กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaipost.net/public-relations-news/544097/)
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 4 ‘การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะ การจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
การประชุมคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว
กองทุนสวัสดิการชุมชนหนุนสมาชิกจัดการขยะ-ขยะเปียกทำปุ๋ยปลูกผัก
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 มีสมาชิกปัจจุบัน จำนวน 4,770 คน จาก 17 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีเงินกองทุนจำนวน 6,351,279 บาท
มีการจัดสวัสดิการ 11 ประเภท ได้แก่ 1.สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร 2.การเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล 3.ผู้สูงอายุ 4.กรณีเสียชีวิต 5.ประเพณีวัฒนธรรม 6.การศึกษาและสันทนาการ 7.สวัสดิการเพื่อการศึกษา 8.มอบพวงหรีด (กรณีเสียชีวิต) 9.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 10.สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และ 11.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากการช่วยเหลือสวัสดิการแก่สมาชิกทั้ง 11 ประเภทดังกล่าวแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนยังขยับขยายไปทำเรื่องการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม เพราะในตำบลมีปัญหาเรื่องขยะ หน่วยงานในท้องถิ่นไม่มีการจัดการขยะที่ดี ดังนั้นชาวบ้านในนามของ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว’ จึงร่วมกันลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ ดังเสียงสะท้อนจากแกนนำกองทุนสวัสดิการฯ ว่า “เรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน”
จากการสำรวจข้อมูลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในตำบลเมืองบัวมีจำนวน 7,378 กิโลกรัมต่อวัน (คิดเป็นปริมาณขยะที่แต่ละคนผลิต 0.77 กก./คน/วัน) มีขยะต่างๆ เช่น 1.ขยะเปียก จำนวน 2,500 กก./วัน 2.ขยะรีไซเคิล/ขยะขายได้ จำนวน 2,700 กก./วัน 3.ขยะอันตราย จำนวน 200 กก./วัน และ 4.ขยะทั่วไป จำนวน 1,978 กก./วัน ปริมาณขยะที่มีจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น กลิ่น น้ำเสียจากขยะ บ่อเกิดของยุงและแมลงวัน ฯลฯ
ช่วงปี 2558-2560 กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัวได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นขับเคลื่อน “ชุมชนน่าอยู่ ต้นแบบการบริหารจัดการขยะต้นทาง“ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุรินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน
ย่างเข้าปี 2560 เริ่มประสบผลสำเร็จ กลายเป็นชุมชนต้นแบบ มีการจัดงาน “ทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล” และได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดขบวนรถบุปผชาติระดับจังหวัด โดยนำเอาขยะรีไซเคิลมาตกแต่งขบวนรถ ทำให้พี่น้องชุมชนต่างๆ ให้ความสนใจ เป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน ขณะที่แกนนำในการจัดการขยะได้ยกระดับเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ
ในปี 2566 กองทุนสวัสดิการส่งเสริมการ ‘ปลูกผักคีย์โฮล’ การปลูกผักคีย์โฮลจะได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น แก้ไขปัญหาขยะเปียก ขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ได้แหล่งอาหารในครัวเรือนและชุมชน เป็นอาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารพิษ การปลูกผักคีย์โฮล จะทำแปลงปลูกผักรวมกันกับปุ๋ยหมัก โดยการเอาเศษอาหารหรือขยะเปียกมาใส่ตรงกลางแปลงผักและปลูกผักบริเวณรอบๆ แปลงผัก เมื่อขยะเปียกย่อยสลาย ผักจะดูดซึมอาหารจากขยะอินทรีย์
สาธนี โอนไธสง เจ้าของสวนป่าพฤกษาไพรฟาร์มสุข บอกว่า เธอทำเกษตรอินทรีย์ ทำแปลงผักคีย์โฮล แปลงผักหมักปุ๋ย ซึ่งมีประโยชน์สำหรับคนที่มีเวลาน้อย เพราะประหยัดน้ำ และใช้พื้นที่น้อย แปลงผักคีย์โฮลช่วยลดเศษอาหารขยะในครัวเรือน ขยะที่ไม่ต้องการแล้วนำมาหมักเป็นปุ๋ย เช่น เศษอาหาร มูลสัตว์ มูลวัว เป็ด ไก่ หมู ชั้นสุดท้ายให้เอามูลสัตว์ทับเพื่อป้องกันแมลงมาตอม สามารถปลูกผักได้หลายชนิดรวมกัน เช่น มะละกอ พริก มะเขือเทศ ต้นหอม โหระพา ผักชี ตะไคร้
การปลูกผักแบบคีย์โฮลจะนำขยะเปียกมาใส่ตรงกลางหรือใส่ในถัง เมื่อขยะเปียกย่อยสลายจะเป็นอาหารแก่พืชที่ปลูกอยู่รอบ ๆ รัศมีประมาณ 1.80 เมตร
นางพลอย จันทโยธา สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว หมู่ 5 บ้านโนนกลาง เล่าถึงกิจกรรมการจัดการขยะที่ดำเนินการ ดังนี้ 1.จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ทุกครัวเรือนต้องคัดแยกขยะ 2.ทุกครัวเรือนไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ ห้ามเผาขยะ 3.ทุกครัวเรือนต้องไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 4.ทุกครัวเรือนต้องปลูกผักสวนครัว 10 ชนิด (เมื่อก่อน 5 ชนิด ปัจจุบัน 10 ชนิด) 5.ทุกครัวเรือนต้องเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนทุกอย่าง เพื่อทำให้เกิดจิตสำนึก โดยมีกติกาว่าทุกครัวเรือน ทุกคุ้ม ต้องช่วยกัน
“เราพิมพ์ประกาศเป็นกติกาครัวเรือนเอาไปติดทุกบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกก็ช่วยกันจัดการขยะร่วมกันด้วยดี เช่น คุ้มอุดมสุขพัฒนามีสมาชิก 53 ครัวเรือน อยู่อาศัย 47 ครัวเรือน คัดแยกขยะ 45 ครัวเรือน ส่วนบ้านที่ไม่ได้คัดแยกขยะเพราะไม่มีคนอยู่บ้าน เด็กๆ ในบ้านก็มาช่วยกัน มีการเชื่อมโยงงานกับภาคีเครือข่าย กับโรงเรียน อนามัย สถานีตำรวจ นอกจากนี้ยังร่วมกันทำเรื่องปลูกผักเอาไว้กินเอง โดยใช้ปุ๋ยจากขยะเปียกที่ทำขึ้นเอง ทำให้มีความปลอดภัย ไม่ต้องฉีดยา เหลือกินนำไปขาย ” นางพลอยบอกและว่า วันนี้เอาผักไปขายได้เงิน 200 บาท
นายประจิม ศรีสุวรรณ เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัว เล่าเสริมว่า เมื่อก่อนชาวบ้านไม่สนใจเรื่องการจัดการขยะ การดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปลูกผักเอาไว้กินเอง กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จึงสนับสนุนเรื่องความรู้ ส่งเสริมให้มีการปลูกผัก สนับสนุนงบประมาณการทำระบบน้ำ เพื่อให้มีแหล่งอาหารของชุมชน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น ชุมชนมีแปลงผัก มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวดูร่มรื่น มีการจัดการขยะ คัดแยกขยะต้นทาง เริ่มที่ครัวเรือน ขยะเปียกทำปุ๋ย ขยะรีไซเคิลเอาไปขาย
นอกจากนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนยังได้แก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เป็นจุดรวมของขยะสัญจร บริเวณหมู่ที่ 17 ซึ่งมีสภาพเป็นพื้นที่รกร้าง เป็นป่าละเมาะ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค มีเด็กและเยาวชนไปมั่วสุมในพื้นที่ป่า โดยการปรับพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก ให้ผู้สูงอายุ เด็กเยาวชนที่สนใจ หรือสมาชิกกองทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ ปลูกผัก ผักที่ปลูกได้นำไปบริโภคสร้างรายได้จากการขายผักกลับมาสู่ครัวเรือน
ผลผลิตจากขยะเปียก ขยะอินทรีย์นำมาทำปุ๋ย ประหยัดเงิน บริโภคปลอดภัย ขายเป็นรายได้
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
ปัจจัยที่ส่งผลสู่ความสำเร็จของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัวในการจัดการขยะ การดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการนำเอาขยะเปียกมาทำปุ๋ยปลูกผักสร้างแหล่งอาหาร ฯลฯ ทำให้กองทุนได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประเภทที่ 4 ‘การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะ การจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ’ โดยมีปัจจัยหลายด้าน เช่น
ความเสียสละของคณะกรรมการและพี่น้องประชาชนที่เป็นสมาชิก การมีภาคีเครือข่ายในท้องที่ ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการ โรงเรียน วัด ระดับอำเภอ สำนักงานเกษตร พัฒนาชุมชน อำเภอชุมพลบุรี ฝ่ายปกครอง ระดับจังหวัด อบจ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 3 สำนัก 6 ที่มีส่วนสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทุนสวัสดิการ
กิจกรรมการจัดการขยะมาจากความต้องการของชุมชน ที่อยากให้กองทุนสวัสดิการชุมชนดำเนินการ เดิมทีชุมชนอยากให้ อบต.ดำเนินการ โดยให้ อบต.ช่วยจัดหาสถานที่กำจัดขยะ แต่การสร้างเตาเผาขยะมีระเบียบหลักเกณฑ์มากมาย ดำเนินการได้ยาก
ดังนั้นชุมชนและกองทุนสวัสดิการจึงเห็นตรงกันว่า “ทุกคนต้องช่วยกัน ชุมชนของเราสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ได้มองเรื่องขยะเป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน”
นอกจากนี้ยังทำให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองบัวและคณะกรรมการเกิดความภูมิใจว่า “องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่เกิดจากตาสีตาสา ชาวบ้านธรรมดาๆ สามารถแก้ปัญหาและอยู่เคียงคู่กับประชาชนได้ นอกเหนือจากการจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันทั่วไป”
“การจัดการขยะได้มากกว่าความสะอาด” คือ ความรักความสามัคคี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชนประสบความสำเร็จเรื่องสิ่งแวดล้อม จากความร่วมมือร่วมใจของคณะกรรมการและพี่น้องประชาชน...!!
********************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา