เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ตัวชี้วัดหนึ่งคือถนนปลอดภัย แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อการใช้รถใช้ถนน การสร้างเครือข่ายเพื่อให้เมืองเชียงใหม่น่าอยู่ ให้เป็นต้นแบบเรียนรู้ระดับประเทศ จึงเป็นสิ่งที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญตามแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร และสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. พร้อมคณะและภาคีเครือข่าย ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานบูรณาการความปลอดภัยทางถนน ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ และศูนย์ปฏิบัติการจราจรตำรวจภูธร จว.เชียงใหม่ ซึ่ง นพ.สุรเชษฐ์เปิดเผยว่า สสส.สนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อน ขยาย ยกระดับการทำงานจากประสบการณ์ของพื้นที่ต้นแบบ สู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ สร้างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยในระดับพื้นที่ สนับสนุนแผนงานการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัดและพื้นที่ ขับเคลื่อน ผลักดันเชิงนโยบาย สร้างมาตรการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้กล้อง CCTV ร่วมกับ AI ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย ลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ขับเคลื่อนกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับอำเภอ รวมถึงการขยายผลต้นแบบกลไกการทำงานของจังหวัด ที่บูรณาการลงถึงระดับอำเภอผ่านกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พัฒนาและขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้นแบบปลูกฝังความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่วัยเยาว์
"ในปี 2567 เดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย ตามแนวคิด #Save สมอง...หมวกกันน็อก สมองไม่น็อก เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการสวมหมวกเพิ่มสูงขึ้น สสส.สนับสนุนภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ใช้องค์ความรู้ทำให้เกิดการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องใน 4 ภูมิภาค 13จังหวัดทั่วประเทศ เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย 21 ตำบล สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์เรียนรู้ โรงเรียน ครอบครัว รวมทั้งหมด 105 แห่ง ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ สามารถขับเคลื่อนสร้างวินัยจราจร และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่เด็กเล็ก สร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน” นพ.สุรเชษฐ์ชี้แจง
นางอรชีรา อาศนะ ครูผู้ชำนาญการประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาล ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส.แก้ไขจุดเสี่ยง 7 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรด้านหน้าของ รร. เน้นจุดชะลอความเร็ว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการปลูกฝังความปลอดภัยบนท้องถนน ด้วยการรณรงค์เด็กอนุบาลวัย 2-6 ขวบ ขอให้พ่อแม่สวมหมวกกันน็อก จากเดิมที่ผู้ปกครองสวมหมวกกันน็อกเพียง 4 ครอบครัว จากเด็กทั้งหมด 157 คน พ่อแม่อ้างว่าบ้านอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนไม่น่าจะเกิดเหตุอันตราย ผู้ปกครองที่ไม่สวมหมวกกันน็อก เด็กจะงอแงไม่อยากมาโรงเรียน เด็กเป็นสื่อกลางให้ผู้ปกครองร่วมมือเป็นอย่างดี ทางโรงเรียนปรับพ่อแม่ที่ไม่สวมหมวกกันน็อกครั้งละ 20 บาท เมื่อรวบรวมเงินแล้วไปซื้อหมวกกันน็อกในสนนราคา 99 บาทจากบริษัทประกันภัยกลาง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ ที่หมู่ 13 จึงเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลสำหรับโรงเรียน สพฐ.ใกล้เคียงอีก 15 หมู่บ้าน ฯลฯ
การดูงานที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลสุเทพตั้งแต่เช้า พ่อแม่ขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งลูกเข้าโรงเรียน ทุกคนสวมหมวกกันน็อก โดยครูจะมารับนักเรียนอนุบาลเข้าไปในโรงเรียน และยังได้มีการสาธิตแก่กลุ่มนักเรียนอนุบาล ก่อนเดินข้ามถนนจะมีการท่องคาถาว่า หยุดมองขวา มองซ้าย มองขวา รถไม่มี ถนนปลอดภัย ข้ามได้
นายพศิน อัคเดชธนโชติ นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพมีถนนตัดผ่านชุมชน แบ่งถนนระหว่างตำบลออกเป็นสองฝั่ง รวมถึงการขยายเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวพบปัจจัยที่เกิดจุดเสี่ยง ทางร่วมทางแยกและจุดอับสายตา ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ซ้อนท้าย 3-4 คน รวมถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ทำให้ไม่ชินทาง ไม่เข้าใจภาษา/ป้ายจราจร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหน้าเทศบาลหลายราย แม้แต่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาประชุมที่เทศบาลก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต สสส.เข้ามาสนับสนุน องค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ เชื่อมประสาน สร้างกลไกการทำงาน หนุนเสริมกระบวนการการเรียนรู้ให้แก่ครู สามารถร่วมทำงานกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างกิจกรรมความปลอดภัยทางถนน เกิดต้นแบบด้านวินัยจราจร ส่งผ่านไปยังผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชน จนทำให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม
“ทางเทศบาลได้ดำเนินแนวทางคือ 1.ทำข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครอง ให้สวมหมวก/คาดเข็มขัดนิรภัย 100% หากไม่ปฏิบัติตามต้องเสียค่าปรับครั้งละ 20 บาทต่อคน/ครั้ง 2.ชุมชนสร้างแกนนำอาสาสมัครเฝ้าระวัง ร่วมกันจัดทำป้ายกำจัดจุดเสี่ยง เอาวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลทำเป็นป้ายบอกจุดเสี่ยงในชุมชน 3.เทศบาลจัดทำเนินชะลอความเร็ว ติดตั้งป้ายจราจร สัญญาณไฟกะพริบ ปิดจุดเสี่ยงอันตรายในชุมชน 4.จัดการเรียนการสอน มุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เรียนรู้ภายในห้องเรียน และสถานการณ์จริง ให้เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน” นายพศินชี้แจง
นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ที่ปรึกษา สอจร.ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ข้อมูลสถิติปี 2562 อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใน จ.เชียงใหม่ มีจำนวนมากกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตในพื้นที่อำเภอเมือง และ 5 อำเภอใกล้เคียง มาจากสภาพแวดล้อม ความมืด ทำให้เห็นเส้นทางไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับขี่ อัตราการสวมหมวกนิรภัยมีเพียง 10-30% จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรม และเครื่องมือปรับเปลี่ยนลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ สอจร.ภาคเหนือตอนบน ใช้แนวคิดกล้อง CCTV อัจฉริยะตรวจจับผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ใช้ Software โดยติดตั้ง AI โดยกล้องสามารถตรวจจับภาพได้ชัดเจนแม้ในเวลากลางคืน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือน พบว่าประชาชนในพื้นที่ใส่หมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ทุกจุด ในพื้นที่ 5 อำเภอเสี่ยง ได้แก่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.สันทราย อ.สารภี อ.หางดง และ อ.แม่ริม มีผู้สวมหมวกนิรภัยมากถึง 80% ลดตายครึ่งหนึ่งทั่วไทย ทำได้พิสูจน์แล้วที่เชียงใหม่ นอกจากนี้ได้สร้างการรับรู้ผ่านสื่อทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ สื่อกลางแจ้ง หากไม่ใส่หมวกนิรภัยจะมีใบสั่งปรับถึงบ้าน
“ชีวิตคนไทยแพงมากที่จะต้องเสียชีวิตในวัยหนุ่มสาว จำนวน 25% ของคนไทยตายด้วยรถจักรยานยนต์และไม่สวมหมวกกันน็อกกว่าหมื่นรายทุกปี พ่อแม่ซื้อจักรยานยนต์ให้ลูกขับขี่โดยไม่มีใบขับขี่ พากันไปแว้น ที่เชียงใหม่คนเสียชีวิตปีละ 600 ราย จำนวน 400 รายขี่จักรยานยนต์ ตาย 50 คน ใน 25 อำเภอ” นพ.ธีรวุฒิเปิดเผย
พ.ต.อ.ไพศาล นันตา รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จว. เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตำรวจภูธร จว.เชียงใหม่ ร่วมกับ สอจร.ดำเนินการเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพระดับจังหวัด เร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ทดแทนปัจจัยเสี่ยง ควบคู่กับการวางแผนกำลังคนเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยี พัฒนาระบบและศูนย์สารสนเทศเพื่อกำกับติดตามปัจจัยเสี่ยงทางถนน ขยายขีดความสามารถของการใช้เทคโนโลยี จัดเก็บข้อมูลปัจจัยเสี่ยง ใช้กล้องอัตโนมัติเพื่อบันทึกภาพผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยด้วยซอฟต์แวร์เทคโนโลยี Al จากมูลนิธิเพื่อถนนที่ปลอดภัยกว่า (Safer Roads Foundation) หลังจากใช้กล้องอัตโนมัติพบว่าประชาชนเกรงกลัวการจับปรับ จึงเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดความร่วมมือสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นในหลายอำเภอ รวมถึงใช้โซเชียลมีเดียนำเสนอรายละเอียดเรื่องกฎหมาย และร่วมกับสื่อในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ประชาชนสวมหมวกนิรภัยเพิ่มมากขึ้น 20% และสวมหมวกนิรภัยมากกว่า 90% ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกจุดที่มีการติดตั้ง ประเด็นสำคัญที่สุดสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ลงกว่า 50%.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง