‘ป่าสร้างคน...คนสร้างป่า’ ที่บ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี “ป่าชุมชนที่ขจัดความจน...และฝายมีชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน”

นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร  เจ้าหน้าที่ทหาร  จิตอาสาจากเรือนจำเขากลิ้ง  และชาวชุมชน  ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำที่ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ เมื่อ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่า  ปัจจุบันมีป่าชุมชนทั่วประเทศที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 จำนวน 12,801 หมู่บ้าน  จำนวนป่า 11,191 แห่ง  รวมเนื้อที่ 6,228,726 ไร่

จากการประเมินของกรมป่าไม้  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675  ครัวเรือน  เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน  ลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  จำนวน 4,907 ล้านบาท  การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน  รวม 42 ล้านตันคาร์บอน  การกักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า 4.562  ล้านลูกบาศก์เมตร  และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ของป่า  595,857 ล้านบาท...!!

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีภารกิจเสริมสร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในมิติต่างๆ รวมทั้งเรื่องการดูแลจัดการป่าชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อชุมชนท้องถิ่น  และเป็น ‘ป่าชุมชนเพื่อขจัดความจน” มิใช่ป่าที่ไล่คนจนออกจากป่า  ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อความยั่งยืน  โดยมีพื้นที่นำร่อง 15 ป่าทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา 

โดยมีป่าชุมชนต้นแบบ  เช่น  ‘ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ’  ต.แก่งกระจาน  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ...!!

บ้านถ้ำเสือ...จากป่ารกชัฏกลายเป็นไร่สวน  แต่ยังมีการดูแลป่าและสภาพแวดล้อม  จนสามารถนำมาส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนได้ 

ตำนานแผ่นดิน... แม่น้ำ-เขื่อน-คนและเสือเผ่น...!!

แม่น้ำเพชรบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แม่น้ำเพชร”   มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี  พรมแดนระหว่างไทยกับพม่า  ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านแหลม     มีความยาวราว 210 กิโลเมตร   เมื่อไหลมาถึงอำเภอบ้านแหลม แม่น้ำจะแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบ้านแหลม อีกสายไหลไปทางทิศเหนือออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางตะบูน เรียก แม่น้ำบางตะบูน 

ในสมัยรัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชร  เพราะมีรสชาติดีกว่าแม่น้ำอื่น  และน้ำจากแม่น้ำเพชรยังใช้ประกอบในพระราชพิธีต่างๆ ด้วย

ก่อนการสร้างเขื่อนแก่งกระจานในปี 2504  พื้นที่ป่าแถบลุ่มน้ำเพชรบุรีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้น้อยใหญ่  เช่น ตะเคียน  ตะแบก มะค่า รัง  ฯลฯ เป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น  ช้าง เสือ หมี กระทิง เก้ง กวาง เมื่อจะมีการก่อสร้างเขื่อนดินปิดกั้นแม่น้ำเพชรบุรีที่บริเวณเขาไม้รวกและเขาจ้าว ทางราชการจึงให้สัมปทานตัดไม้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ  ทำให้ไม้น้อยใหญ่ที่อยู่ในรัศมีอ่างเก็บน้ำขนาดเนื้อที่ประมาณ 46 ตารางกิโลเมตรถูกตัดหรือจมอยู่ใต้อ่างในเวลาต่อมา 

ขณะที่สัตว์ป่าต่างหลีกหนีเข้าสู่ดงลึก  ไม่เว้นแม้แต่ผู้คน  คือ  ชาวกะเหรี่ยงและกะหร่างที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีมาแต่ดั้งเดิมต้องขยับหรือย้ายบ้านเรือนหนีน้ำจากอ่างที่เริ่มสูงขึ้นมาเมื่อเขื่อนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2509 ทิ้งไว้เพียงแต่ชื่อ “กระจาน”

แม่น้ำเพชรบุรีบริเวณบ้านถ้ำเสือ  ไหลมาจากเขื่อนแก่งกระจาน  บางเวลาเขื่อนจะชะลอการปล่อยน้ำ  ทำให้แม่น้ำแห้ง  เกาะแก่งต่างๆ จะโผล่ขึ้นมา  ชาวบ้านริมแม่น้ำเพชรส่วนใหญ่ทำการเกษตร  ปลูกกล้วย  มะนาว  ทุเรียน ลำไย  ฯลฯ บางส่วนกลายเป็นรีสอร์ทริมแม่น้ำ

นั่นเพราะในอดีต  ชาวกะเหรี่ยงจะหาปลาในแม่น้ำเพชรบริเวณที่มีแก่งซึ่งมีฝูงปลาอาศัยอยู่  โดยจะใช้ ‘กระจาน’ ซึ่งเป็นแผ่นตะกั่วบางตีให้แบน  ขัดให้แวววาวเป็นเหยื่อปลอม (เหมือนกับ Spoon เหยื่อปลอมใช้ตกปลาในปัจจุบันที่มีรูปร่างคล้ายช้อนขนาดเล็ก) นำมาผูกติดกับเบ็ดเพื่อใช้ล่อปลา  เมื่อกระจานถูกเหวี่ยงลงในน้ำ  สีสันอันแวววับของมันที่สะท้อนอยู่ในน้ำจะล่อให้ฝูงปลาเข้ามาเพราะคิดว่าเป็นเหยื่อ  โดยเฉพาะปลากระสูบที่มีชุกชุมอยู่ในแม่น้ำเพชร !!

สมพร  คำหอม  ผู้ใหญ่บ้านบ้านถ้ำเสือ  บอกว่า  จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านทำให้ทราบว่า  บ้านถ้ำเสือเริ่มมีผู้คนจากอำเภอต่างๆ  ในจังหวัดเพชรบุรี  เข้ามาบุกเบิกจับจองที่ดินทำกินตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประมาณปี 2488  เพื่อทำไร่ฝ้าย  ปลูกมันสำปะหลัง 

“เมื่อก่อนป่ายังอุดมสมบูรณ์  สัตว์ป่ายังมีชุกชุม  พอเริ่มมีผู้คนเข้ามาบุกเบิกจับจองที่ดินทำกิน  มีการถางป่าเพื่อสร้างบ้านเรือนและทำไร่ สัตว์ป่าก็เริ่มหนีเข้าไปอยู่ในดงลึก  ที่เรียกว่า ‘บ้านถ้ำเสือ’  เพราะเมื่อก่อนในถ้ำไม่ไกลจากหมู่บ้านยังมีเสืออาศัยอยู่  พอคนมาอยู่กันเริ่มเยอะ  เสือจึงหนีออกไปอยู่ที่อื่น  คนเฒ่าคนแก่บอกว่า  ก่อนที่เสือจะไป   คืนนั้นมันร้องทั้งคืน  ได้ยินมาถึงหมู่บ้าน  พอตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นมา จึงเรียกว่าบ้านถ้ำเสือ”  ผู้ใหญ่บ้านเล่าความเป็นมา

ปัจจุบันบ้านถ้ำเสือขึ้นอยู่กับตำบลแก่งกระจาน  อ.แก่งกระจาน  มีบ้านเรือนประมาณ 160 ครัวเรือน  ประชากรราว 600 คน  ส่วนใหญ่พื้นเพเป็นคนเพชรบุรี  และมีผู้คนจากต่างถิ่นทั่วสารทิศขยับขยายย้ายเข้ามาอยู่  อาชีพหลักคือการเกษตร  ปลูกพืชผัก  พริก  ถั่วฝักยาว  แตงกวา มะเขือ  มะนาว  กล้วย  ทำสวนผลไม้  ทุเรียน  เงาะ ฯลฯ มีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นสายเลือดหลัก

จากการดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม  ทำให้บ้านถ้ำเสือพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  มีโฮมสเตย์  ลานกางเต็นท์ริมน้ำ  ตลาดริมน้ำ สร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชน

“ป่าสร้างคน...คนสร้างป่า”

ก่อนจะเป็นต้นแบบในการดูแลและจัดการป่าชุมชนแบบวันนี้  ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน  ชาวบ้านถ้ำเสือก็ไม่ต่างจากเกษตรกรไทยทั่วไปที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เช่น  ฝ้าย  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด  อ้อย  สับปะรด ฯลฯ  ต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี  แต่ยิ่งปลูก  ยิ่งเป็นหนี้  เพราะชาวบ้านกำหนดราคาขายไม่ได้  ทำแล้วไม่คุ้มทุน  ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพาะปลูก  เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละปีแล้วจึงหักลบกลบหนี้กับเถ้าแก่รับซื้อพืชไร่  แล้วลงมือเพาะปลูกรอบใหม่ วนเวียนเป็นวงจรความยากจนไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะเดียวภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปี 2540 เกิดผลกระทบไปทั่ว  ไม่เว้นแม้แต่ชาวไร่ ชาวนา  สังคมไทยจึงย้อนกลับมาทบทวนดูรากเหง้าตัวเอง  ด้านการเกษตรมีการตื่นตัวเรื่อง ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ ตามแนวทาง ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9  หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนหันมาส่งเสริมให้ชาวไร่  ชาวนา  ทำเกษตรแบบผสมผสาน  เน้นการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ลด  ละ  เลิก  การใช้ปุ๋ยและสารเคมี หันมาทำปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยชีวภาพ  สารขับไล่แมลงจากต้นทุนในชุมชนท้องถิ่นที่ตนเองมีอยู่

ที่บ้านถ้ำเสือก็เช่นกัน  เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างจริงจังก็ราวปี 2548  เมื่อตัวแทนชาวบ้านบ้านถ้ำเสือได้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้เรื่องโครงการ ‘ธนาคารต้นไม้’ ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มจัดขึ้นในปีนั้น  โดย ธ.ก.ส. มีแนวคิดว่า “ต้นไม้   เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่มีราคา สามารถถือครองได้  ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้   หรือใช้หนี้  ใช้เป็นบำนาญยามชรา และเป็นมรดกแก่ลูกหลานได้”

นอกจากนี้ยังเป็นการสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  เรื่อง “การปลูกไม้ 3 อย่าง  ประโยชน์ 4 อย่าง”  คือ  1.ไม้ใช้สอย  2.ไม้ก่อสร้าง  3.ไม้กินได้  และประโยชน์ 4 อย่าง  คือ  1.ใช้เป็นฟืนหุงต้มและไม้ใช้สอยต่างๆ  2.ใช้ก่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน  3.ใช้เป็นอาหาร  และ 4.เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ

สุเทพ  พิมพ์ศิริ  ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ  บอกว่า  ตนเป็นตัวแทนชาวบ้านถ้ำเสือที่เข้าอบรมในครั้งนั้น  ได้เข้าใจและเห็นประโยชน์คุณค่าของป่าและต้นไม้ที่มีต่อคนและสิ่งแวดล้อมเหมือนกับพระราชดำริของในหลวง เปรียบเสมือนเป็น “ป่าที่สร้างคน” ดังนั้นเมื่อกลับจากการอบรมตนจึงเป็นแกนนำในการพาชาวบ้านเข้าร่วม ‘โครงการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ’

สุเทพ  (ซ้าย) บรรยายเรื่องการดูแลป่าและต้นไม้ให้นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ฟังที่บ้านถ้ำเสือ  เมื่อ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา

“ช่วงแรกชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ  ไม่เข้าร่วม  ต้องใช้เวลาชี้แจงอยู่นาน  มี ธ.ก.ส.เข้ามาส่งเสริม  ทำให้ชาวบ้านเริ่มเชื่อมั่น  มีสมาชิกช่วงแรกประมาณ 30 คน  โดยเรามีเงื่อนไขว่า  ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีต้นไม้ 9 ต้นขึ้นไป  เป็นไม้ยืนต้น  ไม้กิน  ไม้มีค่า  มะม่วง  สะเดา  มะค่าโมง  สัก  และไม้ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในไร่สวน  เพื่อเอามาขึ้นทะเบียน  มีการวัดเส้นรอบวง  วัดขนาดของต้นไม้  จับพิกัดด้วย และต้องปลูกไม้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว  เมื่อไม้โตขึ้นก็จะนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง”  ประธานธนาคารต้นไม้บอก

ในปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวง ( 24 ตุลาคม 2561) ให้ประชาชนสามารถใช้ไม้ยืนต้น 58 ชนิดที่ปลูกในที่ดินของตนเองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินหรือขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้  เช่น  ธ.ก.ส.  ธนาคารกรุงไทย  หรือธนาคารอื่นๆ

ต้นไม้ 58 ชนิด เช่น ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ไม้สกุลยาง สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน  ไม้สกุลจำปี แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์  มะหาด มะขามป้อม  หว้า จามจุรี หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม  ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง   ไม้สกุลทุเรียน มะขาม  ฯลฯ

ต่อมาในปี 2562 ธ.ก.ส.เริ่มปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรที่นำต้นไม้จากโครงการธนาคารต้นไม้มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้   โดยที่บ้านถ้ำเสือมีเกษตรกร 4 รายนำต้นไม้มาค้ำประกัน  วงเงินกู้รวม 500,000 บาทเศษ

สุเทพ  พิมพ์ศิริ  ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ  บอกว่า ตนก็เป็น 1 ในชาวบ้านถ้ำเสือที่นำต้นไม้มากู้เงินจาก ธ.ก.ส.  โดยใช้ต้นไม้ต่างๆ รวม 80 ต้น  เช่น  สะเดา  ปีป  มะค่าโมง  สัก  ฯลฯ  ได้เงินมา 300,000 บาท  กำหนดผ่อนชำระคืนภายในเวลา 10 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท/ปี

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะกำหนดมูลค่าของต้นไม้แต่ละชนิด และต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปีขึ้นไป มีลำต้นตรง 2 เมตรขึ้นไป    มีต้นไม้ 200-400 ต้นในพื้นที่ 1 ไร่  ต้องปลูกในที่ดินตัวเอง โดย ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ 50% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน

“ตอนนี้เรามีสมาชิกธนาคารต้นไม้มากกว่า 70 คน  ปลูกต้นไม้เพิ่มและขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส.ไปแล้วกว่า 20,000 ต้น  และยังส่งเสริมให้สมาชิกทำเรื่องอื่นๆ  เช่น  ทำเกษตรอินทรีย์  ปลูกพืชผสมผสาน  ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง    ทำน้ำส้มควันไม้ใช้บำรุงพืช   ใช้สมุนไพรไล่แมลงศัตรูพืช เพื่อลดต้นทุน และยังช่วยกันดูแลแม่น้ำเพชรด้วย  เพราะเป็นการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้ไม่มีสารเคมีไหลลงไปในแม่น้ำ”  ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บอกถึงผลที่เกิดขึ้น

พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งและครอบครัวทำกิจกรรม CSR ที่ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ  โดยยิงกระสุนดินเหนียวใส่เมล็ดพันธุ์เข้าไปในป่า  เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดพันธุ์จะงอกเติบโตในป่าต่อไป

‘บ้านถ้ำเสือ’ ป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากโครงการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือดังกล่าวแล้ว  ชาวบ้านถ้ำเสือยังช่วยกันดูแลป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  เป็นป่าชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้  อยู่ห่างจากย่านชุมชนหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร  เป็นป่าที่ราบสลับภูเขา  มีไม้ต่างๆ เช่น ไม้รวก สามพันตา งิ้ว มะค่า ตะแบก ไม้รัง ฯลฯ มีถ้ำซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านถ้ำเสือ’  โดยกรมป่าไม้ได้ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นป่าชุมชนในปี 2552 เนื้อที่ 772 ไร่เศษ  (ปัจจุบันชาวบ้านขยายการดูแลป่าชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 2 แปลง  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,500 ไร่)

ขณะที่ชาวบ้านได้ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาดูแล  มีคณะกรรมการรวม 15 คน  มีระเบียบข้อบังคับ  เช่น  ห้ามตัดไม้ทุกชนิด  ห้ามล่าสัตว์ป่า  ห้ามบุกรุกแผ้วถาง ห้ามจุดไฟเผาป่า  หากทำผิดระเบียบจะว่ากล่าวตักเตือนก่อน  หากทำผิดซ้ำจะโดนปรับ  และจะส่งดำเนินคดีหากยังทำผิดซ้ำอีก  แต่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเก็บหาของป่าเพื่อบริโภค  ตัดไม้ไผ่เพื่อใช้สอย  หากใช้ประโยชน์อื่นๆ คณะกรรมการป่าชุมชนจะประสานกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เพื่อพิจารณา

ขณะเดียวกัน  ในปี 2562  ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ฉบับแรกประกาศใช้  ผลจากการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  เช่น  สามารถเก็บหาของป่า  ตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน  เพื่อประโยชน์สาธารณะ  (ยกเว้นไม้ทรงคุณค่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) ปลูกต้นไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์  สร้างฝายกักเก็บหรือชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น  เป็นแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน  ทำประปาภูเขา   นำน้ำมาใช้ในการเกษตร  จัดการท่องเที่ยว  ฯลฯ

แต่อย่างไรก็ตาม  แม้ว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนจะประกาศใช้เป็นเวลา 3-4 ปีแล้ว  แต่ยังมีขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการอีกมาก  เช่น  การจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด  (ทำหน้าที่พิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชน  อนุมัติแผนการจัดการป่า  ควบคุมดูแลการจัดการป่า  ฯลฯ)  ชุมชนที่ต้องการจัดตั้งป่าชุมชนจะต้องยื่นคำขอจัดตั้ง  ต้องมีแผนการจัดการป่าชุมชน  แผนการอนุรักษ์  ฟื้นฟู  พัฒนา  การใช้ประโยชน์  การตรวจสอบรังวัดพื้นที่ป่าชุมชนที่ขอจัดตั้งโดยกรมป่าไม้  การจัดทำแผนที่ป่าชุมชน ฯลฯ

ดังนั้นในปี 2566 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ จึงร่วมกับกรมป่าไม้และภาคีเครือข่าย  เช่น  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  มูลนิธิชุมชนไท  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุน ‘โครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ เช่น        ให้ความรู้เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน   การจัดตั้งป่าชุมชน  การจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน  ฯลฯ 

โดยคัดเลือกพื้นที่ป่าชุมชนที่มีการดูแลป่า  มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งในระดับหนึ่ง  เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องเข้าร่วมโครงการ  รวม 15 แห่งทั่วประเทศ เช่น  ป่าชุมชนบ้างยางเปียง  อ.อมก๋อย    จ.เขียงใหม่  ป่าชุมชนบ้านคลองเสลา  อ.บ้านไร่  จ.อุทัยธานี  ป่าชุมชนตำบลกุดหมากไฟ  อ.หนองวัวซอ  จ.อุดรธานี  ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ  อ.แก่งกระจาน    จ.เพชรบุรี  ฯลฯ

สุเทพ  พิมพ์ศิริ  ในฐานะแกนนำขับเคลื่อนป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ  บอกว่า   จากผลงานการดูแลป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือมาอย่างต่อเนื่อง  จึงทำให้บ้านถ้ำเสือได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 15 ป่าที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ พอช.  และได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 75,000 บาท  เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมการพัฒนาป่าชุมชน  เช่น  การทำฝายชะลอน้ำบริเวณป่าถ้ำเสือ  การเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน

ฝายชะลอน้ำจะสร้างตามทางไหลของน้ำ  ขนาดขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่  ฝายแห่งนี้กว้างประมาณ 1 เมตรเศษ  ยาว 6 เมตร  ใช้ไม้ไผ่ตอกเป็นหลักและมัดด้วยเชือกให้แน่นหนา  กั้นให้เป็นคอก  นำก้อนหินขนาดพอเหมาะมาวางเรียงให้แน่น  ช่วยชะลอน้ำที่จะไหลลงมาจากเขา  (ภาพจิตอาสาเรือนจำเขากลิ้ง  จ.เพชรบุรี  ร่วมสร้างฝายบ้านถ้ำเสือ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา)

“เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ชาวบ้านได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำฝายชะลอน้ำที่ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ     มีหน่วยทหาร นพท.ในพื้นที่  จิตอาสาจากเรือนจำเขากลิ้งเพชรบุรี  เจ้าหน้าที่ พอช. และนักศึกษา วปอ.  ประมาณ 100 คน  มาช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำ  ตอนนี้ทำฝายไปแล้ว 2 ตัว  ตามแผนจะทำฝายทั้งหมดประมาณ 20 ตัว  เพื่อชะลอและกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากบนเขา  และต่อไปเรามีแผนจะทำเส้นทางขึ้นไปชมวิวบนเขา  เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมวิวป่าแก่งกระจานด้วย”  แกนนำป่าชุมชนบอก

เขาบอกด้วยว่า  โครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือยังได้รับการสนับสนุนจาก ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในการต่อยอดสร้างอาชีพ  โดยขณะนี้ได้สร้างโรงเรือนเพาะ   ชำกล้าไม้ยืนต้น  เช่น  ประดู่  ชิงชัน  ยางนา  ตะเคียนทอง  มะฮอกกานี  สัก  พะยูง ฯลฯ  เพื่อขายสร้างรายได้ให้ชาวชุมชน  เบื้องต้นตั้งราคาไว้กล้าละ 10 บาท  รวมทั้งสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกผักอินทรีย์ขาย  เช่น  ผักกาด คะน้า  กวางตุ้ง ผักสลัด   ฯลฯ

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  กล่าวว่า  พอช.มีความตั้งใจในการทำงานเรื่องป่าชุมชนที่บ้านถ้ำเสือ  แต่โครงการที่จะสำเร็จได้จะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  พอช. ได้รวมสรรพกำลังจาก วปอ. มาร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำที่บ้านถ้ำเสือเพื่อให้เป็นต้นแบบ  เมื่อเกิดความสำเร็จแล้ว พอช. จะนำไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

“เราหวังว่าป่าชุมชนที่เราทำจะเป็นต้นแบบของการทำป่าชุมชนแบบเต็มรูปแบบ และต่อไปจะทำเรื่องคาร์บอนเครดิตด้วย  จะมีการวัดคาร์บอนเครดิตอย่างถูกต้อง  ซึ่งเรื่องนี้ได้คุยกับกรมป่าไม้เรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องป่าอย่างเดียว แต่ยังทำเรื่องชีวิตความเป็นอยู่  เรื่องรายได้ด้วย  เช่น  มีโรงเพาะชำ  โรงเพาะกล้าไม้  โรงเรือนปลูกผัก  ทำเรื่องแหล่งน้ำ  รวมทั้งทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนด้วย”  ดร.กอบศักดิ์ประธานบอร์ด พอช.บอกถึงเป้าหมาย

ดร.กอบศักดิ์ (แถวนั่งที่ 5 จากซ้ายไปขวา) ที่ตลาดริมน้ำจามจุรีบ้านถ้ำเสือ  ตลาดแห่งนี้มีชาวชุมชนประมาณ 40 รายมาขายสินค้า  อาหาร  ขนม  งานฝีมือ  สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนประมาณวันละ 6-7 หมื่นบาท  เปิดวันเสาร์-อาทิตย์

‘ป่าชุมชนขจัดความจน  ฝายมีชีวิต’ สร้างเศรษฐกิจชุมชน

การขับเคลื่อนโครงการจัดการป่าชุมชนและการสร้างฝายชะลอน้ำนั้น  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ในปี 2561 โดยสนับสนุนโครงการ ‘ประชารัฐร่วมใจสร้างฝายมีชีวิต’ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ  สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้   โดยใช้ ‘ฝายชะลอน้ำ’  เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน  และเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้  ต้นน้ำลำธาร  คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน

นอกจากนี้ฝายชะลอน้ำยังมีประโยชน์มากมายหลายประการ ถือเป็น ‘ฝายมีชีวิต’ เช่น  1.ช่วยชะลอการไหลของน้ำ  ทำให้น้ำซึมลงไปใต้ดิน  จากเดิมที่ฤดูน้ำหลาก  น้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว  2. ชะลอความแรงของน้ำ   ช่วยลดการกัดเซาะตลิ่ง  3.ช่วยดักตะกอน  กิ่งไม้  เศษไม้   ดิน  หิน  โคลน  ทราย  ทำให้ลำน้ำหลังฝายตื้นเขินช้าลง  

4.ช่วยเก็บกักน้ำ  ทำให้เกิดความชุ่มชื้นบริเวณฝายและพื้นที่เหนือฝาย  ช่วยป้องกันไฟป่า  5.ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เช่น ปลูกผัก  เลี้ยงสัตว์  ทำไร่  ทำนา  ทำสวน  เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ  เช่น  ปลา  ปู  กุ้ง หอย  7.เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน  มีเห็ด  หน่อไม้  สมุนไพร  ผักกูด  บนพื้นที่ริมตลิ่ง  ริมห้วย  8.เก็บความชุ่มชื้น เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน  ใช้ประโยชน์ในการทำประปาหมู่บ้าน  ฯลฯ

การดูแลป่าชุมชนที่บ้านยางเปียง อ.อมก๋อย  จ.เชียงใหม่ (1 ใน 15 ป่านำร่อง)  ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บเห็ดต่างๆ  ในปี 2562 ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า  ชาวบ้าน 500 ครอบครัวเก็บเห็ดถอบมีรายได้รวมกันในฤดูนั้นประมาณ 15 ล้านบาท

ดังนั้นเมื่อ ดร.กอบศักดิ์เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จึงให้การสนับสนุน‘โครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน  มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU.) ‘การสนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ระหว่าง  8 หน่วยงานภาคี  คือ พอช.-สสส.–กรมป่าไม้-กรมทรัพยากรทางทะเลฯ- RECOFTC Thailand-มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน-มูลนิธิชุมชนไท-มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาป่าชุมชนที่ยั่งยืน  ชุมชนมีอาชีพ-มีรายได้-ลดภาวะโลกร้อน ฯลฯ โดยนำร่องขับเคลื่อนป่าชุมชนทั่วประเทศในปี 2566 เป็นปีแรก รวม 15  แห่ง 

ล่าสุดระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคมนี้  พอช.และภาคีเครือข่ายจะจัด ‘เวทีสรุปบทเรียนและวางแผนทิศทางการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’  หลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการไปแล้วระยะหนึ่ง  โดยจะจัดกิจกรรมและศึกษาดูงานป่าชุมชนที่บ้านถ้ำเสือ  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี  มีผู้แทนป่าชุมชน 15 แห่ง  และผู้แทนหน่วย งานภาคีเข้าร่วม  เพื่อให้มีการพูดคุย  สรุปบทเรียน  ปัญหาการดำเนินงาน  แนวทางการแก้ไข  ข้อเสนอเชิงนโยบาย  การวางแผนการขับเคลื่อนงานช่วงปี 2568-2570  ฯลฯ

ดร.กอบศักดิ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  โครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตนี้  พอช.จะขยายไปสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศ  แต่ พอช.มีงบประมาณจำกัด  ดังนั้นตนจึงชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ  เช่น  สนับสนุนงบประมาณในการปลูกป่า-สร้างฝายมีชีวิต   การทำโครงการคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน  รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้มีค่า  หากทำโครงการนี้ได้  ป่าไม้ประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านก็จะมีรายได้  หายจากความยากจน  และอยู่ดีมีสุข

“พื้นที่  1 ไร่  จะปลูกต้นไม้ดีๆ ได้ประมาณ 200 ต้น  ได้ต้นละ 2-30,000 บาท  จะได้มูลค่าประมาณ     2 ล้านบาท  หาก 1 ชุมชนปลูก1,000 ไร่  จะสร้างมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท  ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปใน 3 ปีด้วยมือเรา  และในอนาคตจะมีการต่อยอดในพื้นที่ป่าชายเลนที่สามารถจัดทำแผนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  ทำธนาคารปู  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  สร้างพื้นที่สีเขียวต่อไปได้”  ดร.กอบศักดิ์กล่าวในตอนท้าย

ผู้แทน 8 หน่วยงานภาคีที่ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือและผู้แทนชุมชนทั้ง 15 ป่าชุมชนที่ พอช. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566  พร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนป่าชุมชนให้เป็น “ป่าชุมชนที่ขจัดความจน...และฝายมีชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน”

********************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6