นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ คือนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อที่จะแสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้แพร่หลายในระดับนานาประเทศ และเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวในการค้าขายและการลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะช่วยผลักดันนโยบายดังกล่าวให้ลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย คือการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ให้กฎหมายเป็นอุปสรรคในการดำเนินการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) จึงมีส่วนสำคัญที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายหรือกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ในหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทำภาพยนตร์ รวมทั้งได้ศึกษากฎหมายของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อเตรียมความพร้อมหากจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีภารกิจในเรื่องนี้โดยตรงตามนโยบายของรัฐบาล
เนื่องจากซอฟต์พาวเวอร์มีความเกี่ยวพันกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาจึงถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ รวมทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่คนไทยได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นไม่ให้ถูกละเมิดและทำให้สามารถนำไปต่อยอดในทางธุรกิจได้ ซึ่งในปัจจุบัน สำนักงานฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรมีความรวดเร็ว และมีมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งให้ผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวไทยสามารถยื่นขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ โดยเฉพาะเรื่องของการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น การออกแบบลายผ้า การออกแบบลวดลายศิลปหัตถกรรม แฟชั่น การคิดค้นสูตรอาหาร หรือเรื่องอื่น ๆ ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ให้มีความแพร่หลาย อีกทั้งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรของผู้ประกอบการชาวไทยให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และยังทำให้การประดิษฐ์และการออกแบบที่คนไทยคิดค้นขึ้นได้รับความคุ้มครองโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนั้นจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุน สร้างแรงจูงใจ และผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์คิดค้นหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้รับความคุ้มครองในด้านสิทธิบัตรเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าในสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์ในทางการค้าและการประกอบธุรกิจทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศได้ต่อไป
กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญอีกฉบับหนึ่ง ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยในการส่งเสริมและขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านดนตรี การแสดง และการเผยแพร่วัฒนธรรม โดยกฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มขึ้นด้วยความสามารถของตนเอง ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับ สำนักงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิของนักแสดงเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงและผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมทั้งมีโอกาสใช้ประโยชน์จากการแสดงและการสร้างสรรค์สิ่งบันทึกเสียงได้มากขึ้น อันเป็นมาตรการที่จะสร้างแรงจูงใจให้มีการสร้างสรรค์การแสดงและสิ่งบันทึกเสียงใหม่ ๆ อีกทั้งช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และยังจะเป็นการส่งเสริมให้มีการรับฟังและรับชมการแสดงของไทยอันจะช่วยส่งผลให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลกได้มากและดียิ่งขึ้นด้วย
นอกจากกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสองฉบับที่กล่าวมาแล้ว โดยที่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์นี้มุ่งที่จะนำอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับที่จะแสดงถึงความเป็นไทย ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญในการให้ความคุ้มครองสินค้าที่มีคุณภาพหรือมีลักษณะเฉพาะตามแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ครอบคลุมรากฐานของซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในส่วนของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ต่าง ๆ โดยประเทศไทยมี GI จำนวนมากที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น ไวน์เขาใหญ่ ส้มโอนครชัยศรี ปลากุเลาเค็มตากใบ ผ้าไหมปักธงชัย ผ้าไหมยกดอกลำพูน ศิลาดล ในขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับ สำนักงานฯ และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา อยู่ระหว่างเตรียมการแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดให้มีระบบควบคุมตรวจสอบก่อนยื่นคำขอ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ ปรับปรุงการขึ้นทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยกระดับการคุ้มครองตราสัญลักษณ์ GI ซึ่งจะส่งผลในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับในด้านภาพยนตร์ สำนักงานฯ ได้มีส่วนร่วมกับกรมการท่องเที่ยวและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการยกร่างประกาศกรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับการขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งประกาศดังกล่าวจะกำหนดมาตรการจูงใจแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างชาติให้เกิดความสนใจและเลือกเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยมุ่งให้ภาพยนตร์ต่างประเทศมีการสอดแทรกเนื้อหา ฉากสำคัญ ๆ และบทภาพยนตร์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามทั้งในเมืองหลัก-เมืองรอง อาหารไทย ขนมไทย การแต่งกายด้วยชุดไทยหรือผ้าไทย ศิลปะการต่อสู้แบบไทย และภาษาไทย ตลอดจนงานประเพณีและเทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีอันที่จะทำให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ และช่วยนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น
สำนักงานฯ ได้ศึกษากฎหมายของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากรัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งได้พัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่อยอดองค์ความรู้จากวัฒนธรรมดั้งเดิม และสร้างองค์กรภาครัฐโดยจัดตั้ง The Korea Creative Content Agency (KOCCA) เป็นองค์กรส่งเสริมการพัฒนาคอนเทนต์ (Content) วัฒนธรรม ส่งเสริมภาคเอกชนให้ผลิตคอนเทนต์ที่มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดสากล และพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตคอนเทนต์ให้มีความทันสมัยและตรงต่อความต้องการของตลาดโลก ซึ่ง KOCCA มีส่วนในการออกกฎระเบียบที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาเทคโนโลยี และสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดตั้งธุรกิจด้านคอนเทนต์เกาหลี พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการขยายตลาดคอนเทนต์เกาหลีไปยังต่างประเทศเพื่อเป็นธุรกิจส่งออกอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
นั้นไง 'สุริยะ' โอ่ตอนนี้เป็นโลกคนยุคใหม่ 'แพทองธาร' เหมาะสม
ที่อาคารวอยซ์ สเปซ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
‘รมว.ปุ๋ง ’ ปลื้ม Soft Power หนังไทยสุดปังในเทศกาล New York Asian Film Festival เปิดแผนส่งออกเฟสติวัลหนังนานาชาติ
5 ส.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์