ตลาดหลักทรัพย์คึกคักร่วมงาน “สานพลังเอกชนเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” BOI หนุนภาคธุรกิจพัฒนาชุมชนลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเข้มแข็ง

ผู้เข้าร่วมงาน “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก” ที่ตลาดหลักทรัพย์ (1 มีนาคม)

ตลาดหลักทรัพย์ / BOI-ก.ล.ต.-ภาคธุรกิจ-พอช. ร่วมจัดงาน “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน” (Multilateral Collaboration for Sustainability) เชื่อมประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน และสร้างความเข้าใจมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคมภายใต้การสนับสนุนจาก BOI  ที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ของเงินลงทุนให้แก่ภาคเอกชนที่จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเข้มแข็งชุมชน

วันนี้ (1 มีนาคม) ระหว่างเวลา 13.00-16.30 น. ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน” (Multilateral Collaboration for Sustainability) ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (THAI LCA) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ รวมถึงเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคมภายใต้การสนับสนุนจาก BOI  โดยมีผู้บริหารบริษัทต่างๆ เข้าร่วมงานกว่า 350 คน เช่น บริษัทมิตรผล  โตโยต้า คูโบต้า ฯลฯ และมีผู้แทนชุมชนจำนวน 14 ชุมชนจากเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัย  การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  และเครือข่ายป่าชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ ร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

สานพลังเอกชนหนุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก

ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไทย มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม  ตลอดจนส่งเสริมความเสมอภาคและความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืน  ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านตลาดทุนที่สำคัญของ ก.ล.ต.  ที่สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายภาครัฐ ในการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยพัฒนาเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้ภาครัฐและเอกชนมีเครื่องมือระดมทุนในโครงการที่มุ่งเน้นความยั่งยืน

ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนผนวกแนวคิดเรื่อง ESG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ได้ตามมาตรฐานสากล อันจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่โดยรวมของคนในประเทศเพื่อที่ทุกคนจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ  มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งภาคธุรกิจและสังคม ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชน ประสานพลังความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ รวมถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคม ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อันจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนไทย ชุมชน และหน่วยงานเพื่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 50 ในการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์  “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”  พร้อมส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน เพื่อให้ตลาดทุนเป็นพื้นที่สำหรับอนาคตของทุกคน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า  จากกระแสของโลกและกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป เมื่อมาประกอบกับจุดแข็งของประเทศไทย บีโอไอจึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนโดยมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว หรือยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) โดยบีโอไอได้วางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้าน ได้แก่ (1) Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (2) Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง (3) Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของบีโอไอถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาคเอกชนกับชุมชน อันจะช่วยสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยให้สิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ของเงินลงทุนที่ภาคเอกชนสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพมีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชนและสังคมให้มากยิ่งขึ้น

ผู้แทนภาคเอกชนที่ร่วมเวทีอภิปรายและเสวนา

นำจุดแข็งด้าน ‘การตลาด’ ของภาคเอกชนช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวในประเด็นการร่วมกันสานพลังเอกชนเพื่อช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำว่า  เนื่องจากการพัฒนาของประเทศไทยมีปัญหา ยิ่งพัฒนาไปมีแต่ความอ่อนแอ มีแต่ความเหลื่อมล้ำ  โดยเชื่อว่าต้องสร้างหัวรถจักรก่อน ตามแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดการสร้างเมืองหลวง นำไปสู่ปัญหาชุมชนแออัด โดย กทม.มีชุมชนเมืองที่แออัดกว่า 30% มีการทำลายป่า ทำลายแหล่งน้ำ จนนำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องในประเด็นของความเหลื่อมล้ำ  ถ้ามาจัดการปัญหาความเหลื่อล้ำตอนที่มีปัญหา มีหนี้แล้ว จะยิ่งทำให้การออกจากปัญหาจะยากยิ่งกว่าเดิม

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล

“ทำไมต้องสานพลัง  โดยเฉพาะภาคเอกชน หลายบริษัทได้มีการช่วยเหลือชุมชน ทำการบริจาค โดยเฉพาะในบริษัทใหญ่ก็ทำ CSR   ถ้าบริษัทเอกชนที่ทำการบริจาคก็จะมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท และจะสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างไร เช่น ขยะ น้ำ สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญภาคเอกชน มีความเข้าใจ ‘ตลาด’  เพราะตลาด คือจุดแข็งของภาคเอกชนที่จะเป็นสะพานเชื่อมชุมชนให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกันกับระบบตลาดได้  จะทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืนและจะสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้  ภาครัฐถ้าเป็นผู้นำชุมชนเข้าสู่ตลาดอาจไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพาเข้าสู่ระบบตลาด หาพื้นที่ หาตลาดให้  ดังนั้นการสานพลังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าต่างคนต่างทำก็จะเป็นเบี้ยหัวแตก”  ดร.กอบศักดิ์บอกถึงเหตุผลที่ต้องสานพลังภาคเอกชน

 ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ถ้าภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน 1 บริษัทต่อ 1 ชุมชน ก็อาจทำให้เกิดระบบชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาได้   สุดท้ายการสานพลังในครั้งนี้จะไม่ใช่ทำแค่ภาคเอกชน แต่ยังเป็นการสานพลังทุกภาคส่วนกับ พอช. กับ สวส. ที่จะช่วยคัดเลือกชุมชนที่เข้มแข็งเข้ามาร่วมทำงานกับภาคเอกชน  รวมถึง BOI ที่มีการสนับสนุนและสานพลังกับชุมชนแบบพุ่งเป้าตามรูปแบบการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องถ้าภาครัฐไม่เอื้อหรือเข้ามาช่วยก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด  จึงต้องนำไปสู่การสานพลังแบบ 1บวก 1 และมากกว่า

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่าพอช.มีภารกิจกสำคัญคือการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรชุมชนมีความสามารถและความเข้มแข็ง  ให้องค์กรชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ และถึงจุดหนี่งก็สนับสนุนให้องค์กรชุมชนสามารถแสวงหาทรัพยากรในการส่งเสริมความเข้มแข็งจากแหล่งอื่น ซี่งการพัฒนาของชุมชนพบว่าความรู้บางส่วนอาจยังมีไม่เพียงพอจึงต้องไปสรรหาความรู้จากแหล่งอื่นเข้ามาสนับสนุน 

“ชุมชนเข้มแข็งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ซี่งชุมชนที่เข้มแข็งจะสามารถเป็นที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาได้ ดังนั้นการพัฒนาต่อยอดให้องค์กรชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งแล้วนั้น นอกจากภาครัฐและภาคชุมชนเองแล้วก็ต้องมีการพัฒนาต่อยอดจากภาคธุรกิจเอกชนที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดย พอช.จะทำหน้าที่ช่วยให้การเชื่อมโยงดังกล่าวเกิดขึ้นและจะการันตีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง”  ผอ.พอช. กล่าว

พอช.-ขบวนชุมชนภูเก็ตชวนภาคเอกชนหนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก

นางวารุณี สกุลรัตนธารา แกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตที่ร่วมกับชุมชนต่างๆ ในจังหวัดขับเคลื่อนแนวคิด ภูเก็ตเกาะสวรรค์ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของโครงการว่า คนภูเก็ตต้องมีสุขภาพดี มีการศึกษา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่เกิดจากภาคประชาชนของจังหวัด ซึ่งถึงแม้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะมีภาพของจังหวัดที่มีภาคธุรกิจอยู่มากมาย แต่ก็พบว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ตอนนี้มีการดำเนินการโครงการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้เด็กปฐมวัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำงานสนับสนุนร่วมกับทางมูลนิธิยุวพัฒน์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีแนวทางการขอรับการสนับสนุนจาก BOI  ซี่งอยู่ในระหว่างการยื่นเสนอโครงการมายัง BOI ผ่านบริษัท Innovation ที่มีทาง พอช.ร่วมสนับสนุนการดำเนินการด้วย 

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการ โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) มูลนิธิยุวพัฒน์  กล่าวว่า  การลงทุนการพัฒนากับเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์เด็กเล็กที่ครอบคลุมทั้งประเทศอยู่ 5 หมื่นกว่าแห่ง ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว แต่ใช้แค่เพียงสำหรับให้เด็กกินนอนเท่านั้น  ดังนั้นโครงการพัฒนาเด็กให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา  ICAP ที่คาดหวังว่าเด็กนั้น ๆ จะมีสุขภาพที่ดีหลังจากได้รับการพัฒนาตามแนวทางของ ICAP ที่มีการจัดการทั้งภายในและภายนอก และได้เรียนรู้อย่างสนุกของเด็ก 2-4 ขวบ ที่มีกระบวนการ Discussion กัน ซึ่งเด็กจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช. กับเด็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ตที่ พอช.เชื่อมประสานให้ภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนชุมชน

ทั้งนี้ก่อนการจัดงานสานพลังเอกชนฯ ในวันนี้  จากการเชื่อมประสานของ พอช. ระหว่างเครือข่ายชุมชนในจังหวัดภูเก็ตกับภาคธุรกิจตามแนวทางการสานพลังภาคเอกชนของ BOI ทำให้ขณะนี้มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ความสนใจที่จะสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งเป็นโครงการที่ พอช.ร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์ดำเนินการนำร่องในศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศตั้งแต่กลางปี 2566 ที่ผ่านมา รวม 60  แห่ง รวมทั้งที่ภูเก็ตด้วย  โดยนำเอารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Scope ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกมาใช้แทนการเรียนการสอนแบบเดิมๆ หรือเป็นเพียง “สถานที่กินนอนของเด็ก”  โดยเน้นให้เด็ก (อายุ 2-6 ขวบ) ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ  ผ่านมุมกิจกรรมการเล่นและสื่อที่เหมาะสมหลากหลาย  ทำให้เด็กมีพัฒนาการต่างๆ ดีขึ้น  ทั้งร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  สติปัญญา สังคม   (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://web.codi.or.th/20230607-46045/)

โดยขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตได้นำโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนี้มาเสนอต่อบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  เพื่อขยายโครงการศูนย์เด็กเล็กจากเดิมที่มีอยู่เป็น 10 แห่งในเมืองภูเก็ต  โดยจะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 6,200,000 บาท  เพื่อปรับปรุงห้องเรียน  จัดมุมกิจกรรมการเล่น  จัดหาสื่อ หนังสือ  ของเล่น  และจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่  โดยเบื้องต้นบริษัทแห่งนี้ได้ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการและงบประมาณแล้ว  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการตามกระบวนการของ BOI เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการลดหย่อนภาษีให้บริษัทเอกชน

อย่างไรก็ตาม  ภายหลังการจัดงาน “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืนในวันนี้แล้ว  พอช.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีความสนใจที่จะพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น  การพัฒนาเศรษฐกิจ  สร้างอาชีพ  การเกษตร  พัฒนาที่อยู่อาศัย  ดูแลสิ่งแวดล้อม  ป่าชุมชน  ฯลฯ  ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการเพื่อสานพลังกับภาคเอกชนในการสนับสนุนเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของบีโอไอต่อไป

ส่วนหนึ่งของผู้แทนชุมชนที่เข้าร่วมงานสานพลังเอกชนฯ ในวันนี้

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา