มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์ อาจารย์สังกัดภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสำหรับทดลองใช้เป็นระยะเวลา 15 วันโดยประมาณให้คนในชุมชนสามารถเรียนรู้การใช้เครื่อง เพื่อลดปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567
การดำเนินงานภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการลงพื้นที่จริงเพื่อถ่ายทอดความรู้ พร้อมสาธิตวิธีใช้ เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer ให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยในครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI CMU) โดยการนำซังข้าวโพดซึ่งเป็นชีวมวลที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดที่พบได้มากในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มและอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เกษตรกรมักจะเผาเศษเหลือทิ้งส่วนลำต้น และซังข้าวโพดหลังจากการเก็บเกี่ยวเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ
ทั้งนี้ เครื่องต้นแบบ Pyrolyzer เครื่องต้นแบบในการช่วยลดหมอกควันนี้เป็นนวัตกรรมที่พัฒนา และคิดค้นงานวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการสร้างรถต้นแบบ Pyrolysis Mobile Unit ที่มีคุณสมบัติเป็นหน่วยรถเคลื่อนที่ผลิตถ่านชีวภาพ เป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไม้ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มะพร้าว มาแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงที่ให้ค่าความร้อนสูงขึ้นในรูปแบบถ่าน และน้ำมันชีวภาพ โดยไล่สารระเหย ควบคุมการให้อากาศ ระยะเวลาและอุณหภูมิให้คงที่ คงเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นคาร์บอนหรือตัวถ่านคุณภาพดี ถือเป็นการพัฒนาชีวมวลเพื่อมาทดแทนถ่านหิน โดยน้ำมันชีวภาพที่ได้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ น้ำส้มควันไม้ และน้ำมันดิน (Tar) ซึ่งถ่านและน้ำมันชีวภาพที่ได้จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จากการศึกษาวิจัยดังกล่าว นำสู่ห้องปฏิบัติการจริง ในพื้นที่บ้านนาฮ่อง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีชาวบ้านนำซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่านอัดแท่ง ถือเป็นการกำจัดซังข้าวโพดถูกวิธี ไม่ได้เผาทิ้งแต่กลับมีคุณค่าขึ้นมา อีกทั้งเป็นการนำวิธีการรีไซเคิลมาประยุกต์ใช้ ทำให้สิ่งที่ไร้ค่ากลับมีมูลค่า และยังประโยชน์แก่ชาวบ้านในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ใช้เป็นถ่านหุงต้ม เป็นปุ๋ย หรือขายเพื่อสร้างรายได้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. โทรศัพท์ 053-942007-9, 053-948195-8 เพื่อขอข้อมูลและคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีรวมถึงสาธิตวิธีการแก่ผู้สนใจ เกษตรกร หรือองค์กรเอกชนที่ต้องการนำไปต่อยอดหรือลงทุนทางธุรกิจได้ตลอดเวลาทำการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กัลฟ์ จัดกิจกรรม “GULF Sparks Energy ชวนน้องท่องโลกพลังงาน” ปลูกฝังเรื่องพลังงานสะอาด และการแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
กลุ่มบริษัทกัลฟ์ จัดกิจกรรม “GULF Sparks Energy ชวนน้องท่องโลกพลังงาน” เพื่อเป็นการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
‘พิชัย’ เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา
‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ
GPSC แข็งแกร่งรับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว จาก 3 แบงค์รัฐ-เอกชน มูลค่า 7 พัน ลบ. รุกพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ Net Zero รองรับแผนพัฒนาพลังงานชาติ
GPSC ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 7,000 ลบ. มุ่งธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน สอดรับกลยุทธ์องค์กรจากบทบาทในการ Decarbonization ให้กับกลุ่ม ปตท. เดินหน้ามุ่งสู่แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ไฮโดรเจนความหวังใหม่ของวงการพลังงานสะอาด
แม้อาจมองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่มีอยู่จริงรอบตัวเรา และนี่คือความหวังใหม่ของพลังงานสะอาดในอนาคต ‘ไฮโดรเจน’ ธาตุที่มีอยู่มากที่สุดในจักรวาล และมีอย่างไม่จำกัด
“ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่” พร้อมรันวงการพลังงานสะอาด
วงการพลังงานทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานหมุนเวียนได้ก้าวเข้ามามีบทบาทและกำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น