ส่วนหนึ่งของชาวบ้านตำบลบ้านต้อง อ.เซกา จ.บึงกาฬ ที่เข้าฟังคำชี้แจงจากศูนย์ดำรงธรรม จ.บึงกาฬและเจ้าหน้าที่ พอช. (ภาพจาก https://www.4forcenews.com/345734/)
พอช./ ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรณีชาวบ้านตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 109 ราย ตกเป็นหนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ รวมกว่า 6 ล้านบาท เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ลงนามค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ ‘กลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิต’ จ.บึงกาฬ โดยกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ จำนวน 25 คนได้กู้เงินจาก พอช.มาผลิตปุ๋ยอัดเม็ดตั้งแต่ปี 2548 แล้วไม่ชำระหนี้ ทำให้ผู้ที่มีชื่อค้ำประกันเงินกู้ทั้ง 109 รายได้รับหนังสือทวงหนี้ และได้ส่งตัวแทนเข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ นางสาวแกมแก้ว คงเชื้อนาค ผู้อำนวยศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจกับกรรมการและสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิตที่มีชื่อเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้โครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ
พอช.ชี้แจงทำตามหน้าที่
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ชี้แจงเรื่องการทวงหนี้สมาชิกและกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิตว่า เนื่องจาก พอช.ได้ให้กลุ่มฯ กู้ยืมเงินมาลงทุนตั้งแต่ปี 2548 แต่กลุ่มฯ ยังชำระหนี้ไม่หมด จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งอีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นอายุความ ถ้าหาก พอช.ยังเพิกเฉยไม่ทวงถามติดตามหนี้ก็อาจจะมีความผิดไปด้วย ดังนั้นหากว่าผู้ใดมีหลักฐานในการชำระหนี้ก็ให้นำมาแสดงว่าตนเองได้จ่ายหรือชดใช้หนี้สินเป็นเงินเท่าไรแล้ว
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว
นายหนูเกณฑ์กล่าวด้วยว่า พอช.ไม่มีเจตนาที่จะทวงหนี้ชาวบ้านให้เกิดความเดือดร้อน แต่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ก็จะมีความผิด จึงต้องส่งหนังสือทวงหนี้เพื่อให้มีการเจรจาเกิดขึ้น ส่วนข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านทั้ง 109 รายได้ลงนามในเอกสารค้ำประกันเงินกู้หรือไม่นั้น จะต้องพิสูจน์ว่าเป็นลายเซ็นจริงหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเอกสารเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไป
นายลือชัย คำหงษา อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านโนนสวนหม่อนและกำนัน ต.บ้านต้อง ซึ่งเป็น 1 ใน 25 กรรมการกู้ยืมเงินจาก พอช. กล่าวว่า ตนในฐานะผู้นำหมู่บ้านสมัยนั้นได้ชักชวนลูกบ้านมาร่วมประชุมรับฟังนโยบายการกู้ยืมเงินจาก พอช. โดยตนเป็นกรรมการและผู้กู้รายหนึ่งจำนวนเงิน 3 แสนบาท รวมทั้ง 3 กลุ่มกู้ไปประมาณ 2 ล้านบาท แรกๆ ก็ได้ส่งเงินต้นทั้งดอกเบี้ย แต่ส่งไปบางครั้งก็ได้ใบเสร็จ บางครั้งก็ไม่ได้ใบเสร็จ จึงได้หยุดส่ง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้รับใบแจ้งทวงหนี้จาก พอช. เป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท ก็ตกใจเหมือนกัน แต่หลังจากที่ศูนย์ดำรงธรรมและเจ้าหน้าที่ พอช. มาชี้แจงแล้ว ตนก็จะกลับไปคุยกับกรรมการทั้ง 25 คนเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะยอมจ่ายหนี้ไหม และให้เวลาคุยกันภายใน 1 เดือน ถ้าคุยกันไม่ได้ก็อาจจะถูกฟ้องร้อง
หนังสือขอให้ชำระหนี้
ย้อนเหตุการณ์และข้อเท็จจริง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา นางสำเนียง นันทา ตัวแทนชาวบ้านตำบลบ้านต้อง อ.เซกา จ.บึงกาฬ ได้เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ โดยนำหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถึงเครือข่ายออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิต โครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ (ในปี 2548 ยังขึ้นอยู่กับจังหวัดหนองคาย)
นางสำเนียงบอกว่า พวกตนที่อยู่ในตำบลบ้านต้อง จำนวน 15 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 109 คนต่างได้รับหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ได้ส่งหนังสือทวงหนี้เป็นเงินจำนวน 6,354,294.37 บาท ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด โดยก่อนหน้านั้นประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ได้รับหนังสือทวงหนี้มาเป็นระยะทุกปี จากจำนวนหนี้ 2.677 ล้านบาท ขยับมาเป็น 6.354 ล้านบาท ซึ่งทุกคนก็ตกใจมาก
ชาวบ้านเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬเมื่อ 19 มกราคมที่ผ่านมา (ภาพจาก https://www.samapan-thainews.com/20936)
นางสำเนียงเล่าว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายนปี 2548 นายลือชัย คำหงษา ผู้ใหญ่บ้านขณะนั้น ได้มาชักชวนชาวบ้านไปร่วมประชุมเพื่อฟังนโยบายโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดเพื่อประหยัดต้นทุนในการบำรุงพืชผลทางการเกษตรเช่น ปุ๋ยใส่นาข้าวหรือยางพารา โดยทุกคนที่ไปร่วมประชุมมีการลงชื่อในสมุดซึ่งเป็นสมุดธรรมดา หลังจากประชุมเสร็จทราบว่าผู้นำชุมชนได้มีการจัดตั้งกรรมการขึ้นมาจำนวน 25 คน แต่ไม่ทราบว่ามีใครเป็นกรรมการบ้าง โดยจะมีกลุ่มผลิตปุ๋ยอัดเม็ดและผลิตต้นกล้ายางพารา
จนกระทั่งหลายปีผ่านไป จนถึงประมาณปี 2560 ชาวบ้านต่างได้รับหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จำนวนหนี้ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท จึงได้รวมตัวกันเข้าไปร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมในอำเภอเซกา แต่ก็ไม่มีการดำเนินการอะไร และต่อมาก็ได้รับหนังสือทวงหนี้เป็นประจำทุกปี
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับหนังสือทวงหนี้ จำนวน 6,354,294.37 บาท หนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สบายใจที่มีหนี้เกิดขึ้น โดยพวกตนไม่เคยได้ไปเซ็นกู้เงินหรือค้ำประกันใครเลย เพียงแต่วันที่ประชุมนั้นได้ลงชื่อเข้าร่วมประชุมเท่านั้น หลายคนเมื่อรู้ว่าเป็นหนี้ก็พากันตกใจ จึงพากันมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) ชี้แจงความเป็นมาว่า ในปี 2548 คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิตตำบลบ้านต้อง อ.เซกา จ.หนองคาย (ขณะนั้นยังไม่ได้แยกเป็นจังหวัดบึงกาฬ) จำนวน 25 คน ได้ทำสัญญากู้เงินจาก พอช. จำนวน 3 สัญญาเพื่อทำธุรกิจปุ๋ยอัดเม็ด
สัญญาที่ 1 เลขที่ 02/017/2548 วันที่ 10 พฤภาคม 2548 จำนวนเงิน 865,500 บาท สัญญาที่ 2 02/018/2548 วันเดียวกัน จำนวนเงิน 543,800 บาท สัญญากู้เงินที่ 3 02/019/2548 วันเดียวกัน จำนวนเงิน 1,268,400 บาท และสัญญาค้ำประกัน เลขที่ ค 02/017/2548 วันที่ 10 พ.ค.2548 จำนวนเงิน 2,677,700 บาท
(ภาพจาก https://www.4forcenews.com/345734/)
******************
เรื่อง : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา