กรุงเทพฯ / BOI ตลาดหลักทรัพย์ กลต. สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สสส. และ พอช. จัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’ (Multilateral Collaboration for Sustainability) เพื่อประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย BOI มีมาตรการหนุนเสริมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ภาคธุรกิจ 200 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ด้าน พอช.ชูจังหวัดภูเก็ตนำร่องจับคู่ชุมชนกับธุรกิจหนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กก่อนขยายไปทุกภูมิภาค
ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น. จะมีการจัดงาน ‘‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’ (Multilateral Collaboration for Sustainability) ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7อาคาร C ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยจะมีผู้บริหารบริษัทธุรกิจเอกชน หน่วยงานรัฐ ผู้แทนชุมชน และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
องค์กรที่ร่วมจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคมของ BOI
สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก
การจัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’ (Multilateral Collaboration for Sustainability) ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ มีกิจกรรมบนเวทีที่สำคัญ เช่น การชี้แจงความเป็นมาในการจัดงาน
โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การบรรยาย เรื่อง “การพัฒนาและขับเคลื่อนการส่งเสริมการลงทุนและความเสมอภาคในการระดมทุนเพื่อเสริมสร้างรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ”โดย ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
การบรรยาย เรื่อง “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก สู่ความยั่งยืน” โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
การบรรยาย เรื่อง“บทบาทความสำคัญของ BOI ในการส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” โดยคุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
การบรรยาย เรื่อง “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” และ “การเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์โดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” โดยคุณพัชรดา นวกะวงษ์การ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ประกอบการไทย (BOI) และผู้บริหารบริษัทเอกชน
การนำเสนอ “รูปธรรมและกรณีตัวอย่างชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคีการพัฒนา” โดยคุณกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนชุมชน
นอกจากกิจกรรมการบรรยายและการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการ การออกบูธของหน่วยงานต่างๆ และชุมชนที่เข้าร่วมงาน เช่น นิทรรศการ ‘บ้านคนพิเศษ วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เสนอเนื้อหาด้านอุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตกระเป๋าผ้า ทำขนมทองม้วน เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ ให้แก่ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส แม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกพิการ ‘บริษัทสไมล์ ไนส์ เดนทัล จำกัด’ เสนอเนื้อหาด้านสาธารณสุข โดยการนำรถทันตกรรมเคลื่อนที่ออกให้บริการคนในชุมชน ฯลฯ
‘บ้านคนพิเศษ วิสาหกิจเพื่อสังคม’ จ.ชลบุรี นำสินค้าจากผู้ด้อยโอกาส กระเป๋า ขนมทองม้วน ออกร้านจำหน่าย
BOI หนุนภาคธุรกิจสนับสนุนการพัฒนาชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม โดยมีภารกิจหลักคือการส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี จนกระทั่งถึงปัจจุบันได้มีการขยายขอบเขตหน้าที่ให้ครอบคลุมการส่งเสริมการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศด้วย
ปัจจุบัน BOI ได้กำหนดเป้าหมายหลักที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) ควบคู่กับ “การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บรรลุผล 3 ประการ ประกอบด้วย
1.Innovative : เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ 2.Competitive : เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้เร็ว และสร้างการเติบโตสูง และ 3.Inclusive : เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
จากเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะข้อ 3.Inclusive “เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ” นั้น BOI ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 9 มาตรการขึ้นมา โดย 1 ในนั้นเป็นมาตรการการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน โดยมี “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” (ข้อ 9)
มาตรการดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก (เดิม) โดยเพิ่มวงเงินลงทุนที่จะลงไปสู่ชุมชน และเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หรือไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่อยู่ในกิจการที่ให้การส่งเสริม สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ได้
โดยผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการนี้ จะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ในการเข้าไปสนับสนุนโครงการชุมชนในการพัฒนาระบบเกษตรและน้ำ ผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวชุมชน เรื่องการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ให้แก่สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ รายละไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท จะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200 เปอร์เซ็นต์ของเงินสนับสนุนการพัฒนาชุมชน
บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนไผ่ขวาง อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา
‘พอช’ เชื่อมประสาน ‘ชุมชน-ภาคธุรกิจ’ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ในฐานะประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวถึงบทบาทของ พอช.ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ จัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’ ในครั้งนี้ว่า ปกติบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนใหญ่ๆ จะมีการทำ CSR ทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่แล้ว แต่ปัญหาของการดำเนินการดังกล่าวเป็นเพราะต่างคนต่างทำ หรือทำตามโครงการที่เสนอมา เป็นการทำแบบกระจัดกระจาย ไม่มีพลัง แต่ละปีใช้เงินเยอะ บางองค์กรใช้ไปหลายร้อยล้านบาท แต่ผลที่เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
“เราจึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะสามารถสานพลังเอกชนแล้วมาช่วยเหลือชุมชน ถ้าดำเนินการร่วมกันได้ก็จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในส่วนนี้โชคดีว่าช่วงหลัง BOI ก็มีมาตรการเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนช่วยวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งเอสเอ็มอี เป็นมาตรการใหม่ที่อยากให้บริษัทใหญ่ๆ ทำประโยชน์เพื่อชุมชนรอบข้างและกลุ่มคนเปราะบางในสังคม เราก็เลยชวนหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมกัน ทาง กลต.ก็จะมีเรื่องของสินเชื่อเครติด เรื่องให้บริษัทต่างๆ ที่ทำเรื่องนี้ทำรายงานประจำปี ทาง BOI ก็จะมีมาตรการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ซึ่งก็จะมีมาตรฐานของการทำโครงการ พอช.ก็เข้าไปร่วม โดยเอาชุมชนที่มีความเข้มแข็งไปเป็นเป้าหมายของการดำเนินการร่วมกับเอกชน” ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงความเป็นมา
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างว่า หากชุมชนไม่มีความเข้มแข็งพอ เมื่อทำโครงการไปแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้งบประมาณที่ใช้ไปไม่ได้ผลเท่าที่ควร เหมือนกับละลายน้ำไป จึงมาคิดว่าถ้าเราสานพลังเอกชน ชุมชน เรื่องของสิทธิประโยชน์ แล้วมีการกำกับดูแล ทำรายงานต่างๆ ได้ดี มันก็จะเกิดพลังอีกแบบหนึ่ง นำไปสู่การสร้างสังคมที่ภาคเอกชนมาช่วยชุมชนในการพัฒนา ซึ่งอันนี้คือหัวใจ เพราะว่าปัญหาในขณะนี้ คือชุมชนเข้าระบบตลาดไม่เป็น ขายของไม่เป็น ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ทัน ทำให้เกิดปัญหา
“พอช.มีหน้าที่นำชุมชนที่เข้มแข็งเข้าไปร่วมด้วย ซึ่งในส่วนนี้ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งคือหัวใจ เพราะเอกชนเขาอยากทำ แต่เขาหาชุมชนที่เข้มแข็งไม่เจอ พอช.ก็จะทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่ที่จะเอาชุมชนเข้มแข็งนี้ไปเจอกับบริษัทต่างๆ เพื่อทำงานร่วมกัน ทำให้โอกาสความสำเร็จของงานเพิ่มขึ้น แล้วนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป ซึ่งหลังจากเสร็จงานสานพลังฯ ที่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว เราก็หวังว่าบริษัทเอกชนจะสนใจในโครงการของ BOI สนใจโครงการของชุมชนต่างๆ ที่เราไปนำเสนอ”
ดร.กอบศักดิ์บอกถึงบทบาทของ พอช.และเป้าหมายปลายทาง และว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งเริ่มสมัครเข้าสู่โครงการของ BOI ในการขับเคลื่อนเรื่องป่า การพัฒนาสินค้าของชุมชน และเรื่องอื่นๆ เช่น การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดภูเก็ต
การจัดงาน ‘BOI - Matching Day รวมพลังจับคู่ธุรกิจกับชุมชนด้วยสิทธิประโยชน์บีโอไอ’ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเดือนกันยายน 2566
ยกภูเก็ตเป็นต้นแบบนำร่องจับคู่ภาคธุรกิจพัฒนาชุมชน
นอกจากการจัดงาน ‘สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน’ ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ พอช.ร่วมกับ BOI ได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน
เช่น ในเดือนกันยายน 2566 จัดงาน ‘BOI-Matching Day รวมพลังจับคู่ธุรกิจกับชุมชนด้วยสิทธิประโยชน์บีโอไอ บริษัทได้ ชุมชนได้’ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จ.ชลบุรี โดยมีบริษัทเอกชนหลายสิบรายเข้าร่วม โดยผู้บริหาร พอช.ได้ร่วมเสวนา นำเสนอภารกิจของ พอช. และแนวทางในการสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจกับชุมชน พื้นที่รูปธรรมและประเด็นงานที่ พอช. ขับเคลื่อนร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน เช่น กองทุนป่าชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พื้นที่เศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ
นอกจากนี้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พอช. ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเมืองภูเก็ต เปิดเวที ‘ผนึกกำลังความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน พี่ช่วยน้อง ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง บริษัทได้ ชุมชนได้’ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตเรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม และกิจกรรมการจับคู่ภาคธุรกิจกับชุมชน (CSR Matching) โดยมีภาคธุรกิจเอกชนให้ความสนใจจำนวนมาก ล่าสุดมีบริษัทแห่งหนึ่งมีแผนงานที่จะสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต
นางวารุณี สกุลรัตนธารา ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการเชื่อมประสานของ พอช. ระหว่างเครือข่ายชุมชนในจังหวัดภูเก็ตกับภาคธุรกิจทำให้ขณะนี้มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ความสนใจที่จะสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการที่ พอช.ร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์ดำเนินการนำร่องในศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศตั้งแต่กลางปี 2566 ที่ผ่านมา รวม 60 แห่ง รวมทั้งที่ภูเก็ตด้วย โดยนำเอารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Scope ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกมาใช้แทนการเรียนการสอนแบบเดิมๆ โดยเน้นให้เด็ก (อายุ 2-6 ขวบ) ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ผ่านมุมกิจกรรมการเล่นและสื่อที่เหมาะสมหลากหลาย ทำให้เด็กมีพัฒนาการต่างๆ ดีขึ้น ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา สังคม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://web.codi.or.th/20230607-46045/)
“ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตจึงได้นำโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนี้มาเสนอต่อบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อขยายโครงการศูนย์เด็กเล็กจากเดิมที่มีอยู่เป็น 10 แห่งในเมืองภูเก็ต โดยจะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 6,200,000 บาท เพื่อปรับปรุงห้องเรียน จัดมุมกิจกรรมการเล่น จัดหาสื่อ หนังสือ ของเล่น และจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ โดยเบื้องต้นบริษัทแห่งนี้ได้ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการและงบประมาณแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการตามกระบวนการของ BOI เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการลดหย่อนภาษีให้บริษัทเอกชน” ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตกล่าว และคาดว่าบริษัทจะได้รับการอนุมัติจาก BOI ภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กทันที
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย พอช. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนาชุมชน โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผ่านประเด็นงานสำคัญหลายมิติ เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนจากฐานราก การจัดสวัสดิการชุมชน สร้างระบบการดูแลซึ่งกันและกัน การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น
“จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชนในการหนุนเสริม สร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านมิติต่างๆ แต่งบประมาณจากรัฐบาลที่อุดหนุนผ่าน พอช. มาส่งเสริมความเข้มแข็งในพื้นที่นั้นมีจำนวนหนึ่ง หากเทียบกับความต้องการในการพัฒนา ตลอดจนการแก้ปัญหากับสถานการณ์ในพื้นที่นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงเล็งเห็นศักยภาพของภาคธุรกิจที่จะมาหนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกด้าน จังหวัดภูเก็ตจึงเป็นพื้นที่ที่ได้มีการหารือ เล็งเห็นว่าควรเป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อน Matching กับหลายภาคส่วน และจะขยายผลไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ตราด และชัยนาทต่อไป เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาที่ชุมชนเป็นฐาน สร้างพลังในการยึดโยงหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ท้องที่ ทำให้เกิดฐานรากเข้มแข็ง...ประเทศและสังคมจะไปรอด” ผอ.พอช.กล่าว
นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. (ขวา) ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต
*****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา