พอช.-หน่วยงานภาคีร่วมสนับสนุนป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี สร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการป่า-สร้างรายได้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจาก วปอ. พอช. ทหารหน่วย นพท. และชาวชุมชนบ้านถ้ำเสือร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำที่ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี

เพชรบุรี / พอช.และหน่วยงานภาคี  เช่น  วช.-วปอ.-สสส.-กรมป่าไม้  และจ.เพชรบุรี ร่วมสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชน บ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  เพื่อให้เป็นป่าชุมชนต้นแบบ สร้างผืนป่า  สร้างรายได้  ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  และใช้เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) ระหว่างเวลา 9.00-15.30 น. ที่บ้านถ้ำเสือ  ต.แก่งกระจาน  อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี  มีการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานการบริหารจัดการป่าชุมชน และประชุมหารือแนวทางการประสานความร่วมมือการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ  โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาคีต่างๆ และชาวบ้านถ้ำเสือเข้าร่วมงานกว่า 100 คน

ประกอบด้วย  คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ./ กลุ่มนกเค้าแมว วปอ.รุ่น 66) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ นำโดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ พอช.  นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. และเจ้าหน้าที่ พอช. สำนักงานภาคกลางและตะวันตก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนกรมป่าไม้  หน่วยทหาร นพท. และจังหวัดเพชรบุรี

ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ (17 ก.พ.)

สร้างฝายชะลอน้ำ-โรงเรือนเพาะกล้า-ปลูกผัก

กิจกรรมวันนี้ประกอบด้วย การศึกษาดูงานพื้นที่ป่าชุมชน  การร่วมกิจกรรมสร้างฝายมีชีวิต เยี่ยมชมโรงเพาะชำต้นกล้า  การหารือแนวทางการประสานความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือระหว่างชุมชน  หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง

พลโทฐิตวัชร์  เสถียรทิพย์  ผู้แทน วปอ.รุ่น 66  กล่าวว่า วปอ. มีโครงการที่จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ รวม 10 โครงการทั่วประเทศ  ซึ่งชุมชนบ้านถ้ำเสือเป็น 1 ใน 10 โครงการที่ วปอ.เข้ามาสนับสนุน  โดยเฉพาะโครงการป่าชุมชนที่ พอช.ดำเนินอยู่ในพื้นที่ต่างๆ 15 ป่า  ซึ่งที่บ้านถ้ำเสือเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีผู้ใหญ่บ้านที่ดี โดยชุมชนได้ดำเนินการเรื่องป่าชุมชนมาแล้ว  วปอ.จึงเลือกมาทำที่นี่  เป็นโครงการคาร์บอนเครดิต  แต่โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว  ซึ่งจะเห็นผลได้เห็นอีก 6-10 ปีขึ้นไป

“ดังนั้นในระหว่างนี้เราจะต้องหาทางให้ชุมชนมีรายได้  โดยวางแผนว่าเราจะทำโครงการเรือนเพาะชำกล้าไม้ คือ 1.สนับสนุนการปลูกป่า 2.นำกล้าไม้ที่เพาะไปขาย นำเงินกลับเข้ามาในโครงการเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนต่อไป”  ผู้แทน วปอ.รุ่น 66 กล่าว

พลโทฐิตวัชร์  เสถียรทิพย์  ผู้แทน วปอ.รุ่น 66 

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  พอช.มีความตั้งใจในการทำงานเรื่องป่าชุมชนที่บ้านถ้ำเสือ  แต่โครงการที่จะสำเร็จได้จะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง โดยครั้งนี้ พอช. ได้รวมสรรพกำลังจาก วปอ. มาร่วมกันทำงานที่บ้านถ้ำเสือเพื่อให้เป็นต้นแบบ  เมื่อเกิดความสำเร็จ พอช. จะนำไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

“เราหวังว่าป่าชุมชนที่เราทำจะเป็นต้นแบบของคาร์บอนเครดิต เป็นต้นแบบของการทำป่าชุมชนแบบเต็มรูปแบบ   มีการวัดคาร์บอนเครดิตอย่างถูกต้อง  ซึ่งเรื่องนี้ได้คุยกับกรมป่าไม้เรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องป่าอย่างเดียว แต่ยังทำเรื่องชีวิตความเป็นอยู่  เรื่องรายได้ด้วย  เช่น  มีโรงเพาะชำ  โรงเพาะกล้าไม้  โรงเรือนปลูกผัก  ทำเรื่องแหล่งน้ำ  รวมทั้งทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนด้วย”  ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำ

นายสุเทพ พิมพ์ศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ  กล่าวถึงความเป็นมาเรื่องการจัดการป่าชุมชนว่า  บ้านถ้ำเสือเริ่มทำโครงการธนาคารต้นไม้ตั้งแต่ปี 2548  โดย ธ.ก.ส.เข้ามาสนับสนุน  เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า  การดูแลป่า  ต่อมาได้ขยายมาจัดทำเรื่องป่าชุมชนตั้งแต่ปี 2552  จนถึงปัจจุบันมีป่าชุมชนที่กรมป่าไม้ให้การรับรองจำนวน 3 แปลง  รวมพื้นที่กว่า 3,500 ไร่ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล  รักษาป่า 

นายสุเทพ พิมพ์ศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ  (ซ้าย) และคณะกรรมการ

“ล่าสุดบ้านถ้ำเสือได้รับการคัดเลือกจาก พอช.ให้เป็นโครงการป่าชุมชนนำร่อง 15 ป่าทั่วประเทศ  เพื่อบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืน  โดยในปีนี้เรามีแผนจะดำเนินการเรื่องแหล่งน้ำ  เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า  โดยทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่า  รวม 5 จุด  สร้างฝายประมาณ 20 ตัว  เพื่อช่วยชะลอและกักเก็บน้ำ  นอกจากนี้ยังทำเรื่องโรงเรือนเพาะกล้าไม้และปลูกผักขายเพื่อให้มีรายได้  รวมทั้งทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน  มีตลาดจามจุรีริมน้ำ  เป็นแหล่งค้าขายอาหารและสินค้าพื้นบ้าน  เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย”  ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือบอกถึงแผนงานที่กำลังดำเนินการ

ทั้งนี้ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือเป็น 1 ใน 15 ป่าชุมชนทั่วประเทศที่เข้าร่วม ‘โครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’  ที่ พอช. และภาคีเครือข่าย เช่น  สสส.  กรมป่าไม้ ฯลฯ  ร่วมกันสนับสนุน นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนให้ภาคเอกชน  ภาคธุรกิจเข้ามาทำกิจกรรม CSR ร่วมกับชุมชน  เช่น  สนับสนุนการปลูกต้นไม้  การดูแลรักษา  รวมถึงการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำ  สร้างความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผืนป่าด้วย

ฝายชะลอน้ำจะสร้างตามทางไหลของน้ำ  ขนาดขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่  ฝายแห่งนี้กว้างประมาณ 1 เมตรเศษ  ยาว 6 เมตร  ใช้ไม้ไผ่ตอกเป็นหลักและมัดด้วยเชือกให้แน่นหนา  กั้นให้เป็นคอก  นำก้อนหินขนาดพอเหมาะมาวางเรียงให้แน่น  ช่วยชะลอน้ำ  และน้ำบางส่วนจะซึมลงสู่ใต้ผืนดิน  สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า

แนวทางความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ต้นแบบป่าชุมชน

ในช่วงบ่าย  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประชุมหารือแนวทางการประสานความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ  โดยมีประเด็นสำคัญที่จะดำเนินการต่อไป  เช่น  การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร  สร้างผืนป่าให้สมบูรณ์  ไม่แห้งแล้ง  โดยการประสานงานกับสำนักงานพลังงานจังหวัดเพชรบุรีเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ดึงน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นไปพักในถังบนพื้นที่สูงหรือบนภูเขา  เมื่อเกิดความแห้งแล้งแหล่งน้ำบนพื้นที่สูงก็จะปล่อยน้ำลงมา

การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  โดยประสานงานกับบริษัท Local Alike ที่ส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยการท่องเที่ยว  โดยมีข้อแนะนำในเรื่องการส่งเสริมศักยภาพชุมชนด้านการท่องเที่ยวทางน้ำ  การเดินป่า  การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

ตลาดริมน้ำจามจุรี  เปิดให้ชาวบ้านประมาณ 40 รายนำอาหารสินค้ามาขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์  สร้างรายได้หมุนเวียนประมาณวันละ 6-7 หมื่นบาท

การส่งเสริมทางด้านอาชีพ พัฒนาสมุนไพร  การเพาะเห็ดป่า  โดยการประสานงานกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)   การขยายการจัดการป่าชุมชนไปยังพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี  โดยเชื่อมประสานกับขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเพชรบุรี  และการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในมิติต่าง ๆ โดยการส่งเสริมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ

********************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา