กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www.thaipost.net/public-relations-news/546209/)
โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 6 ‘ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
อนุสาวรีย์ ‘พระยาพิชัยดาบหัก’ ประดิษยฐานบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
“คอรุม” : ชื่อนี้มีตำนาน
เมืองพิชัย เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะด้านการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า และไทยกับลาว ในอดีตพม่าเคยยกทัพเข้าตีเมืองพิชัยถึงสองครั้ง ทำให้เกิดวีรกรรมของพระยาสีหราชเดโชหรือที่รู้จักกันในนาม “พระยาพิชัยดาบหัก”
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์มาอยู่ที่เมืองพิชัย จนทำให้เมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น จนได้รับการยกเป็นหัวเมืองชั้นโทในสมัยรัชกาลที่ 3
จากการสัมภาษณ์สมาชิกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุมเกี่ยวกับความเป็นมาของคำว่า “คอรุม” นั้น ทุกคนต่างบอกว่ามีตำนานเรื่องเล่ามาจากคำว่า “คอรวม” จากสงครามระหว่างไทยกับพม่า โดยพม่ามาตั้งทัพบริเวณวัดเอกา พระยาพิชัยได้นำทหารมาสกัดทัพพม่าบริเวณวัดขวางชัยภูมิและประกาศให้รางวัลทหารที่สามารถตัดคอข้าศึกได้ เมื่อทหารของพระยาพิชัยตัดคอทหารพม่าได้แล้วจึงนำไปกองรวมกันไว้ที่บริเวณวัดขวางชัยภูมิ และเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า “คอรวม” ต่อมาหลายยุคหลายสมัยจึงเรียกเพี้ยนกลายเป็น “คอรุม”
ส่วนกลุ่มชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาจากการศึกสงครามในอดีต มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลคอรุม จังหวัดอุตรดิตถ์ เรียกว่า “ลาวเวียงบ้านหาดสองแคว” หรือ ‘ลาวเวียง’ หรือ “ลาวตี้” อพยพมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในฐานะเชลยศึกสงคราม มาตั้งรกรากอยู่ตามลำน้ำน่านใน 2 อำเภอ คืออำเภอตรอนและอำเภอพิชัย ปัจจุบันยังมีสำเนียงพูดแบบชาวลาวเวียงจันทร์ มีอาหารดั้งเดิม เช่น พริกยัดไส้ทอด หมกปลา หมกเขียด แกงหน่อไม้ดอง แกงหยวกกล้วย น้ำพริกแจ่วหม้อ และประเพณีวัฒนธรรมแบบลาวเวียง เช่น การตักบาตรเช้าที่เรียกว่า “หาบจังหัน” มีเรือนไม้ทรงลาวโบราณ ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม
สวัสดิการ 12 ประเภทของคนคอรุม
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ริเริ่มโดยกลุ่มผู้สูงอายุและการส่งเสริมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ โดยมีระเบียบกำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายปี คนละ 365 บาท/ปี แล้วนำเงินกองทุนนั้น รวมทั้งเงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. และเงินสมทบจาก อบต.คอรุม มาช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อนจำเป็น
มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อ 1.สร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน 2.เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน 3.เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน 4.เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น องค์กรชุมชน ในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ และ 5.เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการชุมชนในทุกระดับ
จำนวนสมาชิกแรกตั้งมี 457 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 4,421 (จำนวนประชากรในตำบล 9,246 คน) จำนวนสมาชิกจาก 12 หมู่บ้าน จำนวนเงินกองทุน ณ วันแรกเริ่ม 175,945 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนสะสม 16,934,660.13 บาท จำนวนเงินกองทุนคงเหลือ 4,204,631.13 บาท (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2565)
ส่วนสวัสดิการที่จัดให้กับสมาชิกมี 12 ประเภท คือ 1.สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด คลอดบุตร 2.สวัสดิการการรักษาพยาบาล (คลอดบุตร) 3.สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 4.สวัสดิการผู้สูงอายุ 5.สวัสดิการกรณีเสียชีวิต 6.สวัสดิการคนด้อยโอกาส/พิการ 7.สวัสดิการเพื่อพัฒนาอาชีพ 8.สวัสดิการเพื่อการศึกษา 9.สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 10.สวัสดิการการนอน CI (ผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19) 11.สวัสดิการอุบัติเหตุ และ 12.สวัสดิการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการและสมาชิกกองทุน
การบริหารจัดการกองทุนช่วง ‘วิกฤติโควิด-19’
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม มีการประชุมคณะกรรมการกองทุน 3 เดือน/ครั้ง มีการสรุปยอดบัญชีเป็นรายเดือน มีแผนการติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน และเนื่องจากกองทุนฯ ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.คอรุม ที่ตั้งของกองทุนสวัสดิการจึงอยู่ในที่ทำการ อบต. และมีบุคลากรของ อบต.ช่วยสนับสนุนงานของกองทุนสวัสดิการทุกด้าน
การบริหารกองทุนสวัสดิการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อมีคนอพยพกลับบ้าน และมีสมาชิกบางส่วนที่ไม่สามารถส่งเงินเข้ากองทุนได้ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จึงได้จัดประชุมแก้ไขระเบียบเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดได้ โดยนำเงินส่วนหนึ่งของกองทุนฯ ไปทำศูนย์ CI (Community Isolation) หรือ ‘ศูนย์พักคอย’ ในตำบล เพื่อดูแลรักษาเบื้องต้น รวมทั้งเพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อนำเชื้อไปเผยแพร่แก่คนในครอบครัวและชุมชน
นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด มีสมาชิกที่ตกงาน ไม่มีรายได้ จึงมีสมาชิกจำนวนมากไม่มีเงินสมทบเข้ากองทุน และอยากจะลาออกจากการเป็นสมาชิก กองทุนสวัสดิการชุมชนจึงมีเงื่อนไขว่า ถ้าสมาชิกจ่ายเงินเข้ากองทุน 10 บาท กองทุนฯ จะคืนเงินให้สมาชิก 1,000 บาทเพื่อเอาไปใช้จ่ายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการฯ ยังสนับสนุนเงินจ้างผู้ดูแลผู้ป่วย สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง
รวมทั้งยังจัดทำ “โครงการสัมมาชีพ” เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ทำให้คนที่จะลาออกกลับเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผู้ที่มาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่ม ทำให้กองทุนเติบโตขึ้นมีสมาชิกเกือบ 50% ของประชากรทั้งตำบล คือ มีสมาชิก 4,421 จากประชากรในตำบล 9,246 คน
ท่องเที่ยวชุมชนตำบลคอรุม ล่องเรือชิมฝรั่งสดๆ
กองทุนสวัสดิการฯ ต่อยอดสร้างอาชีพ ‘สบู่น้ำนมข้าว-หอยขมสามรส’
ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนยาวนาน มีวัฒนธรรมพื้นถิ่นหลายอย่าง โดยเฉพาะวัฒนธรรมลาวเวียง นอกจากนี้ยังมีภูมิประเทศที่สวยงาม มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน มีวัดโบราณ เช่น วัดขวางชัยภูมิ วัดเอกา ทั้งสองวัดนี้มีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับพระยาพิชัยดาบหักและการศึกสงครามในอดีต
แกนนำในตำบลจึงนำต้นทุนเหล่านี้มาจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนกับเมืองโบราณพิชัย มีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมอาชีพอื่นๆ เช่น การสานตะกร้า หมวก การอนุรักษ์พันธุ์ไก่ชน กลุ่มผลิตน้ำพริก ฯลฯ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์-ชีวภาพ (ก่อตั้งในปี 2543) มีศูนย์เรียนรู้โรงเรียนชาวนา และจัดตั้งโรงสีชุมชน รับซื้อข้าวเปลือกและสีเป็นข้าวสารขายคนในชุมชน แต่ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าวจึงได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง แก้ไขปัญหาข้าวปน ข้าวดีด และต่อมาได้มีบริการรถดำนา รณรงค์ให้เกษตรกรดำนาเพื่อแก้ปัญหาวัชพืชในนา รวมทั้งผลิตข้าวกล้องตรา “เพชรคอรุม” ได้รับมาตรฐานอาหารปลอดภัย
จากต้นทุนต่างๆ ดังกล่าว ทั้งด้านการท่องเที่ยว ผลผลิตจากไร่นา รวมทั้งมี ‘หอยขมคอรุม’ หอยขมพื้นถิ่นที่มีรสชาติ อร่อย คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุมจึงได้ต่อยอดฐานทุนของท้องถิ่นมาเป็น “โครงการพัฒนาสัมมาชีพ” เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ และชาวบ้านในตำบล มีอาชีพ มีรายได้ เช่น
1.โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว ฝึกอบรมการทำสบู่น้ำนมข้าวจำนวน 80 คน ฝึกอบรมการทำพวงกุญแจข้าวเปลือกจำนวน 50 คน เชื่อมโยงกับกลุ่มบ้านพัก home stay เพื่อนำสบู่ไปให้บริการแขกที่มาพัก วางจำหน่ายในกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ร้านวิสาหกิจชุมชน แอป ชิมฟรี และ เพจ Korrum mall
สบู่น้ำนมข้าว
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นครัวเรือนของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม (ครัวเรือนผู้เสพและผ่านการบำบัดจากศูนย์คัดกรอง) ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงงาน สร้างสังคมให้กลุ่มคนที่เดินทางผิด ปรับปรุงและใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก โดยให้สมาชิกกองทุนฯ รวมกลุ่มสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีวิทยากรมาฝึกอบรม ส่งเสริมการออม ลดอัตราการขาดส่งของสมาชิก สนับสนุนการขายสินค้าและบริการในชุมชน ทำให้เกิดรายได้ย้อนกลับเข้ากองทุนฯ และทำให้ชุมชนมีรายได้หมุนเวียน
2.โครงการเลี้ยงหอยขม ฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหอยขม จำนวน 100 คน โดยนำพันธุ์หอยขมมาจากโครงการ ‘โคกหนองนาโมเดล’ ในตำบล หลังฝึกอบรมแล้วจะให้สมาชิกและชาวบ้านนำหอยขมกลับไปเลี้ยงที่บ้านในวงซีเมนต์ ทำให้มีรายได้ ลดรายจ่ายค่ากับข้าวในครัวเรือน นำหอยขมมาแปรรูปเป็น ‘หอยสามรส’ บรรจุกล่องพลาสติกจำหน่ายทางออนไลน์ และจำหน่ายที่ศูนย์แสดงสินค้าตำบลคอรุม
3.สวนฝรั่งสวนดีพิชัย ของนายสายฝน เกิดแก้ว สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ได้ปรับพื้นที่สวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของตำบลพิชัย การท่องเที่ยวสวนฝรั่ง “สวนดีพิชัย” เป็นกิจกรรมหนึ่งของการท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ถูกนำไปบรรจุในเส้นทางการท่องเที่ยวโดยหลายหน่วยงาน ก่อให้เกิดกิจกรรมที่ขยายรายได้ไปสู่สมาชิกกองทุนฯ คนอื่นๆ
โดยปรับสวนเป็นร่องน้ำ แล้วนำเรือมาให้นักท่องเที่ยวล่องสวนพร้อมกับรับประทานฝรั่งสดๆ จากต้น รวมทั้งเลี้ยงหอยขมไว้ในร่องสวน สมาชิกกองทุนสวัสดิการสามารถมาช้อนหอยขมไปประกอบอาหาร บางรายนำไปทำน้ำยาขนมจีนเพื่อจำหน่าย มีการจ้างงานสมาชิกกองทุนสวัสดิการและนักเรียนในพื้นที่ในการห่อผลฝรั่ง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
เป้าหมายในอนาคต 1.กองทุนสวัสดิการมุ่งพัฒนาชุมชนในภาพรวม โดยเน้นเรื่องการเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน โดยเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมให้ครบวงจร “มาแล้วต้องพัก กิน ซื้อ ทำพื้นที่ให้มีเรื่องเด่น” 2.เน้นเรื่องความเชื่อถือของคนในหมู่บ้าน สร้างความมั่นใจ ทำให้มีแรงบันดาลใจ และ 3.เรื่องความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการชุมชน ต้องคำนวณประมาณการ และมีบัญชีพิเศษฝากไว้ที่สหกรณ์เพื่อจะได้ดอกเบี้ยพิเศษ และพยายามไม่ให้กระทบกับเงินต้นกองทุนฯ
********************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา