วันมาฆบูชา 2567 สสส.-มูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ ชวนพุทธศาสนิกชนเวียนเทียนยุคใหม่ด้วยต้นไม้ ณ วัดใกล้บ้าน 52 แห่งทั่วประเทศ มุ่งลดการเผา หลังพบ ‘จุดธูป 1 ดอก = สูบบุหรี่ 1 มวน’ ต้นเหตุก่อวิกฤตฝุ่น PM2.5 เพิ่ม 10 เท่า ซ้ำ กระทบสุขภาพเสี่ยงป่วย NCDs ด้าน วัดอรุณฯ เริ่มกิจกรรมตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม
พระวชิรรัตนาภรณ์, ดร. ผู้รักษาการเจ้าคณะแขวงวัดอรุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเลขานุการวัดอรุณราชวราราม กล่าวว่า วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เป็นวันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธร่วมกันทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ วัดอรุณฯ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงาน “เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ในวันมาฆบูชา 2567” ซึ่งจะตรงกับวันเสาร์ที่ 24 ก.พ. เปิดให้เวียนเทียนตั้งแต่ 09.00-20.00 น. (พระสงฆ์นำ เวลา 19.00 น.) เชิญพุทธศาสนิกชนร่วมเวียนเทียนด้วยต้นไม้แทนการจุดธูปเทียน นอกจากเป็นการระลึกถึงบุญคุณของต้นไม้ ที่มีบทบาทสำคัญในพุทธประวัติ ทั้งเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ยังเป็นการทำบุญที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษทางอากาศและขยะที่เกิดดอกไม้ ธูป เทียนเกินความจำเป็น ซึ่งดีต่อสุขภาพพระสงฆ์และประชาชน เพิ่มความสุขทางใจ ถือเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในระดับที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สาเหตุหลักเกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่ง การจุดธูป เทียน จากข้อมูลควันธูปกับมะเร็ง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หากจุดธูป 1 ดอก จะทำให้ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น 2-10 เท่าของฝุ่นที่มีอยู่แล้วในอากาศ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของสถานที่ ทำให้ผู้ที่จุดธูปได้รับผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่าจุดธูปเพียง 1 ดอก และสูดควันเข้าไป เท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
“การเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ถือเป็นนวัตกรรมแนวทางการทำบุญวิถีใหม่ที่ได้บุญ 2 ต่อ ช่วยประเทศแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 เพิ่มพื้นที่สีเขียว คืนลมหายใจสะอาดให้กับประชาชน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs การจัดงานครั้งนี้ มีวัดเข้าร่วม 52 แห่งทั่วทุกภูมิภาค แจกกล้าไม้กว่า 1 หมื่นต้น ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้พุ่มที่ช่วยลดฝุ่น โดย กทม. ร่วมแจกกล้าไม้ 1,000 ต้น ที่สวนสาธารณะ 5 แห่ง 1.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) 2.สวนเบญจกิติ 3.สวนจตุจักร 4.สวนธนบุรีรมย์ 5.สวนนวมินทร์ภิรมย์ เพื่อนำไปเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน เป็นส่วนหนึ่งในโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างค่านิยมประชาชนในการลดการจุดธูป เทียนภายในบริเวณวัด มุ่งเป้าขยายผลความร่วมมือเพื่อให้วัดจัดกิจกรรมเวียนเทียนด้วยต้นไม้ทุกวันสำคัญทางศาสนา” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
พล.ร.อ.ประพฤติพร อักษรมัต รองประธานกรรมการ มูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ กล่าวว่า มูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ มุ่งรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ พร้อมดูแลอย่างต่อเนื่องจนต้นไม้เติบโต เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มขึ้นในสังคม จึงถือโอกาสวันสำคัญหรือประเพณีทำบุญรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ การเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ผู้เวียนเทียนสามารถนำต้นไม้มาจากบ้าน หรือมารับในงาน เมื่อเวียนเทียนเสร็จสามารถนำกลับไปปลูกที่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคล หรือมอบกล้าไม้ให้กับวัดใช้รีไซเคิล วนกลับมาใช้อีกครั้งก่อนนำไปปลูกบริเวณวัดหลังกิจกรรมเสร็จสิ้น ทั้งนี้ เข้าไปลงทะเบียนการปลูกต้นไม้ได้ที่ @bangkoktree และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผงะ!! 38 จังหวัด ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เตือนลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 6 ม.ค.2568
รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ
รู้หรือไม่?!?..... มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี
“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าคุมเข้มลดเจ็บ-ตายปีใหม่ เฝ้าระวัง “นักซิ่งเยาวชน” หลังพบดื่มแล้วขับ “เจ็บ-ตาย” เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เล็งเชื่อมข้อมูลทำระบบ “ใบสั่งออนไลน์”
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร