10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (3) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน “คนเมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

กลุ่มผู้สูงอายุจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  อ.ปาย  จ.แม่ฮ่องสอน แม้จะสูงวัย  แต่สุขภาพร่างกาย  จิตใจแจ่มใส “80 ปียังแจ๋ว” เพราะมีกิจกรรมมากมายให้ทำ

ในปี 2567 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (66 ล้านคน) และในปี 2583 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กมีเพียง 12%

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมที่เห็นได้ชัดคือ  จำนวนประชากรในวัยแรงงานจะลดลง  ส่งผลต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  การเติบโตทางเศรษฐกิจจะถดถอย  การจัดเก็บภาษีรายได้เข้ารัฐจะลดน้อยลง  ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะสูงขึ้น  ฯลฯ   แต่ที่สำคัญก็คือ  ปัญหาคุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่  อาชีพ  รายได้  สุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแล และอยู่ในสภาวะ “แก่และจน”...!!

ดังนั้นระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน (community based services) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น  อบต.ร่วมกับองค์กรชุมชน  ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงเป็นหนทางที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังเช่น การดำเนินงานของ ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน’ ที่มีผลงานดีเด่นด้านการดูแลผู้สูงอายุ  จนได้รับรางวัลด้านการพัฒนาสังคมสูงวัยจากการประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทั่วประเทศประจำปี 2566

‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ อ.ปาย  จ.แม่ฮ่องสอน’ เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaipost.net/public-relations-news/544097/)

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 3 ‘ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้

สวัสดิการชุมชนคนแม่ฮี้  

อำเภอปาย เป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง  มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเยือนไม่ขาดสาย  ขณะที่ประชากรในอำเภอปายมีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ มีภาษาพูดและวัฒนธรรมแตกต่างกัน  มีทั้งกลุ่มไทลื้อ คนเมือง คนไตหรือไทใหญ่  ปกาเกอะญอ ลีซอ  และลาหู่  ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม  ทำนา  ปลูกกระเทียม  ถั่ว  งา  เลี้ยงวัว ควาย รับราชการครู ทหาร ตำรวจ ฯลฯ

ตำบลแม่ฮี้ เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปาย สภาพของชุมชนตำบลแม่ฮี้  ปัจจุบันมีความเป็นเมืองท่องเที่ยวผสมกับพื้นที่แบบชนบท แม้แหล่งท่องเที่ยว “ปาย” จะตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงใต้  แต่พื้นที่ของตำบลแม่ฮี้ก็ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เช่น การสร้างที่พัก ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ  ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของตำบลมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตำบลแม่ฮี้ มี 6 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านแม่เย็น หมู่ที่ 2 บ้านทรายขาว หมู่ที่ 3 บ้านท่าปาย หมู่ที่ 4 บ้านแม่ปิง หมู่ที่5 บ้านแม่ฮี้ และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยแก้ว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีที่ราบระหว่างภูเขาและที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ แหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำปาย ลำน้ำห้วยแม่เย็น ลำน้ำห้วยแม่ฮี้ ลำน้ำห้วยแม่ปิง ลำน้ำห้วยแม่ยะ  

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 มีสมาชิกเริ่มแรก 276 คน สมาชิกสะสมถึงปัจจุบัน 997 คน  มีเงินกองทุนแรกเริ่ม 14,110 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุน  2,308,659 บาท (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2566) จำนวนสมาชิกของกองทุนยังมีไม่มากเนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านในตำบลแม่ฮี้มีความห่างไกลกัน เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้การเดินทางมีความยากลำบาก

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคือ 1.เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนรู้จักการออม การแบ่งปันซึ่งกันและกัน  2.เพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิก  3.เพื่อให้เกิดคุณธรรมความสามัคคี สร้างสัมพันธภาพที่ดี  4.เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง    มีองค์กรภาคประชาชนคอยดูแล  โดยกำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเป็นรายเดือน  ราย 6 เดือน  หรือรายปี  รวมแล้ว 360 บาท/คน/ปี  แล้วนำเงินกองทุนนั้นมาช่วยเหลือสมาชิก

กองทุนสวัสดิการได้แบ่งประเภทของสมาชิกออกเป็น บุคคลทั่วไป เด็ก/เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ มีการจัดสวัสดิการ 11 ประเภท ได้แก่  1.สวัสดิการเด็กแรกเกิด/คลอดบุตร  2.สวัสดิการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล  3.สวัสดิการผู้สูงอายุ       4.สวัสดิการกรณีเสียชีวิต  5.ค่าใช้จ่ายงานศพ  6.สวัสดิการคนด้อยโอกาส/พิการ  7.สวัสดิการพัฒนาอาชีพ  8.สวัสดิการเพื่อการศึกษา  9.สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ  10.สวัสดิการกิจกรรมสาธารณประโยชน์  และ 11.สวัสดิการคุณภาพชีวิต

“เมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

“เมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว” คือสโลแกนของกองทุนสวัสดิการตำบลแม่ฮี้ที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ  โดยแกนนำกองทุนสวัสดิการได้เล็งเห็นว่าผู้สูงอายุในตำบลแม่ฮี้มีจำนวนมาก  ตำบลแม่ฮี้มีประชากรจำนวน 3,589 คน มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 23 % และสมาชิกกองทุนสวัสดิการมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 43 %

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่บ้านคนเดียว เพราะลูกหลานออกไปทำงานในพื้นที่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด แกนนำกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงมีแนวคิดว่า “ทำอย่างไร...จึงจะทำให้ผู้สูงอายุมีสังคม มีเพื่อน ไม่เหงา” จึงจัดตั้ง ‘โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลแม่ฮี้’ ขึ้นมาในปี 2560 โดยความร่วมมือของผู้ใหญ่บ้าน และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฮี้

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ได้คิดค้นกิจกรรมต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ  โดยการส่งเสริมสร้างสังคมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยมีภาคีความร่วมมือจาก อบต.แม่ฮี้ รพ.สต.แม่ฮี้  โรงพยาบาลปาย พัฒนาชุมชน ทหาร ตำรวจ พมจ. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’ กศน. โรงเรียนแม่ฮี้   ศูนย์จัดการทุนหมู่บ้านแม่ฮี้ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีแม่ฮ่องสอน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน สมาคมบริหารงานองค์กรชุมชนพัฒนาเชิงพื้นที่ สมาคมสวัสดิการภาคประชาชน กลุ่มโยคะ สรีระ โอสถ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้  ได้จัดสวัสดิการส่วนหนึ่งเพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชน สอดรับกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย เพราะเล็งเห็นว่าชุมชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศน์ที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย การมีเพื่อนบ้านที่สนิทคุ้นเคย และสามารถให้ความช่วยเหลือกันได้อย่างทันท่วงที

ส่วนการจัดกิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การอบรมงานฝีมือ การประดิษฐ์ดอกไม้ ทำดอกไม้ใบเตย นำไปจำหน่ายในกาดแลง (ตลาดตอนเย็น)  ผ้าห่อครกห่อเขลียง ผ้าเช็ดเท้า การทอผ้าด้วยกี่กระตุก อุปกรณ์กายภาพบำบัด ปลูกผักปลอดภัย  ผ้าทอกระเหรี่ยง สบู่น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น การอบรมเยาวชน การออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังมีการออกไปเยี่ยมบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง  

กองทุนสวัสดิการมีแนวคิดการดึงดูดให้ผู้สูงอายุมีสังคม  มีการพบปะสังสรรค์กัน  โดยใช้กิจกรรมต่างๆ  เช่น กิจกรรมประจำเดือน รดน้ำดำหัว ทำบุญ ทำทาน ต้นสลากของผู้สูงอายุ กิจกรรมไปเยี่ยมบ้าน  เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมผู้ประสบภัย การจัดงานวันเกิดให้เพื่อนๆ วันเกิดรายเดือน  เพื่อให้ผู้สูงอายุได้พบปะ  พูดคุยกัน  มีกิจกรรมทำร่วมกัน  ไม่เหงา  มีสุขภาพจิตดี  อารมณ์แจ่มใส

ตั้ง ‘กองทุนสูงวัยเพื่อนช่วยเพื่อน’ 

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ ไม่ได้เน้นเรื่องปริมาณจำนวนสมาชิก เนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาห่างไกล  มี 6 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ห่างกัน การเดินทางลำบาก เข้าถึงยาก หน้าฝนถนนจะเป็นดินโคลนรถยนต์เข้าไม่ได้ แต่ละหย่อมบ้านมีกองทุนหมู่บ้านของตัวเอง เช่น   กองทุนหมู่บ้าน กองทุนฌาปนกิจ กลุ่มออมทรัพย์  ฯลฯ

ดังนั้นกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงปรับขนาดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่เมืองกึ่งชนบท มีสมาชิกภายในชุมชนใกล้เคียงที่สามารถดูแลกันได้ทั่วถึง  และมีสวัสดิการที่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของตำบลแม่ฮี้ ผู้คนมีรายได้เพียงพอต่อความต้องการ ค่าแรงสูงและเกือบทุกครัวเรือนมีอาชีพรับราชการ เงินช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของสมาชิก แต่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน ‘จิตใจ’ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ต้องการเพื่อนมากกว่าการเข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมด้วยกัน

ส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน แต่ละหมู่บ้านจะมีกรรมการกองทุนฯ  เพื่อเก็บเงินสมทบจากสมาชิกเข้ากองทุนเป็นรายเดือน  6 เดือน  หรือรายปี  รวมแล้วคนละ 360 บาท/ปี  รวมทั้งการเบิกจ่ายสวัสดิการจะทำผ่านกรรมการกองทุนในแต่ละหมู่บ้าน นอกจากนี้กรรมการในแต่ละหมู่บ้านยังมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจกับสมาชิก

กองทุนสวัสดิการจะเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ปีละ 2 รอบ คือ ในเดือนมิถุนายนและธันวาคม มีการประชุมหารือด้านการเงิน มีการขอมติผ่านการประชาคม มีการจัดสรรเงินเป็นสัดส่วน และใช้ตามสัดส่วนที่แบ่งไว้ แต่สามารถยืดหยุ่นได้ และใช้โปรแกรม excel ในการบันทึกการเงิน  การเบิกจ่ายสวัสดิการ

ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกครบ 5 ปี และอายุ 70 ขึ้นไป  กองทุนสวัสดิการจะสมทบเงินเข้ากองทุนรายปีให้จำนวน 300 บาท สมาชิกสมทบเอง 60 บาท  ส่วนการหารายได้เข้ากองทุน  คือ การทอดผ้าป่าประจำปี และเงินสนับสนุนสมทบเข้ากองทุนจาก อบต.

นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้ง ‘กองทุนสูงวัยเพื่อนช่วยเพื่อน’ ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือกัน  โดยแยกการบริหารจัดการด้านการเงินออกจากกองทุนสวัสดิการ  และจะเก็บเงินจากสมาชิกเข้ากองทุนเดือนละ 10 บาท

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ ดูแลสถานะการเงินตลอดเวลา มีการปรับ เพิ่ม ลด จำนวนเงินที่จะจ่ายสวัสดิการให้เหมาะสมกับสภาพทางการเงินของกองทุน  นอกจากนี้กองทุนยังทำงานใกล้ชิดกับ อบต. มีการปรึกษาหารือกันตลอด 

ผลงานฝีมือของสมาชิกกองทุนสวัสดิการ

4 ข้อจุดเด่น’...สู่รางวัล ดร.ป๋วย

ส่วนจุดเด่นของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ที่ทำให้ได้รับรางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’ คือ

1.นำปัญหาในชุมชนมาเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรม เริ่มจากแกนนำกองทุนมองเห็นปัญหาสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของชุมชน ผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น เกิดปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ จึงเริ่มทำงานจากกลุ่มเล็กๆ ในหมู่บ้านด้านสังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2555 จนขยายเป็นระดับตำบล

การขยายจากกลุ่มเล็กๆ สู่ระดับตำบลนั้น  มาจากคณะกรรมการแบ่งงานกันทำ ส่งเสริมกิจกรรมให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ มีคุณค่า แม้กิจกรรมบางอย่างอาจจะไม่สนุกเพราะเป็นความรู้ เช่น การดูแลสุขภาพ การรับประทานยาอย่างถูกวิธี การดูแลตัวเอง โดยร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  และกรรมการพยายามหาทางผสมผสานกิจกรรรมให้มีความหลากหลาย เช่น การฝึกซ้อมการแสดงเพื่อนำไปแสดงระดับอำเภอ ระดับจังหวัด การออกกำลังกายทุกวันเพื่อสร้างความสม่ำเสมอของกิจกรรม

2.การวางแผนการทำงานโดยการให้ความสำคัญกับ ‘คน’  โดยหากรรมการที่มีความตั้งใจมาช่วยทำงาน สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำงาน “แรงบันดาลใจอยากให้บ้านเราได้รับของดี” มีตัวแทนหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านเป็นตัวเชื่อมข่าวสารของกองทุนและสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกแต่ละหมู่บ้าน การให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุติดบ้าน  เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทางกองทุนสวัสดิการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยไปเยี่ยมแบบ “เพื่อนเยี่ยมเพื่อน” ดูแลผู้สูงอายุอย่างเข้าใจ เพราะสมาชิกกองทุนที่เข้าไปเยี่ยมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึงมีความเข้าใจผู้สูงอายุด้วยกัน  

โรงเรียนผู้สูงอายุให้ความรู้ด้านต่างๆ และเชื่อมการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ

3.ใช้โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นตัวเชื่อมระหว่างสมาชิก ชุมชน กลุ่มเปราะบาง ภาคีเครือข่าย โดยเชิญวิทยากรจากกลุ่มต่างๆ มาสอนผู้สูงอายุ วางหลักสูตรร่วมกับปลัด อบต. วิทยากรจากโรงเรียนประถม โรงเรียนปาย กศน.- ศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบล ครูเกษียณ เอกชนมาสอนโยคะ ตำรวจมาสอนป้องกันการถูกหลอกจากมิจฉาชีพ ตำรวจท่องเที่ยวสอนดนตรี เกษตรพื้นที่สูงในการแปรรูปการเกษตร  ใช้เครือข่ายจิตอาสาเพื่อประหยัดงบประมาณ

4.การทำงานของกองทุนสวัสดิการช่วยลดภาระงานของ อบต. ประหยัดงบประมาณของรัฐได้  โดยใช้งบของกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือ มีการบูรณาการทำงานด้วยกัน และทางกองทุนสวัสดิการได้มอบเงินด้านสาธารณประโยชน์ให้ รพ.สต.แม่ฮี้ปีละ 6,000 บาท ให้โรงเรียนผู้สูงอายุ 6,000 บาท เพื่อเป็นการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีคณะกรรมการกองทุน คณะกรรมการโรงเรียน และอบต. ทำงานขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ส่วนก้าวย่างต่อไปนั้น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ตั้งเป้าหมายให้กองทุนฯ เป็นพื้นที่กลางในการเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน  โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้ได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า

ขณะที่สมาชิกของกองทุน  โดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุหวังให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นพื้นที่ที่ “ได้หัวเราะ ได้ความสุขทุกครั้งที่มา คนที่เคยเป็นครูเกษียณแล้วก็เหงา มาสอนอาชีพให้แม่ๆ เพื่อนๆ ทำให้ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น”

********************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต