มีบทบาทร่วมกับท้องที่ท้องถิ่นในการวางแผนดูแลรักษาให้ถ้ำเขาช้างหายมีความสมบูรณ์คงอยู่ตลอดไป โดยกรรมการและสมาชิกกองทุนฯ จะทำหน้าที่เป็นผู้นำเที่ยวและบรรยายชี้แจงให้นักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญ เกิดความหวงแหน และร่วมรักษาเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน
นอกจากนี้ ถ้ำเขาช้างหายยังเป็นสถานที่จัดงานประเพณีและกิจกรรมต่างๆ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ในงานมีกิจกรรมสอยดาวพาโชคที่จัดโดยกองทุนฯ (ปี 2566) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นได้สร้างรายได้แก่ชุมชน และสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มอาชีพเสริมอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ผลิตผ้าทอ กลุ่มแปรรูปลูกหยี
ความมั่นคงด้านบุคคล กองทุนฯ ได้จัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับชุมชนและฐานะทางการเงินของกองทุนฯ เช่น การสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ การช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ญาติ การออกเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ให้มีกำลังใจในการมีชีวิต และส่งความห่วงใย เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กองทุนฯได้จัดชุดออกเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 100 ชุด
ทั้งนี้นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนฯ ในปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้จัดสวัสดิการให้สมาชิกกองทุนฯ ตั้งแต่เกิดจนตายถึง 1,513 ราย รวมเป็นเงิน 1,165,592 บาท นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น
การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง การไปเยี่ยม การช่วยผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ การประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รพ.สต. อบต. พมจ.ตรัง ให้เข้าไปช่วยเหลือโดยตรง
ความมั่นคงด้านชุมชน คือ การที่คนในชุมชนสามารถเรียนรู้ จัดการ และแก้ไขปัญหาร่วมกันของคนในชุมชนเองได้ ตำบลนาหมื่นศรีเป็นที่ยอมรับในการส่งเสริมสร้างชุมชนที่มีความเข้มแข็งและเอื้ออำนวยให้แก่ประชาชนในชุมชน กองทุนฯ มีบทบาทในการร่วมสร้างความมั่นคงด้านชุมชน ในการจัดสวัสดิการความมั่นคงด้านชุมชน เช่น
การดูแลความปลอดภัยและความสงบในชุมชน โดยการร่วมมือกันระหว่างกองทุนฯ และผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และกลุ่มอาสาสมัครชุมชนในการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบในชุมชน ส่งผลทำให้ชุมชนมีความมั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุข
การสนับสนุนกิจกรรมชุมชน กองทุนฯ เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมชุมชนที่สร้างสรรค์และส่งเสริมเป็นที่ยอมรับในชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมประเพณีและการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ชุมชนนาหมื่นศรีมีรถรางนำเที่ยวที่เกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน โดยกรรมการกองทุนฯ มีส่วนขับเคลื่อนการบริหารงานรถราง (กรรมการ บริหารจัดการรถราง) ทำให้เกิดรายได้ในชุมชน รถรางนำเที่ยวยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ในขบวนรถรางยังมีกรรมการกองทุนฯ ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นบรรยายและดูแลนักท่องเที่ยวตลอดเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน
การสนับสนุนทางการเงิน การบริหารจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพของกองทุนฯ ทำให้มีเงินสำรองเพียงพอและสามารถใช้ในการสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกและชุมชนได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินสำรอง และมีเงินในบัญชีเพียงพอในการสร้างความมั่นคงทางการเงินและลดความเสี่ยงของกองทุน
การสนับสนุนงานประเพณีวัฒนธรรม กองทุนฯ ได้เชิญชวนสมาชิกและกรรมการกองทุนฯ เข้าร่วมทำบุญงานทอดกฐินสามัคคีให้กับวัดประจำตำบลเพื่อการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน โดยจะจัดเป็นประจำทุกปี
ความมั่นคงและความสามัคคีในชุมชน กิจกรรมจิตอาสาและการสนับสนุนกลุ่มอาชีพในชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นคงและความสามัคคีในชุมชน เป็นพื้นที่ที่จัดกิจกรรมจิตอาสาทุกเดือน โดยทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การทำความสะอาดถนนและวัด การแจกทุนยังชีพ การเยี่ยมผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รณรงค์ให้คนมาร่วมกันบริจาคเลือด
นอกจากนี้ กองทุนฯ เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ทำให้คนมีรายได้มีอาชีพที่มั่นคง มีหลัก ประกันในการดำเนินชีวิต มีครอบครัวอบอุ่นปลอดภัย ปลอดยาเสพติด สามารถสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับคนในชุมชน เกิดสังคมอุดมสุข ดังคำขวัญที่ว่า “ห่วงใย ใส่ใจ ไม่ทอดทิ้ง สร้างสังคมพึ่งพิง ด้วยเงินวันละบาท”
กองทุนสวัสดิการฯ สร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน
การดำเนินงานของกองทุนฯ ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับชุมชนตำบลนาหมื่นศรี 5 ประการ คือ
ประการแรก เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน : ความรักและความสามัคคีที่แสดงออกมาในชุมชนช่วยเหลือกันและสนับสนุนกองทุนฯให้มีผลงานที่ดีขึ้น มีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะร่วมมือในการขับเคลื่อนกองทุนฯ ไปด้วยกัน
ประการที่สอง เกิดการสื่อสารและมีส่วนร่วมในกองทุน : กองทุนฯ ได้มีการปรับปรุงการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกองทุนฯ ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และมีการเชื่อมโยงกับชุมชนในทุกด้าน
ประการที่สาม มีการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ : กองทุนฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุข (รพ.สต.) และหน่วยงานอื่น ๆ ในการพัฒนาชุมชน ทำให้มีการดำเนินงานและการส่งเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประการที่สี่ มีการสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง : กองทุนฯ ได้สนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในหลายด้าน เช่น การส่งเสริมอาชีพ การดูแลสุขภาพ และการสนับสนุนในด้านสวัสดิการ
ประการที่ห้า เกิดความเชื่อมั่นและการเปลี่ยนแปลงในชุมชน : กองทุนฯ ได้เพิ่มความเชื่อมั่นและการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ที่เน้นการมีส่วนร่วมและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน กล่าวโดยสรุป กองทุนฯ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับชุมชนอย่างเห็นได้ชัดเจน เห็นผลลัพธ์ที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจและเติบโตอย่างต่อเนื่องในชุมชน ดังตัวอย่างของสมาชิกที่กล่าวเอาไว้ เช่น
“การป้องกันโรค จากเดิมที่สาธารณสุขขับเคลื่อนมาโดยตลอด แต่พอมาระยะสองปีมานี้ จะเห็นรองประธานกองทุนฯ จะมาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ไปถางหญ้า อันนี้เป็นจิตอาสาจากคนในกองทุนฯที่มาร่วมทำ ไม่ใช่เป็นส่วนจากภาคราชการ ทำให้เห็นผลดี” (หัวหน้า รพ.สต.นาหมื่นศรี)
“เรามองเห็นว่าการทำงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง จะต้องมีหลักการอย่างหนึ่งคือต้องให้พี่น้องในชุมชนเข้ามาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง จากจุดเริ่มต้นที่ อบต.คอยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ อบต.ทำงานให้กองทุนฯ จนวันนี้เห็นความเปลี่ยนแปลง คือ พี่น้องประชาชนเข้ามาทำหน้าที่และแสดงบทบาทในฐานะกรรมการกองทุนฯ และประธานกองทุนฯ ต่อยอดในหลายด้าน เช่น ด้านอาชีพ ด้านสาธารณสุข ในเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่กองทุนฯเข้าไปช่วยเหลือได้เยอะ” (สมาชิก อบต.นาหมื่นศรี)
ผ้าทอนาหมื่นศรีนำไปตัดเย็บสร้างมูลค่าเพิ่ม
ความยั่งยืนในอนาคตของชาวนาหมื่นศรี
การสร้างความยั่งยืนและการส่งต่อภารกิจของกองทุนสวัสดิการฯ ไปยังคนรุ่นต่อไป โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มีแผนดำเนินการดังนี้
- การวางแผนพัฒนาและตั้งเป้าหมายรับสมัครสมาชิกใหม่ทุกปี : กองทุนฯ มีแผนที่จะพัฒนาทุกปี โดยการรับสมาชิกใหม่อย่างน้อย 100 คนในแต่ละปี เพื่อให้สมาชิกมีโอกาสเข้าร่วมกองทุนสวัสดิการชุมชน และมุ่งเน้นการปรับสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เท่าเทียมกับความต้องการในสังคมปัจจุบัน
- การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ : มีการสนับสนุนและเชื่อมโยงกับรุ่นใหม่ในชุมชนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยให้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เช่น ในด้านไอที และการท่องเที่ยว เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสร้างอนาคตให้กับชาวตำบลนาหมื่นศรี
- การพัฒนาชุมชน : กองทุนฯ มุ่งทำหน้าที่ในการพัฒนาชุมชนให้เติบโตและยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนการท่องเที่ยวและการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนของตนเอง จากแนวทางดังกล่าว กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรีได้สร้างความมั่นคงและส่งเสริมการเจริญเติบโตของชุมชนนาหมื่นศรีอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องในระยะยาว โดยการผลักดันและสนับสนุนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งในด้านการศึกษา อาชีพ และการพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการและความสามารถของชุมชนในปัจจุบันและในอนาคต.....
สมดังคำขวัญของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรีที่กล่าวเอาไว้ว่า “ห่วงใย ใส่ใจ ไม่ทอดทิ้ง สร้างสังคมพึ่งพิง ด้วยเงินวันละบาท”
********************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล