สวธ.น้อมรำลึกพระปฐมบรมศิลปินกรุงรัตนโกสินทร์ จัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานศิลปินแห่งชาติเนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ

24 ก.พ.2567 - เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ศิลปินแห่งชาติถือเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศในศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผลงานด้านศิลปะ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สวธ.มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และสร้างขวัญกำลังใจแก่ศิลปินแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง นิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 ที่จัดขึ้นนี้ ถือเป็นการเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง อันจะเป็นประโยชน์ และสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ และการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

“ การจัดนิทรรศการครั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และเพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้และให้ความสำคัญกับวันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งยังเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของศิลปินแห่งชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2528 ถึงปัจจุบัน มีศิลปินได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติรวม 355 คน เสียชีวิตไปแล้ว 177 คน ถอดถอน 1 คน และยังมีชีวิตอยู่ 177 คน ซึ่งศิลปินแห่งชาติทุกท่านล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า เป็นปราชญ์ทางด้านศิลปะที่มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ที่อุทิศตนสร้างสรรค์และถ่ายทอดผลงานศิลปะอันล้ำค่าไว้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ “ อธิบดี สวธ. กล่าว

สำหรับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวไทย เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นยุคที่งานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ด้วยทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลากหลายสาขา โดยเฉพาะงานด้านวรรณกรรมในยุคสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นปราชญ์ด้านวรรณศิลป์ เห็นได้จากการทรงงานพระราชนิพนธ์วรรณกรรม ไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น เรื่อง อิเหนา เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอก ไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวรรณกรรม จึงทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 (ในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 200 พรรษา) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงทำนุบำรุงงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เจริญรุ่งเรือง และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สร้างขวัญและกำลังใจให้ศิลปินผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันศิลปินแห่งชาติ”

คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปินสาขาต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง และผ่านการคัดเลือก ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ ส่วนที่เป็น วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย มัณฑศิลป์ การออกแบบผังเมือง การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น

สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ และสาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดง ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย 2.ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล และ 3. ภาพยนตร์และละคร

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมริเริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และมีประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 จนปัจจุบัน ศิลปินแห่งชาติเป็นปูชนียบุคคลของไทย ถือเป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนต้องช่วยกันธำรงรักษา ส่งเสริมสนับสนุน ให้กำลังใจแก่ศิลปินในการสร้างสรรค์งานศิลปะและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมจากศิลปินรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นสมบัติชาติไทยสืบไป

โอกาสนี้ สวธ. ขอเชิญนักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าชมนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 ณ อาคารอเนกประสงค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 9 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 - 16.30 น. เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลงาน'ตรี อภิรุม' ราชานิยายลึกลับสยองขวัญ

21 พ.ย.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช 2562  นามปากกา “ตรี อภิรุม” หรือ “นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา” เจ้าของผลงาน “นาคี” 

ทัพหนังไทยบุกเทศกาลหนังโตเกียว

อีกครั้งสำหรับภาพยนตร์ไทยในการเดินทางไปแสดงศักยภาพในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ โดยครั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม Thailand Creative Culture Agency (THACCA) และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ขนทัพบริษัทคอนเทนต์ไทย 9 บริษัท

'หมูเด้ง' ซุปตาร์ดันวัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก

“หมูเด้ง”ซุปเปอร์สตาร์ฮิปโปแคระที่โด่งดังเป็นไวรัลทั่วโลกจากความน่ารักขี้เล่น  สื่อต่างประเทศนำไปลงข่าว นิตยสาร TIME พาดหัวข่าวเป็นไอคอนไลฟ์สไตล์ที่กิน นอน และแอคชั่นดราม่า สร้างปรากฎการณ์หมูเด้ง  ช่วยให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เพิ่มทวีคูณ 

ลอยกระทงวิถีไทย สืบสานประเพณีงดงาม

วันลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จัดเป็นเทศกาลประเพณีสำคัญของคนไทยที่จะได้ร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณีอันดีงาม โดยการทำกระทงสวยงามหลากหลายรูปแบบ นำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ